แคลช
แคลช (อังกฤษ: Clash) เป็นวงดนตรีแนวร็อกชาวไทย รวมตัวกันครั้งแรกในชื่อวง ลูซิเฟอร์ เพื่อเข้าประกวดรายการดนตรีฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ครั้งที่ 2 และ 3 แต่ครั้งสมัยศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในการแข่งขันครั้งที่สามนี้ ลูซิเฟอร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง[1] และได้เซ็นสัญญากับค่ายมอร์มิวสิค หนึ่งในค่ายเพลงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แคลชมีผลงานสตูดิโออัลบั้มกว่า 8 ชุด และยังมีอัลบั้มพิเศษอีก 6 อัลบั้ม และยังเข้าร่วมโครงการอัลบั้มโปรเจกต์พิเศษกับศิลปินในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีผลงานอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง พันธุ์เอ็กซ์เด็กสุดขั้ว เพลงประกอบละคร เพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณา และซิงเกิลพิเศษอีกหลายเพลง และเนื่องจากแบงก์ หนึ่งในสมาชิกของวงมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง ทำให้เขามีโอกาสประพันธ์เพลงให้กับศิลปินอื่น ๆ อีกหลายเพลง พวกเขายังร่วมกันเปิดร้านอาหารกึ่งผับในชื่อ แคลงก์ และเขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกที่วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2551[2] แคลชได้รับรางวัลการยกย่องเป็นตำนานของเพลงร็อกไทยและได้รับรางวัลจากสื่อมวลชนและรายการรางวัลดนตรีมากมาย และยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณารถมอเตอร์ไซค์ โครงการรณรงค์ไนกี้ นอกจากนี้แบงค์ นักร้องนำของวงยังได้รับยกย่องให้เป็น "ลูกยอดกตัญญู" ในงานวันแม่แห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2549 อีกด้วย ในปี พ.ศ. 2553 วงแคลชได้ออกอัลบั้มชุดที่เจ็ด Nine Miss U 2 ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาได้แถลงการณ์ยุบวง โดยให้เหตุผลว่าทางสมาชิกมีมุมมองและทิศทางการทำงานที่แตกต่างกันออกไปจึงหันไปทำแนวเพลงที่ต่างชื่นชอบกัน อีกทั้งในเพลง "เพลงสุดท้าย" ทางวงก็ได้เปิดโอกาสให้แฟนเพลงได้ร่วมร้องกว่า 70 คน เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 และแสดงประกอบมิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าว ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553[3] หลังจากพักวงไปได้ 4 ปี ในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ด้านแบงค์ - ปรีติ บารมีอนันต์ นักร้องนำของวงได้เปิดใจมีโอกาสพูดคุยกับอดีตสมาชิกทั้ง 4 คนและยังกล่าวว่าอีกไม่นานก็จะกลับมารวมตัวอีกครั้ง แบงค์ยอมรับว่ารู้สึกเหงาที่ไม่ได้ทำเพลงร่วมกัน และยังคงมีความรู้สึกที่ดี ๆ กับเพื่อนพ้อง และคุยกันเอาไว้ว่าอีกไม่นาน แคลชจะกลับมาอย่างแน่นอน[4][5] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 แคลชได้กลับมารวมตัวอีกครั้งหลังจากพักวงไป เป็นระยะเวลา 7 ปี ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ทางวงได้ปล่อยซิงเกิลเพลง "ใจเย็นเย็น"[6] และมีคอนเสิร์ตใหญ่ Clash Awake Concert ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 และมีผลงานเพลงและอัลบั้มใหม่ออกมาอยู่ตลอด[7] สมาชิก
ประวัติการรวมวงและก้าวแรกในวงการดนตรี [พ.ศ. 2540 - 2544]แคลชรวมวงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 ครั้งแต่สมาชิกทั้งห้าคนยังเป็นนักเรียนโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยใช้ชื่อวงของตนว่า ลูซิเฟอร์ เพื่อเข้าประกวดการแข่งขันรายการดนตรีฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ (Hot Wave Music Awards) ครั้งที่ 2 และ 3 ในครั้งที่ 3 วงลูซิเฟอร์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2541[1] โดยใช้เพลง "อย่าทำอย่างนั้น" ของจิระศักดิ์ ปานพุ่มและเพลง"เมื่อรักฉันเกิด ของซิลลี่ฟูลส์" ณ ที่ลานโลกดนตรี[8] ในปี พ.ศ. 2540 ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงมอร์มิวสิค ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แต่ก็ไม่ได้มีผลงานกับค่าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ลูซิเฟอร์ได้เซ็นสัญญาใหม่กับค่ายเพลงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่อีกแห่ง คือ อัพ จี จากนั้นพวกเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แคลช และได้ออกจำหน่ายอัลบั้มชุดแรกในชื่อ วัน ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2544[9] โดยออกเผยแพร่ซิงเกิลแรกในเพลง "กอด" ผลงานการประพันธ์ของปรีติ บารมีอนันต์ (แบงค์) นักร้องนำของวงและเรียบเรียงดนตรีโดยกลุ่มสมาชิกของวง[10] นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์เพลง "เลิฟซีน" ซึ่งได้รับรางวัลสีสันครั้งที่ 14 สาขาเพลงร็อกยอดเยี่ยมในปี พ.ศ. 2546 อีกด้วย[1] ประสบความสำเร็จ [พ.ศ. 2546]ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 แคลชได้ออกอัลบั้มลำดับที่สองในชื่อ ซาวด์เชก ในอัลบั้มนี้พวกเขามีส่วนร่วมมากขึ้นตั้งแต่การประพันธ์จวบจนการบันทึกเสียง[11] ซิงเกิลจากอัลบั้มนี้ได้แก่ "เธอจะอยู่กับฉันตลอดไป" "ขอเช็ดน้ำตา" และ "หนาว"[10] ซึ่งเพลง "หนาว" เป็นผลงานการประพันธ์ของแบงก์เอง[11] นอกจากนี้ยังมีเพลงพิเศษอย่าง "หยุดฝันก็ไปไม่ถึง" ซึ่งเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อพล หนึ่งในสมาชิกของวงได้ขอแยกวงและได้กลับมาออกอัลบั้มนี้อีกครั้ง[12] และเพลง "มือน้อย" เพลงของเรวัติ พุทธินันทน์ซึ่งได้นำมาเรียบเรียงใหม่ในอัลบั้มนี้ จากความสำเร็จในอัลบั้ม ชาวด์เชก ที่มีเพลงติดชาร์ตโดยทั่วไป[13] พวกเขาจึงมีโอกาสเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้าน้ำมันเครื่อง[14] และยังได้ขับร้องเพลง "หนึ่งมิตรชิดใกล้" เพลงต้นฉบับของ วสันต์ โชติกุล เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง บิวตีฟูลบ็อกเซอร์ นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน วงแคลชได้จัดทำอัลบั้มพิเศษขึ้นในชื่อ ซาวด์ครีม โดยเรียบเรียงดนตรีจากอัลบั้ม วัน และ ซาวด์เชก อาทิ "กอด" "รับได้ทุกอย่าง" "ขอเช็ดน้ำตา" และ "หนาว" ในรูปแบบใหม่ในแนวอะคูสติกส์ พร้อมเพลงใหม่อย่าง "เธอคือนางฟ้าในใจ" ซิงเกิลแรกเพื่อประชาสัมพันธ์อัลบั้มดังกล่าว นอกจากผลงานอัลบั้มของวงเองและการโฆษณาแล้วนั้น ในปีเดียวกันนี้ แคลชและวงดนตรีร็อกในเครือค่ายเพลงสามค่ายอันประกอบด้วย มอร์ มิวสิก จีนี่เรคอร์ดส และอัพจี ได้จัดทำโครงการพิเศษในชื่อว่า ลิทเทิล ร็อก โปรเจกต์ (Little Rock Project) โดยออกอัลบั้มร่วมกันประกอบด้วย ชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2 ออกจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดยนำเพลงของวงไมโคร มาเรียบเรียงดนตรีใหม่และขับร้องใหม่ตามรูปแบบของแต่ละวง วงแคลชได้ร้องเพลงเปิดตัวโครงการด้วยเพลง "เอาไปเลย" ขับร้องคู่กับวงกะลา นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่น ๆ ที่แคลชได้ขับร้องอาทิ "ตอก" "ไว้ใจ" "แผลในใจ" และ "หยุดมันเอาไว้" และอีกเพลงหนึ่งซึ่งร้องร่วมกันทั้ง 7 วงคือเพลง "ลองบ้างไหม" วงดนตรียอดนิยม [พ.ศ. 2547 - 2548]เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 แคลชได้ออกสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สามในชื่อ เบรนสตอร์ม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและมีการวิจารณ์ไปในทางที่ดี ดนตรีในอัลบั้มนี้ประกอบด้วยเพลงหลากหลายแนวทั้งร็อก ป๊อป และซอฟต์ร็อก โดยออกซิงเกิลเพลง "ใส่ร้ายป้ายสี" เป็นเพลงเปิดตัวของอัลบั้ม และเพลงเด่นอย่าง "เขาชื่ออะไร" ในปีเดียวกัน แบงก์ หนึ่งในสมาชิกของวงได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง พันธุ์เอ็กซ์เด็กสุดขั้ว ร่วมกับหนุ่ม สมาชิกจากวงกะลา จึงได้ขับร้องเพลง "เพลงรักพันธุ์ X" เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวร่วมกับวงกะลา นอกจากนี้แคลชยังได้เข้าร่วมโครงการจัดทำเพลงเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 20 ปี ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอัลบั้มชุด แพ็กต์โฟร์ร่วมกับวงร็อกในสังกัดเดียวกันอันได้แก่วงกะลา โปเตโต้ และเอบีนอร์มอล ซึ่งนำเพลงยอดนิยมในอดีตจากวงดนตรีในสังกัดบริษัทแกรมมี่ของวงโลโซ ซิลลี่ฟูลส์ และอัสนี-วสันต์ นำมาขับร้องและเรียบเรียงใหม่โดยร็อก 4 วง ซึ่งรวมถึงแคลชด้วย โดยแคลชได้นำเพลงของ โจ-ก้อง วายน็อตเซเว่น จิรศักดิ์ ปานพุ่ม และอัสนี-วสันต์ มาเรียบเรียงใหม่ ในปีต่อมาเดือนมกราคม แคลชได้ร่วมคอนเสิร์ต แพ็กต์โฟร์ฟรีดอมโรแมนติกร็อก (Pack 4 Freedom Romantic Rock) ร่วมกับกลุ่มศิลปินในโครงการดังกล่าว และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 พวกเขาได้ออกสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สี่ในชื่อ อีโมชัน ซิงเกิลจากอัลบั้มดังกล่าวได้แก่ "ละครรักแท้" "ซบที่อกฉัน" "เพลงผีเสื้อ" และ "ไฟรัก" ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 แคลชได้ออกอัลบั้มพิเศษในชื่อ สะมูสแคลช ซึ่งนำเพลงเด่นจากอัลบั้ม เบรนสตอร์ม และ อีโมชัน มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ อาทิ เพลง "เขาชื่ออะไร" "ละครรักแท้" "เพลงผีเสื้อ" เป็นต้น โดยได้ออกเผยแพร่เพลงใหม่เพื่อประชาสัมพันธ์อัลบั้มคือ "นางฟ้าคนเดิม" ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง สะดุดรัก ในเวลาต่อมา[15] และในเดือนเดียวกัน พวกเขาได้จัดคอนเสิร์ตขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากซี้ด เอฟเอ็มในชื่อ ซีดไลฟ์คอนเสิร์ตเฟิสต์แคลช (Seed Live Concert First Clash)[16] ยักษ์ประสบอุบัติเหตุ [พ.ศ. 2549 - 2550]ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ยักษ์ มือกลองของวงประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์พลิกคว่ำ ระหว่างไปเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดสมุทรปราการ[17][18] ส่งผลให้ยักษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารับการรักษากายภาพบำบัดเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน วงแคลชก็ได้ออกอัลบั้มลำดับที่ห้าในชื่อ แครชชิง โดยชุดนี้มีเพลงที่ได้รับความนิยมเช่นเพลง "ค้างคา" "มือที่ไร้ไออุ่น" "รอ" "ขอเจ็บแทน" "วังวน" และ "ยิ้มเข้าไว้" โดยมีผู้อื่นมาช่วยเล่นในตำแหน่งกลองแทนยักษ์ที่กำลังฟื้นฟูร่างกาย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 แคลชได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ในชื่อว่า แคลชอาร์มีร็อกคอนเสิร์ต (Clash Army Rock Concert)[19] คอนเสิร์ตนี้มีแขกรับเชิญพิเศษมากมายอาทิ โอซา แวง นางเอกมิวสิกวิดีโอในเพลงอัลบั้ม แครชชิง 3 เพลงและชนัทธา สายศิลา (แน็ป) นักร้องนำวงเรโทรสเปกต์ร่วมแสดงละครด้วยกัน เบนจามิน จุง ทัฟเนล (เบน) จากวงซิลลี่ ฟูลส์ และ ชินวุฒิ อินทรคูสิน (ชิน) รวมถึงกลุ่มนักแสดงวงแคลชรุ่นใหญ่ที่เคยแสดงมิวสิควีดีโอมาร่วมสร้างสีสันในเพลง "ยิ้มเข้าไว้" นอกจากนี้ วงแคลชยังได้มีเพลงใหม่ 2 เพลงที่แต่งขึ้นเพื่อคอนเสิร์ตครั้งนี้โดยเฉพาะคือเพลง "ซากคน" และ "สักวันฉันจะไปหาเธอ" ซึ่งต่อมาทั้งสองเพลงได้นำมาขับร้องใหม่และรวบรวมไว้ในอัลบั้ม แฟน ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน แคลชได้ประชาสัมพันธ์อัลบั้ม แฟน โดยมีกิจกรรมพิเศษที่ให้โอกาสแฟนเพลงมาร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอเพลง "เกินคำว่ารัก" เพลงใหม่จากอัลบั้มนี้ อัลบั้มออกจำหน่ายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยเพลงส่วนใหญ่เป็นการนำเพลงเด่นตั้งแต่อัลบั้มแรกมาเรียบเรียงใหม่ในท่วงทำนองแบบออเคสตร้า และยังรวบรวมเพลงใหม่อีก 2 เพลงที่ประพันธ์ไว้ในการแสดงคอนเสิร์ต แคลชอาร์มีร็อกคอนเสิร์ต อีกด้วย การสร้างอัลบั้มที่ออสเตรเลีย [พ.ศ. 2551 - 2552]ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 แคลชได้สร้างอัลบั้มชุดใหม่ ณ ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากพวกเขารู้จักและสนิทสนมกับ แดเนียล เลฟเฟลอร์ โปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานร่วมกัน[20] และพวกเขากล่าวว่าต้องการเสียงดนตรีที่แปลกใหม่ และที่นั่นมีค่าใช้จ่ายน้อย แต่มีคุณภาพดี แต่ก็ประสบปัญหากันในเรื่องเกี่ยวกับเสียงดนตรี เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ในที่สุดก็ได้ผลงานอัลบั้มนี้ออกมา และได้ประกาศชื่ออัลบั้มชุดนี้ว่า ร็อกออฟเอจเจส[21] มีการถ่ายทำคลิปวิดีโอเบื้องหลังการทำงานอัลบั้มนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์จีเม็มเบอร์.คอม และได้ปล่อยผลงานเพลงแรกในอัลบั้มนี้ ทางคลื่นฮอตเวฟ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ในเพลง "รักเองช้ำเอง" การสร้างอัลบั้มในต่างประเทศทำให้ดนตรีในอัลบั้มนี้มีความเป็นสากลมากขึ้น ในวันที่ 29 กรกฎาคม วันออกจำหน่ายอัลบั้มดังกล่าวได้มีการจัดคอนเสิร์ตเปิดตัวอัลบั้มนี้ ณ อาคารแกรมมี่เพลส ชั้น 21 แคลชได้กล่าวถึงเรื่องราวขำขันปนจริงจังกับการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และกล่าวถึงมิวสิกวิดีโอเพลงในอัลบั้มนี้ที่จะออกเผยแพร่ 4 เพลงออกมาเป็นรูปแบบของซีรีส์แบบเดียวกับอัลบั้มก่อนหน้านี้ ซึ่งได้แก่เพลง "รักเองช้ำเอง" "ถอนตัว" "ปฏิเสธรัก" และ "ความทรงจำครั้งสุดท้าย"[22] ในปีถัดมาวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552 ได้มีคอนเสิร์ต แคลชอาร์มีร็อคคอนเสิร์ต 2 ชีวิต มิตรภาพ ความรัก โดยประพันธ์เพลงเพิ่มเติมเพื่อการแสดงเฉพาะในคอนเสิร์ตดังกล่าวได้แก่ "ชีวิต มิตรภาพ ความรัก" และ "ปฏิเสธไม่ได้ว่ารักเธอ" ร่วมร้องกับ แคล คาโรลิน นอกจากนี้ยังได้มีแขกรับเชิญพิเศษ อาทิ ซีล ศุภรุจ เตชะตานนท์ (รุจ เดอะสตาร์) และชินวุฒิ อินทรคูสิน (ชิน) มาร่วมร้องในคอนเสิร์ตนี้ด้วย การพักวงและคอนเสิร์ตสุดท้าย [พ.ศ. 2553 - 2554]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 แคลชได้ออกอัลบั้มชุดที่เจ็ดในชื่อ ไนน์มิสยูทู เพลงเด่นจากอัลบั้มนี้ได้แก่เพลง "ลางสังหรณ์" ซึ่งออกเผยแพร่มิวสิกวิดีโอวันที่ 17 พฤษภาคมในปีเดียวกัน[23] และ "เพลงสุดท้าย" ซึ่งเปิดโอกาสให้แฟนเพลงเข้าร่วมขับร้องกว่า 70 คนเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553[24] และแสดงประกอบมิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าว ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยถ่ายทำ ณ ลานเทนนิสของคอนโดร้างแห่งหนึ่ง ระหว่างการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอดังกล่าว แบงก์ นักร้องนำของวงได้กล่าวกับแฟนเพลงที่ร่วมถ่ายทำมิวสิกวิดีโอว่า
ภายหลังการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเสร็จสิ้นแล้วนั้น แคลชได้แถลงข่าวยุบวงในเย็นวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พวกเขากล่าวว่าพวกเขาปรึกษาเรื่องการแยกวงมานานกว่า 3 ปีแล้วและกล่าวขอโทษแฟน ๆ[26] สาเหตุการประกาศแยกวง พวกเขากล่าวว่าเป็นเพราะแต่ละคนมีมุมมองและทิศทางการทำดนตรีที่แตกต่างกัน พร้อมบอกว่าจะแยกย้ายกันไปทำงานเพลงตามแนวทางของตัวเอง[27] โดยจะมีคอนเสิร์ตอำลาแฟนคลับในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 พร้อมกันนั้นแบงก์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า
พร้อมกันนั้นก็ได้ปฏิเสธข่าวลือการทะเลาะภายในวงว่า
ชีวิตหลังแยกวงแบงค์ แคลชก็ไปเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม BANKK CA$H ส่วนแฮ็คไปเป็นมือกีตาร์วงเอส.ดี.เอฟ พลทำงานเป็นโปรดิวเซอร์และยักษ์กับสุ่มฟอร์มวงเฉด ภาพลักษณ์แคลชเป็นศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่มีหลากหลายแนวเพลง เริ่มแรกนั้นดนตรีของแคลชจะเป็นแนวร็อกแบบญี่ปุ่นหรือเจ-ร็อก ต่อมามีการปรับเปลี่ยนแนวดนตรีโดยมีท่วงทำนองหนักหน่วงยิ่งขึ้นเป็นแนวออลเทอร์นาทิฟร็อก ฮาร์ดร็อก และ นูเมทัล ซึ่งพบได้ในบทเพลง "รักจริงรักปลอม" "ใส่ร้ายป้ายสี" "สวรรค์ไม่มีตา" หรือ "อีโมชัน" เป็นต้น นอกกจากดนตรีแนวร็อกแล้ว แคลชยังมีเพลงแนวอะคูสติกส์ซึ่งมีทั้งการเรียบเรียงทำนองในแบบอะคูสติกส์อย่างเพลง "ละครรักแท้" "ขอเจ็บแทน" "เธอคือนางฟ้าในใจ" "นางฟ้าคนเดิม" หรือการเรียบเรียงทำนองใหม่จากเพลงแนวร็อก เช่น "ขอเช็ดน้ำตา" "หนาว" "รับได้ทุกอย่าง" "ซบที่อกฉัน" เป็นต้น นอกจากนี้บางเพลงยังมีการสอดแทรกท่อนแร็ป เช่น เพลง "ผมไม่ได้บ้า" "โรคประจำตัว" "มันนี่เอนต์ฟลาย" เป็นต้น หรือแนวอาร์แอนด์บี ในเพลง "เชื่อในฉัน" "ปฏิเสธรัก" และอีกเพลงที่เห็นได้ชัดคือเพลง "ละครรักแท้" โดยต้นฉบับเป็นเพลงแนวอะคูสติกส์ซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงใหม่เป็นแนวอาร์แอนด์บี ในอัลบั้ม แฟน มีการสอดแทรกดนตรีแนวออเคสตร้าเข้าผสมผสานอีกด้วย เช่นในเพลง "เกินคำว่ารัก" หรือการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่เป็นแนวออเคสตร้า อาทิ "เธอคือนางฟ้าในใจ" "หนาว" "ไฟรัก" เป็นต้น ในอัลบั้มชุด ร็อกออฟเอจเจส แคลชได้เดินทางไปสร้างอัลบั้ม ณ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีแดเนียล เลฟเฟลอร์ โปรดิวเซอร์ชาวออสเตรเลียช่วยควบคุมดูแลเพลงให้ทำให้มีความเข้มข้นและเป็นสากลมากขึ้น[28] ในส่วนเนื้อหาเพลงของแคลช มีทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักเหมือนบทเพลงทั่วไปและเนื้อหาที่สะท้อนสังคม เพลงช้าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก อกหัก และปลอบใจ หรือความสมหวัง คิดถึง และให้กำลังใจ ในเพลงเร็วส่วนใหญ่จะเป็นแนวสะท้อนสังคมหรือเสียดสีสังคม ซึ่งพบได้ในอัลบั้ม เบรนสตอร์ม โดยแบงก์กล่าวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอัลบั้มชุดดังกล่าวว่า "ก็อยากให้ผู้ฟังเปิดใจยอมรับสิ่งที่เรานำเสนอออกไป ดนตรีดุดัน เนื้อหาเข้มข้น สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้โจมตีใคร และเรามั่นใจว่าเพลงช้าในอัลบั้มชุดนี้เพราะมาก ๆ ครับ" ส่วนเพลงเร็วที่มีความหมายเกี่ยวกับความรักนั้นจะพบได้ในอัลบั้มเก่า เช่นเพลง "ไฟรัก" "รักจริงรักปลอม" เป็นต้น[28] นอกจากนี้แบงค์นักร้องนำยังได้รับเกียรติให้เป็น "ลูกยอดกตัญญูต่อผู้เป็นแม่" เนื่องจากเมื่อทราบว่าแม่ป่วยเป็นโรค MDS หรือความผิดปกติของโครโมโซมในกระดูกสันหลังแล้ว ก็ดั้นด้นทำงานหางานมารักษาแม่ให้หายขาด จนได้รับการประกาศยกย่องจาก สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น "ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่" ประจำปี 2549 โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในงานวันแม่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ณ สวนอัมพร โดยแบงก์กล่าวถึงรางวัลนี้ว่า “ดีใจมากครับที่ได้รับรางวัลนี้เพราะเป็นรางวัลที่มีค่าสูงสุดในชีวิตผม จึงจะขอมอบเป็นของขวัญให้กับคุณแม่ในวันแม่ปีนี้ไปเลย คิดว่าคุณแม่คงจะภูมิใจเพราะผมเป็นคนที่ทำอะไรแล้วไม่ค่อยมีใครเห็นนอกจาก คุณแม่"[29] แม้ว่าตอนนี้แม่ของแบงก์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เขาก็ยังคงทำงานเพลงต่อไปเพื่อแฟนคลับอันเป็นที่รักของเขา กิจกรรมและงานอื่น ๆผลงานร่วมกับศิลปินอื่นนอกจากแบงก์นักร้องนำของแคลชจะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีความสามารถในการประพันธ์เพลงอีกด้วย โดยมีเพลงของแคลชจำนวนไม่น้อยที่เขาเป็นคนแต่ง ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้มีโอกาสในการแต่งเพลงให้ศิลปินอื่น ๆ ด้วย อาทิ กอล์ฟ-ไมค์ในเพลงแนวร็อกผสมฮิปฮอปอย่างเพลง "ไม่ตามใคร" และเพลง "เต้นกันไหม" ซึ่งเป็นเพลงแนวป๊อปผสมฮิปฮอป นอกจากนี้ยังประพันธ์เพลงให้กับศิรินทิพย์ หาญประดิษฐ์ (โรส) ซึ่งแบงก์ได้ประพันธ์เพลงส่งท้ายปี พ.ศ. 2550 ในเพลง "ปีใหม่ใหม่" โดยการโปรดิวซ์ของเพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ โปรดิวเซอร์ของแคลชมาเรียงเรียงดนตรี ให้โรสเป็นคนร้องซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี แคลชยังมีส่วนร่วมในการทำดนตรีให้กับเพลงส่วนใหญ่ของพิมพ์รดาภา ไรท์ (ตีน่า) ในอัลบั้ม มามาคิสส์ อีกด้วย และแบงค์ยังได้ประพันธ์เพลงให้กับ ชิน ชินวุฒิ อีกด้วย[30] นอกจากนี้แคลชยังได้ประพันธ์เพลง "อ้อมกอดจากดวงดาว" สนองโครงการ “คลายหนาวให้น้อง” ซึ่งแคลชได้ธงไชย แมคอินไตย์ มาร่วมร้องในเพลงนี้ด้วย[31] วงแคลชมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเองมาแล้วถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้แล้ว แบงก์ยังเคยมีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตใหญ่ของศิลปินอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น โอเพนฮาร์ตคอนเสิร์ต (Open Heart Concert) ของมาช่า วัฒนพานิช โดยแบงก์ได้ร่วมร้องในเพลง "ขอเช็ดน้ำตา" และ "เจ้าช่อมาลี" และแสดงเดี่ยวในเพลง "ค้างคา"[32] และยังได้รับเชิญในคอนเสิร์ต ไทยทาเนียมอันเซ็นเซอร์ดคอนเสิร์ต (Thaitanium Uncensored Concert) ของไทยเทเนี่ยม กลุ่มศิลปินแร็ปซึ่งแบงก์ได้แต่งกายเป็นเด็กฮิปฮอปร่วมแสดงในคอนเสิร์ตดังกล่าว[33] และแสดงเดี่ยวในเพลง "ละครรักแท้" ในฉบับแบบอาร์แอนด์บี เป็นต้น งานโฆษณาและนิตยสารด้วยความนิยมของวงแคลชในหมู่วัยรุ่น จึงได้รับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แบรนด์ยามาฮ่า กับจักรยานยนต์ยามาฮ่า รุ่น Mio ซึ่งทางยามาฮ่าออกมาพูดว่า ลูกค้าจดจำรุ่นจักรยานยนต์ได้โดยผ่านพรีเซ็นเตอร์ "ลูกค้าหลายคนมาซื้อจักรยานยนต์มักจะพูดว่า อยากได้รุ่นแบงก์วงแคลช"[34] และยังได้ร่วมแคมเปญของไนกี้ กับโครงการ "เซียนหรือเกรียน" ที่ให้วัยรุ่นส่งคลิปวิดีโอบันทึกการเตะบอลตามที่ต่าง ๆ มาทางไนกี้ โดยแคลชร้องเพลง “ขอเจอสักที” ประกอบแคมเปญนี้[35] ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้คุยกับน้อง ๆ ซึ่งรักการเล่นฟุตบอล และน้อง ๆ พวกนี้ได้มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงกับวงแคลชด้วย[36] ภาพยนตร์โฆษณาไทยตัวอื่น เช่น กาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ พิเชียร คูสมิทธิ์ กล่าวว่า "เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของเบอร์ดี้ โดยนำเหตุการณ์จริงมานำเสนอผ่านพรีเซนเตอร์ คือ แบงก์ วงแคลช ซึ่งถือเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่มีความพยายามจนประสบความสำเร็จ"[37] รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาน้ำมันเครื่อง ปตท. ชุด พีทีที 4 ที ชาเลนเจอร์ ที่ได้ ฝน ชญาฎา ยุทธมานพ มาเป็นนางเอก โฆษณา ธุรกิจและหนังสือนอกจากผลงานเพลงแล้ววงแคลชยังร่วมมือกันเปิดร้านอาหารที่มีชื่อว่า แคลงก์ (Clank) ที่บริเวณถนนศรีนครินทร์ หลังห้างซีคอนสแควร์[2] ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกับขันเงิน และเดย์ ศิลปินจากวงไทยเทเนี่ยม[38] เป็นร้านอาหารกึ่งผับ และได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกของแคลชชื่อ ดาร์คโน้ตสตูดิโอ (Dark Note Studio) ที่จะกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของสมาชิกแต่ละคน[39] ผลงานเพลงสตูดิโออัลบั้ม
ซิงเกิลเดี่ยว
ซิงเกิลเพลงพิเศษ
ผลงานการแสดง
ศิลปินรับเชิญ
รางวัลที่ได้รับ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |