กบฏนักมวย
กบฏนักมวย (อังกฤษ: Boxer Rebellion, จีนตัวย่อ: 义和团起义; จีนตัวเต็ม: 義和團起義; พินอิน: Yìhétuán Yùndòng, อี้เหอถวน ย้วนต้ง) หรือเรียกกันต่าง ๆ ว่า การก่อการกำเริบของนักมวย ขบวนการอี้เหอถ้วน หรือศึกพันธมิตรแปดชาติ เป็นการก่อกำเริบต่อต้านชาวต่างชาติ ต่อต้านชาวคริสเตียน และต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างรุนแรงในจีน ระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1901 ตลอดจนถึงช่วงปลายราชวงศ์ชิงโดยกองทหารอาสาสมัครในความชอบธรรม(อี้เหอช่วน) เป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า บ็อกเซอร์หรือแปลว่า นักมวย เพราะสมาชิกเหล่านั้นเคยฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจีน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า มวยจีน ภายหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1895 พวกชาวบ้านในภาคเหนือของจีนต่างเกรงกลัวการขยายอิทธิพลของต่างชาติและไม่พอใจการขยายสิทธิพิเศษให้กับเหล่ามิชชันนารีคริสเตียน ซึ่งใช้พวกเขาเพื่อสนับสนุนผู้ติดตามของพวกเขา ด้วยภัยแล้งที่รุนแรง ความรุนแรงได้แผ่ขยายไปทั่วมณฑลซานตงและที่ราบจีนตอนเหนือ ได้เข้าทำลายทรัพย์สินต่างชาติ เข้าโจมตีหรือสังหารเหล่ามิชชันนารีคริสเตียนและคริสเตียนชาวจีน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1900 นักสู้มวยที่มีความเชื่อว่า พวกเขาอยู่ยงคงกระพันต้านทานจากอาวุธของต่างชาติ รวมตัวกันที่เป่ย์จิงด้วยคำขวัญว่า "สนับสนุนรัฐบาลชิงและขจัดชาวต่างชาติให้หมดสิ้นไป" นักการทูต มิชชันนารี ทหาร และชาวคริสเตียนบางส่วนได้พากันลี้ภัยเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่สถานอัครราชทูต และถูกล้อมเป็นเวลา 55 วันโดยกองทัพจักรวรรดิจีนและนักมวย พันธมิตรแปดชาติ ได้แก่ อเมริกา ออสเตรีย-ฮังการี บริติช ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น และรัสเซียได้เข้ารุกรานจีนเพื่อคลายวงล้อม ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงลังเลพระทัยในตอนแรก แต่กลับตัดสินพระทัยที่จะสนับสนุนแก่พวกนักมวย และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ทรงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศสงครามกับชาติมหาอำนาจผู้รุกราน พวกข้าราชการจีนที่ถูกแบ่งแยกระหว่างผู้สนับสนุนนักมวยและผู้ที่ต้องการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอม ภายใต้การนำโดยอ๋องชิง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพจีน แม่ทัพชาวแมนจูนามว่า หรงลู่(จุงลู่) ซึ่งต่อมาได้กล่าวอ้างว่า เขาทำเพื่อปกป้องชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ในมณฑลทางใต้ก็เพิกเฉยต่อพระบรมราชโองการของจักรพรรดิในการต่อสู้รบกับชาวต่างชาติ พันธมิตรแปดชาติ ภายหลังช่วงแรกได้ถูกหันหลังกลับโดยกองทัพจักรวรรดิจีนและกองทหารอาสาสมัครนักมวย ได้นำกองกำลังติดอาวุธ 20,000 นายเข้ามายังจีน สามารถเอาชนะกองทัพจักรวรรดิในเทียนจิน และเคลื่อนทัพมาถึงเป่ยจิ่ง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งได้คลายการล้อมสถานอัครราชทูต เกิดการปล้นสะดมภายในเมืองหลวงและชนบทโดยรอบอย่างไร้การควบคุม รวมทั้งมีการประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยโดยสรุปว่าเป็นนักมวย พิธีสารนักมวย เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 ให้มีการประหารชีวิตข้าราชการที่ให้การสนับสนุนแก่พวกนักมวย จัดหาเสบียงอาหารให้แก่กองทหารต่างชาติที่เข้าประจำการในเป่ยจิ่ง และจ่ายด้วยเงินประมาณ 450 ล้านตำลึงจีน หรือประมาณสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ราคาเงินในปี ค.ศ. 2018 และมากกว่ารายได้ภาษีประจำปีของรัฐบาล เพื่อชดใช้ค่าเสียหายตลอด 39 ปีข้างหน้าแก่แปดประเทศที่เกี่ยวข้อง ชนวนเหตุกบฏนักมวยได้เกิดขึ้นในเมืองชานตงในปี ค.ศ. 1898 และเริ่มตอบโต้ชาวเยอรมันในชิงเต่าและจับกุมชาวอังกฤษในเวยไห่แต่ก็พ่ายแพ้กับกองกำลังนานาชาติ ความอ่อนแอของจีนได้แสดงให้เห็นหลังจากแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1895 และความวุ่นวายก็เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองชานตงเนื่องจากปัญหาที่ดินของวัดพุทธและโบสถ์คริสต์โรมันคาทอลิก มิชชันนารีจึงร้องเรียนว่าที่ดินผืนนี้เป็นของตนมาแต่เดิมแล้ว การที่มีการสร้างโบสถ์ในที่ดินผืนนี้ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก จึงทำลายโบสถ์และก่อกบฏนักมวยขึ้น การจลาจลในจีนเริ่มจากกรณีเรื่องที่ดินของวัดในการสร้างโบสถ์โรมันคาทอลิก เนื่องจากฝ่ายมิชชันนารีอ้างว่าที่ดินเป็นของตนตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีแล้วแต่ได้ถูกทิ้งร้างไปนาน ชาวบ้านในท้องถิ่นรู้สึกว่าข้อเรียกร้องไม่เป็นธรรมกับตนเพราะเดิมเป็นวัดประจำหมู่บ้านแต่ต้องมาสร้างโบสถ์ในวัดแทนที่จึงเกิดจลาจล โดยชาวบ้านได้จับมิชชันนารีเป็นตัวประกันและทำลายโบสถ์นั้นเสีย เนื่องจากจีนแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่น จักรพรรดิกวางสูจึงทรงทำการปฏิรูปร้อยวัน ทำให้พระนางซูสีไทเฮาทรงเข้ายึดพระราชอำนาจแล้วนำจักรพรรดิกวางสูขังไว้ และร่วมมือกับกบฏนักมวยซึ่งมีความคิดอนุรักษนิยมเช่นเดียวกับพระนาง จนประมาณเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1900 กบฏนักมวยได้ต่อสู้กับกองกำลังนานาชาติในเมืองเทียนจินและกรุงปักกิ่ง ทางสถานทูตสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย และญี่ปุ่น ที่อยู่ในสถานทูตในกรุงปักกิ่ง ได้นำกำลังมาปิดล้อมพระราชวังต้องห้าม การกระทำเช่นนี้ทำให้กบฏนักมวยสังหารบาทหลวงชาวเยอรมันชื่อ Clemens von Ketteler ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1900 พระนางซูสีไทเฮาประกาศสงครามกับชาวต่างชาติในวันต่อมาเพื่อเป็นการต่อต้านอำนาจของชาวต่างชาติ แต่พวกข้าหลวงตามหัวเมืองกลับปฏิเสธสงครามและพวกปัญญาชนในเมืองเซี่ยงไฮ้ก็ยังได้ให้ความช่วยเหลือข้าหลวงในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนที่ต่อต้านการประกาศสงครามด้วย ส่วนกองกำลังนานาชาติได้ทำการป้องกันบริเวณสถานทูตของตนจากการโอบล้อมจากกบฏนักมวยภายใต้คำสั่งของบาทหลวงชาวอังกฤษ เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อกบฏนักมวยบุกเข้าไปในกรุงปักกิ่งได้สังหารชาวจีนที่เป็นคริสเตียนกว่าหนึ่งหมื่นคนและจับกุมชาวต่างชาติไปเป็นเชลยจำนวนมาก เรื่องการจลาจลจำนวนมากได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก แต่เชลยทั้งหมดก็ถูกปลดปล่อยโดยกองกำลังนานาชาติในที่สุด กองกำลังนานาชาติกองกำลังนานาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อทัพเรือ 8 ประเทศรวมตัวกันในชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของจีนในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1900 จนในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ได้เรียกร้องสิทธิชาวต่างชาติที่สถานทูตในกรุงปักกิ่งและได้ส่งทหารเรือ 435 นายจาก 5 ประเทศที่ฐานทัพที่ต้ากูไปกรุงปักกิ่ง การบุกปักกิ่งการบุกครั้งแรกในสถานการณ์ที่เลวร้าย กองกำลังนานาชาติที่อยู่บนเรือประมาณ 2,000 คน ภายใต้คำสั่งของนายพลเอ็ดเวิร์ด เซมอร์ ได้ส่งกำลังไปกรุงปักกิ่งโดยการเดินทางจากท่าเรือต้ากูไปเมืองเทียนจินนั้นได้รับความร่วมมืออย่างดีจากข้าหลวงเมืองเทียนจินเป็นอย่างดี แต่การเดินทางจากเทียนจินไปกรุงปักกิ่งนั้นมีการตรวจตราชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามนายพลเซมอร์ก็ยังเดินหน้าต่อไปและสามารถนำทหารเดินเท้าไปกรุงปักกิ่งสำเร็จจนได้ อย่างไรก็ดี กองทัพของเขาถูกฝ่ายนักมวยล้อมและทางรถไฟหลายสายถูกทำลาย ในที่สุดนายพลเซมอร์จึงตัดสินใจถอยทัพกลับเมืองเทียนจินในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1900 การบุกครั้งที่สองหลังจากนายพลเซมอร์ถอยทัพกลับเมืองเทียนจินแล้ว ทางกองกำลังนานาชาติจึงระดมกำลังทหารขึ้นมาใหม่ และในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 กองกำลังนานาชาติได้สร้างป้อมปราการขึ้นใกล้เมืองเทียนจินและท่าเรือต้ากูขึ้น กองกำลังนานาชาติภายใต้คำสั่งของนายพลอัลเฟรด แกสลี ประมาณ 45,000 คน ประกอบด้วยกำลังจากญี่ปุ่น 20,840 คน รัสเซีย 13,150 คน สหราชอาณาจักร 12,020 คน ฝรั่งเศส 3,520 คน สหรัฐอเมริกา 3,420 คน เยอรมนี 900 คน อิตาลี 80 คน และออสเตรีย-ฮังการี 75 คน ได้ยึดเมืองเทียนจินในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 |