Share to:

 

ดาวเคราะห์นอกระบบ

ภาพจำลองแสดงดาวฤกษ์แต่ละดวงในทางช้างเผือกที่มีดาวเคราะห์โคจรโดยทั่วไป นักดาราศาสตร์ประเมินว่าในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราอาจมีดาวเคราะห์อยู่ถึง 4 แสนกว่าล้านดวง โดยดาวฤกษ์แทบทุกดวงจะประกอบด้วยดาวเคราะห์อย่างน้อยหนึ่งดวง (2013)[1]
ดาวเคราะห์ โฟมัลฮอต บี โคจรอยู่รอบดาวโฟมัลฮอตภายในเขตวงแหวนฝุ่น ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (NASA)
ภาพวาดในจินตนาการแสดงดาวเคราะห์ในระบบดาวฤกษ์กลีเซอ 581 ในภาพดาวเคราะห์ที่ใกล้สุดมีชื่อว่ากลีเซอ 581 ซี

ดาวเคราะห์นอกระบบ (อังกฤษ: extrasolar planet หรือ exoplanet) หรือ ดาวเคราะห์ต่างระบบ[2] คือ ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ และอยู่ในระบบดาวเคราะห์อื่นที่ไม่ใช่ระบบสุริยะเดียวกันกับโลก หลักฐานที่เป็นไปได้ครั้งแรกของดาวเคราะห์นอกระบบถูกบันทึกใน ค.ศ. 1917 แต่ไม่ได้รับการยอมรับ[3] การยืนยันครั้งแรกของการค้นพบเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1992 ตามมาด้วยการยืนยันของดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ตรวจพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1988 ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 มีการตรวจค้นพบและยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบรวมทั้งสิ้น 5,307 ดวง ในระบบดาวเคราะห์ 3,910 แห่ง ในจำนวนนี้ 853 แห่งประกอบด้วยดาวเคราะห์มากกว่าหนึ่งดวง และถูกบรรจุไว้ในสารานุกรมดาวเคราะห์นอกระบบ[4] โดยส่วนมากพบจากการตรวจวัดด้วยวิธีความเร็วแนวเล็งและกระบวนการทางอ้อมต่าง ๆ มากกว่าวิธีการถ่ายภาพโดยตรง[4] ดาวเคราะห์นอกระบบส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์คล้ายกับดาวพฤหัสบดี ซึ่งน่าจะเป็นผลจากกระบวนวิธีในการตรวจจับนั่นเอง แต่ผลการตรวจจับในระยะหลังมีแนวโน้มจะพบดาวเคราะห์นอกระบบขนาดเล็กลง ปัจจุบันมีการค้นพบดาวเคราะห์หินขนาดเบาเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนดาวเคราะห์แก๊สยักษ์แล้ว[5]

ดาวเคราะห์นอกระบบเริ่มเป็นหัวข้อตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักดาราศาสตร์โดยทั่วไปเชื่อว่าดาวเคราะห์นอกระบบมีอยู่จริง แต่ไม่อาจทราบได้ว่ามันมีลักษณะเช่นไร หรือคล้ายคลึงกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเพียงใด การตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 ด้วยวิธีตรวจวัดด้วยความเร็วแนวเล็ง ค้นพบดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีคาบการโคจร 4 วันอยู่รอบดาว 51 เพกาซี นับแต่นั้นก็ตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบเพิ่มมากขึ้น[4] เมื่อถึง ค.ศ. 2000 ก็มีการตรวจพบเพิ่มขึ้นทุกปีมากกว่าปีละ 15 ดวง และมีการตรวจพบเพิ่มขึ้นถึง 61 ดวงใน ค.ศ. 2007 ประมาณการว่า อย่างน้อย 10% ของดวงดาวที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์จะต้องมีดาวเคราะห์บริวาร โดยสัดส่วนที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้น[6] การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบทำให้เกิดคำถามขึ้นอีกว่า จะมีบางดวงที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่[7]

ขณะนี้ กลีเซอ 581 ดี ดาวเคราะห์ดวงที่สี่ของดาวแคระแดง กลีเซอ 581 (ห่างจากโลกประมาณ 20 ปีแสง) ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่ค้นพบ มีโอกาสจะเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีวงโคจรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ของมันในระยะวงโคจรที่เหมาะสม แม้ผลการตรวจวัดเบื้องต้นจะบ่งชี้ว่ามันอยู่นอก "เขตโกลดิล็อก" ก็ตาม แต่ผลสำรวจในภายหลังส่อว่ามันอาจอยู่ภายในเขตพอดีก็ได้[8]

นิยาม

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้นิยาม "ดาวเคราะห์" ไว้ว่า ดาวเคราะห์ต้องโคจรรอบดาวฤกษ์[9] แต่ในปัจจุบันคำนิยามนี้จะใช้สำหรับดาวเคราะห์ภายในระบบสุริยะเท่านั้น มิได้ใช้นิยามนี้กับดาวเคราะห์นอกระบบ[10] สำหรับคำนิยามของดาวเคราะห์นอกระบบ "ที่ใช้งานจริง" เริ่มกำหนดขึ้นราวปี ค.ศ. 2001 (แก้ไขล่าสุดในปี ค.ศ. 2003) โดยมีคำจำกัดความดังต่อไปนี้

มีรายงานจำนวนหนึ่งที่ศึกษาวัตถุลอยอิสระเหล่านี้ (ที่ไม่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใดเลย) โดยเรียกในชื่อว่า "ดาวเคราะห์พเนจร" หรือ "ดาวเคราะห์ระหว่างดวงดาว" (interstellar planet) บทความนี้จะไม่กล่าวถึงวัตถุประเภทนี้ เพราะถือว่ามิได้อยู่ภายใต้นิยามของ ดาวเคราะห์ แม้ว่ามันอาจเคยเป็นดาวเคราะห์ของระบบดาวใดมาก่อนแต่ถูกดีดตัวออกมาก็ตาม

ประวัติการค้นพบ

การค้นพบที่ไม่ได้รับการยืนยัน

ระบบสุริยะเปรียบเทียบกับระบบ 55 Cancri

แม้แนวคิดเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบจะไม่ได้รับการยืนยันจนกระทั่งปี ค.ศ. 1988 แต่ก็เคยมีการคาดเดามาก่อนหน้านี้แล้วย้อนไปถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่า อาจมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบ ๆ ดาวฤกษ์ต่าง ๆ บนท้องฟ้าก็ได้ ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดเก่าแก่นี้พบได้ในหนังสือเจเนอร์รัล สคลอเลียม ของไอแซก นิวตัน ในปี ค.ศ. 1713 ซึ่งเขาบันทึกไว้ว่า "ถ้าดาวฤกษ์เหล่านั้นต่างเป็นศูนย์กลางของสิ่งอื่น ๆ เหมือนเช่นระบบสุริยะ การก่อตัวอันมีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่นนี้แสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ใต้กฎเกณฑ์อันเดียวกัน"

มีการอ้างว่าค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งการกล่าวอ้างช่วงแรก ๆ จำนวนหนึ่งมักอ้างถึงดาวคู่ 70 Ophiuchi ปี ค.ศ. 1855 กัปตัน ดับเบิลยู. เอส. เจค็อบ แห่งหอดูดาวมัทราส บริษัทอีสต์อินเดีย ได้รายงานการพบวงโคจรแปลกประหลาดที่ "มีความเป็นไปได้สูง" ที่จะเป็น "วัตถุลักษณะดาวเคราะห์" ในระบบนั้น[11] ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 โทมัส เจ. เจ. ซี แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกกับหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐอเมริการะบุว่าวงโคจรแปลกประหลาดนั้นบ่งชี้ถึงวัตถุมืดอย่างหนึ่งในระบบของ 70 Ophiuchi โดยมีรอบการโคจรรอบดาวฤกษ์หนึ่งรอบประมาณ 36 ปี[12] อย่างไรก็ดีไม่นานหลังจากนั้น ฟอเรสต์ เรย์ โมลตันก็ได้ตีพิมพ์บทความที่พิสูจน์ว่า ระบบแบบสามวัตถุที่มีค่าพารามิเตอร์วงโคจรเช่นนั้นเป็นระบบที่ไม่เสถียรอย่างที่สุด[13] ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1950 ถึง 1960 ปีเตอร์ แวน เดอ คัมป์ แห่งวิทยาลัยสวาร์ทมอร์ได้เผยแพร่ข้อมูลอ้างถึงการค้นพบอย่างต่อเนื่องที่มีชื่อเสียงมาก ครั้งนี้เป็นการพบดาวเคราะห์ในระบบดาวเบอร์นาร์ด[14] แต่นักดาราศาสตร์ในปัจจุบันถือว่าข้อมูลการค้นพบในอดีตเหล่านี้เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

ปี ค.ศ. 1991 แอนดรูว์ ลิน, เอ็ม เบลเลส และ เอส.แอล. ชีมาร์ อ้างว่าค้นพบดาวเคราะห์พัลซาร์ในวงโคจรรอบดาว PSR 1829-10 โดยใช้วิธีการประมวลความเปลี่ยนแปรเวลาของพัลซาร์[15] การกล่าวอ้างครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น แต่ไม่นานหลังจากนั้นลินกับพวกก็เพิกถอนการค้นพบเสีย[16]

การค้นพบที่ได้รับการยืนยันแล้ว

ภาพเปรียบเทียบวงโคจรของดาวเคราะห์วงในของระบบสุริยะ (เส้นสีเหลือง) กับวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบ HD 179949 b, HD 164427 b, Epsilon Reticuli Ab, และ Mu Arae b (โดยที่ดาวฤกษ์ดวงแม่อยู่ที่จุดศูนย์กลาง)

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 โดยกลุ่มนักดาราศาสตร์ชาวแคนาดา ได้แก่ บรูซ แคมเบล, จี. เอ. เอช. วอล์กเกอร์ และ เอส. หยาง[17] ผลจากการศึกษาเรื่องความเร็วแนวเล็งของดาวทำให้พบว่ามีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งโคจรอยู่รอบดาวแกมมาเซเฟย์ (ในกลุ่มดาวซีฟิอัส) พวกเขายังคงไม่แน่ใจที่จะรายงานการตรวจพบดาวเคราะห์ เพราะเป็นที่ร่ำลืออยู่ทั่วไปในแวดวงดาราศาสตร์มานานหลายปีแล้วเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทำนองนี้ การศึกษาในยุคนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มากเนื่องมาจากความสามารถของเครื่องมือวัด นอกจากนี้ยังมีความสับสนอีกว่าวัตถุที่สงสัยจะเป็นดาวเคราะห์บางทีอาจเป็นเพียงดาวแคระน้ำตาล ซึ่งมีมวลอยู่กึ่งกลางระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ก็ได้

ในปีถัดมามีการค้นพบเพิ่มเติมที่ช่วยยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์รอบดาวแกมมาเซเฟย์[18] แม้ว่างานศึกษาต่อเนื่องในปี ค.ศ. 1992 จะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา[19] ตราบจนกระทั่งปี ค.ศ. 2003 เทคนิคที่พัฒนาขึ้นจึงช่วยยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์ที่สงสัยนั้นมีอยู่จริง[20]

ช่วงต้นปี ค.ศ. 1992 นักดาราศาสตร์วิทยุ อเล็กซานเดอร์ โวลส์ชาน และ เดล เฟรล ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์รอบพัลซาร์อีกแห่งหนึ่ง คือ PSR 1257+12[21] (กลุ่มดาวหญิงสาว) การค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันอย่างรวดเร็ว และถือว่าเป็นการตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก เชื่อว่าดาวเคราะห์พัลซาร์เหล่านี้ก่อตัวขึ้นจากเศษซากซูเปอร์โนวาที่ผิดปกติอันเป็นกำเนิดของพัลซาร์แห่งนั้น ซึ่งอาจเป็นการก่อตัวดาวเคราะห์เป็นครั้งที่สอง หรืออาจเป็นแกนหินที่หลงเหลืออยู่จากดาวแก๊สยักษ์ที่รอดจากซูเปอร์โนวา แล้วจึงหมุนวนเข้ามาสู่วงโคจรดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1995 มิเชล ไมยอร์และดีดีเย เกโล แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลักแบบปกติเป็นครั้งแรก คือโคจรรอบดาว 51 เพกาซี[22] (กลุ่มดาวม้าบิน) การค้นพบคราวนี้เกิดขึ้นที่หอดูดาว de Haute-Provence และนำไปสู่ยุคใหม่แห่งการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะเทคนิคด้านสเปกโตรสโกปีที่มีความละเอียดสูง ทำให้มีการตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ความก้าวหน้ายังช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถตรวจสอบค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบโดยวิธีทางอ้อมได้โดยการตรวจวัดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ดวงแม่ นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์นอกระบบอีกจำนวนหนึ่งที่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการเฝ้าสังเกตการแปรแสงสว่างปรากฏของดาวฤกษ์โดยมีดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านหน้าไป

จนถึงปัจจุบัน มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบแล้ว 3,493 ดวง รวมถึงจำนวนดาวเคราะห์ที่เคยถูกปฏิเสธเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 แต่ได้รับการยืนยันในภายหลัง ระบบดาวแห่งแรกที่ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์มากกว่า 1 ดวงได้แก่ อัปซีลอนแอนดรอเมดา โดยที่ได้พบระบบดาวกว่า 590 แห่งแล้วที่มีดาวเคราะห์ในระบบจำนวนหลายดวง ในบรรดาดาวเคราะห์นอกระบบทั้งหมดมีดาวเคราะห์ที่เป็นดาวพัลซาร์ 4 ดวงโคจรรอบพัลซาร์อื่น 2 ดวงที่แยกจากกัน การสังเกตการณ์แผ่นจานฝุ่นระหว่างดาวในช่วงคลื่นอินฟราเรดบ่งชี้อีกว่ามีดาวหางอีกหลายล้านดวงอยู่ในระบบดาวฤกษ์มากมายหลายแห่ง

วิธีการตั้งชื่อ

ระบบดาว 55 ปู เป็นระบบดาวที่มีดาวเคราะห์นอกระบบซึ่งได้รับการยืนยันแล้วมากที่สุด คือ 5 ดวง และอาจพบว่ามีมากกว่านี้อีก (ในภาพวาด) ดาวเคราะห์ 55 Cancri f เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ใช้อักษร "f" ในปัจจุบัน

โดยทั่วไปวิธีการตั้งชื่อของดาวเคราะห์นอกระบบจะคล้ายคลึงกับการตั้งชื่อระบบดาวคู่ แตกต่างกันที่ดาวเคราะห์จะใช้ตัวอักษรตัวเล็กในภาษาอังกฤษ ขณะที่ดาวฤกษ์จะใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ในภาษาอังกฤษ ตัวอักษรตัวเล็กจะถูกเขียนต่อท้ายชื่อดาว โดยเริ่มต้นที่ตัวอักษร "บี" สำหรับดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบในระบบนั้น ๆ เช่น 51 Pegasi b ดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบดวงถัดไปจะใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวถัดไป เช่น 51 Pegasi c และ 51 Pagesi d ตามลำดับ นอกจากนี้เมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์ในระบบเดียวกันพร้อมกันสองดวงในเวลาเดียวกัน จะให้ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ในระบบดังกล่าวมีอักษรลำดับก่อนหน้า ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ห่างออกไปจะมีอักษรลำดับถัดไป อย่างไรก็ดีมีบางกรณีเหมือนกันที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงเล็กกว่าอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากกว่าดาวเคราะห์ดวงที่ค้นพบแล้ว เช่นในระบบ Gliese 876 มีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงล่าสุดชื่อ Gliese 876 d ทั้ง ๆ ที่ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มากกว่าดาวเคราะห์ Gilese 876 b และ Gilese 876 c ซึ่งค้นพบมาก่อน ดาวเคราะห์ 55 Cancri f เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในปัจจุบันที่ใช้อักษร f ในชื่อ (หมายถึงมีดาวเคราะห์จำนวนห้าดวงถูกค้นพบในระบบ 55 Cancri) ถือเป็นจำนวนดาวเคราะห์สูงสุดในระบบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีดาวเคราะห์ที่ใช้อักษรถัดจาก f ไป ประโยชน์ของการใช้อักษรตัวเล็กในการระบุชื่อดาวเคราะห์ปรากฏให้เห็นในกรณีเฉพาะจำนวนหนึ่งเมื่อดาวเคราะห์นั้น ๆ โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงที่สองของระบบ เช่น ดาวเคราะห์ 16 Cygni Bb ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ 16 Cygni B เป็นต้น

พัลซาร์ PSR B1257+12 ได้รับการยืนยันว่าประกอบด้วยดาวเคราะห์สามดวง แต่เนื่องจากถูกค้นพบก่อนที่จะมีการตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบแบบปัจจุบัน ดาวเคราะห์จึงถูกตั้งชื่อจากตำแหน่งจากดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์และใช้อักษรตัวใหญ่ภาษาอังกฤษ

มีระบบดาวเคราะห์เพียงแค่สองระบบที่มีการตั้งชื่อดาวเคราะห์แบบไม่ปกติ ก่อนการค้นพบดาวเคราะห์ 51 Pegasi b ในปี 1995 ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์พัลซาร์สองดวง (PSR B1257+12 B และ PSR 1257+12 C) จากระยะเวลาที่พัลซาร์ถูกปล่อยออกมาจากซากดาว เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีวิธีการตั้งชื่อดาวเคราะห์อย่างเป็นทางการ ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงถูกเรียกว่า "B" และ "C" (คล้ายกับการตั้งชื่อดาวเคราะห์ในปัจจุบัน) การที่เลือกอักษรตัวใหญ่ในภาษาอังกฤษมาใช้ในการตั้งชื่อมีสาเหตุหลักเนื่องมาจากวิธีการตั้งชื่อให้แก่ดาวคู่โดยมาก ต่อมาเมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่สาม จึงได้รับการตั้งชื่อเป็น PSR B1257+12 A (เพราะดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากกว่าสองดวงที่ถูกค้นพบก่อนหน้า) [23] มีบางครั้งที่การตั้งชื่อใช้อักษรโรมัน (ส่วนมากพบในนิยายวิทยาศาสตร์) ในการเรียงลำดับดาวเคราะห์จากดาวฤกษ์ (มาจากระบบการตั้งชื่อดวงจันทร์แบบเก่า เช่น จูปิเตอร์ IV หมายถึงดวงจันทร์คัลลิสโต) แต่จากเหตุผลดังอธิบายก่อนหน้านี้ วิธีการนี้จึงไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ (ยกตัวอย่างเช่นระบบสุริยะของเรา ดาวพฤหัสบดีย่อมเป็นดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบก่อนดวงอื่น และดาวเสาร์เป็นลำดับถัดมา ส่วนพวกดาวเคราะห์ใกล้โลกจะไม่อาจถูกตรวจพบได้โดยง่าย ดังนั้นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ย่อมถูกตั้งชื่อว่า Sol I และ Sol II ตามแบบวิธีการตั้งชื่อในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่มันจะต้องถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Sol V และ Sol VI หากมีการค้นพบดาวเคราะห์ชั้นในอีก 4 ดวงในภายหลัง แต่ถ้าหากใช้วิธีการตั้งชื่ออย่างระบบปัจจุบัน แม้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์ชั้นในในภายหลัง ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ก็ยังคงได้ชื่อว่า Sol b และ Sol c โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ)

ถ้าดาวเคราะห์ไม่ได้โคจรอยู่ในวงโคจรรอบระบบดาวคู่ จะนำตัวอักษรของชื่อดาวฤกษ์นั้นเพิ่มเข้าในชื่อของดาวเคราะห์ด้วย ถ้าดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในระบบ แล้วมีการค้นพบดาวฤกษ์ดวงที่สองภายหลังดาวเคราะห์ หรือดาวฤกษ์ดวงที่สองอยู่ไกลจากดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ดวงแรกค่อนข้างมาก จะไม่มีการนำชื่อดาวนั้นมาเกี่ยวข้อง เช่น ดาวเคราะห์ Tau Bootis b โคจรรอบระบบดาวคู่ แต่ดาวฤกษ์ดวงที่สองถูกค้นพบภายหลังดาวเคราะห์และอยู่ค่อนข้างไกลจากดาวฤกษ์ดวงแรก จึงไม่ค่อยใช้ชื่อดาวเคราะห์เป็น "Tau Boötis Ab" เท่าใดนัก อย่างไรก็ดี (เช่นในกรณีของ 16 Cygni Bb และ 83 Leonis Bb) ถ้าดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงที่สอง จะนำชื่อของดาวดวงนั้นมาใช้ด้วย ดาวเคราะห์บางดวงมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่อาจเทียบได้กับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่น่าสนใจได้แก่ Osiris (HD 209458 b) , Bellerophon (51 Pegasi b) และ Methuselah (PSR B1620-26 b) ปัจจุบันนี้ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลยังไม่มีแผนจะกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบอย่างเป็นทางการ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือวิสัยและไม่ได้ผล[24]

วิธีการตรวจสอบ

ดาวเคราะห์นอกระบบจะเป็นดาวที่จางมาก ๆ เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ดวงแม่ของมัน ในระดับความยาวคลื่นที่ตามองเห็นดาวเคราะห์เหล่านี้จะส่องสว่างน้อยกว่าดาวแม่นับล้านเท่า นอกจากความส่องสว่างที่น้อยมาก ๆ แล้ว แสงสว่างจากดาวฤกษ์เองก็บดบังดาวเคราะห์ไปเสียด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กล้องโทรทรรศน์ในปัจจุบันจึงสามารถจับภาพโดยตรงของดาวเคราะห์นอกระบบได้เฉพาะดวงที่มีสภาวะพิเศษเท่านั้น คือในกรณีที่ดาวเคราะห์นั้นมีขนาดใหญ่มาก ๆ (ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี) และอยู่ค่อนข้างห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่ รวมถึงมีความร้อนเพียงพอที่จะแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา

ดาวเคราะห์นอกระบบที่รู้จักโดยส่วนใหญ่เป็นการค้นพบโดยวิธีการทางอ้อม ดังต่อไปนี้:

แผนภาพแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ที่ใหญ่กว่าซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อดวงดาวทั้งตำแหน่งและความเร็วเนื่องจากการโคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลร่วม
  • มาตรดาราศาสตร์: มาตรดาราศาสตร์เป็นการตรวจหาตำแหน่งที่แน่นอนของดาวบนท้องฟ้าและเฝ้าสังเกตเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าดาวฤกษ์นั้นมีดาวเคราะห์ในระบบ แรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์จะส่งผลต่อดวงดาวให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมแคบ ๆ หรือเป็นวงโคจรแบบรีรอบ ๆ จุดศูนย์กลางร่วมของมวลทั้งหมด (ดูภาพประกอบทางขวามือ)
  • การจับเวลาพัลซาร์: ดาวพัลซาร์ (เศษดาวเล็ก ๆ ที่หนาแน่นมากที่ระเบิดเหมือนซูเปอร์โนวา) จะส่งคลื่นวิทยุอย่างแรงออกมาขณะที่มันหมุนตัว ความผิดปกติจากระยะเวลาส่งคลื่นวิทยุเป็นจังหวะ ๆ ทำให้สามารถตรวจความเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนที่ของพัลซาร์อันเนื่องมาจากการมีอยู่ของดาวเคราะห์ได้
  • การเคลื่อนผ่าน: ถ้าดาวเคราะห์เดินทางข้ามหรือเคลื่อนผ่านด้านหน้าของแผ่นจานดาวฤกษ์ดวงแม่ของมัน แสงสว่างที่สังเกตได้จากดาวฤกษ์จะลดลงเล็กน้อย ปริมาณแสงที่ลดลงขึ้นกับขนาดของทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ของมัน
  • ไมโครเลนส์ของแรงโน้มถ่วง: ไมโครเลนส์เกิดขึ้นเมื่อสนามแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์มีลักษณะคล้ายเลนส์ ทำให้แสงจากดาวอื่นที่อยู่ไกลออกไปด้านหลังขยายใหญ่มากขึ้น วงโคจรของดาวเคราะห์ที่อาจมีพาดผ่านหน้าดาวฤกษ์ทำให้สามารถตรวจจับความผิดปกติกับส่วนโค้งของแสงจากปรากฏการณ์เลนส์ได้
  • จานฝุ่นละออง: จานของฝุ่นละอองในอวกาศจะห่อหุ้มอยู่รอบดาวฤกษ์หลายดวง เราสามารถตรวจพบฝุ่นละอองเหล่านี้ได้เนื่องจากฝุ่นละอองจะดูดซับแสงปกติของดาวและปลดปล่อยพลังงานออกมาในช่วงคลื่นอินฟราเรด การวิเคราะห์คุณลักษณะของจานฝุ่นละอองสามารถบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ได้
  • ดาวคู่อุปราคา: ในระบบดาวคู่อุปราคา เราสามารถตรวจพบดาวเคราะห์ได้จากการเปลี่ยนแปลงของช่วงแสงขณะที่ดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านไปผ่านมา วิธีนี้เป็นวิธีที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในการค้นหาดาวเคราะห์ในระบบดาวคู่
  • เฟสการโคจร: ดาวเคราะห์นอกระบบก็มีเฟสคล้ายกันกับดวงจันทร์และดาวศุกร์ โดยที่เฟสการโคจรจะขึ้นอยู่กับความเอียงของระนาบการโคจร การศึกษาเฟสการโคจรสามารถคำนวณขนาดอนุภาคในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้

ถ้าไม่นับดาวเคราะห์นอกระบบที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ดาวเคราะห์นอกระบบส่วนมากจะถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก อย่างไรก็ตามวิธีการหลายวิธีอาจให้ผลที่ดีกว่าเมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่เหนือชั้นบรรยากาศ COROT (ปล่อยขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2006) และ Kepler (ปล่อยขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2009) เป็นเพียงสองโครงการในปัจจุบันที่มีภารกิจในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบเพียงไม่กี่ดวง แต่ก็ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่มีภารกิจในค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ เช่น New Worlds Mission. Darwin, Space Interferometry Mission, Terrestrial Planet Finder และ PEGASE

สมบัติทั่วไป

ดาวเคราะห์นอกระบบทั้งหมดที่ถูกค้นพบด้วยวิธีการต่าง ๆ นับจนถึงวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2009:
สีน้ำเงินเข้ม = ความเร็วแนวเล็ง
สีเขียวเข้ม = การเคลื่อนผ่าน
สีม่วงเข้ม = การจับเวลา
สีเหลืองเข้ม = มาตรดาราศาสตร์
สีแดงเข้ม = การถ่ายภาพโดยตรง
สีส้มเข้ม = ไมโครเลนส์
สีม่วง = การจับเวลาพัลซาร์
เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเป็นจุดอ้างอิง (สีขาวขอบเทา)

ลักษณะของวัตถุท้องฟ้า

ดาวเคราะห์นอกระบบที่ถูกค้นพบในปัจจุบันส่วนมากจะโคจรรอบดาวฤกษ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา คือเป็นดาวฤกษ์ในแถบกระบวนหลักซึ่งมีประเภทสเปกตรัม F, G หรือ K สาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากโปรแกรมการค้นหาที่มุ่งศึกษาดาวฤกษ์ในประเภทนี้ ถึงอย่างไรก็ตามข้อมูลทางสถิติก็บ่งชี้ว่า โอกาสจะพบดาวเคราะห์ในระบบของดาวฤกษ์มวลน้อย (ดาวแคระแดง ซึ่งมีประเภทสเปกตรัม M) ก็ค่อนข้างน้อย หรือมิฉะนั้นตัวดาวเคราะห์เองก็อาจมีมวลต่ำมากทำให้ตรวจจับได้ยากขึ้น[26] การสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์เมื่อไม่นานมานี้ได้ค้นพบว่าดาวฤกษ์ในประเภทสเปกตรัม O ซึ่งมีความร้อนกว่าดวงอาทิตย์ของเรา จะมีปรากฏการณ์ การระเหยด้วยแสง ซึ่งส่งผลในทางขัดขวางการก่อตัวของดาวเคราะห์[27]

ดาวฤกษ์ส่วนมากจะประกอบด้วยธาตุเบา อาทิ ไฮโดรเจน และ ฮีเลียม โดยอาจมีส่วนประกอบธาตุหนักอย่างเหล็กในสัดส่วนเล็กน้อย สัดส่วนนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงค่าความเป็นโลหะของดาว ดาวฤกษ์ที่มีค่าความเป็นโลหะสูงจะมีโอกาสที่จะมีดาวเคราะห์สูงกว่า และดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ซึ่งมีค่าความเป็นโลหะต่ำ[6]

ค่าองค์ประกอบที่วัดได้

การสำรวจพบดาวที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบโดยมากมักเป็นการค้นพบโดยวิธีทางอ้อม ดังนั้นจึงสามารถระบุสมบัติทางฟิสิกส์และค่าองค์ประกอบวงโคจรได้เพียงบางส่วนเท่านั้น วิธีความเร็วแนวเล็งทำให้เราทราบค่าองค์ประกอบวงโคจรทั้งหมดยกเว้นความเอียง ซึ่งหมายรวมถึงค่าคาบการโคจร, ระยะครึ่งแกนเอก, ความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจร, ระยะเชิงมุม ตำแหน่งที่ดาวเคราะห์นอกระบบอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากที่สุด, เวลาที่ดาวเคราะห์นอกระบบอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากที่สุด และ ระยะครึ่งหนึ่งของแอมพลิจูด การที่ไม่ทราบค่าความเอียงทำให้ไม่ทราบมวล และทำให้สามารถระบุได้เพียงค่ามวลต่ำที่สุดเท่านั้น ในบางกรณีวัตถุท้องฟ้าที่ค้นพบอาจเป็นวัตถุมวลมากชนิดอื่น เช่นดาวแคระน้ำตาลหรือดาวแคระแดงก็ได้ อย่างไรก็ตามถ้าวงโคจรดาวเคราะห์นอกระบบมีลักษณะตั้งฉากกับท้องฟ้า (มุมเอียงเกือบ 90 องศา) เราอาจสามารถสังเกตเห็นการเคลื่อนผ่านของดาวเคราะห์ก็ได้ ซึ่งทำให้สามารถวัดค่ามวลที่แท้จริงและรัศมีของดาวได้ด้วย นอกจากนี้การสังเกตการณ์ทางด้านดาราศาตร์และการศึกษาทางด้านพลศาสตร์ในระบบดาวเคราะห์หลายดวงสามารถนำมาใช้กำหนดมวลของดาวเคราะห์ได้

การวัดสเปกตรัมระหว่างการเคลื่อนผ่านสามารถนำมาศึกษาส่วนประกอบของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่กำลังเคลื่อนผ่านได้[28] การเคลื่อนผ่านทุติยภูมิ (เกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์อยู่หลังดาวฤกษ์) สามารถใช้ตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรดจากดาวเคราะห์ได้โดยตรง นอกจากนี้การสังเกตการณ์ในช่วงอินฟราเรดสามารถศึกษารูปแบบความร้อนบนพื้นผิวใกล้ดาวเคราะห์ได้

ปรากฏการณ์การเลือก

ดาวเคราะห์นอกระบบที่ค้นพบส่วนมากจะมีมวลมาก ดังเช่นเดือนสิงหาคม 2008 ดาวเคราะห์นอกระบบที่ค้นพบเกือบทั้งหมดมีมวลมากกว่าโลกหลายสิบเท่า (ยกเว้นเพียง 12 ดวง) [4] มีอยู่หลายดวงที่คาดว่ามีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากที่สุดในระบบสุริยะเสียด้วย อย่างไรก็ตามการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีมวลมากนี้เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์การเลือก เพราะวิธีการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบทุกวิธีที่ใช้ล้วนแต่นำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์มวลมากทั้งนั้น ความโน้มเอียงดังกล่าวนี้ทำให้การวิเคราะห์ทางสถิติผิดพลาดไป แต่ดูเหมือนว่าดาวเคราะห์มวลน้อยน่าจะสามารถพบได้มากกว่าดาวเคราะห์มวลมาก โดยสังเกตจากช่วงการกระจายมวลของดาวซึ่งนับรวมดาวเคราะห์ยักษ์ทั้งหมด นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังได้ค้นพบดาวเคราะห์จำนวนมากที่มีมวลมากกว่าโลกเพียงไม่กี่เท่า ทั้งที่สามารถตรวจจับได้ยากมาก นี่บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ในลักษณะดังกล่าวนี้ย่อมเป็นดาวเคราะห์ที่พบได้ทั่วไป[6] ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วเชิงรัศมีของดาวฤกษ์ความแม่นยำสูงนับถึงปี 2008 เครื่องมือวัดสเปกตรัมในหอดูดาวลาซียา ในประเทศชิลี ประมาณหนึ่งในสิบสี่จะเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ ขณะที่หนึ่งในสามเป็นดาวเคราะห์หินที่มีมวลต่ำกว่าสามสิบเท่าของมวลโลก[29]

ดาวเคราะห์นอกระบบจำนวนมากจะโคจรใกล้กับดาวฤกษ์มากกว่าในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นผลจากการปรากฏการณ์การเลือก ด้วยวิธีการความเร็วแนวเล็งซึ่งสามารถตรวจจับดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรเล็ก ในตอนแรกนักดาราศาสตร์เคยประหลาดใจกับ "ดาวพฤหัสบดีร้อน" (Hot Jupiter) เหล่านี้ แต่ในปัจจุบันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าดาวเคราะห์นอกระบบส่วนมาก (อย่างน้อยก็สำหรับดาวเคราะห์นอกระบบที่มีมวลมาก) จะมีวงโคจรที่ค่อนข้างใหญ่ บางดวงยังตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งสามารถเกิดน้ำในรูปแบบของของเหลวหรือสิ่งมีชีวิต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบดาวเคราะห์ยักษ์หนึ่งหรือสองดวงในระบบดาวเคราะห์นอกระบบซึ่งมีขนาดพอเหมาะคล้ายดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในระบบสุริยะของเรา

ค่าความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรเป็นการวัดว่าวงโคจรนั้นมีความรีเพียงใด ดาวเคราะห์นอกระบบที่ค้นพบส่วนมากจะมีค่าความรีค่อนข้างมาก นี่มิได้เป็นผลจากปรากฏการณ์การเลือก เพราะการตรวจจับดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์สามารถเป็นไปได้ไม่ว่าจะมีความรีของวงโคจรเพียงใด การที่ดาวเคราะห์นอกระบบมีวงโคจรที่รีมากจึงเป็นปริศนาข้อใหญ่ เนื่องจากทฤษฎีว่าด้วยการกำเนิดของดาวเคราะห์ในปัจจุบันกล่าวว่าดาวเคราะห์ควรถือกำเนิดขึ้นด้วยวงโคจรที่ค่อนข้างเป็นวงกลม (กล่าวคือไม่มีความรี) หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นไปได้คืออาจมีดาวคู่ดวงเล็ก ๆ ดังเช่น ดาวแคระที (T dwarf: ดาวแคระน้ำตาลประกอบด้วยมีเทน) ซ่อนอยู่ในระบบดาวฤกษ์นั้นและเป็นสาเหตุให้วงโคจรของดาวเคราะห์มีลักษณะสุดโต่งดังที่เห็น[30] ทฤษฎีนี้ยังอธิบายได้อีกว่า ระบบสุริยะของเราต่างหากที่ผิดปรกติ เนื่องจากดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ยกเว้นดาวพุธ จะมีวงโคจรที่ค่อนข้างกลม [6]

ดาวเคราะห์นอกระบบที่เหมือนกัน

นับถึงต้นปี ค.ศ. 2009 มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบแล้วมากกว่า 300 ดวง และยังมีการค้นพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดร. อลัน บอส แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีประมาณว่า อาจจะมีดาวเคราะห์นอกระบบถึงหนึ่งแสนล้านดวงเฉพาะในดาราจักรทางช้างเผือกของเรา ดร.บอส เชื่อว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบหลายดวงที่มีรูปแบบชีวิตอย่างง่าย และอาจมีอารยธรรมนับพัน ๆ แห่งอยู่ในดาราจักรของเรา ดร.บอส คาดว่าดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ทุกดวงจะมีดาวเคราะห์คล้ายโลกเฉลี่ยแห่งละ 1 ดวง

งานวิจัยล่าสุดที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระพยายามจะระบุถึงจำนวนอารยธรรมที่อาจมีอยู่ในอวกาศภายนอก ผลงานวิจัยระบุว่าอาจมีนับเป็นจำนวนหลายพันแห่ง[31]

คำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้

มีคำถามที่ยังตอบไม่ได้จำนวนมากเกี่ยวกับคุณสมบัติของดาวเคราะห์นอกระบบ อย่างเช่น รายละเอียดขององค์ประกอบของดาว และโอกาสที่ดาวเหล่านี้จะมีดวงจันทร์ของตัวเอง ในปัจจุบันพบว่าดาวเคราะห์นอกระบบจำนวนมากไม่มีน้ำซึ่งแสดงว่ายังคงต้องมีการศึกษาสมบัติของดาวเคราะห์นอกระบบเพิ่มเติม อีกคำถามหนึ่งคือมีสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์นอกระบบหรือไม่ ดาวเคราะห์หลาย ๆ ดวงมีวงโคจรอยู่ในระยะที่สามารถมีสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งมีโอกาสที่เงื่อนไขหลายประการทำให้ดาวเคราะห์เหล่านั้นเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลก แต่ดาวเคราะห์เหล่านี้ส่วนมากเป็นดาวเคราะห์ยักษ์คล้ายดาวพฤหัสบดีมากกว่า ถ้าดาวเคราะห์เหล่านี้มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ เป็นไปได้ว่าดวงจันทร์เหล่านั้นจะสามารถเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ การตรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวที่อยู่ห่างไกล (ยังไม่นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมหรือไม่) เป็นสิ่งที่น่าท้าทายอย่างยิ่งและอาจยังเป็นไปไม่ได้ในช่วงระยะเวลาหลายปีนี้ แม้ว่าการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาก็ตาม

ดาวเคราะห์นอกระบบที่น่าสนใจ

จำนวนดาวเคราะห์นอกระบบ แยกตามปีที่ค้นพบ

การค้นพบครั้งแรก

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบครั้งแรกมีการบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1992 เมื่อ อเล็กซานเดอร์ โวลส์ชาน และ เดล เฟรล ได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบลงในวารสาร Nature โดยประกาศการค้นพบดาวเคราะห์รอบพัลซาร์แห่งหนึ่ง คือ PSR 1257+12[21] โวลส์ชานค้นพบพัลซาร์ระดับมิลลิวินาทีตัวปัญหานั้นเมื่อปี ค.ศ. 1990 ณ หอดูดาวอเรบิโก นี่เป็นการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบครั้งแรกที่ได้รับการยืนยัน และยังคงเป็นที่น่าสนใจอย่างมากเนื่องจากดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวโคจรรอบพัลซาร์

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลักคือ ดาวเคราะห์ 51 Pegasi b ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ 51 Pegasi ค้นพบโดยมิเชล ไมยอร์และดีดีเย เกโล ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1995[22] นักดาราศาสตร์ค่อนข้างตื่นเต้นกับการค้นพบ ดาวพฤหัสบดีร้อน ดวงนี้ หลังจากนั้นไม่นานการค้นพบดาวเคราะห์ในลักษณะเดียวกันก็มีมากขึ้น

การค้นพบที่น่าสนใจอื่น ๆ

หลังจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบในครั้งแรก ก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบอีกเป็นจำนวนมาก ที่โดดเด่นและน่าสนใจมีดังต่อไปนี้

ค.ศ. 1996 ถึง 2006

ภาพวาดของดาวเคราะห์พัลซ่าร์ PSR B1620-26 b (ค้นพบปี 2003) มีอายุ 12,500 ล้านปี จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีอายุมากที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน
ภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดของ 2M1207 (สีน้ำเงิน) และ 2M1207b (สีแดง) วัตถุทั้งสองแยกออกจากกันน้อยกว่าหนึ่งพิลิปดาบนท้องฟ้า ภาพถ่ายโดยหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Yepun ขนาด 8.2 เมตร
ภาพวาดของดาวเคราะห์ OGLE-2005-BLG-390Lb (ซึ่งมีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -220 องศาเซลเซียส) โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ห่างจากโลก 20,000 ปีแสง (117.5 ล้านล้านไมล์) ค้นพบโดยวิธีไมโครเลนส์ของความโน้มถ่วง
1996, 47 Ursae Majoris b
เป็นดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสบดี และเป็นดาวเคราะห์คาบยาวดวงแรกที่ถูกค้นพบ โดยโคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยรัศมีวงโคจร 2.11 หน่วยดาราศาสตร์และความรี 0.049 ดาวเคราะห์คู่ของมันอีกดวงหนึ่งโคจรด้วยรัศมีวงโคจร 3.39 หน่วยดาราศาสตร์และความรี 0.220 ± 0.028 มีคาบการโคจร 2190 ± 460 วัน
1998, กลีเซอ 876 บี
เป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ถูกค้นพบว่ามีวงโคจรรอบดาวแคระแดง Gliese 876 โดยมีรัศมีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ใกล้กว่าระยะที่ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบในเวลาต่อมาส่วนมากจะมีวงโคจรใกล้ดาวฤกษ์เช่นกัน[32]
1999, อัปซีลอนแอนดรอเมดา
เป็นระบบดาวเคราะห์แบบพหุระบบแรกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลักที่ถูกค้นพบ ประกอบด้วยดาวเคราะห์จำนวนสามดวง ทั้งหมดเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ดาวเคราะห์ Upsilon Andromedae b, Upsilon Andromedae c, Upsilon Andromedae d ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1996, 1999 และ 1999 ตามลำดับ ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีมวล 0.687, 1.97 และ 3.93 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี และมีรัศมีวงโคจรห่างจากดาวฤกษ์ 0.0595, 0.830 และ 2.54 หน่วยดาราศาสตร์ตามลำดับ [33] ในปี ค.ศ. 2007 ได้มีการค้นพบว่าความเอียงของวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน
1999, HD 209458 b
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้เดิมได้ถูกค้นพบโดยวิธีความเร็วแนวเล็ง และต่อมาเป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนผ่าน ซึ่งช่วยยืนยันผลการตรวจจับดาวเคราะห์ต้องสงสัยที่ค้นพบด้วยวิธีการวัดความเร็วแนวเล็งว่ามีอยู่จริง[34]
2001, HD 209458 b
นักดาราศาสตร์ผู้ใช้งานกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ประกาศว่า พวกเขาสามารถตรวจวัดชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบ HD 209458 b ได้ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบแถบสเปกตรัมของธาตุโซเดียมในชั้นบรรยากาศ แต่ก็มีความเข้มข้นน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่มีเมฆบดบังบรรยากาศชั้นล่างเป็นจำนวนมาก[35] ในปี ค.ศ. 2008 ได้มีการวัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของชั้นเมฆ โครงสร้างของชั้นบรรยากาศบ่งชี้ว่าเป็นบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์
2001, Iota Draconis b
เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบรอบดาว Iota Draconis ซึ่งเป็นดาวยักษ์สีส้ม เป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงการมีอยู่และพฤติกรรมของระบบดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ยักษ์ ดาวยักษ์ส่งแสงสว่างเป็นช่วง ๆ แสดงถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลมากและมีความรีของวงโคจรค่อนข้างมาก วงโคจรของมันมีระยะทางมากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ประมาณ 27.5 เปอร์เซ็นต์[36] ในปี ค.ศ. 2008 จุดศูนย์กลางของระบบจะมองเห็นอยู่ในกระจุกดาวลูกไก่ ใกล้กับดาว Epsilon Tauri
2003, PSR B1620-26 b
ในวันที่ 10 มิถุนายน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นำโดย สเตน ซิกุร์ดสัน อาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ยืนยันถึงดาวเคราะห์นอกระบบที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ดาวเคราะห์ดังกล่าวตั้งอยู่ในกระจุกดาวทรงกลม M4 อยู่ห่างจากโลกไป 5,600 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวแมงป่อง นี่เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เรารู้จักซึ่งพบว่าโคจรรอบระบบดาวคู่ โดยที่ดาวดวงหนึ่งในระบบดาวคู่เป็นพัลซาร์ และอีกดวงหนึ่งเป็นดาวแคระขาว ดาวเคราะห์นี้มีมวลเป็นสองเท่าของดาวพฤหัสบดี และประมาณว่ามีอายุประมาณ 13,000 ล้านปี[37]
2004, Mu Arae c
ในเดือนสิงหาคม เครื่องวัดสเปกตรัม HARPS ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ค้นพบดาวเคราะห์โคจรรอบดาว Mu Arae ด้วยมวลประมาณสิบสี่เท่าของมวลโลก เมื่อพิจารณาองค์ประกอบเบื้องต้นของดาวแล้ว จัดว่าดาวเคราะห์นี้เป็น "ดาวเนปจูนร้อน" (hot Neptune) หรือ "ซูเปอร์เอิร์ธ" (super-Earth) ที่มีการค้นพบเป็นดวงแรก[38]
2004, 2M1207 b
เป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบว่าโคจรรอบดาวแคระน้ำตาล และเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่สามารถถ่ายภาพในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดได้ จากการประมาณการครั้งแรกดาวนี้มีมวลเป็นห้าเท่าของมวลดาวพฤหัสบดี แต่การประมาณครั้งอื่นได้ค่ามวลที่ต่ำกว่านี้ มีรัศมีวงโคจรจากดาวแคระน้ำตาล 55 หน่วยดาราศาสตร์ โดยที่ดาวแคระน้ำตาลดังกล่าวนี้มีมวลเพียง 25 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดีเท่านั้น อุณหภูมิของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์นี้สูงมาก (1250 เคลวิน) ซึ่งเกิดจากความหนาแน่นของความโน้มถ่วง[39] ปลายปี ค.ศ. 2005 ค่าองค์ประกอบของดาวเคราะห์ได้ปรับปรุงใหม่ โดยมีวงโคจรที่ 41 หน่วยดาราศาสตร์และมวลเป็น 3.3 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าดาวฤกษ์แม่อยู่ใกล้กับโลกมากกว่าที่เคยเข้าใจกัน ในปี ค.ศ. 2006 มีการค้นพบแผ่นจานฝุ่นรอบดาว 2M1207 อันเป็นหลักฐานแสดงว่าการก่อตัวของดาวเคราะห์ยังคงดำเนินอยู่[40]
2005, กลีเซอ 876 ดี
ในเดือนมิถุนายน มีการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่สามของดาวแคระแดง กลีเซอ 876 ดาวเคราะห์นี้มีมวล 7.5 เท่าของโลก ปัจจุบันจัดว่าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสองเท่าที่ค้นพบที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลัก เป็นไปได้ว่าจะมีองค์ประกอบหลักเป็นหิน มีรัศมีวงโคจร 0.021 หน่วยดาราศาสตร์ คาบการโคจร 1.94 วัน[41]
2005, HD 149026 b
ในเดือนกรกฎาคม มีการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีแกนใหญ่ที่สุด คือดาวเคราะห์ HD 149026 b โคจรรอบดาว HD 149026 มีแกนกลางขนาดประมาณ 70 เท่าของมวลโลก (ในปี 2008 พบว่าแกนมีขนาดประมาณ 80 ถึง 110 เท่าของมวลโลก) เป็นสัดส่วนประมาณสองในสามของมวลดาวเคราะห์[42]
2006, OGLE-2005-BLG-390Lb
ในวันที่ 25 มกราคม มีการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ OGLE-2005-BLG-390Lb ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด และอาจมีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำที่สุดเท่าที่รู้จัก ดาวเคราะห์นี้โคจรรอบดาวแคระแดง ซึ่งห่างจากโลก 21,500 ปีแสง เข้าไปในบริเวณใจกลางของดาราจักรทางช้างเผือก การค้นพบทำโดยวิธีไมโครเลนส์ของความโน้มถ่วง ประมาณว่าดาวเคราะห์นี้มีมวลราว 5.5 เท่าของโลก จัดว่าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีมวลน้อยที่สุดซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลัก ก่อนหน้าการค้นพบครั้งนี้ ดาวเคราะห์นอกระบบที่มีมวลน้อยนั้นจะถูกพบใกล้กับดาวฤกษ์มาก แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ของมันถึง 2.6 หน่วยดาราศาสตร์[43][44]
2006, HD 69830
เป็นระบบดาวเคราะห์ที่มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับดาวเนปจูน 3 ดวง ถือเป็นระบบดาวเคราะห์สามดวงระบบแรกที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์โดยที่ไม่มีดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสบดีอยู่เลย มีการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ทั้งสามดวงในวันที่ 18 พฤษภาคม โดยโลวิส ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงโคจรอยู่ในรัศมี 1 หน่วยดาราศาสตร์ ดาวเคราะห์ HD 69830 b, HD 69830 c, HD 69830 d มีมวล 10, 12 และ 18 เท่าของโลกตามลำดับ ดวงที่อยู่นอกสุดคือ d จัดว่าอยู่ในแถบที่สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ พ้นจากนั้นไปล้อมไว้ด้วยแถบดาวเคราะห์น้อย[45]

ค.ศ. 2007 ถึง 2008

ภาพวาดของดาวเคราะห์นอกระบบ HD 189733 b
2007, HD 209458 b และ HD 189733 b
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 องค์การนาซาและวารสาร Nature ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ HD 209458 b และ HD 189733 b ว่าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสองดวงแรกที่สามารถสังเกตสเปกตรัมได้[46][47] ซึ่งเป็นกระบวนการวิธีชนิดแรกที่ใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจมีสิ่งที่มีชีวิตที่ไม่มีปัญญาโดยสังเกตจากผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ กลุ่มนักค้นคว้าซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์นาซ่าประจำศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดภายใต้การนำของดอกเตอร์ เจเรมี ริชาร์ดสัน ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ในวารสาร Nature ว่า สเปกตรัมที่สามารถวัดได้จากชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ HD 209458 b อยู่ในช่วง 7.5 ถึง 13.2 ไมโครเมตร ผลการศึกษานี้นำไปสู่ทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย เส้นสเปกตรัมที่ตรวจพบควรมีค่าสูงสุดอยู่ที่บริเวณ 10 ไมโครเมตรซึ่งแสดงว่ามีไอน้ำในชั้นบรรยากาศ แต่ค่าสูงสุดนี้ไม่ปรากฏ แสดงว่าไม่มีไอน้ำในบรรยากาศ ทว่ากลับมีจุดยอดที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ปรากฏขึ้นที่ 9.65 ไมโครเมตรซึ่งแสดงถึงกลุ่มเมฆฝุ่นซิลิกา อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยสังเกตพบมาก่อน จุดยอดเหนือการคาดการณ์อีกจุดอยู่ที่ 7.78 ไมโครเมตรเป็นตำแหน่งที่ยังไม่สามารถอธิบายอะไรได้ นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งนำโดย มาร์ค สเวน แห่งห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น ได้ทำการศึกษาผลสังเกตจากข้อมูลของทีมของ ดร.ริชาร์ดสัน และได้ข้อสรุปอย่างเดียวกัน พวกเขาส่งผลงานไปยัง Astrophysical Journal Letters คณะทำงานอีกชุดหนึ่งนำโดย คาร์ล กริลแมร์ แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์สปิตเซอร์ขององค์การนาซ่า ได้เฝ้าสังเกตดาวเคราะห์ HD 189733 b ผลการศึกษาของเขาถูกระงับการตีพิมพ์ใน Astrophysical Journal Letters ขณะที่มีการประกาศข่าวนี้ ต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ผลการสำรวจโดยศูนย์วิทยาศาสตร์สปิตเซอร์จึงได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โดยระบุว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์สามารถตรวจจับร่องรอยของไอน้ำบนดาวเคราะห์ได้ ถือเป็นหลักฐานการค้นพบน้ำเป็นครั้งแรกในดาวเคราะห์นอกระบบ[48]
2007, กลีเซอ 581 ซี
ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2007 เวลา 16.23 นาฬิกาตามเวลาฝั่งตะวันออกของอเมริกา Space.com ได้ประกาศว่าดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้สามารถมีน้ำในสถานะของเหลวและมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิต[49] แม้จะยังไม่มีหลักฐานการตรวจพบน้ำในสถานะของเหลว แต่ตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ในแถบที่อาจค้นพบสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขว่าอาจมีน้ำในสถานะของเหลวบนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยของดาว[50][51] เชื่อว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์อาจมีปรากฏการณ์เรือนกระจกคล้ายกับดาวศุกร์ ซึ่งทำให้อาจไม่พบน้ำในสถานะของเหลว ผลการศึกษานี้ระบุว่า ดาวเคราะห์ดวงที่สามในระบบ คือ กลีเซอ 581 ดี มีความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยมากกว่า เซท โชสแตก นักดาราศาสตร์อาวุโสและสถาบันเซติ ระบุว่าจากข้อมูลงานวิจัยทั้งสองชิ้น กลีเซอ 581 ถูกจัดให้เป็นระบบดาวที่มีโอกาสค้นพบสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา แม้จะยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ชัดเจน การยืนยันตำแหน่งของดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ใช้อุปกรณ์ HARPS ในกล้องดูดาวขนาด 3.6 เมตรของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปโดยใช้วิธีการวัดความเร็วแนวเล็ง
2007, กลีเซอ 436 บี
เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวเคราะห์คล้ายดาวเนปจูนที่ค้นพบเป็นดวงแรก ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 ต่อมามีการสังเกตพบการเคลื่อนผ่านในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 ซึ่งทำให้เป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดและมีมวลน้อยที่สุดที่มีการเคลื่อนผ่าน (ขนาด 22 เท่าของมวลโลก) ภายในแกนกลางขนาดใหญ่ประกอบด้วยน้ำที่แข็งตัวซึ่งเรียกว่า น้ำแข็งร้อน (hot ice) ซึ่งสามารถคงอยู่ได้ทั้งที่อุณหภูมิของดาวร้อนจัดก็เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดาวซึ่งทำให้น้ำมีความหนาแน่นสูงมาก[52]
2007, XO-3b
เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวล 13.24 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากที่สุดที่สังเกตพบการเคลื่อนผ่าน และเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีมวลมากที่สุดเท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน โดยมีมวลมากกว่าขีดจำกัดมวลของดาวแคระน้ำตาลที่ 13 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี มีรัศมี 1.92 เท่าของดาวพฤหัสบดี จึงเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีคาบโคจร 3.19 วัน วงโคจรมีความรี 0.22 จัดว่ามีความเยื้องศูนย์กลางสูงมากสำหรับดาวเคราะห์ที่มีคาบการโคจรสั้น[53]
2007, TrES-4
เป็นดาวเคราะห์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ที่สุดและมีความหนาแน่นน้อยที่สุด โดยมีรัศมี 1.7 เท่าของดาวพฤหัสบดี แต่มีมวล 0.84 เท่าของดาวพฤหัสบดี มีความหนาแน่นประมาณ 0.2 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (ใกล้เคียงกับไม้บาลซ่า) มีรัศมีวงโคจรค่อนข้างเล็กทำให้มีอุณหภูมิสูง แต่ลำพังเพียงความร้อนจากดาวฤกษ์ยังไม่เพียงพอในการอธิบายขนาดอันใหญ่โตของดาวเคราะห์ได้[54]
2008, OGLE-2006-BLG-109Lb และ OGLE-2006-BLG-109Lc
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ได้มีการค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ ด้วยอัตราส่วนมวลและระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่ใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ การค้นพบนี้มีความสำคัญเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิตคล้ายในระบบสุริยะ เนื่องจากดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ทำหน้าที่กวาดดาวเคราะห์น้อยออกจากบริเวณที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้[55]
2008, HD 189733 b
ในวันที่ 20 มีนาคม วารสารวิทยาศาสตร์ Nature ได้ตีพิมพ์ผลสืบเนื่องของการศึกษาสเปกตรัมของดาวเคราะห์นอกระบบโดยประกาศถึงการค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ในดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในปี 2007 เคยมีการตรวจพบไอน้ำจากการสังเกตสเปกตรัมของดาวเคราะห์ HD 189733 b มาก่อนแล้ว แต่การวิเคราะห์ครั้งใหม่นี้ นอกจากน้ำแล้วยังพบว่าดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวมีส่วนประกอบของมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ แม้ว่าโดยลักษณะของดาวเคราะห์ HD 189733 b จะเป็นไปได้ยากที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แต่ก็นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ในดาวเคราะห์นอกระบบ[56]
2008, HD 40307
ในวันที่ 16 มิถุนายน มิเชล เมเยอร์ ได้ประกาศการค้นพบระบบดาวเคราะห์ซึ่งประกอบด้วยซูเปอร์เอิร์ธสามดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีสเปกตรัม K โดยมีมวลระหว่าง 4 ถึง 9 เท่าของมวลโลก และมีคาบการโคจร 4 ถึง 20 วัน นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่ปราศจากดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ ดาวเคราะห์คล้ายโลกทั้งสามดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หินซึ่งถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ HARPS ในหอดูดาวลาซียา ประเทศชิลี[57] เป็นดาวเคราะห์นอกระบบในกลุ่ม 7 ดวงแรกของวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นดาวเคราะห์ 45 ดวงที่ได้รับการยืนยัน ตรวจจับได้โดย HARPS เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2008 ผลจากการนี้ทำให้สัดส่วนดาวเคราะห์มวลต่ำเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสบดีในอัตราส่วนถึง 3 ต่อ 1[5]
2008; โฟมัลฮอต บี
ในวันที่ 13 พฤศจิกายน นาซ่า และ Lawrence Livermore National Laboratory ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบโคจรอยู่ในวงแหวนฝุ่นของดาวโฟมัลฮอต (Alpha Piscis Austrini) เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่สามารถถ่ายภาพได้โดยตรงด้วยกล้องโทรทรรศน์เชิงแสง[58] มีมวลประมาณ 3 เท่าของดาวพฤหัสบดี[59][60]
2008; HR 8799
ในวันที่ 13 พฤศจิกายน วันเดียวกับที่ค้นพบดาว Fomalhaut b ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์สามดวงโคจรรอบดาว HR 8799 เป็นครั้งแรกที่สามารถถ่ายภาพระบบดาวเคราะห์ได้โดยตรง คริสเตียน มารัวส์ จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์เฮอร์สเบิร์ก สภาวิจัยแห่งชาติประเทศแคนาดา และคณะ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Keck กับกล้องเจมินีในฮาวาย ซึ่งภาพจากกล้องเจมินีได้ช่วยให้คณะทำงานนานาชาติสามารถค้นพบดาวเคราะห์ 2 ดวงในขั้นต้นได้จากข้อมูลที่เคยเก็บไว้ตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2007 ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2007 และในฤดูร้อนปี 2008 คณะทำงานได้ยืนยันการค้นพบนี้ และพบดาวเคราะห์ดวงที่สามโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ยิ่งกว่าดวงอื่น ๆ โดยอาศัยภาพที่ถ่ายได้จากกล้องโทรทรรศน์ Keck II เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลสังเกตการณ์เดิมที่เคยบันทึกไว้ใน ค.ศ. 2004 ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงนี้ปรากฏอยู่บนภาพ มวลของดาวเคราะห์และระยะห่างจากดาวฤกษ์มีค่าโดยประมาณดังนี้ 10 MJ @ 24 AU, 10 MJ @ 38 AU และ 7 MJ @ 68 AU ตามลำดับ[60][61]
2009; COROT-Exo-7b
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2009 องค์การอวกาศยุโรป (โดยดาวเทียม COROT ของฝรั่งเศส) ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ COROT-Exo-7 ที่ระยะห่างน้อยกว่า 0.02 หน่วยดาราศาสตร์ แต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวเคราะห์มีค่าราว 1.7 เท่าของโลก ทำให้ดาวเคราะห์นี้เป็นดาวซูเปอร์เอิร์ธขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ เนื่องจากดาวเคราะห์นี้พบในระยะประชิดกับดาวฤกษ์แม่มาก จึงเชื่อว่าอุณหภูมิพื้นผิวน่าจะสูงถึง 1000–1500 °C[62]
2009; กลีเซอ 581 อี
วันที่ 21 เมษายน 2009 หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 4 โคจรรอบดาว Gliese 581 ที่ระยะห่างน้อยกว่า 0.03 หน่วยดาราศาสตร์ ประเมินว่าดาวเคราะห์นี้มีมวลต่ำสุดประมาณ 1.9 เท่าของมวลโลก ทำให้เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่เบาที่สุดเท่าที่เคยมีการตรวจพบ[8]

ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบในแบบต่าง ๆ

การค้นพบ ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ปีที่ค้นพบ หมายเหตุ
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบ PSR B1257+12 B
PSR B1257+12 C
PSR B1257+12 1992 ดาวเคราะห์พัลซาร์ดวงแรก ดาวเคราะห์ซูเปอร์เอิร์ธดวงแรก
  • มีการคาดการณ์ถึงดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวแกมมาเซเฟย์ มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1988
  • ค้นพบ HD 114762 b ตั้งแต่ปี 1989 แต่ได้รับการยืนยันเป็นดาวเคราะห์นอกระบบในปี 1996
การค้นพบครั้งแรกของแต่ละวิธีการ
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยวิธีการจับเวลาพัลซาร์ PSR B1257+12 B
PSR B1257+12 C
PSR B1257+12 1992
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยวิธีการความเร็วแนวเล็ง 51 Pegasi b 51 Pegasi 1995
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยวิธีการเคลื่อนผ่าน OGLE-TR-56 b OGLE-TR-56 2002
  • ดาวเคราะห์นอกระบบที่ตรวจพบการเคลื่อนผ่านดวงแรกคือ
    HD 209458 b ซึ่งได้ถูกค้นพบมาก่อนหน้านี้แล้ว
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยวิธีการเลนส์ความโน้มถ่วง OGLE-2003-BLG-235L b OGLE-2003-BLG-235L/MOA-2003-BLG-53L 2004
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยการสังเกตในช่วงแสง Fomalhaut b Fomalhaut 2008
การค้นพบครั้งแรกแยกตามประเภทของระบบ
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบในระบบดาวเดี่ยว PSR B1257+12 B
PSR B1257+12 C
PSR B1257+12 1992 ถูกค้นพบครั้งแรก
  • HD 114762 b ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989 แต่ไม่ได้รับการยืนยันจนกระทั่ง ค.ศ. 1996
ดาวเคราะห์แบบลอยอิสระที่ค้นพบครั้งแรก S Ori J053810.1-023626
(S Ori 70)
2004 มีมวลประมาณสามเท่าของดาวพฤหัสบดี
  • วัตถุลอยอิสระไม่ถือว่าเป็นดาวเคราะห์
ดาวเคราะห์นอกระบบที่ค้นพบในระบบดาวแบบพหุครั้งแรก 55 Cancri b 55 Cancri 1996 55 Cnc เป็นระบบดาวที่ประกอบด้วยดาวแคระแดง
  • มีการคาดการณ์ถึงดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวแกมมาเซเฟย์ มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1988
  • Gamma Cephei Ab เป็นคู่สัมพัทธ์ใกล้ชิดกับดาวเคราะห์
ดาวเคราะห์นอกระบบแห่งแรกที่ค้นพบว่ามีวงโคจรรอบวัตถุสองวัตถุ PSR B1620-26 b PSR B1620-26 1993 โคจรรอบพัลซาร์และดาวแคระขาว
ระบบดาวเคราะห์นอกระบบแห่งแรกที่มีดาวเคราะห์มากกว่าหนึ่งดวง PSR B1257+12 A
PSR B1257+12 B
PSR B1257+12 C
PSR B1257+12 1992 ระบบพัลซาร์ดาวเคราะห์
ดาวเคราะห์นอกระบบแห่งแรกที่ค้นพบในกระจุกดาว PSR B1620-26 b PSR B1620-26 1993 อยู่ใน เมสสิเยร์ 4
การค้นพบครั้งแรกแยกตามประเภทของดาวฤกษ์
ดาวเคราะห์พัลซาร์ที่ถูกค้นพบครั้งแรก PSR B1257+12 B
PSR B1257+12 C
PSR B1257+12 1992
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลัก (คล้ายดวงอาทิตย์) 51 Pegasi b 51 Pegasi 1995
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวแคระแดง Gliese 876 b Gliese 876 1998
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวยักษ์ Iota Draconis b Iota Draconis 2002
  • Aldebaran b ถูกค้นพบในปี 1997 แต่ไม่ได้รับการยืนยัน
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวแคระขาว PSR B1620-26 b PSR B1620-26 1993
  • GD 66 b ถูกค้นพบในปี 2007 แต่ไม่ได้รับการยืนยัน
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวแคระน้ำตาล 2M1207 b 2M1207 2004 สามารถถ่ายภาพโดยตรงเป็นดวงแรก
ดาวเคราะห์ลอยอิสระที่ถูกค้นพบครั้งแรก S Ori J053810.1-023626
(S Ori 70)
2004 มีมวลประมาณสามเท่ามวลดาวพฤหัสบดี
  • วัตถุลอยอิสระไม่ถือว่าเป็นดาวเคราะห์
การค้นพบครั้งแรกแยกตามประเภทของดาวเคราะห์
ดาวเคราะห์หินดวงแรกที่พบโคจรรอบดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลัก OGLE-2005-BLG-390L b OGLE-2005-BLG-390L 2006
การค้นพบครั้งแรกอื่น ๆ
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่พบการเคลื่อนผ่าน HD 209458b HD 209458 1999
  • OGLE-TR-56b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ค้นพบโดยวิธีการเคลื่อนผ่าน
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่สามารถถ่ายภาพได้โดยตรง (ในช่วงคลื่นอินฟราเรด) 2M1207 b 2M1207 2004 ดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวแคระน้ำตาลที่ถูกค้นพบครั้งแรก
ดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวทั่วไปดวงแรกที่สามารถถ่ายภาพได้โดยตรง (ในช่วงคลื่นอินฟราเรด) ?? 1RXS J160929.1-210524 2008 ดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ที่ถูกค้นพบครั้งแรก[63]
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่สามารถถ่ายภาพได้โดยตรงในช่วงคลื่นแสง Fomalhaut b Fomalhaut 2008

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Claven, W. (3 January 2013). "Billions and Billions of Planets". NASA. สืบค้นเมื่อ 3 January 2013.
  2. พจนานุกรมดาราศาสตร์ - สมาคมดาราศาสตร์ไทย
  3. Landau, Elizabeth (12 November 2017). "Overlooked Treasure: The First Evidence of Exoplanets". NASA. สืบค้นเมื่อ 1 November 2017.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Schneider, J. "Interactive Extra-solar Planets Catalog". The Extrasolar Planets Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 1 February 2023.
  5. 5.0 5.1 Dr. Sara Seager (2008-05-28). "Rock planets outnumber gas giants". msn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Marcy, G.; Butler, R.; Fischer, D.; และคณะ (2005). "Observed Properties of Exoplanets: Masses, Orbits and Metallicities". Progress of Theoretical Physics Supplement. 158: 24–42. doi:10.1143/PTPS.158.24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-02. สืบค้นเมื่อ 2008-04-21.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  7. "Terrestrial Planet Finder science goals: Detecting signs of life". JPL Terrestrial Planet Finder website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2006-07-21.
  8. 8.0 8.1 Mayor; และคณะ (2009). "The HARPS search for southern extra-solar planets,XVIII. An Earth-mass planet in the GJ 581 planetary system" (PDF). Astronomy and Astrophysics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2009-10-06.
  9. "Working Group on Extrasolar Planets: Definition of a "Planet"". IAU position statement. February 28, 2003. สืบค้นเมื่อ 2006-09-09.
  10. "Why Planets Will Never Be Defined". 2006. สืบค้นเมื่อ 2008-02-13.
  11. Jacob, W.S. (1855). "On Certain Anomalies presented by the Binary Star 70 Ophiuchi". Monthly Notices of the Royal Astronomical Society 15: 228.
  12. See, Thomas Jefferson Jackson (1896). "Researches on the Orbit of F.70 Ophiuchi, and on a Periodic Perturbation in the Motion of the System Arising from the Action of an Unseen Body". The Astronomical Journal 16: 17. doi:10.1086/102368.
  13. Sherrill, Thomas J. (1999). "A Career of controversy: the anomaly OF T. J. J. See" (PDF). Journal for the history of astronomy 30, เก็บข้อมูลเมื่อ 27 สิงหาคม 2007.
  14. van de Kamp, Peter (August 1969). "Alternate dynamical analysis of Barnard's star". The Astronomical Journal 74: 757–759. doi:10.1086/110852, เก็บข้อมูลเมื่อ 27 สิงหาคม 2007.
  15. Bailes, M.; Lyne, A.G.; Shemar, S.L. (1991). "A planet orbiting the neutron star PSR1829-10". Nature 352: 311 – 313. doi:10.1038/352311a0.
  16. Lyne, A.G.; Bailes, M. (1992). "No planet orbiting PS R1829-10". Nature 355 (6357) : 213. doi:10.1038/355213b0.
  17. Campbell, B.; Walker, G. A. H.; Yang, S. (1988). "A search for substellar companions to solar-type stars". Astrophysical Journal, Part 1 331: 902 – 921. doi:10.1086/166608,
  18. Lawton, A. T.; Wright, P. (1989). "A planetary system for Gamma Cephei?". British Interplanetary Society, Journal. 42: 335–336.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  19. Walker, G. A. H.; Bohlender, D. A.; Walker, A. R.; Irwin, A. W.; Yang, S. L. S.; Larson, A. (1992). "Gamma Cephei - Rotation or planetary companion?". Astrophysical Journal, Part 2 - Letters. 396 (2): L91–L94. doi:10.1086/186524.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Hatzes; และคณะ (2003). "A Planetary Companion to Gamma Cephei A". The Astrophysical Journal. 599 (2): 1383–1394. doi:10.1086/379281.
  21. 21.0 21.1 Wolszczan, A.; Frail, D. A. (1992). "A planetary system around the millisecond pulsar PSR1257 + 12". Nature. 355 (6356): 145–147. Bibcode:1992Natur.355..145W. doi:10.1038/355145a0. S2CID 4260368.
  22. 22.0 22.1 Mayor, Michel; Queloz, Didier (1995). "A Jupiter-mass companion to a solar-type star". Nature. 378: 355–359. doi:10.1038/378355a0.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. "Extrasolar Planets". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2008-07-10.
  24. Planets Around Other Stars เก็บถาวร 2006-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-17
  25. วิธีที่ง่ายและไม่แพงในการตรวจวัดความเร็วแนวเล็ง คือ “externally dispersed interferometry.” ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ต่อไปนี้: http://www.spectralfringe.org/EDI/ . ดูเพิ่ม: Erskine, Edelstein, Harbeck and Lloyd, “Externally dispersed interferometry for planetary studies,” ใน Techniques and Instrumentation for Detection of Exoplanets II, Daniel R. Coulter, ed., Proceedings of the SPIE *, vol. 5905, pages 249-260 (2005). (14 page extract). (* SPIE = Society of Photo-optical Instrumentation Engineers; renamed: International Society for Optical Engineering)
  26. Bonfils, X.; Forveille, T.; Delfosse, X.; และคณะ (2005). "The HARPS search for southern extra-solar planets VI: A Neptune-mass planet around the nearby M dwarf Gl 581". Astronomy & Astrophysics. 443: L15–L18. doi:10.1051/0004-6361:200500193.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. Linda Vu (2006-10-03). "Planets Prefer Safe Neighborhoods". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-07. สืบค้นเมื่อ 2007-09-01.
  28. Charbonneau, D.; T. Brown; A. Burrows; G. Laughlin (2006). "When Extrasolar Planets Transit Their Parent Stars". Protostars and Planets V. University of Arizona Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-22. สืบค้นเมื่อ 2008-11-30.
  29. BBC News online: Trio of 'super-Earths' discovered, June 16, 2008, 16:07 GMT. page accessed June 17, 2008
  30. "Scientists Snap Images of First Brown Dwarf in Planetary System (News Release)". Eberley CoS website. 2006-09-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-08. สืบค้นเมื่อ 2006-09-28.
  31. "Science & Environment | Galaxy has 'billions of Earths'". BBC News. 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2009-04-23.
  32. Wilford, John Noble (1998-06-26). "New Planet Detected Around a Star 15 Light Years Away". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-07-17.
  33. Blake Edgar, Megan Watzke, Carol Rasmussen (1999). "Multiple planets discovered around Upsilon Andromedae". Extrasolar planets. 415, 617, 303: 338–6747, 495–7463, 497–8611.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  34. Henry; และคณะ (2000). "A Transiting "51 Peg-like" Planet". The Astrophysical Journal Letters. 529 (1): L41–L44. doi:10.1086/312458.[ลิงก์เสีย]
  35. Charbonneau; และคณะ (2002). "Detection of an Extrasolar Planet Atmosphere". The Astrophysical Journal. 568 (1): 377–384. doi:10.1086/338770.[ลิงก์เสีย]
  36. Frink; และคณะ (2002). "Discovery of a Substellar Companion to the K2 III Giant Iota Draconis". The Astrophysical Journal. 576 (1): 478–484. doi:10.1086/341629.[ลิงก์เสีย]
  37. Sigurdsson, S.; Richer, H.B.; Hansen, B.M.; Stairs I.H.; Thorsett, S.E. (2003). "A Young White Dwarf Companion to Pulsar B1620-26: Evidence for Early Planet Formation". Science. 301 (5630): 193–196. doi:10.1126/science.1086326. PMID 12855802.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  38. "Fourteen Times the Earth - ESO HARPS Instrument Discovers Smallest Ever Extra-Solar Planet". ESO website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-25. สืบค้นเมื่อ 2006-05-07.
  39. Konacki, M. (2005). "Astronomers Confirm the First Image of a Planet Outside of Our Solar System". ESO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-06. สืบค้นเมื่อ 2008-11-30.
  40. Mohanty, Subhanjoy; R. Jayawardhana; N. Huelamo; E. Mamajek (2006). "The Planetary Mass Companion 2MASS1207-3932 B: Temperature, Mass and Evidence for an Edge-On Disk". American Astronomical Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-07-17.
  41. Rivera; และคณะ (2005). "A 7.5 Me Planet Orbiting the Nearby Star GJ 876". The Astrophysical Journal. 634 (1): 625–640. doi:10.1086/491669.[ลิงก์เสีย]
  42. Sato, B.; Fischer, D.; Henry, G.; Laughlin, G.; Butler, R.; Marcy, G.; Vogt, S.; Bodenheimer, P.; Ida, S.; Toyota, E.; Wolf, A.; Valenti, J.; Boyd, L.; Johnson, J.; Wright, J.; Ammons, M.; Robinson, S.; Strader, J.; McCarthy, C.; Tah, K.; Minniti, D. (2005). "The N2K Consortium II: A Transiting Hot Saturn around HD 149026 with a Large Dense Core". The Astrophysical Journal. 633: 465–473. doi:10.1086/449306.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  43. J.-P. Beaulieu; D.P. Bennett; P. Fouque; A. Williams; M. Dominik; U.G. Jorgensen; D. Kubas; A. Cassan; C. Coutures; J. Greenhill; K. Hill; J. Menzies; P.D. Sackett; M. Albrow; S. Brillant; J.A.R. Caldwell; J.J. Calitz; K.H. Cook; E. Corrales; M. Desort; S. Dieters; D. Dominis; J. Donatowicz; M. Hoffman; S. Kane; J.-B. Marquette; R. Martin; P. Meintjes; K. Pollard; K. Sahu; C. Vinter; J. Wambsganss; K. Woller; K. Horne; I. Steele; D. Bramich; M. Burgdorf; C. Snodgrass; M. Bode; A. Udalski; M. Szymanski; M. Kubiak; T. Wieckowski; G. Pietrzynski; I. Soszynski; O. Szewczyk; L. Wyrzykowski; B. Paczynski (2006). "Discovery of a Cool Planet of 5.5 Earth Masses Through Gravitational Microlensing". Nature. 439: 437–440. doi:10.1038/nature04441.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  44. "Kiwis help discover new planet". One News. 2006-01-26. สืบค้นเมื่อ 2006-05-07.
  45. "Trio of Neptunes and their belt". ESO 2006. 2006-05-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-23. สืบค้นเมื่อ 2007-06-09.
  46. NASA's Spitzer First To Crack Open Light of Faraway Worlds เก็บถาวร 2007-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Spitzer.caltech.edu 2007-02-21 เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-17
  47. A spectrum of an extrasolar planet Nature.com 2007-02-01 Nature 445, 892-895 (22 February 2007) ; doi:10.1038/nature05636 เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-17
  48. 'Clear Signs of Water' on Distant Planet at Space.com
  49. Ker Than (2007-04-24). "Major Discovery: New Planet Could Harbor Water and Life". สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
  50. Selsis; และคณะ (2007). "Habitable planets around the star Gl 581?". Astronomy and Astrophysics. 476: preprint. doi:10.1051/0004-6361:20078091.
  51. von Bloh et al. (2007) "The Habitability of Super-Earths in Gliese 581". Astronomy & Astrophysics 476:1365-1371. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.
  52. Fox, Maggie (2007-05-16). "Hot "ice" may cover recently discovered planet". Science News. สืบค้นเมื่อ 2007-12-28.
  53. Krull; และคณะ (2007-05-30). "XO-3b: A Massive Planet in an Eccentric Orbit Transiting an F5V Star". arXiv:0712.4283. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  54. "Largest Known Exoplanet Discovered". SPACE.com. 2007-08-06. สืบค้นเมื่อ 2007-08-26.
  55. "Solar System Like Ours Found". SPACE.com. 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  56. "Key Organic Molecule Detected at Extrasolar Planet". SPACE.com. 2008-03-20. สืบค้นเมื่อ 2008-03-20.
  57. Mayor; และคณะ (2008-06-16). "Trio of 'super-Earths' discovered". BBC news. สืบค้นเมื่อ 2008-06-17.
  58. "From afar, the first optical photos of an exoplanet". AFP. 2008-11-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-20. สืบค้นเมื่อ 2008-11-30.
  59. "Hubble Directly Observes a Planet Orbiting Another Star". สืบค้นเมื่อ November 13, 2008.
  60. 60.0 60.1 John Timmer. "Three planets directly observed orbiting distant star". สืบค้นเมื่อ November 13, 2008.
  61. "Exoplanets finally come into view". BBC News. 2008-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-23.
  62. "ESA Portal - COROT discovers smallest exoplanet yet, with a surface to walk on". Esa.int. 2009-02-03. สืบค้นเมื่อ 2009-04-23.
  63. Exoplanet 'circles normal star', BBC News Online, September 15, 2008

แหล่งข้อมูลอื่น

โครงการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ
แหล่งข้อมูล
Kembali kehalaman sebelumnya