Share to:

 

เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์

เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์
Teller in 1958 as Director of the Lawrence Livermore National Laboratory.
เกิด15 มกราคม ค.ศ. 1908(1908-01-15)
บูดาเปสต์, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
(now ฮังการี)
เสียชีวิตกันยายน 9, 2003(2003-09-09) (95 ปี)
สแตนฟอร์ด, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติฮังกาเรียน-อเมริกัน
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจาก
คู่สมรสAugusta Maria Harkanyi (1934–2000 (her death); two children)
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาPhysics (theoretical[1]
สถาบันที่ทำงาน
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกWerner Heisenberg
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆJack Steinberger
ลายมือชื่อ

เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (อังกฤษ: Edward Teller, มีชีวิตอยู่ระหว่าง 15 มกราคม ค.ศ. 1908 - 9 กันยายน ค.ศ. 2003) เป็นบิดาของระเบิดไฮโดรเจนที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันแทนปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันในระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิม

ประวัติ

เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1908 ที่เมืองบูดาเปสต์ ในประเทศฮังการี บิดามีฐานะดี และมีเชื้อชาติยิว ในช่วงเวลานั้นฮังการีกำลังมีความวุ่นวายมาก เพราะถูกยึดครองโดยออสเตรีย และถูกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำลายจนผู้คนในประเทศแตกแยก แล้วถูกคอมมิวนิสต์คุกคามด้วยการเข้าครอบครอง นอกจากนี้รัฐบาลฮังการียังต่อต้านคนยิวด้วยการออกกฎหมายจำกัดจำนวนนักศึกษา เชื้อชาติยิวที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย (numerus clausus) ครอบครัวของเทลเลอร์ก็เช่นเดียวกับครอบครัวชาวยิวอื่นๆ ที่ต่างก็พยายามให้การศึกษาที่ดีแก่ลูกๆ เพื่อให้ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี เพราะที่นั่นมีมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาสูงกว่า โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และภาษาเยอรมัน ขณะนั้น คือ ภาษาที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้

เมื่ออายุ 18 ปี เทลเลอร์ได้เดินทางไปเรียนวิชาวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe และวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก เทลเลอร์ได้รับปริญญาเอกฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัย Leipzig ในปี 1930 โดยมี Werner Heisenberg (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี ค.ศ. 1932) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ขณะเรียนที่มิวนิก ในปี ค.ศ. 1928 เทลเลอร์ถูกรถรางแล่นทับเท้าขวาทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด จนต้องมีไม้เท้าช่วยพยุงเวลาเดิน และเทลเลอร์จะใช้ไม้เท้ากระแทกพื้นทุกครั้งที่ต้องการเน้นให้ผู้คนสนใจฟังตนพูด[2]

ชีวิตอาจารย์

หลังสำเร็จการศึกษา เทลเลอร์ได้งานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Göttingen ในปี ค.ศ. 1933 เมื่อนาซีเรืองอำนาจในเยอรมนี เทลเลอร์ต้องอพยพออกนอกประเทศเป็นครั้งที่สอง โดยไม่มีจุดหมายในชีวิตที่แน่นอน รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีนโยบายโอบอุ้มนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวได้ช่วยให้เทลเลอร์เดินทางไป โคเปนเฮเกน เพื่อทำงานร่วมกับนีลส์ บอร์ แล้วไปลอนดอน จากนั้นได้เดินทางต่อไปสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1935 เพื่อเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน โดยการรับรองของ George Gamow[2]

อพยพ

ในสมัยที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เทลเลอร์ได้รู้จักกับ Leo Szilard ซึ่งเป็นชาวฮังการีอพยพเหมือนกัน สัมพันธภาพนี้ทำให้เทลเลอร์ได้งานทำในโครงการสร้างระเบิดปรมาณูของอเมริกา และความเก่งกล้าสามารถของเทลเลอร์ทำให้เขามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับในโครงการแมนฮัตตัน แต่ก็ไม่ถึงระดับหัวหน้า เพราะเทลเลอร์มีนิสัยหลงตัวเอง และคิดว่าตนเองเก่งเหนือคนอื่นๆ อีกทั้งชอบอิจฉาผู้ที่บังคับบัญชาตน ซึ่งในที่นี้คือ J. Robert Oppenheimer[2]

โครงการ Manhattan

การที่เทลเลอร์ได้ทุ่มเททำงานในโครงการแมนฮัตตันอย่างสุดตัวนั้น เพราะเขารู้สึกรักสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ตนเป็นชาวฮังการีอพยพ และรู้ดีว่าการอยู่ใต้การปกครองของระบบฟาสซิสต์ และคอมมิวนิสต์นั้น ความเป็นอยู่ของผู้คนภายใต้การปกครองสองระบบนี้เป็นอย่างไร เทลเลอร์คิดว่าสหรัฐอเมริกาคือประเทศเดียวเท่านั้นที่จะสามารถคุ้มครองโลกให้รอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ได้ โดยการมีทั้งระเบิดปรมาณู และระเบิดไฮโดรเจน

ในปี ค.ศ. 1945 เทลเลอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่คัดค้านการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา เขาต้องการให้ทิ้งระเบิดปรมาณูเหนือกรุงโตเกียว เพื่อให้คนญี่ปุ่นเห็นพลังงานในการทำลายล้างของระเบิดมหาประลัย และจะได้รู้สึกกลัว แล้วยอมแพ้สงคราม โดยไม่มีการสูญเสียชีวิตมากมาย แต่ Oppenheimer ผู้รับผิดชอบโครงการผลิตระเบิดไม่เห็นด้วย

หลังจากที่โลกประจักษ์ในอำนาจสังหารของระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ แล้ว Oppenheimer รู้สึกสำนึกผิดในบาปกรรมที่ได้ทำลงไป เขาจึงคัดค้านการสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่จะมีอำนาจทำลายยิ่งกว่าระเบิดปรมาณู ดังนั้น Oppenheimer จึงขัดขวางเทลเลอร์ไม่ให้เดินหน้าสร้างระเบิดไฮโดรเจน[2]

ขัดแย้งกับแฮร์รี ทรูแมน

ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมนมีความลำบากใจ เพราะไม่มั่นใจว่าควรอนุมัติให้อเมริกาสร้างระเบิดไฮโดรเจนหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าอาวุธมหาประลัยนี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด และมีคุณหรือโทษอย่างไร และตัวประธานาธิบดีเองรู้คณิตศาสตร์เพียงเพื่อใช้ในการซื้อของ สำหรับวิชากลศาสตร์ควอนตัมซึ่งเป็นวิชาจำเป็นในการสร้างระเบิดปรมาณูนั้น ทรูแมนไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับวิชานี้เลย ถึงกระนั้นทรูแมนก็ตัดสินใจเชื่อเทลเลอร์ และได้อนุมัติให้เทลเลอร์เดินหน้าสร้างระเบิดไฮโดรเจนในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ 1949 เพราะรู้ข่าวว่ารัสเซียสามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้แล้ว

ในช่วงเวลานั้นเทลเลอร์ได้กลับไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และได้ลงมือหาเสียงจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาให้สนับสนุนโครงการสร้างระเบิดไฮโดรเจน ท่ามกลางเสียงต่อต้านจาก Oppenheimer เพราะเขาคิดว่าลำพังระเบิดปรมาณูก็สามารถทำให้ผู้คนล้มตายเป็นแสนแล้ว การสร้างระเบิดไฮโดรเจนจะทำลายมนุษยชาติอย่างไม่มีใครคาดฝัน โดยส่วนตัวเทเลอร์รู้สึกกตัญญูต่อ Oppenheimer ที่ให้งานทำในโครงการแมนฮัตตัน ทั้งๆที่เทลเลอร์มีญาติเป็นคอมมิวนิสต์ จึงทำให้เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ แต่ Oppenheimer ไม่เห็นด้วยกับการสร้างระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งเทลเลอร์เห็นว่าเป็นความคิดที่ผิดมาก ข้อขัดแย้งนี้ทำให้กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาตั้งข้อกล่าวหา Oppenheimer ว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ และในสมัยนั้นใครก็ตามที่คัดค้านแนวคิดของรัฐบาลเขาจะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ยิ่งเมื่อกองสอบสวนเอฟบีไอสืบรู้มาว่า Oppenheimer เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนเอียงซ้าย และยังติดต่อกับพวกคอมมิวนิสต์ ศาลจึงสั่งสอบสวน Oppenheimer ทันที และศาลได้ถามเทลเลอร์ว่าไว้ใจ Oppenheimer อดีตเจ้านายเก่าเพียงใด หรือไม่ ซึ่งเทลเลอร์ก็ได้ตอบว่า เขาอยากเห็นโครงการระเบิดไฮโดรเจนดำเนินโดยบุคคลที่เขาเข้าใจ และไว้ใจมากกว่า Oppenheimer

การแถลงเช่นนี้ทำให้ Oppenheimer ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยโครงการสร้างระเบิดไฮโดรเจน ถูกถอดถอนจากตำแหน่งที่ปรึกษาของ Atomic Energy Commission ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นบุรุษอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และศาลสั่งไม่ให้ Oppenheimer ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ ในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน อีกเลย

การต่อต้าน Oppenheimer เช่นนี้ ทำให้เทลเลอร์มีศัตรูที่เป็นนักวิชาการมากมาย ส่วน Oppenheimer ได้จบชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี ค.ศ. 1967 ขณะอายุ 62 ปี

ในการสนับสนุนโครงการสร้างระเบิดไฮโดรเจนนั้นเทลเลอร์ได้ตอกย้ำว่าประเทศตะวันตกไม่ควรไว้ใจคอมมิวนิสต์ และควรมีระเบิดนิวเคลียร์ที่ทรงพลังยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูเพื่อคุ้มครอง ถ้าไว้ใจคอมมิวนิสต์ ก็ไม่ควรมีระเบิดไฮโดรเจน แต่ถ้าไม่ไว้ใจก็ควรมี แต่เรื่องจะมีหรือไม่มีนั้นก็ควรดูตัวอย่างจากกรณีปี ค.ศ. 1939 ที่เทลเลอร์และ Leo Szilard ได้ขอร้องอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ให้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ให้อนุมัติโครงการแมนฮัตตันเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูให้ได้ก่อนเยอรมนี และระเบิดนี้ได้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

หลังจากที่อเมริกาผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้ อีก 2 ปีต่อมา รัสเซียก็ผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้เช่นกัน และโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย[2]

ได้รับคำชื่นชมจากโรนัลด์ เรแกน

ในช่วงเวลาที่โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐนั้นเรแกนชื่นชมเทลเลอร์มาก และเทลเลอร์ก็ศรัทธาเรแกนมากเช่นกัน เพราะเขาคิดว่าเรแกนคือทูตที่ฟ้าได้ส่งมาปกป้องอารยธรรมตะวันตกให้ปลอดภัยจากพวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเรแกนจึงเชื่อคำพูด และข้อเสนอแนะของที่ปรึกษาเทลเลอร์มาก เช่น เมื่อเทลเลอร์เอ่ยถึงการใช้เลเซอร์พลังงานสูงในการทำลายจรวดนำวิธีข้ามทวีปของรัสเซียที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ เรแกนผู้มีความรู้ทางคณิตศาสตร์น้อยกว่าทรูแมน(แฮร์รี เอส. ทรูแมน)แต่รู้เรื่องภาพยนตร์ด้านอวกาศดีกว่าก็ได้อนุมัติโครงการ Star Wars ทันที แต่ในที่สุดโครงการนี้ก็ต้องล้มไป เพราะอเมริกาต้องใช้เงินมหาศาล และเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาดีพอ แต่โครงการนี้ก็ได้ทำให้รัสเซียลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาสงครามเลเซอร์ และการลงทุนที่มากเกินไป จึงส่งผลให้อาณาจักรรัสเซียต้องล่มสลายในเวลาต่อมา

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1987 ที่ประธานาธิบดีเรแกนจัดงานเลี้ยงรับรองนายกรัฐมนตรี Mikhail Gorbachev ที่ทำเนียบขาวเรแกนได้แนะนำ Gorbachev ให้รู้จักเทลเลอร์ว่านี่คือ “The famous Dr. Teller” และ Gorbachev ก็ได้ตอบว่า “There are many Tellers” แล้วปฏิเสธที่จะจับมือกับเทลเลอร์[2]

ผลงานทางฟิสิกส์ที่โดดเด่น

ในส่วนของผลงานฟิสิกส์ที่สำคัญของเทลเลอร์ คือ การศึกษาบทบาทของอิเล็กตรอน 1 ตัวในการเชื่อมโยงโปรตอน 2 ตัว ในโมเลกุลไฮโดรเจนที่แตกตัวเหลืออิเล็กตรอนตัวเดียว ซึ่งการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต หลังจากนั้นเทลเลอร์ได้ทำงานร่วมกับ Emil Jahn ในการอธิบายเส้นสเปกตรัมของ Benzene ในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลตว่า เกิดจากการบิดเบี้ยวของโมเลกุล ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า ปรากฏการณ์ Jahn-Teller นอกจากนี้ ก็ยังได้ศึกษาการสลายตัวแบบเบตาของธาตุกัมมันตรังสี โดยได้คำนึงถึงอันตรกริยาระหว่างสปิน (spin) ของ neutrino กับ สปิน (spin) ของนิวเคลียสที่สลายตัว จึงทำให้ทฤษฎีของ Fermi สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นต้น

ในด้านเกียรติยศเทลเลอร์ได้รับรางวัล Albert Einstein, รางวัล Enrico Fermi และเหรียญ National Medal of Science ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะมอบให้แก่ประชาชน และได้รับ Presidential Medal of Freedom จากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อ 2 เดือนก่อนจะเสียชีวิต ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2003 ด้วย โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน สิริอายุ 95 ปี ที่ Palo Atto ใน California

ณ วันนี้ วงการดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อ ดาวเคราะห์น้อย 5006 ว่าเทลเลอร์ และระลึกถึงเทลเลอร์ว่าถึงเขาจะเป็นคนที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ชอบเล่นเปียโน เทนนิส และปิงปอง ซึ่งเป็นกีฬาราคาถูก แต่เขาคือคนที่ชี้นำประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการทหาร เช่น ชักจูงให้อเมริกาลงทุนล้านล้านดอลลาร์สร้างอาวุธ สร้างหลุมหลบภัยปรมาณู สนับสนุนโครงการ Strategic Defense Initiative (Star Wars) ที่ล้วนหมดสภาพไปแล้ว แต่เทลเลอร์ก็ไม่เสียใจ เพราะเขารู้ว่าความฟุ่มเฟือยเหล่านี้แหละที่ทำให้รัสเซีย ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของอเมริกาต้องล่มสลาย และนี่คือมรดกสำคัญชิ้นสุดท้ายที่เทลเลอร์ได้มอบให้สหรัฐอเมริกาก่อนจากไป[2]

นิสัยส่วนตัว

ในด้านนิสัยส่วนตัว เทลเลอร์ เป็นคนที่ยึดมั่นในความคิดและความเชื่อของตน อีกทั้งชอบพูดความเชื่อเหล่านั้นอย่างเปิดเผย เขามองเหตุการณ์แทบทุกอย่างในลักษณะขาวหรือดำ และเป็นคนที่เข้าใจคำว่า “อำนาจ” ดี เพราะเขารู้ว่าประธานาธิบดีต่างๆ เชื่อในสิ่งที่เขาพูด ดังนั้น เขาจึงมีศัตรูทางการเมือง และวิชาการพอประมาณ เขาจึงกล่าวว่า คนที่มีศัตรูมาก คือคนที่มีอำนาจมาก ความยึดมั่นในตนเอง และอำนาจเช่นนี้ได้ทำให้ George Keyworth ผู้เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนคิดว่าเทลเอร์เข้าใจเรื่องอำนาจดีจนสามารถเขียนเรื่อง The Prince ที่ Machiavelli เขียนได้ดีพอๆ กัน[2]

การทำงานของระเบิดไฮโดรเจน

ภายในลูกระเบิดมีระเบิดแบบฟิชชั่นอยู่ด้านบน และตัวเทมเปอร์ทำด้วยยูเรเนียม 238 ภายในเทมเปอร์คือ ลิเทียม-ดิวเทอเรท และแท่งแกนกลางทำจากพลูโตเนียม 239 ช่องว่างทั้งหมดอัดโฟม ขั้นตอนการระเบิดเป็นดังนี้

  • ระเบิดแบบปฏิกิริยาฟิชชั่น ระเบิดขึ้น ให้รังสีเอกซ์ออกมา
  • แรงดันและความร้อนจากรังสีเอกซ์ ทำให้เทมเปอร์หดตัว และไหม้ อัดเชื้อเพลิงลิเทียม ดิวเทอเรท
  • ลิเทียม ดิวเทอเรท ถูกอัดทำให้ยุบตัวลงไป 30 เท่า
  • แรงอัดตัวทำให้พลูโตเนียมเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่น ให้รังสีความร้อน และนิวตรอนออกมามากมาย
  • นิวตรอนวิ่งไปที่ ลิเทียม ดิวเทอเรท และรวมกับลิเทียม ทำให้เกิดทริเทียม
  • อุณภูมิและความดันที่สูงมาก เพียงพอที่จะทำให้ทริเทียมกับดิวทีเรียม หลอมรวมกัน เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่น ให้ความร้อนมหาศาลออกมา รวมทั้งนิวตรอนจำนวนมาก
  • นิวตรอนที่ได้จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นในเทมเปอร์อย่างต่อเนื่อง
  • ระเบิดตูม[3]

การทดลองครั้งแรกของระเบิดไฮโดรเจน

เมื่อเวลา 7 โมงเช้าของวันที่ 1 พฤศจิกายน ของ ค.ศ. 1952 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกของโลกบนเกาะ Elugelab ในมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น รายงานว่า พลังระเบิดได้ทำให้เกาะที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 กิโลเมตรจมหายไปในทะเล จึงนับว่าระเบิดลูกนี้รุนแรงยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูที่เคยถล่มเมืองฮิโรชิมา เมื่อ ค.ศ. 1945 ถึง 500 เท่า 2 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ประดิษฐ์ระเบิดไฮโดรเจนที่มีอานุภาพในการทำลายสูงยิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ได้ทดสอบที่เกาะบิกินี และหลังจากนั้นไม่นาน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็มีระเบิดไฮโดรเจนในครอบครอง[4]

อ้างอิง

  1. Hoddeson, Lillian; Henriksen, Paul W.; Meade, Roger A.; Westfall, Catherine L. (1993). Critical Assembly: A Technical History of Los Alamos During the Oppenheimer Years, 1943–1945. New York: Cambridge University Press. ISBN 0521441323. OCLC 26764320.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "Edward Teller บิดาของระเบิดไฮโดรเจน ผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายกลาโหมของอเมริกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-03.
  3. "ระเบิดไฮโดรเจน ของ เทลเลอร์และอูลาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-28. สืบค้นเมื่อ 2014-03-03.
  4. Edward Teller (2451-2546)[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya