เพนกวิน
เพนกวิน (อังกฤษ: penguin) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์ Spheniscidae อันดับ Sphenisciformes[2] เพนกวินเกือบทุกชนิดพบได้เฉพาะที่ซีกโลกใต้ มีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นคือ เพนกวินกาลาปาโกส ซึ่งพบได้ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตร เพนกวินสามารถปรับให้เข้ากับชีวิตในน้ำได้เป็นอย่างดี มีลักษะเด่นคือขนสีขาวดำและปีกที่มีลักษณะคล้ายครีบเพื่อใช้ว่ายน้ำ เพนกวินส่วนใหญ่กินกุ้ง ปลา ปลาหมึก และสัตว์ทะเลขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นอาหารโดยพวกมันมักหาอาหารได้ขณะว่ายน้ำอยู่ใต้น้ำ[3] เพนกวินใช้เวลาประมาณครึ่งชีวิตอยู่บนบกและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในทะเล แม้ว่าเพนกวินเกือบทุกชนิดจะมีถิ่นกำเนิดในซีกโลกใต้ แต่ในปัจจุบันไม่ได้พบเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น แอนตาร์กติกา เท่านั้นโดยยังมีอีกหลายชนิดที่อาศัยในเขตอบอุ่น เพนกวินสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเพนกวินจักรพรรดิซึ่งเมื่อตัวเต็มวัยจะสูงประมาณ 1.1 เมตร (3 ฟุต 7 นิ้ว) และหนัก 35 กิโลกรัม (77 ปอนด์)[4] ในขณะที่สายพันธุ์ที่เล็กที่สุดคือเพนกวินน้อยหรือที่รู้จักในชื่อเพนกวินนางฟ้าซึ่งสูงประมาณ 33 เซนติเมตร (13 นิ้ว) และหนักเพียง 1 กิโลกรัม (2.2 ปอนด์)[5] โดยทั่วไปแล้ว เพนกวินขนาดใหญ่มักอาศัยอยู่บริเวณที่เย็นกว่า และเพนกวินที่มีขนาดเล็กกว่าจะอาศัยอยู่บริเวณที่มีภูมิอากาศอบอุ่นหรือเขตร้อน เชื่อกันว่าเพนกวินยุคก่อนประวัติศาสตร์บางสายพันธุ์มีขนาดมหึมาโดยมีความสูงหรือน้ำหนักเท่ากับมนุษย์ที่โตเต็มวัยเลยทีเดียว ศัพทมูลวิทยาโดยชื่อ "เพนกวิน" แท้ที่จริงแล้วเดิมทีจะถูกใช้เป็นชื่อเรียกนกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว คือ นกออคใหญ่ ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเพนกวิน คือ บินไม่ได้และมีขนสีขาวดำ[6] ลักษณะและพฤติกรรมเพนกวินมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณซีกโลกทางใต้หรือขั้วโลกใต้ เป็นนกที่บินไม่ได้ เนื่องจากมีโมเลกุลกระดูกที่หนาแน่นผิดจากนกทั่วไป[6] มีลักษณะเด่นคือ มีขนสีดำที่ด้านหลัง และขนสีขาวที่ด้านหน้าท้อง ซึ่งช่วยป้องกันเพนกวินจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ เวลาว่ายน้ำ ปีกของเพนกวินมีลักษณะคล้ายครีบปลา ช่วยในการว่ายน้ำ แต่ไม่สามารถใช้ปีกในการบินเหมือนนกทั่วไป เพนกวินไม่สามารถหายใจในน้ำได้แต่สามารถกลั้นหายใจได้นานมากในน้ำ ร้อยละ 75 ของชีวิตเพนกวินจะอาศัยในน้ำ เพนกวินสามารถว่ายน้ำได้เร็วเฉลี่ยประมาณ 22–24 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 250 เมตร ตีนของเพนกวินเป็นพังผืดเหมือนตีนเป็ด ใช้ได้ดีเวลาว่ายน้ำหรือดำน้ำ แต่เมื่อเดินบนบกแล้ว เพนกวินจะเดินตัวตรง[7] แต่จะทำให้เดินอย่างช้า ๆ ซึ่งเพนกวินมีวิธีการเคลื่อนที่บนบกที่เร็วกว่าและใช้ได้ผลดีกว่าการเดิน นั่นคือ การไถลตัวไปตามทางลาดชันหรือพื้นที่ลื่นเป็นน้ำแข็ง [8] เพนกวินออกลูกเป็นไข่ เมื่อเพนกวินตัวเมียออกลูกจะให้ตัวผู้กกไข่ ส่วนตัวเมียจะออกไปหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ปลา, ครัสเตเชียน หรือหมึก ลูกเพนกวินแรกเกิดจะมีขนสีเทา เมื่อโตขึ้นขนสีเทาจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำที่ด้านหลัง และขนสีขาวที่ด้านหน้าท้อง เพนกวินจะมีพฤติกรรมการทำรังที่ต่างออกไปตามแต่ละชนิด บางชนิดทำรังใกล้ทะเล แต่บางชนิดทำรังในป่ามะเลาะ[9] หรือพื้นที่ในชุมชนของมนุษย์ เช่น ใต้ถุนบ้าน หรือในสวนหลังบ้าน ก็มี[7] เพนกวินทุกชนิดจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศหนาว ทำให้เพนกวินต้องมีชั้นไขมันที่หนาเพื่อช่วยในการกักเก็บความร้อนจากร่างกาย และร่างกายมีการปรับอุณหภูมิอยู่เสมอ โดยมีระบบหมุนเวียนเลือดที่มีประสิทธิภาพ[6] รวมถึงชั้นไขมันนี้ยังใช้เป็นพลังงานอาหารในช่วงที่คลาดแคลน ขนของเพนกวินมี 2 ชั้น ชั้นในทำหน้าที่เหมือนขนของนกทั่วไป ส่วนชั้นนอกจะมีไขมันเคลือบไว้ เพื่อป้องกันน้ำ ความหนาวเย็น และลมหนาวจากภายนอก เพนกวินจะผลัดขนปีละครั้ง ขนที่เก่าและเสียหายจะหลุดออก และขนใหม่จะขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเร็วมาก เมื่อเทียบกับนกทั่วไปซึ่งใช้เวลานานกว่านั้นมาก (โดยเฉลี่ยเกือบปี) หากแต่เพนกวินในช่วงผลัดขนนี้จะมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำไม่ได้ และจะไม่เข้าใกล้น้ำหรือว่ายน้ำเลย นอกจากนี้แล้วเพนกวินยังมีอวัยวะที่ทำงานได้อย่างพิเศษไม่เหมือนกับนกหรือสัตว์โลกทั่วไป ที่สามารถตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนได้ถึงระดับโซเดียมในเลือดหากจะมีมากเกินไป อันเนื่องจากเป็นนกที่กินอาหารทะเลเป็นหลัก ซึ่งการทำงานนี้ของอวัยวะอันนี้ นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ [6] เพนกวิน มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 15–20 ปี แต่บางชนิดก็อาจมีอายุที่ยาวกว่านั้น[10] ทุกชนิดจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่คล้ายนิคม ในบางครั้งอาจมีการรวมฝูงกันมากถึงจำนวนนับแสนหรือล้านตัว เพนกวินเป็นนกที่บินไม่ได้ แต่สามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็วมาก ซึ่งเพนกวินจะตกเป็นอาหารของสัตว์ล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น วาฬออร์กา, แมวน้ำเสือดาว หรือ นกจมูกหลอดยักษ์ เป็นต้น[11] เพนกวิน เป็นนกที่แพร่ขยายพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตรงกับปลายปีของเวลาในซีกโลกใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศยังอบอุ่นและยังหาอาหารกินได้ เพนกวินจะออกไข่และฟักให้เป็นตัวในช่วงนี้ และจะเร่งเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ทั้งพื้นดินและทะเลในซีกโลกทางใต้เป็นน้ำแข็งทั้งหมด และเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมาก เพนกวินบางชนิด อย่างเพนกวินจักรพรรดิ (Aptenodytes forsteri) ซึ่งเป็นเพนกวินชนิดที่ใหญ่ที่สุด ในเพศผู้อาจมีน้ำหนักตัวมากได้ถึง 40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการเตรียมตัวสำรองพลังงานอาหารไว้เพื่อรอรับกับฤดูหนาว[8] การผสมพันธุ์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อมูลจากการบันทึกโดยนักสำรวจขั้วโลกใต้ชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1910 ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมเพนกวินที่อาเดลีแลนด์ พบว่า มีพฤติกรรมทางเพศที่แปลกประหลาดมาก โดยมีการพบการรักร่วมเพศ, การข่มขืน, การผสมพันธุ์โดยไม่หวังการสืบพันธุ์ รวมถึงการผสมพันธุ์กับซากเพนกวินเพศเมียที่ตายไปนานแล้วด้วย [12] เหตุที่เพนกวินไม่สามารถบินได้ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นเพราะความสามารถที่ดีในการว่ายน้ำและดำน้ำ จึงทำให้ปีกของเพนกวินไม่สามารถใช้ในการบินได้ เพราะการว่ายน้ำและดำน้ำใช้พลังงานที่น้อยกว่า ความสามารถในการบินก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการวิจัยจากนกทะเลชนิดอื่นที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเพนกวินมากที่สุด เช่น นกทะเลปากยาว[13] วิวัฒนาการบรรพบุรุษของเพนกวิน เป็นนกที่ปีกไม่สามารถบินได้ แต่กลับว่ายน้ำได้คล่องแคล่วที่มีชื่อว่า "ไวมานู" ที่มีชีวิตอยู่ในยุคพาลีโอซีน ประมาณ 62 ล้านปีก่อน ซึ่งฟอสซิลของไวมานู ปัจจุบันพบได้ที่นิวซีแลนด์ ไวมานูมีรูปร่างที่เพรียวยาวแตกต่างจากเพนกวินในปัจจุบันมาก[1] โดยเพนกวินที่มีขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น Kumimanu biceae มีความสูงประมาณ 1.77 เมตร น้ำหนัก 101 กิโลกรัม มีชีวิตอยู่ราว 50–60 ล้านปีก่อน และเชื่อว่ามีขนสีน้ำตาลซึ่งต่างจากเพนกวินทั่วไปในปัจจุบัน และมีจะงอยปากยื่นยาวกว่า พบโครงกระดูกที่นิวซีแลนด์เมื่อปี ค.ศ.2017 แต่เพนกวินที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมาคือ Palaeeudyptes klekowskii มีความสูงถึง 2 เมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 115 กิโลกรัม ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 2014[14] สำหรับเพนกวินในยุคปัจจุบัน เป็นนกที่ถือกำเนิดมานานกว่า 40 ล้านปีก่อน จากการศึกษาไมโตคอนเดรียและดีเอ็นเอพบว่า เพนกวินสกุล Aptenodytes ซึ่งเป็นเพนกวินชนิดที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้นสายพันธุ์ของเพนกวินทั้งหมดในปัจจุบัน ก่อนที่แต่ละสกุลหรือชนิดจะแยกสายวิวัฒนาการของตัวเองขึ้นมา[15][16] การจำแนกแบ่งออกได้เป็น 6 สกุล ได้แก่
และแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ประมาณ 19 ชนิด[2] หรือ 20 ชนิด[10] และมีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกหลายสกุลและหลายชนิด (ประมาณ 40 ชนิด[10]) ความสัมพันธ์กับมนุษย์เพนกวินเป็นนกที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในด้านต่าง ๆ มากมาย ในอดีตเป็นนกที่มนุษย์ล่าเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค[10] แต่ในปัจจุบันเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้แสดงตามสวนสัตว์หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก (โดยมากจะเป็นเพนกวินฮัมโบลด์) โดยสถานที่เลี้ยงเพนกวินที่มีจำนวนมากที่สุด คือ โตเกียวซีไลฟ์ปาร์ค ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[17] และถึงถูกอ้างอิงถึงในสัญลักษณ์หรือวัฒนธรรมร่วมสมัยต่าง ๆ เช่น เป็นสัญลักษณ์ของลีนุกซ์, เป็นตัวละครฝ่ายร้ายในการ์ตูนชุด Batman ของดีซี คอมิคส์ ที่ชื่อ Penguin ที่มีต้นแบบมาจากเพนกวินจักรพรรดิ เป็นต้น[18] รูปภาพ
อ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ นกเพนกวิน แหล่งข้อมูลอื่นวิกิสปีชีส์มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Sphenisciformes วิกิสปีชีส์มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Spheniscidae |