Share to:

 

ไขกระดูก

ไขกระดูก
รูปอย่างง่ายของเซลล์ในไขกระดูก
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินMedulla ossium
MeSHD001853
TA98A13.1.01.001
TA2388
FMA9608
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ไขกระดูก (อังกฤษ: Bone marrow) เป็นเนื้อเยื่อยืดหยุ่นที่พบได้ในกระดูกชั้นใน ไขกระดูกในกระดูกชิ้นใหญ่ของคนผลิตเม็ดเลือดแดงใหม่ โดยเฉลี่ยแล้วไขกระดูกมีน้ำหนักคิดเป็นร้อยละ 4 ของน้ำหนักร่างกายทั้งหมด เช่นในผู้ใหญ่น้ำหนัก 65 กิโลกรัม จะมีไขกระดูกโดยประมาณ 2.6 กิโลกรัม ส่วนสร้างเม็ดเลือด (hematopoietic compartment) ของไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดง 500,000 ล้านเซลล์ต่อวันโดยประมาณ ซึ่งใช้ระบบไหลเวียนไขกระดูก (bone marrow vasculature) เป็นท่อสู่ระบบไหลเวียนของร่างกาย[1] ไขกระดูกยังเป็นส่วนหลักของระบบน้ำเหลือง (lymphatic system) ที่ผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์ซึ่งช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย[2]

ชนิดของไขกระดูก

หัวกระดูกต้นขาถูกผ่าเพื่อให้เห็นกระดูกเนื้อแน่น (cortical bone) และกระดูกเนื้อโปร่ง(trabecular bone)ซึ่งอยู่ส่วนใน และยังแสดงไขกระดูกแดงที่ล้อมรอบไขกระดูกเหลืองตรงกลาง

ไขกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดแบ่งตามสีและองค์ประกอบคือ ไขกระดูกแดง และไขกระดูกเหลือง ไขกระดูกทั้งสองบริเวณมีเส้นหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อแรกเกิดไขกระดูกทั้งหมดเป็นชนิดไขกระดูกแดง แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีไขกระดูกเหลืองมากขึ้น

ไขกระดูกแดง

ไขกระดูกแดง (อังกฤษ: red marrow, ละติน: medulla ossium rubra) เป็นสีแดงเพราะมีเม็ดเลือดแดงอยู่มาก ประกอบด้วยเนื้อเยื้อฮีมาโทโพอิทิก (hematopoietic tissue) เป็นส่วนใหญ่ และยังมีเนื้อเยื่อไขมันอีกด้วย เนื้อเยื้อฮีมาโทโพอิทิกนี้เป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เป็นต้น ไขกระดูกแดงยังมีเนื้อเยื่อไขมันอีกด้วย แหล่งที่พบไขกระดูกแดงเป็นจำนวนมากคือกระดูกแบนราบ (Flat Bone) เช่น เชิงกราน สันอก กะโหลก ซี่โครง สันหลัง และสะบัก เป็นต้น และพบในกระดูกโปร่งที่ส่วนปลายของกระดูกยาว ได้แก่ กระดูกต้นขาและกระดูกต้นแขน

ไขกระดูกเหลือง

ไขกระดูกเหลือง (อังกฤษ: yellow marrow, ละติน: medulla ossium flava) เป็นสีเหลืองเพราะมีไขมันอยู่มาก พบได้ในโพรงกระดูก (Medullary cavity) ในส่วนกลางของกระดูกยาว ในกรณีที่มีการสูญเสียเลือดอย่างมาก ร่างกายสามารถเปลี่ยนไขกระดูกเหลืองเป็นไขกระดูกแดงเพื่อเพิ่มการผลิตเม็ดเลือดแดงได้

สตรอมา

สตอมาของไขกระดูกเป็นเนื้อเยื่อหรือโครงสร้างทั้งหมดที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวข้องการสร้างเม็ดเลือด (Haematopoiesis) ไขกระดูกเหลืองประกอบด้วยสตอมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สตอมาก็พบได้บ้างในไขกระดูกแดง แม้ว่าไม่มีฤทธิ์เหมือนไขกระดูกแดงพาเรงไคมา แต่สตอมาก็เป็นรัง ([1]) ที่มีความจำเพาะสำหรับเซลล์ที่กำเนิดเม็ดเลือดและเซลล์ต้นกำเนิดอื่น ๆ เช่น

  • เซลล์ไฟโบรบลาซท์ (fibroblast) เป็นเซลล์ที่สังเคราะห์สารเคลือบเซลล์ (Extracellular metrix)
  • เซลล์มาโครเฟจ (macrophage) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เพิ่มธาตุเหล็กให้แก่เฮโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง
  • เซลล์ต้นไขมัน (Adipocyte) เป็นเซลล์สะสมพลังงานในรูปไขมัน
  • เซลล์ต้นกระดูก (osteoblast) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูก
  • เซลล์ทำลายกระดูก (osteoclast) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่กำจัดเนื้อกระดูก (Osseous tissue)
  • เซลล์เอนโดธีเลียซึ่งก่อเป็นกระเปาะเส้นเลือดไซนูซอยด์ (sinusoids) เซลล์เหล่านี้มีที่มามาจากเซลล์ต้นเอนโดธีเลีย (endothelial stem cells)ที่พบในไขกระดูกเช่นกัน

เซลล์ต้นมีเซนไคมอล

เซลล์ต้นมีเซนไคมอล (อังกฤษ: mesenchymal stem cell) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พบในสตรอมา บ้างก็เรียก เซลล์ไขกระดูกสตอมา (marrow stromal cell) เซลล์ต้นมีเซนไคมอลเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นพหุศักยภาพ (multipotency) นั่นหมายความว่า เป็นเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนสภาพ (differentiate) เป็นเซลล์ชนิดอื่นๆได้หลายแบบ[3][4] เช่น เซลล์ต้นกระดูก (osteoblast) เซลล์ต้นกระดูกอ่อน (chondrocyte) เซลล์ต้นกล้ามเนื้อ (myocyte) เซลล์ต้นไขมัน (adipocyte) และเซลล์ต้นประสาท (neural stem cell) เป็นต้น

อ้างอิง

  1. Challenges in Cardiac Tissue Engineering; Gordana Vunjak-Novakovic, Ph.D.,Nina Tandon, Ph.D., Amandine Godier, B.S.,1 Robert Maidhof, M.S.,Anna Marsano, Ph.D., Timothy P. Martens, M.D., Ph.D., and Milica Radisic, Ph.D.; TISSUE ENGINEERING: Part B; Volume 16, Number 2, 2010
  2. The Lymphatic System. Allonhealth.com. Retrieved 2011-12-05.
  3. Pittenger et al. 1999 Multilineage potential of adult human mesenchymal stem cells. Science
  4. Jiang et al. 2002. Pluripotency of mesenchymal stem cells derived from adult marrow. Nature.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya