Share to:

 

ปอด

ปอด
ภาพแสดงลักษณะของปอด
รายละเอียด
ระบบระบบหายใจ
ตัวระบุ
ภาษาละตินpulmo
MeSHD008168
TA98A06.5.01.001
TA23265
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ปอด เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ใช้ในการหายใจ หน้าที่หลักของปอดก็คือ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือดในร่างกาย และแลกเปลี่ยนเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม ทำงานโดยการประกอบกันขึ้นของเซลล์เป็นจำนวนล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์ที่ว่านี้มีลักษณะเล็กและบางเรียงตัวประกอบกันเป็นถุงเหมือนลูกโป่ง ซึ่งในถุงลูกโป่งนี้เองที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซต่าง ๆ เกิดขึ้น นอกจากการทำงานแลกเปลี่ยนก๊าซแล้ว ปอดยังทำหน้าที่อื่น ๆ อีก

คำว่าปอดในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า lung ในทางการแพทย์สิ่งที่เกี่ยวกับปอดใช้คำว่า Pulmonary นำหน้าสิ่งนั้น ๆ ในมนุษย์นั้นมีปอดอยู่ในทรวงอก มีสองข้าง คือขวาและซ้าย ปอดมีลักษณะนิ่ม ร่างกายจึงมีกระดูกซี่โครงคอยปกป้องปอดไว้อีกชั้นหนึ่ง ปอดแต่ละข้างจะมีถุงบาง ๆ 2 ชั้นหุ้มอยู่ เรียกว่า เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดที่เป็นถุงบาง ๆ 2 ชั้นนี้เรียกว่า เยื่อหุ้มปอดชั้นในและ เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มปอดชั้นในจะแนบติดไปกับผิวของปอด ส่วนเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกจะแนบติดไปกับช่องทรวงอก ระหว่างเยื่อหุ้มปอด 2 ชั้นบางๆนี้จะมีช่องว่าง เรียกว่า ช่องเยื่อหุ้มปอด ในช่องเยื่อหุ้มปอดจะมีของเหลวคอยหล่อลื่นอยู่ เรียกว่า ของเหลวเยื่อหุ้มปอด ของเหลวนี้จะช่วยให้เยื่อหุ้มปอดแต่ละชั้นสไลด์ไปมาระหว่างกันได้โดยไม่เสียดสีกัน และของเหลวเยื่อหุ้มปอดก็ยังช่วยยึดเยื่อหุ้มปอดทั้งสองชั้นไว้ไม่ให้แยกจากกันโดยง่าย ปอดข้างซ้ายนั้นมีขนาดเล็กกว่าปอดข้างขวา เพราะปอดข้างซ้ายต้องเว้นที่เอาไว้ให้หัวใจอยู่ในทรวงอกด้วยกันด้วย

กายวิภาค

ปอดเป็นอวัยวะในช่องอก อยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของหัวใจ มีรูปร่างค่อนข้างเป็นทรงกรวยโดยมีด้านแคบอยู่ทางด้านบน ด้านล่างเป็นด้านกว้างมีส่วนเว้าที่สบเข้าพอดีกับส่วนนูนของกะบังลม[1] บางส่วนของส่วนยอด (apex) ของปอดยื่นเข้าไปในฐานของคอ อยู่เหนือกระดูกซี่โครงอันที่หนึ่งด้านกระดูกสันอกอยู่เล็กน้อย ด้านหลังของปอดอยู่ใกล้กับกระดูกสันหลัง และด้านหน้ากินพื้นที่ตั้งแต่อกลงมาจนถึงกะบังลม[1]

วิธีการทำงาน

การแลกเปลี่ยนก๊าซและการใช้ออกซิเจน เมื่อเราหายใจเข้า อากาศภายนอกเข้าสู่อวัยวะ ของระบบหายใจไปยังถุงลมในปอดที่ผนังของถุงลมมีหลอดเลือดฝอยติดอยู่ ดังนั้นเมื่ออากาศผ่านเข้ามาถึงถุงลมจึงมีโอกาสใกล้ชิดกับเม็ดเลือดแดงซึ่งไหลมาพร้อมกับเลือดภายในหลอดเลือดฝอยมากขึ้น จากนั้นออกชิเจนในอากาศซึ่งมีประมาณมากกว่าประมาณออกซิเจนในเลือด ก็จะซึมผ่านผนังถุงลมและผนังหลอดเลือดฝอยนี้เข้าสู่เม็ดเลือดแดงและพร้อมกันนั้น คาร์บอนไดออกไชด์ที่เหลือจากกระบวนการเมทาบอลิซึมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย และส่งมากับเม็ดเลือดแดงก็จะออกจากเม็ดเลือดผ่านผนังออกมาสู่ถุงลม ปกติในอากาศมีออกชิเจนร้อยละ 20 แต่อากาศที่เราหายใจมีออกซิเจนร้อยละ 13

กำจัดของเสียทางปอด

การกำจัดของเสียทางปอด กำจัดออกมาในรูปของน้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลที่ได้จากกระบวนการหายใจ โดยน้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แพร่ออกจากเซลล์เข้าสู่หลอดเลือดและเลือดจะทำหน้าที่ลำเลียงไปยังปอด แล้วแพร่เข้าสู่ถุงลมที่ปอด หลังจากนั้นจึงเคลื่อนผ่านหลอดลมแล้วออกจากร่างกายทางจมูก ซึ่งเรียกว่ากระบวนการเมแทบอลิซึม

หน้าที่ของปอด

  • หน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ แลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
  • หน้าที่อื่น ๆ นอกจากการหายใจ
    • การควบคุมการขับสารต่าง ๆ เช่น ยา, แอลกอฮอล์ ออกจากระบบเลือด
    • การควบคุมสมดุลของความเป็นกรด-ด่างในเลือด ซึ่งมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ และอวัยวะต่าง ๆ
    • กรองลิ่มเลือดเล็กๆ ที่ตกตะกอนออกจากเส้นเลือดดำ
    • ปกป้องและรับแรงกระแทกที่จะทำอันตรายต่อหัวใจซึ่งอยู่ตรงกลางช่องทรวงอก
    • ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊ส

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Drake, Richard L.; Vogl, Wayne; Mitchell, Adam W.M. (2014). Gray's anatomy for students (3rd ed.). Edinburgh: Churchill Livingstone/Elsevier. pp. 167–174. ISBN 978-0-7020-5131-9.
Kembali kehalaman sebelumnya