เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป
บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ของทางกลุ่มบริษัท จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร[1] เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหารายการประเภทซีรีส์ การ์ตูน สารคดี จากหลากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐ จำหน่ายเป็นลิขสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ทุกระบบ รวมถึงผ่านระบบวีดิทัศน์ตามคำขอ และชุดความบันเทิงภายในบ้านอย่างดีวีดีและบลูเรย์ รวมถึงเป็นเจ้าขององค์การนางงามจักรวาล ซึ่งเป็นผู้จัดการประกวด 3 เวที คือ นางงามจักรวาล มิสยูเอสเอ และมิสทีนยูเอสเอ ปัจจุบัน เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป มีบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% จำนวน 5 บริษัท คือ บริษัท เจเคเอ็น แชนเนล จำกัด, บริษัท เจเคเอ็น ไอเอ็มซี จำกัด, บริษัท เจเคเอ็น โนว์เลดจ์ จำกัด, บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด และบริษัท เจเคเอ็น เบสท์ ไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตออกอากาศสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลช่องเจเคเอ็น 18[2] นอกจากนี้ยังมีบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐเดลาแวร์ในสหรัฐ เพื่อดำเนินงานในนามองค์กรนางงามจักรวาล โดยถือหุ้นผ่าน เจเคเอ็น เมตาเวิร์ส ไอเอ็นซี (JKN Metaverse, Inc.) ได้แก่ JKN Universe, LLC., JKN Universe FranchCo, LLC., Miss USA BR Productions, LLC., MUO Productions, LLC. และ Miss USA Productions OH, LLC.[3] ประวัติเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ บริษัท เอสทีจีซีพี จำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 โดยแอน - จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000,000 บาท มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารเจเคเอ็น แกลเลอรี่ ศาลายา ถนนบรมราชชนนี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เริ่มแรกบริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ อาทิ ดีวีดีชุดเสื้อยิ้มให้พ่อ, น้ำดื่มตราภัทรพัฒน์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าภายใต้สิทธิ์ของ "บริษัท เจเคเอ็น แลนด์มาร์ค จำกัด" (เดิมชื่อ "บริษัท เอสทีวีดีโอ จำกัด", "บริษัท เอสที แกรนด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด" และ "บริษัท เอสทีจี มัลติมีเดีย จำกัด" ตามลำดับ)[4] หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เจเคเอ็น ลิฟวิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จนเมื่อประเทศไทยอยู่ในช่วงประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล จึงได้ดำเนินการรับซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหาของเจเคเอ็น แลนด์มาร์ค มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด ในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[2] ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ผู้ถือหุ้นมีมติแปรสภาพเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย เป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เพื่อระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในชื่อหลักทรัพย์ JKN[2] และเริ่มซื้อขายมาตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[5] ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2561 เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ได้เริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ของซีเอ็นบีซี ในนาม เจเคเอ็นซีเอ็นบีซี เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับลิขสิทธิ์จากเอ็นบีซียูนิเวอร์แซลเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559[2] ก่อนเริ่มทำรายการข่าวภาคภาษาไทยในช่วงกลางปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยช่วง 3 เดือนแรกออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25[6] ก่อนเปิดออกอากาศผ่านเว็บไซต์ในปี พ.ศ. 2563 เป็นเวลา 9 เดือน หลังจากนั้นได้ย้ายเข้าไปออกอากาศทางช่องเจเคเอ็นทีวี และจากการเติบโตของเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย อย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จึงได้ย้ายเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ของตนในระยะยาว[7] ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ได้เข้าควบคุมการออกอากาศช่องนิว 18[8] ก่อนที่ในวันที่ 9 เมษายน ปีเดียวกัน เจเคเอ็นจะเข้าซื้อหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสต์ จำกัด ผู้รับใบอนุญาตของช่องนิว 18 รวมถึงอาคารสำนักงานของช่องและอุปกรณ์การออกอากาศทั้งหมดจากกลุ่มผู้บริหารของเดลินิวส์ คิดเป็นมูลค่า 1,060,000,000 บาท ทำให้ดีเอ็น บรอดคาสต์ กลายเป็นบริษัทย่อยของเจเคเอ็น[9] โดยจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้รับใบอนุญาต และจะมีการเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น "เจเคเอ็น 18" โดยไม่มีการปลดพนักงานเดิมออก โดยแอนได้ถ่ายทอดสดแถลงผ่านทางเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 เมษายน[10] และในวันที่ 19 เมษายน เจเคเอ็นได้ประกาศแผนการตลาดของตนในรูปแบบใหม่เป็น "Content Commerce Company" โดยดึงเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคมาต่อยอดสู่ธุรกิจพาณิชย์ และใช้ช่องเจเคเอ็น 18 เป็นช่องทางสนับสนุนเพิ่มเติม[11] ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นได้ลงมติเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นชื่อปัจจุบันคือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ และย้ายอาคารสำนักงานใหญ่ไปยังอาคารเจเคเอ็น เอ็มไพร์ เลขที่ 818 หมู่ 2 ซอยแบริ่ง 19 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ[12] จากนั้นได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามมติดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม[13] และเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยไม่เปลี่ยนชื่อย่อเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม[14] หลังจากนั้นในวันที่ 8 สิงหาคม เจเคเอ็นได้ทำสัญญาเข้าซื้อกิจการทั้งหมดขององค์การนางงามจักรวาล ซึ่งประกอบด้วย JKN Universe, LLC. (เดิมชื่อ IMG Universe, LLC.), JKN Universe FranchCo, LLC. (เดิมชื่อ IMG Universe FranchCo, LLC.), Miss USA BR Productions, LLC., MUO Productions, LLC. และ Miss USA Productions OH, LLC. จากกลุ่มเอนเดฟเวอร์ของสหรัฐ ซึ่งถือหุ้นในทางอ้อมผ่านไอเอ็มจี มูลค่ารวมของกิจการดังกล่าวไม่เกิน 800,000,000 บาท โดยเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ถือหุ้นผ่านทางเจเคเอ็น เมตาเวิร์ส ไอเอ็นซี (JKN Metaverse, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เจเคเอ็นจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐเดลาแวร์ในสหรัฐ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของเจเคเอ็นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ทั้งนี้ กระบวนการชำระเงินเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม และได้รับโอนหุ้นทั้งหมดมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ทำให้เจเคเอ็นกลายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวด นางงามจักรวาล, มิสยูเอสเอ และมิสทีนยูเอสเอ มาจนถึงปัจจุบัน[3] ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เจเคเอ็นได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ให้ยื่นคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน[15] และศาลกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567[16] โดยที่เจเคเอ็นยังคงประกอบธุรกิจได้ตามปกติ[17] เดือนมกราคมปีถัดมาบริษัทแจ้งต่อ ตลท. ว่าได้ขายหุ้นครึ่งหนึ่งของเจเคเอ็น เลกาซี ไอเอ็นซี ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากเจเคเอ็น เมเตเวิร์ส ในการบริหารสิทธิ์การประกวดนางงามจักรวาลให้กับเลกาซี โฮลดิง กรุ๊ป (แอลเอชจี) ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้า โดยแอลเอชจีจะรับผิดชอบลิขสิทธิ์นางงามจักรวาลในทวีปอเมริกา ขณะที่เจเคเอ็นจะรับผิดชอบในส่วนที่เหลือของโลก[18] ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
อ้างอิง
|