Share to:

 

กระดูกซี่โครง

กระดูกซี่โครง
(Ribs)
กระดูกซี่โครงของมนุษย์
ตัวระบุ
MeSHD012272
TA98A02.3.01.001
A02.3.02.001
TA21105, 1118
FMA7574
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

กระดูกซี่โครง (อังกฤษ: ribs) เป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณส่วนอก ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic vertebral column) ทางด้านหลัง กับกระดูกอก (Sternum) ทางด้านหน้า และประกอบขึ้นเป็นโครงร่างของผนังช่องอกและช่วยในการป้องกันอวัยวะภายในของช่องอกที่สำคัญ เช่นปอดและหัวใจ โดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่จะมีกระดูกซี่โครงทั้งหมด 12 คู่ หรือ 24 ซี่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย อย่างไรก็ตามในบางคนอาจมีจำนวนของกระดูกซี่โครงที่มากกว่าหรือน้อยกว่าปกติได้เล็กน้อย

กายวิภาคและชนิดของกระดูกซี่โครง

กระดูกซี่โครงทั้ง 12 คู่ จะมีรูปร่างคล้ายกัน คือเป็นกระดูกแบบแบน (flat bone) มีความโค้งออกไปทางด้านข้าง และแบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือส่วนหัวกระดูก (head) ส่วนคอกระดูก (neck) และส่วนท่อนกระดูก (shaft) อย่างไรก็ตาม กระดูกซี่โครงบางชิ้นจะมีลักษณะพิเศษ ซึ่งทำให้แบ่งชนิดของกระดูกซี่โครงได้เป็นสองลักษณะ คือชนิดของกระดูกซี่โครงตามรูปร่าง และตามจุดเกาะทางด้านหน้ากับกระดูกอก

ชนิดของกระดูกซี่โครง แบ่งตามรูปร่าง

กระดูกซี่โครงแบบธรรมดา แสดงพื้นผิว จุดเกาะกับกระดูกสันหลัง และร่องซี่โครง

เมื่อพิจารณารูปร่างของกระดูกซี่โครงของมนุษย์ จะแบ่งออกได้เป็นสองแบบ คือแบบธรรมดา และแบบพิเศษ

  • กระดูกซี่โครงธรรมดา (Typical ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 3 ถึง 9 ซึ่งมีโครงสร้างที่คล้ายกันมาก คือส่วนหัวกระดูกของแต่ละซี่จะมีจุดเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังส่วนอกสองจุด และพื้นผิวด้านในของส่วนท่อนกระดูกจะมีแนวยึดเกาะของกล้ามเนื้อยึดซี่โครง (intercostal muscles) และยังมีร่องซี่โครง (costal groove) ซึ่งมีเส้นประสาทและหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อยึดซี่โครงวางอยู่
  • กระดูกซี่โครงชนิดพิเศษ (Atypical ribs) เป็นกระดูกซี่โครงที่มีลักษณะต่างออกไปจากกระดูกซี่โครงธรรมดา ซึ่งได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1,2,10,11 และ 12
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1 จะมีส่วนท่อนกระดูกที่วางตัวในแนวนอน (กระดูกซี่โครงคู่อื่นจะวางตัวในแนวตั้ง) และมีความหนาค่อนข้างมาก และมีแนวร่องซี่โครงสองร่อง สำหรับหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำใต้ไหปลาร้า (subclavian vessels) และมีปุ่มนูนเพื่อเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อสคาลีนนัส (scalenus muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อในบริเวณคอ
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 2 จะบางและยาวกว่ากระดูกซี่โครงคู่ที่ 1
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 10 จะมีจุดเกาะกับกระดูกสันหลังบนหัวกระดูกเพียงจุดเดียว ส่วนกระดูกซี่โครงคู่ที่ 11 และ 12 จะสั้นกว่าคู่อื่นๆ และจะไม่เกาะกับกระดูกอ่อนของกระดูกอก

ชนิดของกระดูกซี่โครง แบ่งตามจุดเกาะกับกระดูกอก

หากจำแนกกระดูกซี่โครงตามจุดเกาะกับกระดูกอกทางด้านหน้าที่แตกต่างกัน จะสามารถจำแนกออกได้เป็นสามแบบ ได้แก่

  • กระดูกซี่โครงแท้ (True ribs) ซึ่งได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1 ถึง 7 ซึ่งปลายทางด้านหน้าของกระดูกซี่โครงชนิดนี้จะติดต่อกับกระดูกอกโดยตรง
  • กระดูกซี่โครงไม่แท้ (False ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 8, 9 และ 10 ซึ่งปลายทางด้านหน้าจะไม่ได้ติดต่อกับกระดูกอกโดยตรง แต่จะมีกระดูกอ่อนเป็นตัวเชื่อมระหว่างกระดูกซี่โครงกลุ่มนี้กับกระดูกอก
  • กระดูกซี่โครงลอย (Floating ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 11 และ 12 ซึ่งปลายทางด้านหน้าจะไม่เกาะกับกระดูกอกหรือกระดูกอ่อนใดๆเลย ทำให้กระดูกซี่โครงประเภทนี้หักได้ง่ายหากเกิดการบาดเจ็บที่ด้านหลังของช่องอกตอนล่างหรือช่องท้อง

นอกจากนี้ ในบางคนอาจพบว่ามีกระดูกซี่โครงส่วนคอ (Cervical rib) ซึ่งยื่อต่อออกมาจากกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นที่ 7 ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากกระดูกนี้อาจไปกดทับเส้นประสาทที่ไปยังบริเวณแขนได้

การบาดเจ็บที่กระดูกซี่โครง

กระดูกซี่โครงเป็นอวัยวะที่ได้รับการกระทบกระเทือนได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดการหักของกระดูกซี่โครง และทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากและมีความผิดปกติของการหายใจ เนื่องจากกระดูกซี่โครงเป็นที่เกาะของทั้งกล้ามเนื้อยึดซี่โครงและกะบังลม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในการช่วยการหายใจ นอกจากนี้บางส่วนของกระดูกที่หักอาจทำอันตรายต่ออวัยวะภายในช่องอกอีกด้วย และอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องอก (hemothorax)

รูปประกอบเพิ่มเติม

อ้างอิง

  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.
Kembali kehalaman sebelumnya