Share to:

 

เป็ดง่อย

เป็ดง่อย (อังกฤษ: lame duck) หมายถึง บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ และกำลังจะหมดวาระดำรงตำแหน่งนั้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้ได้รับเลือกตั้งจ่อเข้ารับตำแหน่งแทนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คำนี้อาจใช้ได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งที่มิได้มาจากการเลือกตั้งด้วยก็ได้ ที่ว่า "ง่อย" นั้นหมายความว่า พอใกล้จะหมดหน้าที่บุคคลเช่นว่าก็มักเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เกียจคร้าน อยากออกไปเร็ว ๆ หรือไว้ค่อยให้คนใหม่รับไปทำต่อ เป็นต้น ก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเฉื่อยชาหรือปล่อยละไปเลยก็มี เปรียบเหมือนเป็น "ง่อย" กะทันหัน อาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้หากบุคคลดังกล่าวจะไม่กลับมาดำรงตำแหน่งนั้นอีกวาระหนึ่งต่อเนื่องกับวาระก่อนหน้า จำต้องดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปจนกว่าจะหมดวาระแต่ตำแหน่งนั้นจะไม่มีอีกแล้วเมื่อเขาหมดวาระลง ไม่มีการต่อวาระให้บุคคลนั้น หรือแพ้การเลือกตั้งครั้งใหม่สำหรับตำแหน่งที่ตนยังดำรงอยู่ในขณะนั้น เป็นต้น[1]

บุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เป็ดง่อย" มักมีอำนาจหรืออิทธิพลน้อย และคนอื่น ๆ ก็ไม่ใคร่จะคบค้าสมาคมด้วย แต่น่าแปลกที่ว่า "เป็ดง่อย" นี้มักจะได้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ต้องเผชิญผลกระทบจากกระทำของตนมากนัก ซึ่งส่งผลให้บรรดาเป็ดง่อยมีอิสระในการตัดสินใจหรือบริหารอำนาจในกิจการไม่สลักสำคัญ เช่น การออกคำสั่งในวินาทีสุดท้ายของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา[2]

คำนี้มิได้หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เกิดอาการเหมือน "เป็นง่อย" โดยสาเหตุทั่ว ๆ ไป อย่างที่ใช้กันผิดในสื่อมวลชนของไทย เป็นต้นว่า "...รัฐบาลอยู่ในสภาพเป็ดง่อยบริหารประเทศไม่ได้ แม้แต่ทำเนียบก็ยังเข้าไม่ได้ [เพราะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้อีกอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น]..."[3] เพราะหมายความถึงสาเหตุและสภาพเฉพาะเจาะจงดังข้างต้น

ที่มาของคำ

ที่มาของคำ "เป็ดง่อย" นี้ยังไม่แน่ชัดทีเดียว และคงถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ดี ว่ากันตามต้นตอของคำนี้แล้ว หมายถึง เป็ดตัวที่แตกฝูงหรือตามฝูงไม่ทัน ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของผู้ต้องการล่ามันเป็นภักษาหาร

บ้างก็ว่าคำนี้เกิดขึ้นในสมัยนายเจมส์ บูคานัน (James Buchanan) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยนายเจมส์เกิดปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเฉื่อยชาไม่กระปรี้กระเปร่าในช่วงสุดท้ายก่อนจะหมดวาระดำรงตำแหน่งลง ไม่แยแสกระทั่งการประกาศแยกตัวจากอเมริกาของบรรดารัฐทางใต้ และบ้างก็ว่าเกิดในสมัยนายโกรเวอร์ คลิฟแลนด์ (Grover Cleveland) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีคนเชื่อกันว่า คำ "เป็ดง่อย" นี้เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 23ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน โดยหมายถึงนายหน้าที่ทำทีเป็นเหมือนคนง่อยเพื่ออ้อยอิ่งไม่ยอมชำระหนี้ของตนเอง[4] [5]

อย่างไรก็ดี คำ "เป็ดง่อย" นี้ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในจดหมายของเอิร์ลโฮเรซ วาลโพล (Horace Walpole) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่มีไปถึงเซอร์โฮเรซ แมนน์ (Horace Mann) ใน พ.ศ. 2304 ความว่า "ท่านทราบหรือไม่ว่า วัวกระทิง หมีป่า และเป็ดง่อย คือสิ่งไร"[6]

อ้างอิง

  1. "lame duck". Merriam Webster Online. สืบค้นเมื่อ 2008-03-10.
  2. "Will Bush's midnight rules be reversible?". YahooNews. สืบค้นเมื่อ 2008-04-11.
  3. "เป็ดง่อย". (2551, 22 มิถุนายน). ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://72.14.235.132/search?q=cache:vTQQxayREcAJ:www.thairath.co.th/news.php%3Fsection%3Dspecialsunday01%26content%3D94324+%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2&hl=th&ct=clnk&cd=1&gl=th&client=firefox-a[ลิงก์เสีย] >. (เข้าถึงเมื่อ: 9 ธันวาคม 2551).
  4. "Lame Duck". Word Detective.com. สืบค้นเมื่อ 2008-03-10. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |note= ถูกละเว้น (help)
  5. Edward Stringham, Dept. of Economics. "The Emergence of the London Stock Exchange as a Self Policing Club" (PDF). George Mason University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-30. สืบค้นเมื่อ 2008-03-10.
  6. "Lame duck". The Phrase Finder. สืบค้นเมื่อ 2008-03-10.
Kembali kehalaman sebelumnya