เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งกรีซและเดนมาร์ก
เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งกรีซและเดนมาร์ก (อังกฤษ: Princess Katherine of Greece and Denmark) หรือว่า เลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรม (Lady Katherine Brandram; 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1913 - 2 ตุลาคม ค.ศ. 2007) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามและองค์เล็กในพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ และ เจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย และเป็นพระราชปนัดดาหญิงซึ่งทรงพระชนม์ชีพอยู่พระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ชีวิตในวัยเยาว์เจ้าหญิงแคทเธอรีนประสูติในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1913 ณ พระราชวังหลวง กรุงเอเธนส์ ไม่กี่สับดาห์หลังจากพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ พระอัยกาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาโลนิกา พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์ที่สามและองค์สุดท้ายในพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ พระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และ แกรนด์ดัชเชสโอลกา คอนสแตนตินอฟนาแห่งรัสเซีย กับ เจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย พระราชธิดาพระองค์ที่สามในจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งเยอรมนีและเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี เป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี เจ้าหญิงมีพระเชษฐาสามพระองค์คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และพระเจ้าปัพโลส ซึ่งได้เป็นพระราชาธิบดีแห่งกรีซทุกพระองค์ และมีพระภคินีสองพระองค์คือ เจ้าหญิงเฮเลน ซึ่งอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีคาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย และ เจ้าหญิงไอรีน นอกจากนั้นยังเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระอีกด้วย เมื่อตอนทรงรับศีลล้างบาป พระองค์ทรงมีเหล่าทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือกรีก ทั้งหมดเป็นพ่อและแม่ทูนหัว ชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์เป็นแบบผสมระหว่างการเป็นเจ้าหญิงและคนเร่ร่อน เนื่องจากพระราชวงศ์กรีกต้องลี้ภัยเข้าและออกนอกประเทศ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 พระชนกและชนนีของเจ้าหญิงทรงถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ฝ่ายเยอรมัน และความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและกรีซตึงเครียดมากขึ้น พระชนม์ชีพของทั้งสองพระองค์ตกอยู่ในอันตราย อันที่จริงแล้วเจ้าหญิงแคทเธอรีนต้องทรงได้รับการปกป้องจากการถูกลักพาตัว ขณะที่ความทรงจำระยะแรกมีแต่ปืนกลและปืนไรเฟิล เมื่อปี ค.ศ. 1916 พระองค์ทรงอยู่ในอ้อมพระกรของพระชนนีที่วิ่งเป็นระยะทางสองไมล์จากพระราชวังตาตอย ซึ่งเป็นพระราชฐานของพระราชวงศ์กรีก ที่ส่วนหนึ่งถูกเผาโดยกลุ่มตำรวจลับ อีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อพระชนมายุ 4 ชันษา เจ้าหญิงได้เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับพระชนกและพระชนนีไปประทับยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การลี้ภัยนอกประเทศพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกรีซต่ออีกเป็นเวลาสองปีในระหว่าง ค.ศ. 1920 และ ค.ศ. 1922ก่อนการสละราชสมบัติและเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จออกจากกรุงเอเธนส์ในตอนกลางคืนของวันที่ 30 กันยายน และแล่นเรือไปยังเมืองปาเลร์โม เมืองหลวงของเกาะซิซิลี พร้อมกับสมเด็จพระราชินีโซฟี เจ้าหญิงแคทเธอรีน และเจ้าชายนิโคลาส เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1923 เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่รีบไปเฝ้าพระบิดายังข้างพระแท่นบรรทมเมื่อพระองค์ทรงหมดสติในโรงแรมวิลลาอิกียาและเสด็จสวรรคตโดยไม่ทรงฟื้นคืนสติขึ้นมาอีกเลย หลังจากนั้นครอบครัวก็ได้ลี้ภัยเป็นระยะเวลาหลายปีในเมืองฟลอเรนซ์ โดยอาศัยอยู่ที่ตำหนักวิลลาสปาร์ตา ซึ่งเจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงเป็นช่างสียอดฝีมือ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มาก พระองค์มีพระอาจารย์ชาวอังกฤษและเสด็จไปเรียนในเมืองบรอดสแตร์และในเมืองนอร์ธฟอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ พระชนนีของเจ้าหญิงเสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1932 และนับแต่นั้นทรงไปประทับอยู่กับสมเด็จพระราชินีเฮเลน พระภคินีที่ยังคงประทับอยู่ในตำหนักวิลลาสปาร์ตา เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อปี ค.ศ. 1934 พระองค์ทรงเป็นเพื่อนเจ้าสาว (ร่วมกับสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษองค์ปัจจุบัน) ของเจ้าหญิงมารีนา เมื่ออภิเษกสมรสกับดยุคแห่งเคนต์ที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ ในปี ค.ศ. 1934 พระองค์ทรงเดินทางรอบโลก โดยเสด็จเยือนฮอลลีวูดในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง แต่ต้องรีบเสด็จออกจากฮอลลีวูดด้วยความเร่งรีบเมื่อมีคนในวงการบันเทิงพยายามที่จะทำให้พระองค์ทรงรับการเสนอให้เล่นภาพยนตร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1935 ระบอบราชาธิปไตยในประเทศกรีซได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 พระเชษฐาพระองค์ใหญ่เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ ในปีต่อมาพระองค์และเจ้าหญิงไอรีน พระภคินีเสด็จกลับกรุงเอเธนส์ ซึ่งได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสังคมและสวัสดิการมากมาย ชาวกรีกมองว่าพระองค์ทรง"เปิดเผย มีชีวิตชีวาและไม่เสแสร้ง" ช่วงการเกิดสงครามในปี ค.ศ. 1939 พระองค์ทรงเข้าร่วมกับกาชาดกรีก โดยทรงปฏิบัติงานอยู่ในโรงละครที่เปิดเป็นศูนย์ปฏิบัติการและคุ้นเคยกับการดูแลผู้บาดเจ็บจากสงคราม อีกทั้งพระองค์ทรงรักษาพยาบาลเหล่าทหารอากาศที่ทรงได้รู้จักทางสังคมในช่วงสงครามสงบอยู่บ่อยครั้งด้วย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 เจ้าหญิงแคทเธอรีนโดยเสด็จพร้อมกับมกุฎราชกุมารพอล พระเชษฐา มกุฎราชกุมารีเฟรเดริกา พระชายา พระโอรสและธิดา เจ้าหญิงแอสปาเซียและเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระธิดาบนเรือซันเดอร์แลนด์ในการเสด็จออกจากประเทศกรีซ ทุกพระองค์เสด็จยังที่เกาะครีตและประเทศอียิปต์ และในที่สุดเจ้าหญิงแคทเธอรีนและมกุฎราชกุมารีเฟรเดริกา พร้อมด้วยพระโอรสและธิดาประทับลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เจ้าหญิงไม่ทรงทรงทราบข่าวของสมเด็จพระราชินีเฮเลน พระภคินีเลยเป็นเวลาสี่ปี ทุกพระองค์ประทับอยู่ในบังกะโลเล็กหลังหนึ่งซึ่งมีห้าห้องและปรุงอาหารเสวยกันเอง เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บอยู่เป็นเวลาหกเดือนที่โรงพยาบาลทหารไวน์เบิร์กในเมืองเคปทาวน์ และหลังจากนั้นทรงเป็นปฏิบัติงานด้านสงครามอาสาสมัครเป็นเวลาสองปีครึ่งในบ้านทอมบานีของนักบุญดันสแตน ซึ่งพระองค์ทรงดูแลผู้ตายที่ตาบอดจากทะเลทรายตะวันตก โดยทั้งนี้พระองค์ทรงงานในนามแม่ชีแคทเธอรีน อภิเษกสมรสหลังจากสงครามสิ้นสุดลง เจ้าหญิงแคทเธอรีนเสด็จกลับประเทศอียิปต์และแล่นเรือไปยังกรุงลอนดอนด้วยเรืออาสกาเนียเมื่อปี ค.ศ. 1946 เพื่อไปพบกับสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 พระเชษฐา และได้ทรงพบกับนายทหารปืนใหญ่หลวงที่มีเหรียญกางเขนทหารชื่อ พันตรี ริชาร์ด แคมป์เบลล์ แอนดรูว์ แบรนด์แรม (5 สิงหาคม ค.ศ. 1911 - 28 มีนาคม ค.ศ. 1994) บุตรชายของอธิการบดีที่เกษียณแล้วของโรงเรียนเตรียมแห่งหนึ่งในเมืองบิคลีย์ มณฑลเคนต์ เจ้าหญิงทรงเมาคลื่นขณะประทับอยู่บนเรือแต่ได้ทรงพบกับเขาคนนั้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเรือจอดเทียบท่าที่เมืองลิเวอร์พูลและทั้งสองตกลงที่จะไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน อีกสามสัปดาห์ต่อมาทั้งสองก็ได้หมั้นกันอย่างลับๆ เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 ทรงประกาศการหมั้นของทั้งสองคนด้วย "ความพอพระทัยเป็นพิเศษ" พิธีอภิเษกสมรสมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน แต่สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวายเฉียบพลันในสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เจ้าหญิงแคทเธอรีนประทับอยู่ในพระราชวังเมื่อพระองค์ประชวร ดังนั้นพระเจ้าปัพโลส กษัตริย์พระองค์ใหม่จึงทรงทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวแทน โดยทรงฉลองแว่นข้างเดียวเป็นแบบแผนและแถบไว้ทุกข์ในวันอภิเษกสมรสเมื่อ 21 เมษายนปีเดียวกัน ณ พระราชวังหลวง กรุงเอเธนส์ หลังจากนั้นทั้งสองได้ออกเดินทางไปยังกรุงแบกแดด ที่ซึ่งเจ้าหญิงทรงเริ่มเตินชีวิตการเดินทางในฐานะภริยานายทหารแห่งกองทัพบกอังกฤษ เมื่อทั้งสองคนกลับมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เจ้าหญิงแคทเธอรีนได้ทรงสละฐานันดรศักดิ์เจ้าหญิงแห่งกรีซและเดนมาร์กเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1947 และต่อมาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชทานพระอิสริยยศให้กับเจ้าหญิงเป็นเลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรม โดยมีลำดับโปเจียมเทียบเท่ากับบุตรีของดยุคเมื่อในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1947 อีกทั้งยังได้ทรงเป็นแขกในงานพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ กับ ร้อยโท ฟิลิป เมานท์แบ็ตเต็น ในเดือนพฤศจิกายนด้วย เลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรม และ พันตรี ริชาร์ด แบรนด์แรม มีบุตรชายหนึ่งคน คือ
ปลายพระชนม์ชีพเลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรมและพันตรี ริชาร์ด แบรนด์แรมอาศัยอยู่ในจัตุรัสอีตันในช่วงแรก แต่ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมาร์โลว์ มณฑลบัคกิงแฮมไชร์ พันตรีแบรนด์แรมถึงแก่กรรมด้วยโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งในปี ค.ศ. 1994 ขณะมีอายุ 82 ปี การปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายครังหนึ่งของเลดี้แคทเธอรีน คือการมาร่วมงานอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารพอลแห่งกรีซในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1995 ซึ่งได้นั่งอยู่บนรถเข็น นอกจากนี้เลดี้ก็ยังเข้าร่วมพิธีทางศาสนาครบรอบ 80 พรรษาของดยุคแห่งเอดินเบอระที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 อีกด้วย นับจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงเบียทริซแห่งสเปนเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เลดี้ แคทเธอรีนจึงเป็นพระราชปนัดดาหญิงที่มีพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อีกทั้งยังเป็นพระราชนัดดาหญิงพระองค์สุดท้ายในจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งเยอรมนีและเป็นพระราชภาคิไนยพระองค์สุดท้ายในจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีด้วย การสิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ณ เมืองมาร์โลว์ มณฑลบัคกิงแฮมไชร์ (94 ชันษา 4 เดือน 28 วัน) ทำให้มีพระราชปนัดดาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเพียงพระองค์เดียวคือ เคานต์ คาร์ล โจฮัน เบอร์นาดอต์ต พระอิสริยยศ
อ้างอิง
|