เบเรงเกลาแห่งกัสติยา
เบเรงเกลามหาราชินี (สเปน: Berenguela la Grande; ค.ศ. 1179 หรือ 1180 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1246) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยา[1] ในปี ค.ศ. 1217 และสมเด็จพระราชินีแห่งเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1197 ถึง ค.ศ. 1204 ในฐานะพระราชธิดาพระองค์ใหญ่และรัชทายาทโดยสันนิษฐานของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 พระองค์เป็นเจ้าสาวผู้เป็นที่หมายตา และถูกหมั้นหมายกับค็อนราท พระราชโอรสของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฟรีดริชที่ 1 บาร์บาร็อสซา หลังค็อนราทสิ้นพระชนม์ พระองค์อภิเษกสมรสกับพระญาติ พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน เพื่อรักษาสันติภาพระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งเลออนกับพระราชบิดา ทั้งคู่มีพระราชโอรสธิดาด้วยกันห้าคนก่อนการแต่งงานจะถูกสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงประกาศให้เป็นโมฆะ เมื่อพระบิดาสวรรคต พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเจ้าเอนริเกที่ 1 ในกัสติยา (พระอนุชา) จนกระทั่งได้สืบทอดตำแหน่งต่อเมื่อพระเจ้าเอนริเกสวรรคต หลายเดือนต่อมาพระองค์ยกกัสติยาให้พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 พระราชโอรส ด้วยความเป็นกังวลว่าความเป็นสตรีจะทำให้พระองค์ไม่สามารถเป็นผู้นำกองทหารของกัสติยาได้ ทว่ายังทรงเป็นที่ปรึกษาคนใกล้ชิดที่สุดที่คอยชี้นำทางการเมือง เจรจาต่อรอง และปกครองในนามพระราชโอรสตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ พระองค์มีส่วนสำคัญในการรวมกัสติยากับเลออนเข้าด้วยกันอีกครั้งภายใต้อำนาจของพระราชโอรส และสนับสนุนความพยายามในการทำเรกองกิสตาของพระราชโอรส ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สถาบันศาสนาและสนับสนุนการเขียนประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ต้นพระชนม์ชีพเบเรงเกลาพระราชสมภพไม่ในปี ค.ศ. 1179[2][3] ก็ในปี ค.ศ. 1180[3][4] ในบูร์โกส[3] เป็นพระราชธิดาพระองค์โตของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 กับเอเลนอร์แห่งอังกฤษ ในฐานะพระราชโอรสธิดาพระองค์โตของพระเจ้าอัลฟอนโซกับเอเลนอร์ พระองค์เป็นทายาทหญิงโดยสันนิษฐานของบัลลังก์กัสติยาอยู่หลายปี[5] เหตุเพราะพระอนุชาหลายคนที่ประสูติหลังพระองค์สิ้นพระชนม์หลังการคลอดหรือไม่ก็อยู่ไม่พ้นวัยทารก เบเรงเกลาจึงกลายเป็นคู่ครองผู้เป็นที่หมายตามากที่สุดในยุโรป[5] การหมั้นหมายครั้งแรกของเบเรงเกลาบรรลุข้อตกลงในปี ค.ศ. 1187 เมื่อค็อนราท ดยุกแห่งโรเทินบวร์คและพระบุตรคนที่ห้าของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1[6] ต้องการแต่งงานกับพระองค์ ปีต่อมาสัญญาว่าด้วยการแต่งงานได้รับการลงนามในเซลิงเกินชตัท หนึ่งในนั้นคือสินสอดจำนวน 42,000 เหรียญมาราเบดี[6] จากนั้นค็อนราทก็เดินทัพมากัสติยาที่มีการฉลองการหมั้นหมายกันในการ์ริยอนและค็อนราทได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน[7] สถานะของเบเรงเกลาในฐานะทายาทแห่งกัสติยาเมื่อพระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์เป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญาและสัญญาว่าด้วยการแต่งงาน[8][9] ที่ระบุว่าพระองค์จะสืบทอดอาณาจักรต่อจากราชพระบิดาหรือพระอนุชาคนใด ๆ ก็ตามที่ไร้ทายาท[8] ค็อนราทจะได้เป็นเพียงผู้ปกครองร่วมในฐานะพระราชสวามีของพระองค์ และกัสติยาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ[6] การแต่งงานไม่ได้ถูกทำให้สมบูรณ์เนื่องจากเบเรงเกลายังเด็ก พระองค์มีพระชนมายุไม่ถึง 10 พรรษา[10] ค็อนราทกับเบเรงเกลาไม่ได้พบเจอกันอีก[11] ในปี ค.ศ. 1191 เบเรงเกลาขอร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศให้การหมั้นหมายเป็นโมฆะ ภายใต้อิทธิพลของบุคคลที่สามอย่างพระอัยกี อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน ที่ไม่สนใจจะผูกมิตรกับราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินที่เป็นเพื่อนบ้านของที่ดินศักดินาในฝรั่งเศส[11] เรื่องราวจบลงเมื่อดยุกถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1196[11] สมเด็จพระราชินีแห่งเลออนเพื่อรักษาสันติภาพระหว่างกัสติยากับเลออน เบเรงเกลาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระญาติลำดับที่หนึ่งที่อยู่ห่างกันหนึ่งขั้น ในบายาโดลิดในปี ค.ศ. 1197[12] ตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบสเปนในเวลานั้น พระองค์ได้ควบคุมปราสาทและที่ดินจำนวนหนึ่งในเลออนโดยตรง[12] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกันกัสติยา ในปี ค.ศ. 1198 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 เริ่มไม่ยอมรับการแต่งงานด้วยเหตุผลว่าเป็นการร่วมประเวณีกับระหว่างญาติใกล้ชืด สองสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจนถึงปี ค.ศ. 1204[13] แล้วจึงขวนขวายขอการผ่อนผันเพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกัน หนึ่งในนั้นการเสนอเงินก้อนโตให้[14] ทว่าสมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธคำร้องขอนั้น แม้ทั้งคู่จะทำให้พระโอรสธิดาที่มีด้วยกันได้รับการยอมรับว่าเป็นพระราชโอรสธิดาตามกฎหมายได้[15] แต่การแต่งงานก็จบลง เบเรงเกลากลับกัสติยาไปหาพระบิดามารดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1204 และทรงอุทิศตนให้กับการดูแลพระราชโอรสธิดา[15] ช่วงที่เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแม้จะทรงหมดบทบาทหน้าที่ในการเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเลออน แต่พระองค์ยังคงมีสิทธิ์ในการเรียกเก็บภาษีในที่ดินมากมายที่พระองค์ได้รับมา หนึ่งในนั้นคือซาลามังกาและกัสโตรเบร์เด[16] ที่ทรงยกให้พระเจ้าเฟร์นันโด พระราชโอรส ในปี ค.ศ. 1206[17] ขุนนางจำนวนหนึ่งที่รับใช้พระองค์เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระราชินีติดตามพระองค์กลับไปที่ราชสำนักในกัสติยา[18] สันติสุขที่เกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์แต่งงานสูญสิ้นไป และเกิดสงครามขึ้นระหว่างเลออนกับกัสติยาเหนือที่ดินที่อยู่ในการควบคุมของพระองค์ในเลออน[19] ในปี ค.ศ. 1205, 1207 และ 1209 มีการทำสนธิสัญญากันระหว่างอาณาจักรทั้งสอง แต่ละฉบับล้วนขยายอำนาจการควบคุมของพระองค์[20] ในสนธิสัญญาของปี ค.ศ. 1207 และ 1209 เบเรงเกลากับพระราชโอรสได้รับทรัพย์สินที่ดินที่มีความสำคัญตามแนวชายแดน หนึ่งในนั้นคือปราสาทสำคัญ ๆ อย่างบิยัลปันโด[21] สนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1207 เป็นเอกสารเปิดเผยที่เขียนด้วยภาษากัสติยาฉบับเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่[22] ในปี ค.ศ. 1214 เมื่อพระราชบิดา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 สวรรคต ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระเจ้าเอนริเกที่ 1 พระราชโอรสคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่และพระอนุชาวัย 10 พรรษาของเบเรงเกลา[23] เอเลนอร์ พระราชมารดาของทั้งคู่กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่สวรรคตในอีก 24 วันหลังการสวรรคตของพระราชสวามี[23] เบเรงเกลาจึงกลายเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานอีกครั้งและกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนใหม่[23] ในตอนนี้เองที่การทะเลาะเบาะแว้งภายในเริ่มต้นขึ้น จุดชนวนโดยกลุ่มขุนนาง กลุ่มแรกสุดคือตระกูลลารา[24] ที่บีบให้เบเรงเกลายกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้พิทักษ์ของพระอนุชาให้เคานต์อัลบาโร นุญเญซ เด ลารา[24] ในปี ค.ศ. 1216 มีการจัดการประชุมสภาในบายาโดลิด โดยมีบุคคลสำคัญของกัสติยาอย่างโลเป ดิอัซที่ 2 เด อาโร, กอนซาโล โรดริเกซ ฆิรอน, อัลบาโร ดิอัซ เด กาเมโรส, อัลฟอนโซ เตเยซ เด เมเนเซส และคนอื่น ๆ ที่ตกลงกันว่าจะสนับสนุนเบเรงเกลา โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือเพื่อต่อกรกับอัลบาโร นุญเญซ เด ลารา[25] ปลายเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ในกัสติยาเป็นอันตรายต่อเบเรงเกลามากขึ้น พระองค์จึงตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ที่ปราสาทเอาติโยเดกัมโปสที่เป็นของกอนซาโล โรดริเกซ ฆิรอน หนึ่งในพันธมิตรของพระองค์ และส่งพระราชโอรสพระเจ้าเฟร์นันโดไปที่ราชสำนักของอดีตพระราชสวามี[25] ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1216 บุคคลสำคัญของกัสติยารวมตัวกันเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันทำให้ตระกูลฆิรอน, เตเยซ เด เมเนเซส และอาโรแตกหักกับอัลบาโร เด ลารา[25] สมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทันทีเมื่อพระเจ้าเอนริเกสวรรคตในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1217 หลังได้รับบาดแผลที่ศีรษะจากกระเบื้องที่ร่วงตกลงมาขณะกำลังเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ที่พระราชวังของบิชอปแห่งปาเลนเซีย[26] ผู้พิทักษ์ของพระองค์ เคานต์อัลบาโร นุญเญซ เด ลารา พยายามปกปิดความจริง เขานำศพของพระมหากษัตริย์ไปที่ปราสาทตาริเอโก ข่าวของพระมหากษัตริย์เตือนให้เห็นถึงอันตรายจากอดีตพระสวามีที่จะเกิดขึ้นต่อการครองราชย์ของพระองค์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์แห่งเลออนคือผู้ร่วมบรรพบุรุษเดียวกันที่ใกล้ชิดที่สุดของพระอนุชา จึงน่ากลัวว่าพระมหากษัตริย์แห่งเลออนอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กัสติยาเสียเอง[26] เบเรงเกลาจึงเก็บเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชาไว้และขึ้นครองบัลลังก์อย่างลับ ๆ โดยไม่ให้อัลฟอนโซรู้[26] ทรงเขียนจดหมายถึงพระเจ้าอัลฟอนโซขอให้พระเจ้าเฟร์นันโดมาเยี่ยมพระองค์ และสละราชสมบัติเพื่อหลีกทางให้พระราชโอรส ในวันที่ 31 สิงหาคม[26] ที่ทรงสละราชสมบัติอาจจะเพราะไม่สามารถเป็นผู้นำทางทหารให้กัสติยาที่ในตอนนั้นพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้นำทางทหาร[27] ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์แม้จะครองราชย์ไม่นาน แต่เบเรงเกลาก็เป็นที่ปรึกษาคนใกล้ชิดที่สุดของพระราชโอรสต่อไป ทรงก้าวก่ายในการเมืองของรัฐ แม้จะเป็นการกระทำในทางอ้อม[28] ในรัชสมัยของพระราชโอรส นักเขียนในยุคนั้นเขียนว่าพระองค์ยังคงมีอำนาจเหนือพระโอรส[28] อาทิ ทรงจัดแจงให้พระราชโอรสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ท (หรือ เบอาตริซ ในภาษากัสติยา) แห่งโฮเอินชเตาเฟิน พระธิดาของดยุกฟิลลิพแห่งชวาเบิน และพระราชนัดดาของจักรพรรดิสองพระองค์ คือ จักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซา และจักรพรรดิไอแซ็คที่ 2 อันเจลอส[29] พิธีอภิเษกสมรสเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1219 ที่บูร์โกส[29] อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยของเบเรงเกลาที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1218 เมื่อตระกูลลาราเจ้าแผนการที่หัวหน้าตระกูลยังคงเป็นอัลบาโร นุญเญซ เด ลารา อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน วางแผนสมคบคิดจะให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระมหากษัตริย์แห่งเลออนและพระราชบิดาของพระเจ้าเฟร์นันโด บุกกัสติยาเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ของพระราชโอรส[29] ทว่าการจับกุมตัวเคานต์ลาราทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเบเรงเกลายื่นมือเข้ามาแทรกแซง พระองค์ทำให้อดีตพระราชสวามีกับพระราชโอรสลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกชั่วคราวโตโรได้ในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1218 ยุติการเผชิญหน้ากันระหว่างกัสติยากับเลออน[29] ในปี ค.ศ. 1222 เบเรงเกลายื่นมือเข้ามาก้าวก่ายเพื่อพระราชโอรสอีกครั้ง ทรงประสบความสำเร็จในการทำสัตยาบันในการประชุมที่ซาฟรา ซึ่งบรรลุข้อตกลงในการสงบศึกกับพวกลาราด้วยการให้มาฟัลดา พระบิดาและทายาทของลอร์ดแห่งโมลินา กอนซาโล เปเรซ เด ลารา อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซ พระราชโอรสของพระองค์และพระอนุชาของพระเจ้าเฟร์นันโด[30] ในปี ค.ศ. 1224 พระองค์ให้พระราชธิดา เบเรงเกลา อภิเษกสมรสกับจอห์นแห่งบรีแยน กลยุทธ์ที่ทำให้พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เข้าใกล้บัลลังก์เลออนมากขึ้น เนื่องจากจอห์นเป็นตัวเลือกในใจที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 อยากให้แต่งงานกับพระราชธิดาพระองค์โต ซันชา[31] เบเรงเกลาจึงขัดขวางไม่ให้พระราชธิดาของอดีตพระราชสวามีแต่งงานกับชายที่สามารถอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์เลออนได้[31] การก้าวก่ายเพื่อพระราชโอรสครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1230 เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซสวรรคตโดยประกาศชื่อให้พระราชธิดา ซันชาและดุลเซ พระราชธิดาจากการแต่งงานครั้งแรกกับตึเรซาแห่งโปรตุเกสเป็นทายาท แทนที่จะยกสิทธิ์ให้กับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3[32][33] เบเรงเกลาไปพบกับพระราชมารดาของเจ้าหญิงทั้งสองและประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาลัสเตร์เซริอัส ที่สองพี่น้องจะสละบัลลังก์ให้พระอนุชาต่างมารดาแลกกับเงินและผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย[33] ทำให้บัลลังก์แห่งกัสติยาและเลออนที่เคยถูกแบ่งออกจากกันในปี ค.ศ. 1157[8] โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 กลับมารวมกับเป็นหนึ่งอีกครั้งในมือของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3[33] เบเรงเกลาเข้าแทรกแซงอีกครั้งด้วยการจัดแจงให้พระเจ้าเฟร์นันโดแต่งงานครั้งที่สองหลังการสวรรคตของเอลีซาเบ็ทแห่งโฮเอินชเตาเฟิน[34] แม้พระองค์จะมีพระราชโอรสธิดามากมายอยู่แล้ว แต่เบเรงเกลาเป็นกังวลว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้คุณสมบัติในการเป็นพระมหากษัตริย์ลดลง[34] ครั้งนี้พระองค์เลือกฌานแห่งดามาร์แต็ง พระธิดาขุนนางชาวฝรั่งเศส ตัวเลือกที่พระมาตุจฉาของพระมหากษัตริย์และพระขนิษฐาของเบเรงเกลา บลังกา พระมเหสีม่ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8หามาให้[34] เบเรงเกลาทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้ง ทรงปกครองในขณะที่พระราชโอรส พระเจ้าเฟร์นันโด ลงใต้ไปทำการสู้รบเรกองกิสตาอันยาวนาน ทรงบริหารราชการกัสติยาและเลออนด้วยทักษะความสามารถที่พระองค์มี ทำให้พระราชโอรสไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องราชอาณาจักร การสวรรคตเบเรงเกลาได้พบพระราชโอรสเป็นครั้งสุดท้ายที่โปซูเอโลเดกาลาตราบาในปี ค.ศ. 1245 หลังจากนั้นก็กลับไปโตเลโด[35] สวรรคตในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1246[36] ร่างของพระองค์ถูกฝังที่ลัสอูเอลกัส ใกล้กับบูร์โกส[37]
พระทายาทเบเรงเกลากับพระเจ้าอัลฟอนโซมีพระราชโอรสธิดาด้วยกันห้าคน คือ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
|