แผ่นโกโกส
แผ่นโกโกส (อังกฤษ: Cocos Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรที่อยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกทางชายฝั่งตะวันตกของอเมริกากลาง ตั้งชื่อตามเกาะโกโกสซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นนี้ แผ่นโกโกสเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 23 ล้านปีก่อน เมื่อแผ่นแฟรัลลอนแตกออกเป็นสองแผ่น โดยอีกแผ่นหนึ่งเกิดเป็นแผ่นนัซกา นอกจากนี้แผ่นโกโกสยังแตกออกเป็นสองส่วนด้วย โดยอีกส่วนที่เล็กกว่าเรียกว่าแผ่นริเบรา[2] แผ่นโกโกสถูกล้อมรอบด้วยแผ่นธรณีแปรสัณฐานหลายแผ่น โดยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแผ่นอเมริกาเหนือและแผ่นแคริบเบียน ทิศตะวันตกติดกับแผ่นแปซิฟิก และทิศใต้ติดกับแผ่นนัซกา ธรณีวิทยาแผ่นโกโกสถูกสร้างขึ้นโดยการขยายตัวของพื้นมหาสมุทรตามแนวจุดธารผุดแปซิฟิกตะวันออกและจุดร้อนกาลาปาโกส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อันมีความซับซ้อนที่นักธรณีวิทยา เรียกว่า ระบบการขยายตัวโกโกส-นัซกา (Cocos-Nazca spreading system) จากจุดธารผุด แผ่นโกโกสถูกดันออกไปทางทิศตะวันออกและถูกดันหรือถูกลาก (อาจเกิดขึ้นทั้งสองลักษณะ) ไปใต้แผ่นแคริบเบียนที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า ในกระบวนการที่เรียกว่าการมุดตัวของเปลือกโลก การมุดตัวของเปลือกโลกทำให้ขอบของเปลือกโลกร้อนขึ้น และเป็นการเพิ่มน้ำลงไปในชั้นเนื้อโลกของแผ่นที่อยู่ด้านบน ในชั้นเนื้อโลกที่เรียกว่า ฐานธรณีภาค ผิวเปลือกโลกจะถูกหลอมเป็นหินหนืด ขณะที่น้ำที่ติดไปด้วยจะกลายเป็นน้ำร้อนยวดยิ่งภายใต้แรงดันมหาศาล เป็นผลให้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของขอบเขตการขยายตัวเกิดแนวโค้งต่อเนื่องของภูเขาไฟขึ้น เรียกว่า หมู่เกาะรูปโค้งอเมริกากลาง ตั้งแต่ประเทศคอสตาริกาถึงประเทศกัวเตมาลา และเป็นแนวแผ่นดินไหวที่ขยายขึ้นไปทางเหนือเข้าสู่ประเทศเม็กซิโก ขอบด้านเหนือของแผ่นโกโกสคือร่องลึกมิดเดิลอเมริกา ขอบด้านตะวันออกคือรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ เรียกว่า แนวรอยแตกปานามา ขอบด้านใต้คือเทือกเขากลางสมุทรชื่อ จุดธารผุดกาลาปาโกส[3] และขอบด้านตะวันตกคือเทือกเขากลางมหาสมุทรเช่นกันชื่อ จุดธารผุดแปซิฟิกตะวันออก จุดร้อนใต้หมู่เกาะกาลาปาโกสทอดตัวตามแนวจุดธารผุดกาลาปาโกส (ดูที่จุดร้อนกาลาปาโกส และ แผ่นเล็กกาลาปาโกส) แผ่นริเบราทางเหนือของแผ่นโกโกสมีการแยกตัวออกจากแผ่นโกโกสเมื่อ 5–10 ล้านปีก่อน ขอบเขตของทั้งสองแผ่นดูเหมือนจะไม่ปรากฏเป็นรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ แต่ก็ถือว่าเป็นคนละแผ่นกัน ภายหลังที่แผ่นริเบราแยกตัวออกจากแผ่นโกโกส แผ่นริเบราได้ประพฤติตัวเป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานอิสระขนาดเล็กแผ่นหนึ่ง[4] แผ่นดินไหวเม็กซิโกซิตี พ.ศ. 2528 และแผ่นดินไหวในรัฐเชียปัส พ.ศ. 2560 เป็นผลมาจากการมุดตัวของแผ่นโกโกสใต้แผ่นอเมริกาเหนือ และแผ่นดินไหวในเอลซัลวาดอร์ มกราคม พ.ศ. 2544 ก็เกิดจากการที่แผ่นโกโกสมุดตัวลงใต้แผ่นแคริบเบียนเช่นกัน อ้างอิง
|