Share to:

 

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์
Thomas George Knox
โทมัส ยอร์ช น็อกซ์
เกิดพ.ศ. 2367
เทศมณฑลลันดันเดร์รี, อังกฤษ สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 (63 ปี)
เทือกเขาพิรินี, ประเทศฝรั่งเศส
อาชีพนักการทูต
คู่สมรสปราง เย็น น็อกซ์
บุตร3 คน
บิดามารดาเจมส์ สเปนเซอร์ น็อกซ์
คลารา บาร์บารา แบรส์เฟิร์ด

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (อังกฤษ: Thomas George Knox; พ.ศ. 2367 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430) เป็นทหารและนักการทูตชาวไอริช ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ในประเทศสยามระหว่างปี 2411 ถึงปี 2422[1] เป็นบุตรของนายเจมส์ สเปนเซอร์ น็อกซ์ กับนางคลารา บาร์บารา แบรส์เฟิร์ด[2]

ประวัติ

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2367 ณ เทศมณฑลลันดันเดร์รี เเคว้นอังกฤษ ประเทศสหราชอาณาจักร เดิมเป็นทหารอังกฤษยศร้อยเอกประจำที่บริติชราช กล่าวกันว่าพอเล่นพนันแข่งม้าจนหมดตัว จึงลาออกจากตำแหน่งตามร้อยเอกอิมเปย์ มาทำงานที่สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยร้อยเอกอิปเปได้เป็นครูทหารวังหลวง ส่วนนายน็อกซ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูวังหน้า เป็นผู้ฝึกทหารอย่างยุโรป และยังได้เข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปตีเมืองเชียงตุง[3][4]

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทานผู้หญิงวังหน้าชื่อปราง ให้เป็นภรรยา มีลูกด้วยกันสามคน ต่อมาเมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งกงสุลในกรุงเทพฯ และด้วยความรู้การเมืองและภาษาไทย จึงทำงานเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งจนได้เป็นกงสุลเยเนอราล มีบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์[5] อีกทั้งยังสนิทและคุ้นเคยกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และได้เป็นกงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรกับอภิรัฐมนตรีในสมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[6] โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 ณ เทือกเขาพิรินี ประเทศฝรั่งเศส สิริอายุรวม 63 ปี[7][8][9]

ชีวิตครอบครัว

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์สมรสกับปราง หญิงเชื้อสายทวายที่ได้รับพระราชทานจากวังหน้า[10] มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่

  1. แฟนนี น็อกซ์ หรือ แฟนนี ปรีชากลการ (ค.ศ. 1856–1925)[11] สมรสกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) มีบุตรชายเพียงคนเดียว
  2. แคโรไลน์ อีซาเบล น็อกซ์ หรือ ดวงแข[12] (26 มิถุนายน ค.ศ. 1857 – 17 มิถุนายน ค.ศ. 1893)[13] บางแห่งว่าบิดาเคยถวายตัวให้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ[14] ซึ่งคุณปรางเคยวาดฝันไว้ว่า "...ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย..."[15] ภายหลังได้สมรสกับหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ มีบุตรด้วยกันสองคน
  3. โทมัส น็อกซ์ (11 กันยายน ค.ศ. 1859 – ค.ศ. 1923)[2]

ต่อมาแฟนนี่ น็อกซ์แต่งงานกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ระหองระแหงระหว่างพระปรีชากลกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จากการที่มาจากความประพฤติไม่ชอบของพระปรีชากลการ ทำให้นายน็อกซ์พยายามใช้อิทธิพลของตนในฐานะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษสั่งเรือรบเข้ามาข่มขู่รัฐบาลสยามเพื่อช่วยลูกเขย แต่ผลคือพระปรีชากลการถูกลงโทษประหารชีวิต พร้อมถูกริบราชบาตร นายน็อกซ์ถูกทางการอังกฤษเรียกตัวกลับไป นางแฟนนีลูกสาวต้องหนีออกนอกประเทศและไม่มีข่าวหลังจากนั้นอีกเลย[16]

อนึ่ง ในช่วงแรกที่นายนอกซ์เป็นกงสุลนั้น มีชาวอังกฤษชื่อเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองกงสุล ซึ่งต่อมาคือต้นตระกูลของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อ้างอิง

  1. Thomas George Knox[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 Thomas Knox
  3. Bradford Smith, "It Was Love, Love, Love", The New York Times, 16 September 1962
  4. R. J. Minney, Fanny and the Regent of Siam (The World Publishing Company, 1962
  5. "พระจอมเกล้า ๒๐๐ ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2008-11-09.
  6. ตอนที่ ๕ เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๑๗
  7. "A Dark Tragedy in Siam: The Execution of Pra Preecah—A Native Nobleman Beheaded for Marrying A British Officer's Daughter—How a Cruel King Can Retain A Grudge For Years—Medieval Horrors in the Nineteenth Century", The New York Times, 12 April 1880
  8. W. S. Bristowe, Louis and the King of Siam (Chatto and Windus, 1976)
  9. Alec Waugh, Bangkok: Story of a City (W. H. Allen, 1970), pages 84-85
  10. พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554, หน้า 293
  11. Preecha Kolakan, Fanny (Knox)
  12. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 120
  13. Findagrave
  14. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 21
  15. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 22
  16. ไกรฤกษ์ นานา, "ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี่ น็อกซ์ แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 7 พฤษภาคม 2551 หน้า 106-121
Kembali kehalaman sebelumnya