Share to:

 

ค่ายกรมหลวงชุมพร

ค่ายกรมหลวงชุมพร
บ้านทหารนาวิกโยธิน
ส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทย
สัตหีบ ชลบุรี
อาคารที่ทำการกองบัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
แผนที่
พิกัด12°40′30″N 100°52′51″E / 12.674900°N 100.880712°E / 12.674900; 100.880712
ประเภทค่ายทหาร
ข้อมูล
ผู้ดำเนินการNaval flag of ไทย กองทัพเรือไทย
ควบคุมโดย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
ประวัติศาสตร์
สร้างพ.ศ. 2479–2481
การใช้งาน24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482; 85 ปีก่อน (2482-02-24)

ค่ายกรมหลวงชุมพร (อังกฤษ: HRH Prince Chumphon Camp) เป็นค่ายทหารที่ตั้งหลักของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยในสังกัดอื่น ๆ ของกองพลนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย ตั้งอยู่ในตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ค่ายกรมหลวงชุมพรได้รับฉายาว่าเป็น บ้านทหารนาวิกโยธิน เนื่องจากเป็นที่ตั้งหลักของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน[1]

ประวัติ

ค่ายกรมหลวงชุมพร เป็นที่ตั้งหลักของหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือไทยมาตั้งแต่ในอดีต มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดหลังปี พ.ศ. 2478 ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม รัฐสภาได้เห็นชอบงบประมาณพิเศษให้กองทัพเรือสำหรับขยายกำลังทางเรือแนะนาวิกโยธินตามแนวคิดของหลวงสินธุสงครามชัย (พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน) โดยส่วนของนาวิกโยธินเป็นการจัดกำลังในแบบของกรมผสม ประกอบด้วยทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร และทหารช่าง มอบหมายให้ นาวาตรี ทหาร ขำหิรัญ (ยศเวลานั้น) เป็นผู้รับดำเนินการ ทำให้ใน พ.ศ. 2479 จึงได้ส่งทหารพรรคนาวิกโยธินไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นรุ่นแรก และส่งกำลังพลที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในโรงเรียนเหล่าต่าง ๆ ของกองทัพบก เช่น เหล่าทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร รวมไปถึงนักเรียนจ่าและจ่าสำรองในพรรคนาวิกโยธินไปศึกษาที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ประกอบกับการจัดหายุทโธปกรณ์ในการรบทางบกเพิ่มเติม ซึ่งจากรูปแบบการจัดกำลังของนาวิกโยธินในรูปแบบกรมผสม ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2479 - 2481 กองทัพเรือได้จัดเตรียมพื้นที่ในบริเวณที่เรียกว่าทุ่งไก่เตี้ย ตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งฐาวรสำหรับหน่วย ประกอบกับเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 กรมนาวิกโยธินได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยขึ้นตรงต่อสถานีทหารเรือสัตหีบ หน่วยภายในประกอบด้วย กองบังคับการกรม, 2 กองพันทหารราบ, กองร้อยปืนใหญ่, กองร้อยลาดตระเวน (ใช้ม้า) และกองร้อยทหารช่าง มีนาวาโท ทหาร ขำหิรัญ (ยศเวลานั้น) เป็นผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน และต่อมาในปี พ.ศ. 2485 - 2492 พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินเป็นคนแรก[1]

พลเรือตรี สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินได้ทำหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลขอใช้ชื่อค่ายว่า "ค่ายกรมหลวงชุมพร" ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่เป็นผู้ก่อตั้งสถานีทหารเรือสัตหีบและได้กลายเป็นที่ตั้งของกรมนาวิกโยธินในเวลาต่อมา จากนั้นในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเห็นชอบและพระราชทานชื่อในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 และทำพิธีเปิดค่ายในวันเดียวกันเวลา 09.00 น. โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในฐานะของผู้บัญชาการสูงสุดเป็นประธาน[2]

หน่วยภายใน

กองพันทหารสื่อสาร กองพลนาวิกโยธิน เป็นอีกหน่วยที่ตั้งอยู่ในค่ายกรมหลวงชุมพร

ค่ายกรมหลวงชุมพร ประกอบด้วยที่ตั้งทางทหารของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินต่าง ๆ ดังนี้

สถานที่สำคัญ

อนุสรณ์สถานราชนาวิกโยธิน

อนุสรณ์สถานราชนาวิกโยธิน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ความยาว 13 ฟุต ชื่อว่า เวคา (Vega) มาด้วยพระองค์เองจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้ามพื้นที่ของทะเลอ่าวไทยมายังหาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธินเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล (110 กิโลเมตร) ใช้ระยะเวลาประมาณ 17 ชั่วโมง ซึ่งพระองค์ได้นำธงราชนาวิกโยธินข้ามอ่าวไทยมาด้วย และปักลงเหนือก้อนหินก้อนใหญ่ริมหาด และลงพระปรมาภิไธยบนศิลาจารึกบริเวณหินก้อนนั้น หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงได้สงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นอนุสรณ์ของพระปรีชาสามารถ และความเป็นแบบอย่างด้านความวิริยะ อุตสาหะ รวมถึงเป็นมงคลต่อกำลังพลของนาวิกโยธินสืบไป[1]

อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน

อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน

อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับวีรบุรุษทหารนาวิกโยธินที่สละชีวิตเพื่อชาติในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศไทยในสมรภูมิต่าง ๆ รวมไปถึงภารกิจในการรักษาความสงบภายในประเทศ ก่อสร้างขึ้นในสมัยของ พลเรือโท ประเสริฐ น้อยคำศิริ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน คนที่ 9 ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ก่อสร้างโดยกำลังของทหารนาวิกโยธินทั้งหมด โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2528[1]

ตัวอนุสาวรีย์แบ่งออกเป็นรูปหกเหลี่ยม สื่อความหมายแทนเหล่าของนาวิกโยธิน คือ ทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารขนส่ง และทหารลาดตระเวน ส่วนยอดของอนุสาวรีย์คือธงราชนาวิกโยธินถูกปักอยู่บนยุทโธปกรณ์ประจำกายของทหารนาวิกโยธินสำหรับการยกพลขึ้นบกและการรบทางบก ส่วนของฐานถูกปูด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต ประดับจารึกประวัติศาสตร์การรบของนาวิกโยธินที่โดดเด่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับโลหะสีเงินที่สลักรายชื่อกำลังพลที่สละชีพในการรบต่าง ๆ รวมไปถึงรายชื่ออดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินที่ล่วงลับ มีประตูสำหรับเข้าไปภายใน 2 ด้าน บานของประตูสลักลวดลายสวยงาม ด้านในบรรจุอัฐิของวีรบุรุษนาวิกโยธินเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สละชีวิตและเป็นเกียรติต่อวงตระกูลของทหารนายนั้น ๆ[1]

ผาวชิราลงกรณ์

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาธิ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของทหารนาวิกโยธิน ซึ่งได้ทรงรถสะเทินน้ำสะเทินบก ณ หน้าหาดกองบัญชาการ กรมนาวิกโยธิน เพื่อทอดพระเนตรการสาธิตการไต่หน้าผาจากทะเลบริเวณของผาแดงภายในค่ายกรมหลวงชุมพร ซึ่งในเวลาต่อมา พระองค์ได้พระราชทานชื่อผาดังกล่าวว่า "ผาวชิราลงกรณ์" ตามที่ พลเรือตรี โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินในเวลานั้นได้กราบบังคมทูลขอพระราชทหาร[1]

ปัจจุบันผาวชิราลงกรณ์เป็นสถานที่สำหรับฝึกการไต่ผาของกำลังพลนาวิกโยธิน รวมถึงยังเปิดเป็นจุดชมวิวสำหรับหาดเตยงามและอ่าวนาวิกโยธิน[1]

ประตูแสนพลพ่าย

ประตูแสนพลพ่าย คือชื่อของซุ้มประตูค่ายกรมหลวงชุมพล ก่อสร้างขึ้นมาเนื่องจากซุ้มประตูเดิมถูกรื้อถอนอันเนื่องมาจากการขยายถนนสุขุมวิทตามโครงการอีอีซี พลโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงมีแนวคิดที่จะสร้างซุ้มประตูทางเข้าออกค่ายกรมหลวงชุมพรแห่งใหม่ และได้รับความกรุณาจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือร่วมลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 และมอบนโยบายในการก่อสร้างให้มีลักษณะเหมือนป้อมค่ายในสมัยโบราณ จึงได้ประสานงานให้กรมช่างทหารเรือช่วยออกแบบ[1]

ลักษณะของซุ้มประตู มีความกว้าง 33 เมตร ความหนา 6 เมตร ความสูง 18.6 เมตร ประดับเครื่องหมายความสามารถพิเศษหลักสูตรการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจม หรือรีคอน ประดับนามค่าย และคำขวัญหลักทั้ง 3 คำขวัญของนาวิกโยธิน คือ "กาย ใจ ชีวิต มอบเป็นราชพลี", "เมื่อรบ ต้องชนะ" และ "นำดี ตามดี" บริเวณด้านบนของตัวซุ้มประตู นอกจากนี้ยังมีกลอง 3 ใบซึ่งจำลองมาจากซุ้มประตูของทหารโบราณ คือ กลองย่ำพระสุริย์ศรี สำหรับตีบอกเวลา กลองอัคคีพินาศ สำหรับแจ้งเหตุไฟไหม้ และกลองพิฆาตไพรี สำหรับตียามสงคราม ซึ่งกลองทั้ง 3 ใบสื่อความหมายถึงการปกป้องไม่ให้ภัยต่าง ๆ เข้ามาภายในผู้ที่อยู่อาศัยภายในค่ายกรมหลวงชุมพร[1]

การก่อสร้างประกอบด้วยการรื้อถอนซุ้มประตูเดิมที่ถูกใช้งานมากว่า 30 ปีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในช่วงเวลา 22.00 - 05.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 จากนั้นประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 โดย พลเรือโท พงศ์ศักดิ์ ภูรีโรจน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน โดยประตูก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมกับ นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และได้ตั้งชื่อซุ้มประตูว่า ประตูแสนพลพ่าย[1]

ระเบียงภาพ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "หนังสือซุ้มประตู นย. งป.64 - book41132gooh Flip PDF | AnyFlip". anyflip.com.
  2. "สร้างซุ้มประตู นย". marines.navy.mi.th.
Kembali kehalaman sebelumnya