จงหนานไห่จงหนานไห่ (จีน: 中南海; พินอิน: Zhōngnánhǎi; "ทะเลใต้(และทะเล)กลาง") เป็นชื่ออดีตราชอุทยานในเขตพระนคร (皇城) ของเป่ย์จิง (北京) ประเทศจีน อยู่ใกล้กับวังต้องห้าม (紫禁城) ปัจจุบัน เป็นกองบัญชาการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (共产党) และเป็นที่ทำการของเลขาธิการพรรค, นายกรัฐมนตรี, และสภารัฐกิจ (國務院) ของประเทศจีน ความเป็นมาจงหนานไห่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวังต้องห้าม (紫禁城; "นครสีม่วงต้องห้าม") ชื่อ "จงหนานไห่" อันแปลว่า "ทะเลใต้(และทะเล)กลาง" นั้นหมายถึง ทะเลสองแห่งซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น คือ ทะเลใต้ (南海) กับทะเลกลาง (中海) อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างในวังต้องห้าม ทะเลอีกแห่งในโครงการเดียวกัน คือ ทะเลเหนือ (北海) ซึ่งปัจจุบัน คือ สวนสาธารณะเป่ย์ไห่ (北海公园; "สวนสาธารณะทะเลเหนือ") ทะเลทั้งสามแห่งนี้รวมกันเรียกว่า "ไท่เย่ฉือ" (太液池; "สระมหานที") ทะเลเหนือนั้นสร้างขึ้นก่อนเพื่อน ผู้สร้าง คือ จินจางจง (金章宗; ค.ศ. 1168–1208) จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิน (金朝; ค.ศ. 1115–1234) ทะเลอีกสองแห่งจึงสร้างตามมา ต่อมาราชวงศ์ยฺเหวียน (元朝; ค.ศ. 1271–1368) ผนวกทะเลทั้งสามแห่งเข้ากับเขตพระนคร (皇城) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง และขยายพื้นที่ออกไปอีกมาก ครั้นราชวงศ์หมิง (明朝; ค.ศ. 1368–1644) ย้ายเมืองหลวงมายังเขตพระนครนี้ (ปัจจุบัน คือ เป่ย์จิง) และทำการก่อสร้างในเขตราชวังเดิม โดยเริ่มจากส่วนใต้ใน ค.ศ. 1406 จึงมีการขุดทะเลใต้ขึ้นใหม่ในพื้นที่ทางใต้ของทะเลเดิม และขุดเชื่อมทะเลทั้งสามแห่งด้วยกัน เพื่อสร้างราชอุทยานชื่อ "ซีเยฺวี่ยน" (西苑; "สวนตะวันตก")[1] เมื่อราชวงศ์ชิง (清朝; ค.ศ. 1636–1912) ยึดเป่ย์จิงและสถาปนาการปกครองสำเร็จ ก็ลดขนาดซีเยฺวี่ยนลงเป็นสวนมีกำแพงล้อมภายในพื้นที่ทะเลทั้งสามนั้น พื้นที่ทะเลใต้กับทะเลกลางรวมกันเป็นจงหนานไห่ จักรพรรดิหลายพระองค์สร้างศาลาและตำหนักริมฝั่งเพื่อเป็นที่ว่าราชกิจในฤดูร้อน ในสมัยที่ฉือสี่ไท่โฮ่ว (慈禧太后; ค.ศ. 1861–1908) สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ พระนางและจักรพรรดิยังมักประทับที่จงหนานไห่ และจะเข้าพื้นที่วังต้องห้ามเฉพาะเมื่อมีราชพิธี ช่วงกบฏนักมวย (拳亂) เมื่อ ค.ศ. 1900 กองทัพรัสเซียยึดจงหนานไห่ได้ และปล้นของมีค่ากลับไปมาก ทั้งแม่ทัพนายกองของพันธมิตรแปดชาติ (八國聯軍) ยังใช้จงหนานไห่เป็นที่พำนักส่วนตัว ครั้นผู่อี๋ (溥儀; ค.ศ. 1906–1967) ขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 1908 พระบิดา คือ องค์ชายไจ้เฟิง (載灃; ค.ศ. 1883–1951) สำเร็จราชการแทน และประทับ ณ จงหนานไห่ในช่วงสั้น ๆ[2] เมื่อระบอบกษัตริย์ล่มสลาย และจัดตั้งสาธารณรัฐจีน (中華民國; ค.ศ. 1912–1949) ขึ้นแทน รัฐบาลเป่ย์หยาง (北洋政府; ค.ศ. 1912–1928) ที่มียฺเหวียน ชื่อไข่ (袁世凱; ค.ศ. 1859–1916) เป็นประธานาธิบดี ใช้จงหนานไห่เป็นทำเนียบรัฐบาล เพราะใกล้กับวังต้องห้ามอันเป็นศูนย์อำนาจเดิมของประเทศ แต่ไม่สามารถใช้วังต้องห้ามได้โดยตรง เพราะจักรพรรดิผู่อี๋ยังประทับอยู่[3] รัฐบาลเป่ย์หยางสร้างประตูแห่งหนึ่งขึ้นในจงหนานไห่ เรียก "ซินหฺวาเหมิน" (新华门; "ประตูจีนใหม่") แล้วเอาศาลาหลวงหลังหนึ่งทางฝั่งใต้ของทะเลใต้มาทำเป็นเรือนเฝ้าประตู เพื่อเป็นทางเข้าสู่จงหนานไห่โดยตรงแทนทางเดิมที่ต้องเข้าจากวังต้องห้าม[1] ต่อมา รัฐบาลสาธารณรัฐจีนย้ายเมืองหลวงไปหนานจิง (南京) จึงเปิดจงหนานไห่เป็นสวนสาธารณะ[4] ครั้นพรรคสังคมนิยมจีน (中国共产党) สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (中华人民共和国) เมื่อ ค.ศ. 1949 แล้ว ใช้จงหนานไห่เป็นทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งยังก่อสร้างโรงเรือนขึ้นหลายแห่งในบริเวณนั้นดังที่เห็นในปัจจุบัน ผู้นำหลายคนของพรรคก็เคยอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ เช่น เหมา เจ๋อตง (毛泽东; ค.ศ. 1893–1976), โจว เอินไหล (周恩来; ค.ศ. 1898–1976), และเติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平; ค.ศ. 1904–1997)[5] เมื่อจงหนานไห่กลายเป็นที่ทำการรัฐบาลแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่จึงห้ามสาธารณชนเข้า เคยเปิดให้เข้าครั้งเดียว คือ ช่วงปลายการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ต้องมีตั๋วเข้า ปัจจุบัน จงหนานไห่ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าโดยสิ้นเชิง และมีทหารเดินยามทั่วบริเวณ ไม่ห้ามจอดรถชมดูจากบริเวณใกล้เคียงอย่างเข้มงวดนัก เว้นแต่มีการประชุมหรืองานต่าง ๆ ของรัฐบาล[6] พื้นที่แผนที่ส่วนเหนือพื้นที่ส่วนเหนือเป็นที่ทำการของสภารัฐกิจและหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัด เช่น สำนักนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ทั้งมักเป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ เช่อเจิ้งหวังฝู่เช่อเจิ้งหวังฝู่ (摄政王府; "คุ้มผู้สำเร็จราชการ") ได้ชื่อนี้มาเพราะใน ค.ศ. 1911 เป็นที่ประทับขององค์ชายไจ้เฟิง ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิผู่อี๋ แต่ในช่วงนั้น อาคารยังสร้างไม่ลุล่วง ครั้นก่อตั้งสาธารณรัฐจีนแล้ว ใช้เป็นสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่พักหนึ่ง ครั้น ค.ศ. 1918 สฺวี ชื่อชาง (徐世昌) ประธานาธิบดี เปลี่ยนมาใช้อาคารนี้เป็นทำเนียบ ต่อมาใน ค.ศ. 1923 ย้ายทำเนียบประธานาธิบดีไปหฺวาเหรินถัง อาคารนี้จึงกลายเป็นที่ทำการกองทัพแทน[7] ซีฮฺวาทิงซีฮฺวาทิง (西花厅; "โถงบุปผาตะวันตก") เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเช่อเจิ้งหวังฝู่ เป็นที่พำนักขององค์ชายไจ้เฟิง ผู้สำเร็จราชการ ต่อมา เป็นที่อาศัยส่วนตัว ที่ทำงานส่วนตัว และที่ประชุม ของโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรี เมื่อโจว เอินไหล ตายใน ค.ศ. 1974 แล้ว เติ้ง หยิ่งเชา (鄧穎超) ผู้เป็นภริยา ยังอาศัยต่อจนถึง ค.ศ. 1990 ปัจจุบัน ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับโจว เอินไหล[8] กั๋วอู้เยฺวี่ยนเสียวหลี่ถังกั๋วอู้เยฺวี่ยนเสียวหลี่ถัง (国务院小礼堂; "หอประชุมเล็กของสภารัฐกิจ") เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเช่อเจิ้งหวังฝู่ ครั้น ค.ศ. 1949 ใช้เป็นที่ฉายภาพยนตร์รายสัปดาห์ และมีการสร้างร้านกาแฟให้สมาชิกสภารัฐกิจ ครั้น ค.ศ. 1979 ปรับปรุงหอภาพยนตร์เป็นหอประชุมแทน มีความพยายามจะบูรณะอาคารนี้หลายครั้ง แต่โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรี ไม่อนุมัติเพราะเห็นว่า สิ้นเปลือง ปัจจุบัน เป็นที่ประชุมหลักของสภารัฐกิจ[9] สภารัฐกิจมีห้องประชุมหกห้องอยู่ที่นี่ สภารัฐกิจประชุมใหญ่และกรรมาธิการของสภาประชุมรายสัปดาห์กัน ณ ห้องหมายเลข 1[10][11] อาคารส่วนเหนือยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ (辦公廳) ของสภา[12] จื่อกวางเก๋อจื่อกวางเก๋อ (紫光阁; "พลับพลาแสงม่วง") เป็นอาคารสองชั้น จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖帝) แห่งราชวงศ์หมิงสร้างขึ้นไว้ใช้สับเปลี่ยนกับอิ๋งไถ แล้วจักรพรรดิคังซี (康熙帝) แห่งราชวงศ์ชิง ปรับปรุงเป็นที่ตรวจพลราชองครักษ์ ต่อมาในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆帝) แห่งราชวงศ์ชิง ใช้เป็นที่จัดแสดงแผนผังการศึกและอาวุธที่ยึดมาได้ ครั้น ค.ศ. 1949 ปรับปรุงเป็นที่เต้นรำ ภายหลัง มีการสร้างห้องประชุมสมัยใหม่ขึ้นในส่วนตะวันตกของอาคาร[13] ปัจจุบัน เป็นที่รับรองแขกต่างบ้านต่างเมือง[14] เรือนริมสระเรือนริมสระ (Poolside House) สร้างขึ้นใกล้กับสระคอนกรีตที่มีมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐจีน สร้างไว้ให้เหมา เจ๋อตง หัวหน้าพรรคสังคมนิยมจีนและผู้นำประเทศ พักอาศัย เพราะเขาชอบทำงานริมสระในร่มมากกว่าที่บ้าน เหมา เจ๋อตง ย้ายเข้าอยู่ในเรือนนี้เมื่อ ค.ศ. 1966 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม เรือนนี้เดิมมีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้นและไม่มีครัว เจ้าหน้าที่พรรคต้องคอยนำข้าวปลาอาหารมาส่ง ครั้นเหมา เจ๋อตง ตายแล้ว เติ้ง หยิ่งเชา ภริยาของโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรี ก็เข้าอาศัยอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปอยู่ซีฮฺวาทิง[15][16] สระในร่มสระในร่ม (Indoor Pool) เป็นสระว่ายน้ำส่วนตัวของผู้บริหารพรรคสังคมนิยมจีน สถาบันก่อสร้างและออกแบบชุมชนเมือง (Urban Construction and Design Institute) สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1955 ว่ากันว่า คราวที่เหมา เจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของประเทศ ไม่อยู่ในที่ประชุมพรรค เจียง ชิง (江青) ภริยาคนที่สามของเขา เสนอให้ที่ประชุมอนุมัติการสร้างสระนี้ เพราะถ้าเขาอยู่ในประชุม เขาจะไม่อนุมัติเป็นแน่ แต่ไม่ว่าคำร่ำลือจะเป็นอย่างไรก็ตาม เหมา เจ๋อตง เองก็ใช้สระนี้อยู่เสมอ เพราะสะดวกกว่าเดินทางไปใช้สระที่มหาวิทยาลัยชิงหฺวา (清華大學) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 1958 เหมา เจ๋อตง ยังนัดพบนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียต ที่ริมสระนี้ ปัจจุบัน มีการสร้างพื้นที่ออกกำลังกายเพิ่มเข้าไปด้วย[17] หยานชิ่งหลัวหยานชิ่งหลัว (延庆楼; "โรงสำราญเนิ่นนาน") รัฐบาลเป่ย์หยางสร้างขึ้นราว ค.ศ. 1922 และนายพลเฉา คุน (曹錕) ใช้เป็นที่ทำงาน พร้อมพาภริยาน้อยใหญ่เข้ามาอาศัย เมื่อเฉา คุน ถูกโค่นล้มใน ค.ศ. 1924 แล้ว เขาถูกจองจำไว้ในตึกนี้สองปี[18][19] ว่านช่านเตี้ยนว่านช่านเตี้ยน (万善殿; "ตำหนักหมื่นธรรม") เป็นวัดพุทธศาสนา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลกลาง จักรพรรดิชุ่นจื้อ (順治帝) แห่งราชวงศ์ชิง สร้างให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่ทรงเลื่อมใส[1] ฉุ่ย-ยฺหวินเซี่ยฉุ่ย-ยฺหวินเซี่ย (水云榭; "ศาลาเมฆน้ำ") ตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในทะเลกลาง เป็นที่ไว้ศิลาจารึกของจักรพรรดิเฉียนหลง[1] ส่วนใต้ส่วนใต้ของจงหนานไห่เป็นกองบัญชาการพรรคสังคมนิยมจีน รวมถึงสำนักงานและที่ประชุมของเลขาธิการ (General Secretary), คณะกรรมการบริหารสูงสุด (Politburo), และคณะกรรมาธิการสามัญ (Standing Committee) ของพรรค ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ หฺวาเหรินถังหฺวาเหรินถัง (怀仁堂; "หอเชิดชูกุศล") เป็นอาคารสองชั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วใช้ทรงงานแทนอาคารหย่างซินเตี้ยน (养心殿) ในวังต้องห้าม ต่อมาเมื่อเกิดกบฏนักมวย อัลเฟรด วอน วัลเดอร์ซี (Alfred von Waldersee) นายพลเยอรมันผู้นำพันธมิตรแปดชาติ ใช้เป็นที่บัญชาการ จนเพลิงไหม้เสียหาย ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงสั่งให้สร้างใหม่ใน ค.ศ. 1902 ใช้งบประมาณห้าล้านตำลึง แล้วเสด็จมาประทับที่นี่จนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1908[20] เมื่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นแล้ว ยฺเหวียน ชื่อไข่ ประธานาธิบดี ใช้อาคารนี้เป็นที่รับแขกต่างชาติ และรับการเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ต่อมาเมื่อยฺเหวียน ชื่อไข่ ตายแล้ว เฉา คุน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใช้อาคารนี้เป็นที่พักส่วนตัว ครั้นรัฐบาลเป่ย์หยางหมดอำนาจลงแล้ว อาคารนี้ก็ไม่ได้ใช้อีก[4] เมื่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว อาคารนี้เป็นที่ประชุมปรึกษาทางการเมืองของปวงชนชาวจีน (中国人民政治协商会议) ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1949 และที่ประชุมใหญ่ผู้แทนราษฎรของประชาชาติ (全国人民代表大会) ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1954[21] ปัจจุบัน พรรคสังคมนิยมจีนใช้เป็นที่ประชุมหลักของคณะกรรมการบริหารสูงสุด และเป็นที่ประชุมในบางโอกาสของคณะกรรมาธิการสามัญ[22][23] ทั้งยังใช้ประชุมกลุ่มผู้นำย่อย (领导小组) เช่น กลุ่มผู้นำย่อยส่วนกลางด้านการเงินและเศรษฐกิจ (中央财经领导小组) และกลุ่มผู้นำย่อยส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปอย่างเข้มข้นและรอบด้าน (Central Comprehensively Deepening Reforms Commission) (中央全面深化改革领导小组)[24][25] อ้างอิง
|