Share to:

 

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
เครื่องหมายกองบัญชาการ
ประจำการ31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521; 46 ปีก่อน (2521-05-31)
ประเทศ ไทย
เหล่าNaval flag of ไทย กองทัพเรือไทย
รูปแบบหน่วยเฉพาะกิจ
บทบาทนาวิกโยธิน
หน่วยยามชายแดน
ขึ้นกับ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
กองบัญชาการค่ายตากสิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
ปฏิบัติการสำคัญ
  • การปะทะกันตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา
    • ยุทธการบ้านหาดเล็ก
    • ยุทธการบ้านโขดทราย
    • ยุทธการบ้านหนองกก
    • ยุทธการบ้านชำราก
    • ยุทธการบ้านกระดูกช้าง
เว็บไซต์www.ctbdc.navy.mi.th
ผู้บังคับบัญชา
ผบ.กปช.จต.พลเรือโท อภิชาติ ทรัพย์ประเสริฐ
รอง ผบ.กปช.จต. (นย.)พลเรือตรี ขวัญชัย ขำสม
รอง ผบ.กปช.จต. (นว.)พลเรือตรี ชรัมม์ภากร พรหมภากร
เสธ.กปช.จต.นาวาเอก กิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ
รอง เสธ.กปช.จต.(นย.)นาวาเอก สุรชัย ตันเจริญ
รอง เสธ.กปช.จต.(นว.)นาวาเอก ณรัฐ อ่อนจันทร์
เครื่องหมายสังกัด
ธงราชนาวี

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (อังกฤษ: Chanthaburi and Trat Border Defense Command: CTBDC) ย่อว่า กปช.จต. หรือ กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด ย่อว่า กจต. (อังกฤษ: Chanthaburi–Trat Force: CTF)[1] คือหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือไทยในการป้องกันประเทศทางทิศตะวันออกของประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชาบริเวณจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดทั้งทางบกความยาว 250 กิโลเมตร[2]ต่อเนื่องถึงทางทะเล มีอำนาจการบัญชาการเต็มในพื้นที่แยกจากกองทัพบกไทย[3]

ประวัติ

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กรณีพิพาทอินโดจีนในช่วงปี พ.ศ. 2483-2484 ในรูปแบบของ "กองพลจันทบุรี" ที่เกิดขึ้นจากการสนธิกำลังของกรมนาวิกโยธิน ซึ่งมี นาวาโท ทหาร ขำหิรัญ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลในการรบกับทหารฝรั่งเศสจนสามารถยึดอำเภอไพลินกลับมาเป็นของประเทศไทยได้[2]

ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2504 ทำให้เกิดการปิดพรมแดนกันระหว่างทั้งสองประเทศ กองทัพเรือได้สั่งการให้กรมนาวิกโยธินจัดกำลังในรูปแบบหน่วยเฉพาะกิจมาประจำการในพื้นที่ชายแดนด้านอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และสั่งการให้กองเรือยุทธการจัดหมวดเรือชายแดนมาลาดตระเวนทางทะเล จนกระทั่งศาลโลกตัดสินในปี พ.ศ. 2505 ให้ประเทศไทยแพ้คดี ไทยกับกัมพูชาจึงได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกัน[2]

นาวิกโยธินกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด จากค่ายตากสิน ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024

จากเหตุการณ์นั้นเอง ส่งผลให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียดมากยิ่งขึ้น กัมพูชาได้ส่งกำลังมารุกล้ำอธิปไตยฝ่ายไทยจนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยบ่อยครั้ง ทำให้กองทัพบกได้ประสานงานกับกองทัพเรือและจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ 61 โดยมอบหมายให้กรมนาวิกโยธินรับผิดชอบในการปกป้องอธิปไตยของประเทศในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชาด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 กองทัพเรือได้จัดตั้ง กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด (กจต.) ขึ้นมา เพื่อป้องกันประเทศในด้านจันทบุรีและตราด โดยรวมเอากำลังของนาวิกโยธินและกำลังทางเรือเข้าด้วยกัน และมอบหมายให้ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน (ผบ.นย.) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราดในช่วงแรก มีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[2]

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2518 กลุ่มเขมรแดงภายใต้การบัญชาการของ พล พต ได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาได้อพยพลี้ภัยมายังประเทศไทยในด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดเป็นจำนวนมาก กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด (กจต.) จึงได้ย้ายที่ตั้งมาที่ค่ายตากสิน อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2518 จนกระทั่งปัจจุบัน[2]

ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันชายแดนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดอย่างสมบูรณ์[4] ทั้งทางบกและทางทะเล กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งผู้บัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด ให้เป็นผู้บังคับบัญชาในการป้องกันชายแดน ซึ่งต่อมา กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือก่อตั้ง กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เรียกย่อว่า กปช.จต. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2522[3] และมอบหมายให้ ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจน้ำในพื้นที่มาอยู่ในความควบคุมทางยุทธการด้วย รวมถึงให้กองทัพอากาศสนับสนุนการปฏิบัติการ พร้อมทั้งกำหนดเส้นแบ่งเขตระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือโดยใช้เส้นแบ่งเขตจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแนวแบ่งเขต[2]

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 กองทัพเรือได้มอบหมายให้ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ส่วนแยก 3 ตามการพิจารณาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 และตามคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา กองทัพเรือ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา ให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นศูนย์ควบคุมชายแดนไทย-กัมพูชา กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ศค.ชทก.กปช.จต.) สำหรับช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา กองทัพเรือ และควบคุมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด และยังมอบหมายให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดจันทบุรีและตราดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542[2]

หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรีและตราด

จังหวัดจันทบุรี
จังหวัดตราด

เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบที่มีความยาวกว่า 250 กิโลเมตร ตลอดระยะจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราดและประเทศกัมพูชา เพื่อให้มีช่วงการบังคับบัญชาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จึงได้มีการกำหนดผู้บังคับบัญชาในระดับกรมเพื่อรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ ทั้งในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด รวมไปถึงการประสานงานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เหมะสม กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดจึงได้จัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี (ฉก.นย.จันทบุรี) และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2528 มีภารกิจในการปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ในจังหวัดของตนในการป้องกันชายแดนทางบก รวมถึงการป้องกันการยกพลขึ้นบก การปฏิบัติการตีโต้ตอบ รวมถึงสนับสนุนเจ้าหน้าที่พลเรือนในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ของตน[2]

หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน

กองทัพบกได้ก่อตั้งโครงการทหารพรานขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ซึ่งมีกองทหารพรานที่บังคับบัญชาโดยนาวิกโยธินผ่านการฝึกจากกองทัพบกจำนวน 2 กองร้อย เพื่อมาปฏิบัติงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ขึ้นทางยุทธการกับกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด กองทัพเรือซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่จนถึงปลายปี พ.ศ. 2523

จากนั้นได้มีการโอนหน่วยทหารพรานในความรับผิดชอบของกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราดในเวลานั้น จำนวน 6 กองร้อยมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2523 กองทัพเรือจึงมอบหมายให้กรมนาวิกโยธินรับมอบหน่วยทหารพรานนั้นจากกองทัพบก และมอบการควบคุมทางยุทธการให้กับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานาวิกโยธินจึงถือเอาวันที่ 30 กันยายนเป็นวันสถาปนาหน่วย โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงกับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มีกองบังคับการตั้งอยู่ที่ ค่ายเทวาพิทักษ์ บ้านคลองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี[2]

โครงสร้าง

นาวิกโยธินของกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม พ.ศ. 2553

ส่วนบัญชาการ

หน่วยขึ้นตรง

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด

  • กองบังคับการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (บก.กปช.จต.)
  • กองบัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี - ตราด (บก.กจต.)
  • ศูนย์จัดระบบป้องกันเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน (ศปชด.กปช.จต.)
  • หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม กองทัพเรือ (นปท.ทร.)
  • สำนักงานประสานงานชายแดนไทย - กัมพูชา (สน.ปทก.กปช.จต.)

กองกำลังด้านจันทบุรีตราด

  • กองร้อยบังคับการ (ร้อย บก.กจต.)
  • กองสนับสนุนการช่วยรบ (กอง สนช.กจต.)
  • หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี (ฉก.นย.จันทบุรี)
  • หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด)
    • หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 182 บ้านหาดเล็ก[3]
  • กองพันทหารปืนใหญ่ (พัน.ป.กจต.)
  • กองร้อยยานเกราะ (ร้อย.ยานเกราะ กจต.)
  • กองร้อยทหารช่าง (ร้อย.ช.กจต.)
  • หมวดลาดตระเวนระยะไกล (มว.ลว.ไกล กจต.)
  • หมวดสารวัตรทหาร (มว.สห.กจต.)
  • หมวดปฏิบัติการจิตวิทยา (มว.ปจว.กจต.)
  • หน่วยเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ
  • ชุดเฝ้าตรวจเป็นพื้นที่ระยะไกล (ฝตก.กจต.)

หน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ประกอบด้วยหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ ดังนี้

ภารกิจ

นาวิกโยธินกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด จากค่ายตากสิน ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2012

กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าตรวจป้องกันชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา โดยจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน สร้างความมั่นคงในพื้นที่ด้วยการพัฒนาและการปกป้องอธิปไตย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน[8]

ผลการปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด สามารถป้องกันและระงับการก่ออาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ เช่น การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทั้งจากทางบก[9]และทางทะเล[10] การรุกล้ำน่านน้ำเพื่อทำประมงผิดกฎหมาย[11] การลักลอบขนน้ำมันเถื่อน[12] รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวชายแดน เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง[13] และการบรรเทาสาธารณะภัยต่าง ๆ ทั้งเหตุการณ์เรือล่มในน่านน้ำที่รับผิดชอบ การดับไฟป่าโดยอากาศยานในสังกัด[14] และการแก้ปัญหาภัยแล้ง[15]

นอกจากนี้ยังได้มีกรอบความรวมมือภายใต้ขอตกลงร่วมระหว่างกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดของไทย และภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชา ในการร่วมมือรักษาความมั่นคงระหว่างชายแดน[16][17] โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 ในการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้า การฝึกร่วมกันทั้งด้านของการบรรเทาสาธารณภัย การดับไฟป่า และการส่งกลับทางสายแพทย์[16]

พื้นที่อ้างสิทธิ์

เกาะกูด เป็นหนึ่งในพื้นที่วางกำลังของหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.) ขึ้นตรงทางยุทธการกับ กปช.จต.

ปัจจุบัน กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้ดูแลพื้นที่อ้างสิทธิ์จากการถือเอกสารคนละฉบับระหว่างประเทศไทยซึ่งยึดตามอาณาเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516 ขณะที่กัมพูชาถือตามหลักเขตที่ 73 คือพื้นที่เกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด โดยกองทัพเรือไทยได้วางกำลัง หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ขึ้นทางยุทธการกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด โดยมีการฝึกซ้อมยิงอาวุธประจำหน่วยในทุก ๆ ปีเพื่อเตรียมความพร้อมในการรบ ทั้งการยิงปืนไปยังเป้าพื้นน้ำ และการยิงปืนไปยังเป้าอากาศยานสมมุติ[6]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. บันทึกที่ กห 0504/ว 59 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2558 (PDF). กรมข่าวทหารเรือ กองทัพเรือ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-05-13. สืบค้นเมื่อ 2024-06-17.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "Royal Thai Navy - Detail History". www.ctbdc.navy.mi.th.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ผบ.ทร. เยี่ยมทหาร กกล.จันทบุรี-ตราด และฉก.นย. ย้ำทำหน้าที่ห้ามประมาท". www.thairath.co.th. 2023-04-23.
  4. "ทัพเรือ ทำบุญครบรอบ 40 ปี ตั้งกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด". www.khaosod.co.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "ทัพเรือภาคที่1 ส่งหมู่เรือลาดตระเวน ปกป้องอธิปไตยชายแดนทางทะเลตะวันออก". www.naewna.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 "ฉีก'MOU 2544' บีบ รัฐบาลเพื่อไทย ยกพื้นที่พิพาททะเลขึ้น'ศาลโลก'". bangkokbiznews. 2024-05-19.
  7. "Sky doctor จันทบุรี ออกรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พื้นที่เกาะช้าง". pr.moph.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "Royal Thai Navy - อำนาจหน้าที". www.ctbdc.navy.mi.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "เข้มโควิด-19! ชุดลาดตระเวนทหารเรือตรวจเข้มแนวชายแดนจันทบุรี กันต่างด้าวลอบเข้าเมือง". mgronline.com. 2021-04-29.
  10. ข่าวตราดยังมีชาวจีนนั่งเรือลอบเข้าไทย เจอนาวิกโยธินตามจับได้ 5 คน, สืบค้นเมื่อ 2024-06-17
  11. "จับกุมเรือประมงกัมพูชา ลุกล้ำทำการประมงน่านน้ำไทย ปลายเกาะกูด - 77 ข่าวเด็ด". 2023-11-24.
  12. "ทัพเรือภาค 1 โชว์ผลงานจับเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนค่านับ 10 ล้าน กลางทะเลเมืองจันท์". mgronline.com. 2021-02-05.
  13. "กกล.จันทบุรี-ตราด ส่งหมอช่วยชาวบ้านชายแดน". Thai PBS.
  14. "กองทัพเรือสนับสนุนเฮลิคอร์ปเตอร์ เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าบนเขาบรรทัด ชายแดนจังหวัดตราด". www.fm91bkk.com (ภาษาอังกฤษ).
  15. "กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันท์และตราด มอบถังน้ำผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง". mgronline.com. 2015-05-26.
  16. 16.0 16.1 "กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ร่วม MOU เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายแดน". สยามรัฐ. 2024-04-30.
  17. "NBT CONNEXT". thainews.prd.go.thnull (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
Kembali kehalaman sebelumnya