Share to:

 

ทหาร ขำหิรัญ

พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ อดีตนายทหารนาวิกโยธินชาวไทย อดีตนักการเมือง และหนึ่งในคณะราษฎรสายทหารเรือ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

พล.ร.ต.ทหาร เดิมมีชื่อว่า ทองหล่อ ขำหิรัญ เป็นนายทหารเรือพรรคนาวิกโยธิน ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น พล.ร.ต.ทหาร ขณะนั้น มียศ เรือเอก (ร.อ.…ร.น.)และใช้ชื่อว่า ทองหล่อ ขำหิรัญ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกองร้อยที่ 3 กองพันพาหนะ มีที่ตั้งอยู่หน้าเรือนจำกลางทหารเรือ (ปัจจุบันย้ายไปอยู่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า) ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรจากการชักชวนของ พล.ร.ต.สังวรณ์ สุวรรณชีพ เพื่อนทหารเรือและมีศักดิ์เป็นญาติกัน ซึ่งทางทหารเรือมีความจำเป็นต้องใช้กำลังนาวิกโยธิน ซึ่งชำนาญการรบบนบกมากกว่าทหารเรือพรรคอื่น จึงเข้าร่วม โดยมีบทบาทนำทหารจากกองพาหนะจำนวน 400 นายเศษ พร้อมด้วยอาวุธปืน และกระสุนประมาณ 20,000 นัด และเฟ้นหานายทหารนาวิกโยธินอีก 4 นายเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยลวงว่าจะนำไปรวมพลในตอนเช้าตรู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อจะไปปราบการจลาจลจีนอั้งยี่ย่านสำเพ็ง และวัดเกาะ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงการครองลุล่วงไปด้วยดี[1]

ในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการปรับเปลี่ยนกำลังของนาวิกโยธินให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการเสนอของ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ พล.ร.ต.ทหาร ได้เป็นผู้บังคับบัญชา ได้ให้นายทหารนาวิกโยธินเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในปี พ.ศ. 2479 เป็นรุ่นแรก นอกจากนี้ยังได้ส่งไปเรียนเหล่าทหารราบ ทหารช่าง ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ ในส่วนของกองทัพบก ส่วนนักเรียนจ่าและจ่าสำรองพรรคนาวิกโยธิน ได้ส่งไปศึกษาในโรงเรียนนายสิบทหารบกเหล่าต่าง ๆ และเพื่อที่จะให้ทหารนาวิกโยธินได้มีที่ตั้งใหม่ ในอัตราการจัดกรมผสม จึงได้เตรียมพื้นที่ที่บริเวณทุ่งไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2479–พ.ศ. 2481 อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในปัจจุบัน[1]

ในทางการเมือง พล.ร.ต.ทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง (ร.ม.ต.ลอย) ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองที่มี นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี[2][3]

ในเหตุการณ์กบฏวังหลวง ในปี พ.ศ. 2492 ที่มี นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและทหารเรือบางส่วนเป็นแกนนำ พล.ร.ต.ทหาร ได้เข้าร่วมกับกบฏ โดยเป็นผู้นำกองกำลังทหารเรือและนาวิกโยธินจากชลบุรีเข้าสู่พระนคร แต่ทว่าการก่อการไม่สำเร็จ และต่อมายังเป็นผู้ริเริ่มให้มีกบฏแมนฮัตตัน เหตุการณ์กบฏอีกครั้งโดยทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2494 อีกด้วย[4]

จากนั้น พล.ร.ต.ทหาร ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 3 สมัย ในพื้นที่จังหวัดธนบุรีและกรุงเทพมหานคร คือ ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2500[5], การเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518

นอกจากนี้แล้ว ชื่อเดิมของ พล.ร.ต.ทหาร ได้กลายมาเป็นชื่อของซอยสุขุมวิท 55 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ "ซอยทองหล่อ" อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและร้านอาหาร สถานบันเทิงต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร[6]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "ประวัติหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)
  3. "คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  4. กบฏแมนฮัตตัน จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
  5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  6. "สุขุมวิท ซอยทองหล่อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
Kembali kehalaman sebelumnya