เกาะกูด
เกาะกูด เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย รองจากเกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง เกาะตะรุเตา และเกาะพะงัน ตั้งอยู่ในอ่าวไทย เป็นเกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกไทย อยู่ในการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด ส่วนหนึ่งของอำเภอเกาะกูดในจังหวัดตราด[1] เกาะกูดมีเนื้อที่ 105 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 65,625 ไร่ ความยาวของเกาะ 25 กิโลเมตร ความกว้าง 12 กิโลเมตร เกาะยังมีสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ โดยมีภูเขาและที่ราบสันเขาซึ่งเป็นต้นกำเนิดลำธาร ทำให้เกาะกูดมีน้ำตกที่ขึ้นชื่อคือ น้ำตกคลองเจ้า ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ นับตั้งแต่อ่าวยายกี๋ หาดคลองเจ้า หาดอ่าวพร้าว อ่าวง่ามโข่ หาดอ่าวเบ้า หาดคลองหิน อ่าวพร้าวจนสุดปลายแหลมเทียน นอกจากนี้บนเกาะกูดยังมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์และแนวปะการังหลากชนิด ภูมิประเทศเป็นภูเขาแทบทั้งเกาะ มียอดสูง 315 เมตร[2] ประวัติเกาะกูดปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อองเชียงสือ เจ้าเมืองญวนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ หนีออกจากกรุงเทพมหานครมาลงเรือที่เกาะสีชัง จากนั้นแล่นเรือชักใบในอ่าวไทยมา 7 วันจึงถึงเกาะกูดที่ไม่มีคนอยู่เลย[3] สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ. 1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา ระบุข้อความในข้อ 2 ว่า "รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม …"[4] สถานที่สำคัญเกาะกูด เป็นเกาะที่อยู่สุดท้ายทางทิศตะวันออกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลตราด และมีความใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเกาะช้างในจังหวัดตราด หรือเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ
ดูเพิ่มอ้างอิง
|