Share to:

 

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยา

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6
จุลจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 จาก ตุมโบ เอ ที่อาสนวิหารซันเตียโกเดกอมโปสเตลา
จักรพรรดิแห่งอีสปาเนียทั้งหมด
กษัตริย์แห่งเลออน
กษัตริย์แห่งกัสติยา
กษัตริย์แห่งกาลิเซียและโปรตุเกส
ครองราชย์ค.ศ. 1065 – 1109
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งกัสติยา
พระเจ้าซันโชที่ 2 แห่งกัสติยาและเลออน
พระเจ้าการ์เซียที่ 2 แห่งกาลิเซีย
รัชกาลถัดไปอูร์รากา พระราชินีแห่งกัสติยาและเลออน
ประสูติค.ศ. 1040 – 1041
กอมโปสเตลา
สิ้นพระชนม์1 กรกฎาคม ค.ศ. 1109
พระมเหสีอาแญ็สแห่งอากีแตน พระราชินีแห่งเลออนและกัสติยา
กงสต็องส์แห่งบูร์กอญ
แบร์ตา
อิซาเบล
เบียทริซ
พระบุตรอูร์รากา พระราชินีแห่งกัสติยาและเลออน
ซันโช อัลฟอนเซซ
อินฟันตาซันชา
เอลบีรา พระราชินีแห่งซิซิลี
เอลบีรา เคานเตสแห่งตูลูส
เตเรซา เคานเตสแห่งโปรตุเกส
ราชวงศ์ราชวงศ์ฆีเมเนซ
พระราชบิดาพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งกัสติยา
พระราชมารดาซันชาแห่งเลออน

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 (สเปน: Alfonso VI; เลออน: Alfonsu VI) หรือ พระเจ้าอัลฟอนโซผู้กล้าหาญ (สเปน: Alfonso el Bravo; เลออน: Alfonsu el Bravu) เสด็จพระราชสมภพก่อนเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1040 สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1109 ที่โตเลโด ราชอาณาจักรกัสติยา ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเลออนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1065 และเป็นกษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออนที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1072 ต่อมาในปี ค.ศ. 1077 ทรงประกาศตนเป็น "จักรพรรดิแห่งสเปนทั้งหมด" การกดขี่ข้าราชบริพารชาวมุสลิมของพระองค์นำไปสู่การรุกรานสเปนในปี ค.ศ. 1086 ของกองทัพอัลโมราวิดที่มาจากแอฟริกาเหนือ

กษัตริย์แห่งเลออน

สถานการณ์ทางการเมืองในคาบสมุทรไอบีเรียตอนเหนือในช่วงปี ค.ศ. 1065:
  ดินแดนของพระเจ้าการ์ซิอาที่ 2 (กาลิเซีย)
  บาดาโฆซ ถวายบรรณาการแด่พระเจ้าการ์ซิอา
  เซบิยา ถวายบรรณาการแด่พระเจ้าการ์ซิอา
  ดินแดนของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 (เลออน)
  โตเลโด ถวายบรรณาการแด่พระเจ้าอัลฟอนโซ
  ดินแดนของพระเจ้าซันโชที่ 2 (กัสติยา)
  ซาราโกซา ถวายบรรณาการแด่พระเจ้าซันโช

อัลฟอนโซเป็นพระโอรสคนที่สองของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งกัสติยากับพระมเหสี ซันชา พระองค์ได้รับการศึกษาจากไรมุนโดที่ต่อมาได้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งปาเลนเซีย และเปโดร อันซูเรซ เคานต์แห่งการ์ริออน เมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1065 พระองค์ทิ้งราชอาณาจักรเลออนและบรรณาการที่ได้จากราชอาณาจักรมุสลิมโตเลโดไว้ให้อัลฟอนโซ ทำให้พระเจ้าซันโชที่ 2 พระเชษฐาที่ได้ราชอาณาจักรกัสติยาและบรรณาการจากซาราโกซาเป็นมรดกตั้งตนเป็นศัตรูด้วยความริษยา อัลฟอนโซพ่ายแพ้พระเชษฐาในการทำสมรภูมิสองครั้ง หลังการพ่ายแพ้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1068 ที่ยันตาดา พระองค์หาทางเอาราชอาณาจักรของตนกลับคืนมาได้ แต่หลังการพ่ายแพ้ที่โกลเปเฆราในปี ค.ศ. 1072 พระองค์ถูกจับกุมตัวและถูกขับไล่ออกจากประเทศ ทรงใช้ชีวิตช่วงสั้น ๆ ในเวลานั้นที่ราชสำนักของอัลมะอ์มูน กษัตริย์มุสลิมแห่งโตเลโด ผู้เป็นข้าราชบริวารของพระองค์ ต่อมาไม่นานอูร์รากา พระเชษฐภคินีของอัลฟอนโซ ก่อกบฏในเลออน พระเจ้าซันโชได้ปิดล้อมพระองค์ไว้ในเมืองซาราโกซาที่มีกำแพงล้อมรอบ ในช่วงที่ทำการปิดล้อม พระเจ้าซันโชถูกสังหาร อาจจะด้วยการยุยงของอูร์รากาซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกับอัลฟอนโซอย่างชัดเจน นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยังสันนิษฐานว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันแบบผิดทำนองคลองธรรม

จักรพรรดิแห่งสเปนทั้งหมด

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าซันโชทำให้อัลฟอนโซได้ราชอาณาจักรเลออนของพระองค์กลับคืนมาและได้สืบทอดต่อกัสติยาในปี ค.ศ. 1072 พระองค์ยังยึดกาลิเซียที่พระเจ้าซันโชเอามาจากการ์ซิอา พระอนุชา อัลฟอนโซจำคุกการ์ซิอาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เล่ากันว่าอัลฟอนโซได้กล่าวคำสาบานในโบสถ์ของนักบุญกาเดอาว่าพระองค์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมพระเจ้าซันโช ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวกัสติยาอาจยอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ด้วยความจำใจ

การครองราชย์ของอัลฟอนโซในครั้งนี้คือยุคแห่งความสำเร็จของพระองค์ ทรงแย่งชิงมณฑลริโอฆาและมณฑลบาสก์มาได้ และได้การสวามิภักดิ์ตามระบอบศักดินาจากพระเจ้าซันโช รามิเรซแห่งอารากอนและปัมโปลนาในนามแคว้นนาวาร์จนถึงตอนเหนือของแม่น้ำเอโบร ในปี ค.ศ. 1077 พระองค์อ้างตนเป็นจักรพรรดิแห่งสเปนทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ากษัตริย์ชาวคริสต์คนอื่น ๆ ได้ยอมรับในตัวพระองค์ จากนั้นพระองค์เริ่มการพิชิตโตเลโดและหลังการปิดล้อมอันยาวนาน พระองค์ยึดโตเลโดได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085 ซึ่งเป็นการพิชิตที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากทำให้สเปนส่วนคริสต์กลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญทางประวัติศาสตร์ ยุทธศาสตร์ และวัฒนธรรมของคาบสมุทรอีกครั้ง หลังจากที่ชาวมุสลิมยึดความเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8

การรุกรานของกลุ่มอัลโมราวิด

ในยุคนี้อัลฟอนโซรีดบรรณาการเป็นเงินก้อนโตจากกลุ่มอาณาจักรไตฟามุสลิมแลกกับการคุ้มกันไตฟาจากศัตรูกลุ่มอื่น ทรงหวังว่าการริบความมั่งคั่งนี้จะทำให้ไตฟาอ่อนแอลงจนท้ายที่สุดก็ต้องยอมยกอิสรภาพให้พระองค์โดยไม่มีการต่อสู้ ผลลัพธ์ของการรีดบรรณาการนี้ทำให้สเปนส่วนคริสต์ท่วมท้นไปด้วยทองคำของชาวมุสลิมซึ่งถูกนำไปใช้ในการทำสงครามและบริจาคแก่โบสถ์และอาราม การเรียกร้องบรรณาการครั้งนี้ทำให้เหล่ากษัตริย์ของไตฟาต้องขูดรีดภาษีจากประชาชน ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจนนำไปสู่ความไม่สงบที่ทำให้โตเลโดอ่อนแอลงจนต้องยอมจำนนในท้ายที่สุด อัลมุอ์ตะมิด อิบน์ อับบาด ผู้ปกครองมุสลิมของไตฟาเซบิยาที่อับจนหนทางตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากยูซุฟ อิบน์ ตาชฟีน เจ้าผู้ครองอาณาจักรอัลโมราวิดของชาวเบอร์เบอร์จากแอฟริกาเหนือ ยูซุฟขึ้นฝั่งที่อัลเฆซิรัสในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1086 และไม่กี่เดือนต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม ที่ซากราฆัสใกล้กับบาดาโฆซ ก็สามารถปราบพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้ อัลฟอนโซอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากกลุ่มชาวคริสต์ที่เหลือจนก่อให้เกิดสงครามครูเสดขนาดย่อม ผู้ทำครูเสดไปไม่ถึงดินแดนของอัลฟอนโซแต่เสียพลังงานและทรัพยากรไปกับการปิดล้อมตูเดลา เมืองหน้าด่านของชาวมุสลิม ซึ่งประสบความล้มเหลว

ความพ่ายแพ้ที่ซากราฆัสส่งผลให้อิทธิพลของอัลฟอนโซที่มีต่อไตฟาลดลงอย่างน่าใจหาย แต่ก็นำไปสู่การสงบศึกกับเอลซิด ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ราบรื่นนักในตอนแรก ด้วยเอลซิดอยู่ฝั่งเดียวกับพระเจ้าซันโชในการทำสงครามกับอัลฟอนโซ ในตอนแรกที่เอลซิดเข้าร่วมราชสำนักของอัลฟอนโซ ความเคลือบแคลงได้ฝังรากลึก และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1081 เป็นต้นมา เขาหันไปรับใช้กษัตริย์มุสลิมของซาราโกซา อัลฟอนโซไว้วางใจให้เอลซิดครอบครองและคุ้มกันสเปนตะวันออก และเอลซิดก็ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1086–1109 อัลฟอนโซพ่ายแพ้กลุ่มอัลโมราวิดอย่างต่อเนื่อง ในการรบครั้งสุดท้ายที่อูเกลสในปี ค.ศ. 1108 พระองค์สูญเสียซันโช พระโอรสคนเดียวไป ด้วยจิตวิญญาณที่ไม่ย่อท้อ พระองค์วางแผนจับอูร์รากา พระธิดา แต่งงานกับกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอน เพื่อที่สงครามกับชาวอัลโมราวิดจะยังดำเนินต่อไปได้หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ แม้จะทำให้เลออนและกัสติยาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าชายอารากอนก็ตาม

แม้รัชสมัยของพระองค์จะไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง แต่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมในดินแดนของพระองค์ให้เป็นแบบยุโรป อัลฟอนโซแต่งงานกับกงส์ต็องส์แห่งบูร์กอญ นำเอาอิทธิพลของงานศิลปะแบบโรมาเนสก์ข้ามเทือกเขาพิรินีมายังในสเปน ทรงรับเอาการสวดมนต์แบบโรมันมาใช้แทนแบบโมซาราบิก, เอาพระคัมภีร์ของชาวการอแล็งเฌียงมาใช้แทนของชาววิซิกอท และสนับสนุนนิกายกลูว์นีอย่างขันแข็ง ทั้งยังปรับปรุงและเสริมการเฝ้าระวังภัยให้เส้นทางแสวงบุญสู่ซานเตียโก

พระมเหสี อนุภรรยา และทายาท

ในปี ค.ศ. 1067 มีการเจรจาเรื่องการอภิเษกสมรสของพระองค์กับอากาธา พระธิดาของพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต กษัตริย์แห่งอังกฤษและดยุคแห่งนอร์ม็องดี[1] แต่การสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของอากาธาทำให้โครงการถูกล้มเลิกไป

พระเจ้าอัลฟอนโซที่พระมเหสีห้าคน คือ อาแญ็ส, กงส์ต็องส์, แบร์ตา, อิซาเบล และเบียทริซ และมีอนุภรรยาสองคน คือ ฆิเมนา มุญโญซ และซาอีดะฮ์

อาแญ็สแห่งอากีแตน

ในปี ค.ศ. 1069 ได้มีการลงนามในการหมั้นหมายของอัลฟอนโซกับอาแญ็ส บุตรสาวของกีโยมที่ 8 ดยุคแห่งอากีแตน[2][3] ในตอนนั้นอาแญ็สพระชนมายุเพียง 10 พรรษาจึงต้องรอให้พระองค์มีพระชนมายุ 14 พรรษาจึงจะจัดพิธีแต่งงานได้ การแต่งงานเกิดขึ้นในปลายปี ค.ศ. 1073 หรือไม่ก็ต้นปี ค.ศ. 1074 อาแญ็สสิ้นพระชนม์ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1078

ฆิเมนา มุญโญซ

หลังการสิ้นพระชนม์ของอาแญ็ส กษัตริย์มีสัมพันธ์ชู้สาวกับฆิเมนา มุญโญซ ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันสองคน คือ

กงส์ต็องส์แห่งบูร์กอญ

ปลายปี ค.ศ. 1079 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 อภิเษกสมรสกับกงส์ต็องส์แห่งบูร์กอญ[6] ภรรยาม่ายของเคานต์อูกที่ 3 แห่งชาลง-ซูร์-โซน บุตรสาวของรอแบร์ผู้ชรา ดยุคแห่งบูร์กอญกับภรรยาคนแรก เอลี เดอ เซอมูร์-อ็อง-บรียอแน[7] และเป็นพระนัดดาของพระเจ้าอูก กาแปแห่งฝรั่งเศส[8][9] กงส์ต็องส์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1093[10] พระองค์ให้กำเนิดพระโอรสธิดาหกคนซึ่งมีเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่[11] คือ

  • อูร์รากา[8] (ค.ศ. 1080 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1126) ผู้สืบทอดบัลลังก์เลออนและกัสติยาต่อจากพระบิดา แต่งงานครั้งแรกกับแรมงแห่งบูร์กอญ[8] ครั้งที่สองกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอน พระองค์ยังมีบุตรนอกสมรสอีกสองคนจากการมีสัมพันธ์กับเคานต์เปโดร กอนซาเลซ เด ลารา[12] พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 พระโอรสที่พระองค์มีกับแรมงแห่งบูร์กอญสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์[6]

ซาอีดะฮ์

ซาอีดะฮ์เป็นภรรยาของอะบู นัศร์ อัลฟัตห์ อัลมะอ์มูน ผู้ปกครองไตฟากอร์โดบา[13][14] บุตรชายของอัลมุอ์ตะมิด อิบน์ อับบาด ผู้ปกครองไตฟาเซบิยา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1091 กองทัพอัลโมราวิดปิดล้อมโจมตีนครกอร์โดบา สามีของซาอีดะฮ์ส่งภรรยาและลูก ๆ ไปอัลโมโดบาร์เดลริโอเพื่อความปลอดภัย ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 26/27 มีนาคม หลังตกเป็นม่าย ซาอีดะฮ์ขอการคุ้มกันที่ราชสำนักของกษัตริย์แห่งเลออน เธอและลูก ๆ ของเธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เธอได้รับการทำพิธีศีลล้างบาปในชื่อ อิซาเบล และกลายเป็นอนุภรรยาของกษัตริย์[15] และมีบุตรชายให้พระองค์หนึ่งคน คือ

  • ซันโช อัลฟอนเซซ (ค.ศ. 1094 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1108)[16][17] บุตรชายคนเดียวและทายาทของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ซึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในยุทธการที่อูเกลส พระบิดาเสียใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตที่รวดเร็วเกินไปของเขา

แบร์ตา

ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1093 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ทำสัญญาแต่งงานครั้งที่สามกับแบร์ตา[10] ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นสมาชิกตระกูลซาวอย บุตรสาวของเคานต์อามาเดอุสที่ 2 แห่งซาวอย หลานสาวของแบร์ตาแห่งซาวอย พระมเหสีของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์สิ้นพระชนม์ในช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1099 ถึง 15 มกราคม ค.ศ. 1100 การแต่งงานครั้งนี้ไม่มีพระโอรสธิดา[18][19]

อิซาเบล

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แต่งงานครั้งรองสุดท้ายกับอิซาเบล ซึ่งอาจเป็นพระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส การแต่งงานครั้งนี้ให้กำเนิดพระธิดาสองคน คือ

  • ซันชา (ค.ศ. 1102 – ก่อน 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1125) ภรรยาคนแรกของโรดริโก กอนซาเลซ เด ลารา[20] เคานต์แห่งลิเอบานา ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน คือ เอลบิรา โรดิเกซ เด ลารา
  • เอลบิรา (ค.ศ. 1103 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1135) พระมเหสีของพระเจ้ารอเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลี[20]

เบียทริซ

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 อภิเษกสมรสกับพระมเหสีคนที่ห้า เบียทริซ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบุตรสาวของกีโยมที่ 8 ดยุคแห่งอากีแตนกับภรรยาคนที่สาม อีลเดอการ์ดแห่งบูร์กอญ การแต่งงานอาจเกิดขึ้นในเดือนแรกของปี ค.ศ. 1108 เมื่อตกเป็นม่าย พระองค์กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนและแต่งงานใหม่กับเอลีที่ 1 เคานต์แห่งแมน

วิกฤตการสืบทอดบัลลังก์

ในวัยชรา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ทรงประสบกับปัญหาเรื่องการสืบทอดบัลลังก์[21] แบร์ตาสิ้นพระชนม์ในปลายปี ค.ศ. 1099 โดยไม่มีทายาทให้พระองค์ หลังจากนั้นไม่นานอัลฟอนโซอภิเษกสมรสกับอิซาเบลที่มีพระธิดาให้พระองค์สองคน แต่ไม่มีพระโอรส[18]

การตายของซันโช บุตรชายนอกสมรสของกษัตริย์กับซาอีดะฮ์ ในยุทธการที่อูเกลสในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1108 ทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซไม่เหลือทายาทเพศชายแม้แต่คนเดียว พระองค์จึงเลือกอูร์รากา พระธิดาที่ถูกต้องตามกฎหมายคนโตเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ แต่ก็ตัดสินใจที่จะจับอูร์รากาแต่งงานกับคู่อริและนักรบผู้โด่งดัง คือ พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอนและนาวาร์ ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1108[22] แม้การแต่งงานจะเกิดขึ้นในปีต่อมาแต่ก็ไม่ได้นำมาซึ่งเสถียรภาพ แต่กลับก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองอันยาวนานที่ดำเนินอยู่แปดปี

อ้างอิง

  1. Salazar y Acha 1993, p. 332.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Reilly 1992, p. 75.
  3. Salazar y Acha 1993, pp. 308–309.
  4. Salazar y Acha 1993, p. 310.
  5. 5.0 5.1 Salazar y Acha 1993, pp. 310–311.
  6. 6.0 6.1 Montenegro 2010, p. 370.
  7. Salazar y Acha 1993, p. 317.
  8. 8.0 8.1 8.2 Reilly 1992, p. 90.
  9. Salazar y Acha 1993, p. 316.
  10. 10.0 10.1 Reilly 1992, p. 93.
  11. Martínez Díez 2003, p. 168.
  12. Torres Sevilla-Quiñones de León 1999, p. 408.
  13. Montaner Frutos 2005, p. 296.
  14. Salazar y Acha 1993, p. 319.
  15. Montaner Frutos 2005, pp. 296–297.
  16. Montaner Frutos 2005, pp. 298–299.
  17. Salazar y Acha 1993, p. 322.
  18. 18.0 18.1 Reilly 1992, p. 96.
  19. Salazar y Acha 1993, pp. 322–323.
  20. 20.0 20.1 Salazar y Acha 1993, p. 334.
  21. Reilly 1992, pp. 95–96.
  22. Reilly 1992, p. 97.


Kembali kehalaman sebelumnya