ปิติพงศ์ เต็มเจริญ
ปิติพงศ์ เต็มเจริญ (เกิด 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2511) ชื่อเล่น ดุ่ย เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 (ปดิพัทธ์ สันติภาดา) เป็นหัวหน้าพรรคเป็นธรรม อดีตโฆษกพรรคเสรีรวมไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 3 สมัย มีฉายาว่า "ทายาทเจ้าพ่อรถทัวร์สายใต้"[2] ประวัติปิติพงศ์ เต็มเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2511[3] จบการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท 3 สาขาได้แแก่ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฏหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอเมริกัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี การทำงานปิติพงศ์ เต็มเจริญ เริ่มทำงานการเมืองตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2538 ลงสมัคร ส.ส.สมัยแรก ในนามพรรคประชากรไทย ได้เป็นส.ส.สมัยแรก โดยได้เป็น ส.ส.กทม. เขต 10 (บางกอกน้อย,ตลิ่งชัน และบางพลัด) และในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ดร.ปิติพงศ์ ได้เป็น ส.ส.กทม.ต่อเนื่องกัน 2 สมัย ในสังกัดพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย แต่แพ้ให้กับชนินทร์ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ ปิติพงศ์ เต็มเจริญ เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ชัยเกษม นิติสิริ) ในปี 2556[4] ในปี 2562 เขาได้เข้าร่วมงานกับพรรคเสรีรวมไทยและรับตำแหน่งโฆษกพรรค แต่ได้ลาออกในเวลาต่อมา[5] และแยกออกมาทำงานในพรรคการเมืองในปี 2565 ชื่อว่า "พรรคเป็นธรรม" โดยเขารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค[6] โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ปิติพงศ์ได้ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 31 สังกัดพรรคเป็นธรรม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง[7][8] ต่อมาหลังจากที่ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปิติพงศ์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|