Share to:

 

ข้อเขียนวอยนิช

ข้อความในข้อเขียนวอยนิช

ข้อเขียนวอยนิช (อังกฤษ: Voynich manuscript) เป็นหนังสือประกอบภาพที่ยังไม่มีใครสามารถแปลความหมายได้ ซึ่งเชื่อกันว่าได้เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือ 16[1] ผู้ประพันธ์ เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในข้อเขียนนี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน

ข้อเขียนวอยนิชได้รับการศึกษาจากนักรหัสวิทยา ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญผู้มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมาตลอดนับตั้งแต่ค้นพบหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ไม่เคยมีใครสามารถแปลเนื้อหาได้แม้แต่ส่วนเดียว ซึ่งทำให้ข้อเขียนวอยนิชมีชื่อเสียงอย่างมากในประวัติศาสตร์ของเรื่องลึกลับ แต่ก็มีทฤษฎีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงของปลอมซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่มีความหมายใด ๆ เลยเช่นเดียวกัน

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตั้งชื่อตาม วิลฟริด เอ็ม. วอยนิช (อังกฤษ: Wilfrid M. Voynich) ผู้ค้าหนังสือเชื้อสายโปลลิชอเมริกัน ซึ่งได้หนังสือเล่มนี้มาในปีพ.ศ. 2455 หอสมุดหนังสือและข้อเขียนหายากของมหาวิทยาลัยเยล ได้รวบรวมข้อเขียนวอยนิชไว้เป็นรหัส MS 408 และได้มีการพิมพ์จำลองเพื่อเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2548[2]

เนื้อหา

จากการคาดการในปัจจุบัน ข้อเขียนวอยนิชเดิมทีมี 272 หน้า โดยแบ่งเป็น 17 ยก ยกละ 16 หน้า[3] ซึ่งหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ประมาณ 240 กระดาษเวลลัม เลขหน้าซึ่งคาดว่าถูกเขียนเพิ่มเข้าไปในภายหลังมีส่วนที่หายไป ทำให้เชื่อได้ว่าเมื่อวอยนิชได้หนังสือเล่มนี้มานั้นก็ได้มีหลายหน้าที่หายไปจากหนังสือแล้ว ข้อความและเส้นของภาพประกอบนั้นเขียนด้วยปากกาขนนก ภาพประกอบนั้นถูกได้รับการระบายสีหยาบ ๆ ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มเติมในภายหลัง นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าครั้งหนึ่งนั้น ข้อเขียนวอยนิชเรียงหน้าแตกต่างจากทุกวันนี้[4]

ส่วนชีววิทยาในข้อเขียนวอยนิช

ข้อความในหนังสือนั้นเขียนจากซ้ายไปขวาโดยข้อความทั้งหมดจะค่อนมาทางขวา เนื้อหาส่วนที่ยาวจะแบ่งเป็นย่อหน้าซึ่งบางครั้งจะมีเครื่องจุดอยู่ด้านซ้ายด้วย ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ลักษณะความต่อเนื่องของข้อความที่ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชมีลักษณะที่ลื่นไหลซึ่งบอกว่าผู้ประพันธ์เข้าใจเนื้อหาที่ตนเขียนดี และไม่มีลักษณะว่ามีอักษรใดที่ผู้ประพันธ์ต้องใช้ความคิดคำนวณก่อนจะเขียนลงไป

ข้อความในข้อเขียนวอยนิชประกอบด้วยอักขระเดี่ยวประมาณ 170,000 ตัวอักษร ซึ่งอักขระส่วนใหญ่มีลักษณะง่าย ๆ ซึ่งเขียนโดยการลากเส้นเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง แม้จะมีการถกเถียงว่าอักขระบางตัวนั้นต่างกันหรือไม่ แต่มีตัวอักษร 20-30 ตัวที่ใช้ในการเขียนข้อความเกือบทั้งหมด โดยมีตัวอักษรจำนวนหนึ่งซึ่งแต่ละตัวปรากฏเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในข้อเขียน ข้อความถูกแบ่งด้วยวรรคตอนออกเป็นคำที่มีความยาวแตกต่างกันประมาณ 35,000 คำ ซึ่งดูเหมือนจะเขียนตามกฎไวยากรณ์บางประการ

การวิเคราะห์ทางสถิติของข้อความในข้อเขียนวอยนิชได้แสดงถึงลักษณะที่คล้ายกับภาษาปกติ เช่นเอนโทรปีของคำนั้นมีลักษณะเหมือนข้อความภาษาอังกฤษและภาษาละติน[5] คำบางคำนั้นปรากฏในเนื้อหาเพียงบางตอนหรือไม่กี่หน้า ในขณะที่อีกหลายคำจะปรากฏตลอดเล่ม คำบรรยายของภาพประกอบซึ่งมีอยู่นับพันนั้นแทบไม่ซ้ำกันเลย ในบทพฤกษศาสตร์นั้น คำคำแรกในแต่ละหน้าจะปรากฏในหน้านั้น ๆ เท่านั้น และอาจจะเป็นชื่อของพืชแต่ละชนิด

ถึงกระนั้น ภาษาที่ใช้ในข้อเขียนวอยนิชก็แตกต่างจากภาษาของยุโรปในหลายด้าน โดยทั้งข้อเขียนนั้นไม่มีคำใดที่เขียนด้วยอักขระมากกว่าสิบตัวอักษรเลย แต่ขณะเดียวกันก็มีคำที่ใช้อักขระเพียงหนึ่งหรือสองตัวน้อยมาก การกระจายตัวของอักขระในแต่ละคำยังมีลักษณะที่แปลกประหลาด โดยอักขระบางตัวจะปรากฏเป็นตัวแรกของคำเท่านั้น ในขณะที่บางตัวจะปรากฏเป็นตัวสุดท้ายโดยเฉพาะ และบางตัวจะปรากฏกลางคำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะของอักษรตระกูลเซมิติก ข้อความในข้อเขียนวอยนิชยังมีการใช้คำซ้ำบ่อยกว่าภาษาของยุโรปมาก ซึ่งบางครั้งคำ ๆ เดียวจะปรากฏเรียงกันถึงสามครั้ง และคำที่มีความแตกต่างกันเพียงอักขระตัวเดียวก็ปรากฏบ่อยอย่างผิดปกติ

ในข้อเขียนวอยนิชปรากฏคำซึ่งเขียนในแบบของภาษาละตินเพียงไม่กี่คำเท่านั้น โดยในหน้าสุดท้ายมีข้อความสี่บรรทัดซึ่งเขียนเป็นอักษรละตินที่บิดเบี้ยว ตัวอักษรนี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษรในช่วงคริสตร์ศตวรรษที่ 15 แต่คำเหล่านั้นก็ดูจะไม่มีความหมายในภาษาใด ๆ[6] แผนผังในส่วนดาราศาสตร์ยังมีชื่อเดือนทั้งสิบ (ตั้งแต่มีนาคมถึงธันวาคม) ซึ่งเขียนเป็นภาษาละติน ซึ่งการสะกดนั้นคล้ายกับภาษาฝรั่งเศสโบราณหรือภาษาของคาบสมุทรไอบีเรีย.[7] ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏชัดว่าข้อความละตินเหล่านี้ถูกเขียนเพิ่มเติมในภายหลังหรือไม่

ภาพประกอบ

ส่วนพฤกษศาสตร์ในหนังสือ

ภาพประกอบในหนังสือทำให้เชื่อได้ว่าเนื้อหาของข้อเขียนวอยนิชนี้น่าจะแบ่งออกเป็นหกส่วนซึ่งมีรูปแบบและหัวข้อแตกต่างกันไป โดยแทบทุกหน้าจะมีภาพประกอบยกเว้นเพียงส่วนสุดท้ายซึ่งมีเพียงข้อความ

  • พฤกษศาสตร์ ในแต่ละหน้าจะมีภาพของพืชหนึ่งหรือสองชนิดและข้อความไม่กี่ย่อหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับตำราสมุนไพรของยุโรปในสมัยหนึ่ง ภาพวาดนี้บางครั้งจะเป็นภาพเดียวกับส่วนเวชศาสตร์แต่ชัดเจนกว่า
  • ดาราศาสตร์ มีแผนผังทรงกลมซึ่งบางภาพจะเป็นลักษณะของระบบดาว ภาพชุดหนึ่งเป็นแผนผังของกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดี ภาพสตรีในส่วนนี้มักมีลักษณะเปลือยหรือกึ่งเปลือย โดยแต่ละนางจะถือสิ่งที่ดูเหมือนแถบชื่อของกลุ่มดาวหรือมีสายโยงดวงดาวกับแขนข้างหนึ่ง สองหน้าสุดท้ายของส่วนนี้ คือกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวแพะทะเลได้หายไป ในขณะที่กลุ่มดาวแกะและกลุ่มดาววัว ถูกแบ่งเป็นแผนผังสี่คู่ซึ่งมีดาวสิบห้าดวงในแต่ละภาพ แผนผังบางภาพอยู่ในหน้าซึ่งเป็นแผ่นพับ
ส่วนชีววิทยาในหนังสือ
  • ชีววิทยา ข้อความในส่วนนี้เขียนต่อเนื่องกันอย่างหนาแน่นรวมอยู่กับภาพประกอบซึ่งมักเป็นสตรีเปลือยขนาดเล็กอาบน้ำในสระหรืออ่างซึ่งเชื่อมกันด้วยระบบท่อ ซึ่งอ่างและท่อเหล่านี้บางครั้งจะดูเหมือนอวัยวะอย่างชัดเจน ภาพสตรีนี้บางครั้งก็มีมงกุฏอยู่บนศีรษะด้วย
  • จักรวาลวิทยา ภาพประกอบมีลักษณะเป็นแผนผังแต่ไม่มีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนในส่วนดาราศาสตร์ ส่วนนี้มีหน้าที่เป็นแผ่นพับซึ่งแผ่นหนึ่งนั้นกางออกได้ถึงหกหน้าและมีแผนที่หรือแผนผังซึ่งมีเกาะเก้าเกาะที่เชื่อมกันด้วยเส้นทาง ปราสาท และสิ่งที่ดูคล้ายกับภูเขาไฟ
  • เวชศาสตร์ มีภาพวาดส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น รากไม้หรือใบไม้ โดยมีป้ายบอก วัตถุซึ่งดูคล้ายกับโหลยาถูกวาดอยู่ตามขอบ ข้อความในส่วนนี้มีเพียงไม่กี่ย่อหน้า
  • สูตร เป็นข้อความย่อหน้าสั้น ๆ จำนวนมาก ซึ่งแต่ละย่อหน้าจะมีสัญลักษณ์รูปร่างคล้ายดอกไม้หรือดาวอยู่ด้านหน้า
แผ่นพับซึ่งแสดงแผนผังซึ่งมีลักษณะแบบดาราศาสตร์

แม้ว่าลักษณะของข้อเขียนวอยนิชนั้นจะคล้ายกับตำรับยา แต่ภาพประกอบของหนังสือก็มีลักษณะที่ประหลาดอยู่มาก แม้ว่าส่วนแรกของข้อเขียนจะค่อนข้างแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสมุนไพร แต่สมุนไพรที่ปรากฏส่วนใหญ่นั้นกลับไม่สามารถระบุชนิดได้ พืชบางชนิดที่ปรากฏนั้นดูเหมือนจะเป็นภาพที่นำส่วนต่าง ๆ ของพืชต่างชนิดมาปะติดปะต่อกัน การที่ไม่ทราบมาตราส่วนของภาพประกอบนั้นยิ่งทำให้การระบุประเภทของพืชในส่วนนี้ยากขึ้นไปอีก

อ่างและท่อที่ปรากฏในส่วนชีววิทยานั้นดูจะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการปรุงยา แต่ตำราแปรธาตุในยุคที่คาดว่าประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชนั้นมักใช้สัญลักษณ์จำเพาะต่าง ๆ แทนกระบวนการและธาตุที่ใช้ ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งหมดนั้นไม่ได้ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชเลย

แม้ว่าวิชาดาราศาสตร์จะนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในตำราเวชศาสตร์ซึ่งคาดว่าประพันธ์ในช่วงเดียวกับข้อเขียนวอยนิช แต่นอกจากสัญลักษณ์ของจักราศี และแผนผังซึ่งคล้ายกับดาวเคราะห์ที่รู้จักกันดีแล้ว แผนผังที่เหลือก็ไม่ได้ตรงกับสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรารู้จักเลย ภาพวาดภาพหนึ่งนั้นเป็นรูปทรงประหลาดที่มีแขนโค้งสี่ข้าง ซึ่งมีผู้ตีความว่าหมายถึงดาราจักรเมื่อมองด้วยกล้องโทรทรรศน์ และยังมีอีกภาพซึ่งดูเหมือนเซลล์เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทว่าความคล้ายคลึงที่ว่านี้ก็ยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนกลางของภาพที่คล้ายดาราจักรนั้นดูเหมือนจะเป็นแอ่งน้ำเสียมากกว่า ภาพประกอบบางภาพนั้นมีลักษณะคล้ายกับเม่นทะเล

ประวัติ

วิลฟริด วอยนิช

ประวัติของหนังสือเล่มนี้ยังมีส่วนที่ไม่แน่ชัดนัก[8] เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือไม่ตรงกับตำราอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีใครตีความได้ สิ่งที่สามารถช่วยระบุอายุและต้นกำเนิดของข้อเขียนวอยนิชได้ในตัวหนังสือเองจึงมีเพียงภาพประกอบ ซึ่งภาพการแต่งกายของสตรีและปราสาทซึ่งปรากฏในแผนผังนั้นมีลักษณะของยุโรปอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญประมาณปีที่ประพันธ์ไว้ว่าเป็นช่วง พ.ศ. 1993 ถึง พ.ศ. 2063

ผู้ครอบครองข้อเขียนวอยนิชคนแรกที่สามารถยืนยันได้ก็คือ จอร์จ บาเรสช์ (อังกฤษ: George Baresch) นักเล่นแร่แปรธาตุผู้อาศัยอยู่ในเมืองปรากในช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งดูเหมือนว่าบาเรสช์เองก็ไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้มีความหมายอย่างไร และเรียกข้อเขียนวอยนิชว่าเป็น "สฟิงซ์" ซึ่ง "นั่งอยู่อย่างไร้ประโยชน์ในห้องสมุดของเขา"[9] เมื่อทราบเรื่องที่ อธานาเซียส คิรเชอร์ (อังกฤษ: Athanasius Kircher) บัณฑิตลัทธิเยซูอิตได้เผยแพร่พจนานุกรมภาษาคอปติคของชาวเอธิโอเปียนและไขความหมายของไฮโรกลิฟ บาเรสช์ได้ส่งตัวอย่างของหนังสือไปให้คิรเชอร์ที่โรมเพื่อขอคำแนะนำ จดหมายของบาเรสช์ถึงคิรเชอร์ในปี พ.ศ. 2182 เป็นหลักฐานแรกที่กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ที่ค้นพบในปัจจุบัน

คิรเชอร์นั้นสนใจหนังสือเล่มนี้ แต่บาเรสช์ปฏิเสธที่จะมอบหนังสือทั้งเล่มให้ เมื่อบาเรสช์เสียชีวิต หนังสือได้อยู่ในการครอบครองของ โยฮันเนส มาคัส มาร์ซี (อังกฤษ: Johannes Marcus Marci) ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีของมหาวิทยาลัยชาร์ลในปราก ก่อนจะมอบให้คิรเชอร์อีกที จดหมายของมาร์ซีนั้นยังอยู่ในหนังสือ

ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับข้อเขียนวอยนิชอีกตลอด 200 ปีหลังจากนั้น เชื่อได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการเก็บไว้ที่วิทยาลัยโรมาโน (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งสันตะปาปาเกรกอเรียน) ร่วมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ของคิรเชอร์ จนกระทั่ง พระเจ้าวิคเตอร์เอ็มมานูเอลที่ 2 แห่งอิตาลี ได้เข้ายึดเมืองในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งรัฐบาลอิตาลีได้เข้ายึดทรัพย์สินของศาสนจักรไปมากมาย แต่ศาสนจักรก็ได้แอบขนย้ายตำราต่าง ๆ ไปไว้ในห้องสมุดส่วนตัวของเหล่าอธิการก่อนแล้ว หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นก็คือข้อเขียนวอยนิช ซึ่งปัจจุบันยังมีป้ายชื่อห้องสมุดของ เปตรัส เบคซ์ (อังกฤษ: Petrus Beckx) หัวหน้าคณะเยซูอิตและอธิบดีของวิทยาลัยในขณะนั้น

ปี พ.ศ. 2409 ห้องสมุดส่วนตัวของเบคซ์ได้ย้ายไปยังวังวิลล่ามอนดราโกนในฟราสคาตีของลัทธิเยซูอิต ซึ่งเป็นศูนย์ของสถาบันกิสเลียริ ในปี พ.ศ. 2455 วิทยาลัยโรมาโนได้ประสพปัญหาด้านการเงินและได้ขายตำราบางส่วน วิลฟริด วอยนิชได้ซื้อหนังสือจากวิทยาลัยจำนวน 30 เล่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือข้อเขียนวอยนิช เมื่อวอยนิชเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2473 เอเธล ลิเลียน วอยนิช (อังกฤษ: Ethel Lilian Voynich) ผู้เป็นภรรยาได้เก็บหนังสือเล่มนี้ไว้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2503 และได้มอบข้อเขียนวอยนิชให้นางสาว แอน นิล แอน นิลได้ขายหนังสือเล่มนี้ให้พ่อค้าหนังสือเก่าอีกคนคือ ฮันส์ พี. เคราส์ (อังกฤษ: Hans P. Kraus) ซึ่งในที่สุดได้บริจาคข้อเขียนวอยนิชให้มหาวิทยาลัยเยล ในปี พ.ศ. 2512

ผู้ประพันธ์

โรเจอร์ เบคอน

ในจดหมายที่มาร์วีส่งถึงคิรเชอร์ได้ระบุว่า ราฟาเอล มนิชอฟสกี้ (อังกฤษ: Raphael Mnishovsky) ได้อ้างว่า จักรพรรดิรูดอล์ฟที่สอง สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมียเคยซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยราคา 600 ดูคัท จดหมายได้อ้างว่าจักรพรรดิรูดอล์ฟเชื่อว่าผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชก็คือพหูสูตและนักบวชแห่งลัทธิฟรานซิสกัน โรเจอร์ เบคอน (อังกฤษ: Roger Bacon)

จอห์น ดี

วอยนิชเชื่อว่าเบคอนเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังและได้พยายามหาข้อพิสูจน์มาตลอด วอยนิชสรุปว่าผู้ที่ขายหนังสือเล่มนี้ให้รูดอล์ฟก็คือจอห์น ดี (อังกฤษ: John Dee) นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ในการอุปถัมป์ของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่ครอบครองข้อเขียนของเบคอนไว้เป็นจำนวนมาก ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ศึกษาข้อเขียนวอยนิชคือ กอร์ดอน รักก์ (อังกฤษ: Gordon Rugg) ดีและเอ็ดเวิร์ด เคลลี (อังกฤษ: Edward Kelley) ซึ่งเป็นผู้ช่วยได้อาศัยอยู่ในโบฮีเมียเป็นเวลานานเพื่อหวังว่าจะได้เสนอตัวรับใช้จักรพรรดิ แต่บันทึกของดีเองไม่เคยได้ระบุถึงเรื่องนี้

เอ็ดเวิร์ด เคลลี

เอ็ดเวิร์ด เคลลีนั้นเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุซึ่งศึกษาด้วยตัวเองและอ้างว่าสามารถเปลี่ยนทองแดงให้เป็นทองคำได้ด้วยผงพิเศษซึ่งขุดมาจากหลุมฝังศพของบิชอปในเวลส์ เคลลียังอ้างว่าตนสามารถติดต่อกับเทวทูตได้ซึ่งดีได้บันทึกข้อความที่เคลลีอ้างว่าตนสนทนากับเทวทูตไว้ด้วย ภาษาที่เทวทูตใช้นั้นเรียกว่า เอนอคเชียน ตาม เอนอค บรรพบุรุษของโนอาห์ ซึ่งตำนานกล่าวว่าเคยขึ้นไปยังสวรรค์และเขียนหนังสือเล่าสิ่งที่ได้เห็นที่นั่น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเคลลีอาจเป็นผู้เขียนข้อเขียนวอยนิชเพื่อประกอบภาษาเอนอคเชียนของตนให้น่าเชื่อถือ

วอยนิช

ทฤษฎีหนึ่งอ้างว่าวอยนิชเป็นผู้ทำปลอมข้อเขียนวอยนิชเองโดยใช้ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นพ่อค้าหนังสือโบราณ เนื่องจากข้อเขียนของเบคอนนั้นจะมีมูลค่าอย่างมาก แต่จดหมายถึงคิรเชอร์นั้นทำให้ทฤษฎีนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้[10] ฝ่ายผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้อ้างว่าจดหมายของบาเรสช์และมาร์ซีเพียงแต่ระบุถึงหนังสือ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเขียนวอยนิชก็ได้ และเป็นไปได้ว่าจดหมายเหล่านั้นอาจเป็นแรงจูงใจให้วอยนิชทำปลอมข้อเขียนวอยนิชก็ได้เช่นกัน

แต่เนื่องจากวอยนิชและภรรยาไม่เคยพยายามขายข้อเขียนวอยนิชเลย หากวอยนิชต้องการชื่อเสียงมากกว่าเงินทอง ภรรยาหม้ายของวอยนิชก็ควรจะขายหนังสือไปหลังจากที่วอยนิชเสียชีวิตแล้ว ทำให้ทฤษฎีนี้ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก ผู้ที่ได้ศึกษาข้อเขียนวอยนิชส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าวอยนิชจะเป็นผู้เขียนตำราเล่มนี้เอง

ทฤษฎีอื่น ๆ

วอยนิชเองเคยถ่ายสำเนาหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้และพบร่องรอยการเขียนจาง ๆ ที่ถูกลบออก ด้วยกระบวนการทางเคมีทำให้สามารถอ่านได้ว่าเป็นชื่อ "Jacobj `a Tepenece" ซึ่งเชื่อว่าน่าจะหมายถึง ยาโคบัส ซินาเพียส (อังกฤษ: Jacobus Sinapius) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพรและแพทย์ส่วนพระองค์ของจักพรรดิรูดอล์ฟที่สอง วอยนิชนั้นเชื่อว่าลายเซ็นนี้แสดงว่ายาโคบัสน่าจะเคยเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ก่อนบาเรสช์ และเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีของมนิชอฟสกี้ บ้างก็เชื่อว่ายาโคบัสอาจเป็นผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชเอง

ทว่าลายเซ็นนี้กลับไม่ตรงกับของยาโคบัส[11] เป็นไปได้ว่าข้อความที่ถูกลบนี้ อาจเป็นเจ้าของหรือผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้เขียนเป็นการคาดเดาถึงผู้ประพันธ์เท่านั้น ในปัจจุบัน ลายเซ็นนี้ได้เลือนจนแทบมองไม่เห็นในปัจจุบันเนื่องจากกระดาษเสื่อมเพราะสารเคมีที่วอยนิชใช้ มีผู้สงสัยว่าลายเซ็นนี้อาจเป็นเรื่องที่วอยนิชกุขึ้นเพื่อให้ทฤษฎีที่เบคอนเป็นผู้ประพันธ์มีน้ำหนักมากขึ้น

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า มาร์ซีนั้นรู้จักกับคิรเชอร์ขณะที่พยายามให้มหาวิทยาลัยชาร์ลเป็นอิสระจากอิทธิพลของลัทธิเยซูอิต ซึ่งได้ดูแลสถาบันเคลเมนตินัมในปราก ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับมหาวิทยาลัยชาร์ลภายใต้การบริหารของคณะเยซูอิต จึงมีความเป็นไปได้ว่ามาร์ซีนั้นอาจทำข้อเขียนวอยนิชขึ้นมาเพื่อหาทางลดทำลายชื่อเสียงของคิรเชอร์เป็นการแก้แค้น จดหมายของบาเรสช์นั้นคล้ายกับจดหมายที่ แอนเดรียส มิวเลอร์ (อังกฤษ: Andreas Mueller) เคยเขียนข้อความปลอมและส่งไปให้คิรเชอร์แปลเป็นการกลั่นแกล้งมาก บาเรสช์เองยังเป็นบุคคลซึ่งไม่มีชื่อเสียง นอกจากจดหมายเกี่ยวกับข้อเขียนวอยนิชสามฉบับแล้วก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเขาเคยมีตัวตนอยู่จริง ๆ เลย อีกทั้งคิรเชอร์และมาร์ซีเองก็ไม่ได้มีการติดต่อกันทางวิชาการอีกเลยหลังจากที่มาร์ซีส่งข้อเขียนวอยนิชให้แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องความแค้นของมาร์ซีนี้เป็นเพียงการคาดเดาที่ไม่มีหลักฐานรองรับ มาร์ซีเองยังเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้มีศรัทธาและได้ศึกษาจนกระทั่งได้รับเกียรติเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะเยซูอิตก่อนจะเสียชีวิตไม่นานนัก

ราฟาเอล มนิชอฟสกี้ซึ่งเป็นผู้บอกมาร์ซีว่าหนังสือเล่มนี้แต่งโดยเบคอนนั้น เป็นนักรหัสวิทยาและยังเคยอ้างว่าได้สร้างรหัสซึ่งไม่มีใครสามารถถอดความได้ในปี พ.ศ. 2161 จึงเป็นไปได้ว่ามนิชอฟสกี้อาจเขียนข้อเขียนวอยนิชและทดลองโดยหลอกให้บาเรสช์พยายามถอดรหัส เมื่อคิรเชอร์ได้เผยแพร่พจนานุกรมคอปติค มนิชอฟสกี้อาจจะคิดว่าการหลอกคิรเชอร์ได้นั้นน่าจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าและแนะนำให้บาเรสช์ขอความช่วยเหลือจากคิรเชอร์ เรื่องที่เบคอนเป็นผู้ประพันธ์ก็อาจเป็นมนิชอฟสกี้กุขึ้นและมาร์ซีเองก็สงสัยเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนทฤษฎีนี้

นิค เพลลิง (อังกฤษ: Nick Pelling) ได้เสนอทฤษฎีจากการโยงหลักฐานต่าง ๆ เข้าด้วยกันว่า ผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชก็คือ สถาปนิกยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี อันโตนิโอ อเวอร์ลิโน (อังกฤษ: Antonio Averlino)[4] ตามทฤษฎีของเพลลิงนั้น อเวอร์ลิโนได้หาทางเดินทางไปยังคอนสแตนติโนเปิลในช่วงปี พ.ศ. 2008 และได้เข้ารหัสข้อมูลด้านวิศวกรรมไว้ในเนื้อหาของข้อเขียนวอยนิชเพื่อที่จำนำความรู้ของตนไปยังจักรวรรดิออตโตมันโดยที่ทหารยามชาวเวเนเชียนจับไม่ได้ เพลลิงเสนอว่าเนื้อหาหลาย ๆ ส่วนของข้อเขียนวอยนิชนั้นไม่มีความหมายใด ๆ นอกจากมีไว้เพื่อปกปิดเนื้อหาที่แท้จริงและทำให้ผู้พยายามถอดรหัสสับสนเท่านั้น

หมายเหตุ

  1. Dennis Stallings เก็บถาวร 2009-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน estimates 1480–1520, while Terence McKenna เก็บถาวร 2010-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน states it dates to "at least 1586".
  2. Le Code Voynich, the whole manuscript published with a short presentation in French, ed. Jean-Claude Gawsewitch, (2005) ISBN 2-35013-022-3.
  3. Poundstone, William. "Labyrinths of Reason: Paradox, Puzzles, and the Frailty of Knowledge". Random House, December, 1989. p. 194. ISBN 0-385-24271-9
  4. 4.0 4.1 Pelling, Nicholas John. "The Curse of the Voynich: The Secret History of the World's Most Mysterious Manuscript". Compelling Press, 2006. ISBN 0-9553160-0-6
  5. Landini, Gabriel (2001). "Evidence of linguistic structure in the Voynich manuscript using spectral analysis". Cryptologia. 25 (4): 275–295. doi:10.1080/0161-110191889932. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2006-11-06.
  6. Palmer, Sean B. (2004). "Notes on f116v's Michitonese"
  7. Palmer, Sean B. (2004). "Voynich Manuscript: Months"
  8. Voynich MS - Long tour: Known history of the manuscript
  9. Letter, Georg Baresch to Athanasius Kircher, 1639 Archives of the Pontificia Università Gregoriana in Rome, shelfmark APUG 557, fol. 353
  10. "Origin of the manuscript". Voynich MS. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
  11. "The New Signature of Horczicky and the Comparison of them all". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2008-08-21.

อ้างอิง

  • Voynich, Wilfrid Michael (1921). "A Preliminary Sketch of the History of the Roger Bacon Cipher Manuscript". Transactions of the College of Physicians of Philadelphia. 3 (43): 415–430.
  • Manly, John Mathews (1921), "The Most Mysterious Manuscript in the World: Did Roger Bacon Write It and Has the Key Been Found?", Harper's Monthly Magazine 143, pp.186–197.
  • Manly, John Matthews (1931). "Roger Bacon and the Voynich MS". Speculum. 6 (3): 345–391. doi:10.2307/2848508+.
  • McKenna, Terence, "The Voynich Manuscript", in his The Archaic Revival (HarperSanFrancisco, 1991), pp.172–184.
  • William Romaine Newbold (1928). The Cipher of Roger Bacon. Philadelphia, Pennsylvania: University of Pennsylvania Press.
  • M. E. D'Imperio (1978). The Voynich Manuscript: An Elegant Enigma. Laguna Hills, California: Aegean Park Press. ISBN 0-89412-038-7.
  • Robert S. Brumbaugh (1978). The Most Mysterious Manuscript: The Voynich 'Roger Bacon' Cipher Manuscript. Carbondale, Illinois: Southern Illinois University Press. ISBN 0-8093-0808-8.
  • John Stojko (1978). Letters to God's Eye. New York: Vantage Press. ISBN 0-533-04181-3.
  • Leo Levitov (1987). Solution of the Voynich Manuscript: A liturgical Manual for the Endura Rite of the Cathari Heresy, the Cult of Isis. Aegean Park Press. ISBN 0-89412-148-0.
  • Mario M. Pérez-Ruiz (2003). El Manuscrito Voynich (ภาษาสเปน). Barcelona: Océano Ambar. ISBN 84-7556-216-7.
  • Lawrence and Nancy Goldstone (2005). The Friar and the Cipher: Roger Bacon and the Unsolved Mystery of the Most Unusual Manuscript in the World. New York: Doubleday. ISBN 0-7679-1473-2.
  • Francisco Violat Bordonau (2006). El ABC del Manuscrito Voynich (ภาษาสเปน). Cáceres, Spain: Ed. Asesores Astronómicos Cacereños.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya