การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นโดยพฤตินัยในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1806 เมื่อจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรนสละราชสมบัติและปลดปล่อยรัฐทั้งหมดจากคำสัตย์และข้อผูกพันกับจักรวรรดิ นับตั้งแต่สมัยกลาง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้รับการยอมรับจากยุโรปตะวันตกว่าเป็นจักรวรรดิที่สืบทอดจากจักรวรรดิโรมันอย่างชอบธรรม เนื่องจากปกครองโดยประมุขที่พระสันตะปาปาประกาศให้เป็นจักรพรรดิโรมัน[1] จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สืบทอดแนวคิดที่จักรพรรดิโรมันมีอำนาจเหนือคริสตชนทั้งภายในและภายนอกจักรวรรดิ[2] ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ถูกคุกคามเมื่อมีการจัดตั้งรัฐเอกราชสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17[2] จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกมองว่าเป็นราชาธิปไตยที่ "ผิดปกติ" และ "เสื่อมโทรม" ทั้งยังถูกมองว่ามีระบอบการปกครองที่ "แปลกประหลาด" จักรวรรดิขาดทั้งกองทัพประจำการและกองคลังกลาง นอกจากนี้จักรพรรดิที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถใช้อำนาจส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3] ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิเข้าร่วมสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ซึ่งแม้ช่วงแรกจักรวรรดิจะป้องกันตนเองได้ดี แต่ภายหลังการทำสงครามกับนโปเลียนกลับนำไปสู่จุดจบของจักรวรรดิ[4] ปี ค.ศ. 1804 นโปเลียนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส[5] จักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 จึงตอบโต้ด้วยการสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิออสเตรีย โดยยังดำรงพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[6] ทั้งนี้เพื่อแสดงความเท่าเทียมกันระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรีย แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์สูงกว่าตำแหน่งทั้งสอง[6] อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของออสเตรียในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์และการแยกตัวของรัฐในปกครองจำนวนมากเพื่อตั้งเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศสนาม สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ ส่งผลให้จักรวรรดิล่มสลายลงในที่สุด[7] อนึ่ง การสละราชสมบัติร่วมกับการยุบสถาบันการเมืองดังกล่าวอาจเป็นการขจัดความเป็นไปได้ที่จักรพรรดินโปเลียนจะสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะลดฐานะของจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 ลงเป็นบริวารของจักรพรรดินโปเลียน[7] ปฏิกิริยาต่อการยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีตั้งแต่ไม่รู้สึกใด ๆ จนถึงสิ้นหวัง[8] ประชาชนในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คแสดงความหวาดกลัวต่อการสูญเสียจักรวรรดิ[9] บางส่วนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตามกฎหมายของประกาศดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการสละราชสมบัตินั้นถูกกฎหมาย แต่การยุบจักรวรรดิและปลดปล่อยรัฐทั้งหมดนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจของจักรพรรดิ[10] ทำให้เจ้านครรัฐและประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับประกาศนี้[11] ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนบางส่วนยังเชื่อว่าการยุบจักรวรรดิเป็นข่าวลวงโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น[8] ในเยอรมนี การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นหายนะครั้งใหญ่เหมือนการเสียกรุงทรอย[12] นอกจากนี้บางส่วนยังเชื่อว่าเป็นวันสิ้นโลก เนื่องจากมีตำนานสมัยกลางกล่าวถึงจักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายที่จะปรากฏตัวในวันโลกาวินาศ เพื่อสร้างโลกใหม่[13] อ้างอิง
|