จาง จั้วหลิน
จาง จั้วหลิน[a] (19 มีนาคม ค.ศ. 1875 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1928) เป็นขุนศึกชาวจีน ผู้ปกครองแมนจูเรียตั้งแต่ ค.ศ. 1916 ถึง ค.ศ. 1928 เป็นผู้นำก๊กเฟิ่งเทียน อันเป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองที่สำคัญที่สุดในสมัยขุนศึกของจีน ในช่วงบั้นปลายชีวิต จางได้สถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาเป็นบุตรชายของครอบครัวชาวนาผู้ยากจนในแมนจูเรีย[1] เมื่ออายุได้ยี่สิบปี เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารม้าในการต่อสู้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1894-1895)[2] ต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาจึบเดินทางกลับบ้านเกิดและผันตัวไปเป็นโจร[2] ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลบางกลุ่มที่ต่อมาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของก๊กทหารของเขา[3] สืบเนื่องจากความอ่อนแอของราชสำนักหลังจากเหตุการณ์กบฏนักมวย ทำให้กลุ่มโจรเป็นเพียงกองกำลังทหารที่สำคัญหนึ่งเดียวในภูมิภาค เป็นเหตุให้ทางการเริ่มเข้าหากลุ่มโจรเหล่านี้มากขึ้น[3] และทำให้กลุ่มโจรของจางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพใน ค.ศ. 1903[4] ภายหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นยุติลง กองกําลังของจางยังคงมีรักษาสถานะที่คลุมเครือของตนไว้ระหว่างกองทหารปกติกับกลุ่มคนนอกกฎหมาย[5] เขามีบทบาทสำคัญในการบดขยี้การปฏิวัติซินไฮ่ในมณฑลเฟิ่งเทียนในช่วง ค.ศ. 1911-1912[6] ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1916 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการพลเรือนและทหารของมณฑล และใน ค.ศ. 1919 เขาได้รับอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่สามมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลเฟิ่งเทียน มณฑลจี๋หลิน และมณฑลเฮย์หลงเจียง)[6] โดยเขาควบคุมดินแดนเหล่านี้จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1928 ในฐานะผู้นำก๊กเฟื่งเทียน[6] จางถือเป็นหนึ่งในขุนศึกที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของจีน โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1918 เขาเริ่มขยายอำนาจไปยังมองโกเลียและที่ราบทางตอนเหนือของจีน[6] ในช่วงต้น ค.ศ. 1925 เขากลายเป็นผู้นําทหารที่มีอํานาจมากที่สุดในภาคเหนือของประเทศ[6] และตกเป็นเป้าหมายสำคัญในเหตุการณ์กรีธาทัพขึ้นเหนือเมื่อ ค.ศ. 1926 ที่นำโดยก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองและเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของจางในปักกิ่ง[6] เขาสามารถสร้างอิทธิพลต่อการเมืองระดับชาติได้ด้วยทรัพยากรอันมหาศาลที่เขาได้รับจากการแสวงประโยชน์ในมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่มั่งคั่ง มีประชากรเบาบาง และอยู่ในระดับการพัฒนาเต็มที่ รวมถึงยังได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง[7] ฝ่ายการเมืองของจางส่วนใหญ่ก็เป็นผู้บริหารที่มีทักษะทั้งทางทหารและพลเรือน ซึ่งยังคงซื่อสัตย์ต่อเขาโดยแท้จริง[7] จางมีแนวคิดที่โน้มเอียงไปทางต่อต้านชาตินิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงตามเขตเมืองทั่วประเทศใน ค.ศ. 1925[8] การดำรงอยู่ซึ่งอำนาจของเขาในช่วงกลางทศวรรษนั้นเกิดจากการสนับสนุนของญี่ปุ่นอย่างแน่วแน่ ซึ่งสําหรับญี่ปุ่นแล้ว มองว่าจางเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการปกป้องผลประโยชน์ของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับขุนศึกคนอื่น ๆ[8] จางยังถูกมองว่าเป็นบุคคลผิดยุคสมัยที่เปรียบได้กับผู้พิชิตของจีนในอดีต แต่เพียงแค่เขาขาดอุดมการณ์ที่จะรักษาอำนาจของตนไว้[9] จางเริ่มเมินเฉยต่อความประสงค์ของญี่ปุ่นที่ต้องการให้เขาละทิ้งความทะเยอทะยานของชาติและมุ่งสนใจไปที่การปฏิรูปมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อผลประโยชน์ ทำให้ท้ายที่สุด จางจึงถึงแก่อสัญกรรมจากการลอบสังหารโดยนายทหารกองทัพคันโตเมื่อ ค.ศ. 1928[10] ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จางกำลังล่าถอยไปยังฐานทัพทางตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเผชิญกับการรุกรานของเจียง ไคเชก[11] จาง เสฺวเหลียง ผู้เป็นบุตรชาย ยังคงควบคุมมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือต่อไปจนถึง ค.ศ. 1931[12] หมายเหตุ
เชิงอรรถอ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
|