เฉลิม นาคีรักษ์
ศาสตราจารย์พิเศษ เฉลิม นาคีรักษ์ (21 กันยายน พ.ศ. 2460 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2545) เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านจิตรกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศิลปะและศิลปศึกษาโดยทั่วไป ประวัติและการศึกษาเฉลิม นาคีรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2460 ที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี มีผลงานดีเด่นทั้งในแบบศิลปะสมัยใหม่และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทยมีความยึดมั่นและศรัทธาในศิลปะได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 50 ปี มีผลงานแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมหลายครั้งและหลายแห่ง ในด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางศิลปะนั้น เฉลิม นาคีรักษ์ ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่างเป็นเวลา 37 ปี มีศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้รับราชการโดยตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างและเป็นคณบดีคณะศิลปกรรมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษในสถาบันดังกล่าว เฉลิม นาคีรักษ์ ได้นำเอาผลงานศิลปะและวิชาการบริการแก่สังคมตลอดเวลาอันยาวนาน เป็นผู้บุกเบิกศิลปะยุคปัจจุบันคนสำคัญคนหนึ่ง นับเป็นศิลปินที่ดำรงชีพและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยจริยวัตรที่ดีงามและเป็นคนวาดรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว เฉลิม นาคีรักษ์ ได้รับการศึกษาจนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในจังหวัดบ้านเกิด ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีความสนใจในทางศิลปะเป็นพิเศษมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเข้าเรียนวิชาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2477 ได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา 4 ปี จนสำเร็จจึงได้เข้าศึกษาต่อวิชาครูประถมที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนครอีก 1 ปี จากนั้นก็ได้ไปเข้ารับการอบรมวิชาทฤษฎีศิลปะกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อีก 6 เดือน ก่อนที่จะเข้ารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา สอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2483 ในระหว่างที่รับราชการ ท่านยังได้เคยมีโอกาสเดินทางไปดูงานด้านศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้ท่านได้สั่งสมประสบการณ์อันเป็นประโยชน์แก่การนำกลับมาถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ลูกหาในเวลาต่อมา ท่านได้ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์อย่างเต็มที่ ทั้งยังได้ปฏิบัติงานศิลปะควบคู่กันไปโดยตลอด ผลงานด้านศิลปะงานศิลปะของเฉลิม นาคีรักษ์ โดยหลักนั้นคืองานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่เขียนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ หลายแห่ง ด้านการเขียนภาพสีน้ำ ก็เป็นงานที่ท่านรักและทำได้ดีเป็นพิเศษ จนได้รับคำชมเชยจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี งานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ท่านได้เดินทางไปพบเห็นและเกิดความประทับใจ ส่วนผลงานแนวประเพณีประยุกต์นั้น นับเป็นผลงานดีเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเหล่านี้นอกจากจะสามารถถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังให้ความรู้สึกของความสดใสสนุกสนาน มีรายละเอียดที่ซับซ้อนน่าสนใจไปทั่วทุกตารางนิ้วของผลงาน อันเกิดจากการรวมตัวกันของแนวความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบทางศิลปะ และฝีมือชั้นครูด้วย เฉลิม นาคีรักษ์ ได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว และส่งผลงานร่วมแสดงในงานแสดงผลงานศิลปะหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ต่อเนื่องเรื่อยมาและได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้งอาทิ ได้รับรางวัลจิตรกรรม จากงานประกวดศิลปะในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และได้รับรางวัลในการประกวดผลงานศิลปกรรมซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ความประทับที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเฉลิม นาคีรักษ์ คือการที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสสำคัญ 2 โอกาส ๆ แรกเข้าเฝ้าฯพร้อมคณะศิลปินเมื่อ พ.ศ. 2506 เพื่อเขียนภาพถวายให้ทอดพระเนตร และได้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย ส่วนครั้งที่ 2 ได้ร่วมคณะไปกับอธิบดีกรมศิลปากรและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกหลายท่าน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อถวายคำวิจารณ์ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงไว้ อันเป็นโอกาสสำคัญซึ่งท่านถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลสูงสุด เฉลิม นาคีรักษ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2531 เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|