ถนนพลับพลาไชยถนนพลับพลาไชย (อักษรโรมัน: Thanon Phlapphla Chai) ถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มที่แยกแปลงนาม อันเป็นทางแยกที่ตัดระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนแปลงนามในแขวงป้อมปราบ จากนั้นทอดยาวไปจนถึงแยกพลับพลาไชย อันเป็นห้าแยกที่เป็นจุดตัดกับถนนหลวงและถนนไมตรีจิตต์ และไปสิ้นสุดที่แยกอนามัย อันเป็นจุดตัดกับถนนบำรุงเมืองในแขวงวัดเทพศิรินทร์ รวมความยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร ถนนพลับพลาไชยเป็นถนนที่มีสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งตั้งอยู่ เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 1 และ 2 (สน.พลับพลาไชย 1 และ 2) ที่ดูแลพื้นที่ย่านเยาวราชทั้งหมด และรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียง เช่น วงเวียน 22 กรกฎาคม, โรงพยาบาลหัวเฉียว, โรงพยาบาลกลาง เป็นต้น, วัดคณิกาผล, ศาลเจ้าหลีตีเมี้ยว, วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร, องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน), สมาคมส่งเสริมวิชาชีพ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ (แห่งประเทศไทย) เป็นต้น ชื่อ "พลับพลาไชย" มาจากชื่อของวัดพลับพลาชัย อันเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ มีประวัติมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี โดยในอดีตสถานที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นโคกหรือเนินดินขนาดใหญ่ และมีการตั้งคอกวัวไว้ที่นี่ด้วย จึงนิยมเรียกกันว่า "วัดโคก" หรือ "วัดคอก" จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามของวัดแห่งนี้ใหม่ เป็น "วัดพลับพลาชัย" เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งพลับพลาในการซ้อมรบของกองเสือป่ารักษาดินแดน[1] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517 เคยเกิดเหตุจลาจลขึ้นที่ถนนพลับพลาไชย เหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายจากเหตุเล็กน้อยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนขับรถแท็กซี่รายหนึ่งไปคุมขังไว้ด้วยข้อหาจอดรถผิดกฎจราจร กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้บุกล้อมสถานีตำรวจพลับพลาไชย เขต 2 (สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 ในปัจจุบัน) และยิงปืนใส่กันจนกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงลุกลามไปทั่ว ในที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่ทหารต้องเข้ามาจัดการแทน ถึงขั้นต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยรัฐบาล เหตุการณ์มาสิ้นสุดหลังผ่านไปถึง 5 วัน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 26 ศพ บาดเจ็บ 120 คน โดยมีเบื้องหลังเป็นการปะทะของแก๊งมาเฟียท้องถิ่นสองแก๊ง[2] นอกจากนี้แล้ว บริเวณห้าแยกพลับพลาไชยถือเป็นย่านชุมชนชาวจีนอีกแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับเยาวราชที่อยู่ใกล้เคียง โดยอาคารต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมมีความเก่าแก่ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบไทย-จีนและตะวันตก ได้อย่างสวยงาม[1] และที่ถนนพลับพลาไชยบริเวณมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและห้าแยกพลับพลาไชยยังมีร้านอาหารที่ขึ้นชื่อหลายอย่าง เช่น ข้าวขาหมู[3], ราดหน้า, ข้าวต้มและอาหารตามสั่ง, ข้าวต้มปลา[4], ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ รวมถึงหอยทอดที่ได้รับการแนะนำเป็นบีบกูร์ม็องจากมิชลินไกด์อีกด้วย[5] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|