Share to:

 

ถ้ำพระยานคร

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ภายในถ้ำพระยานคร

ถ้ำพระยานคร เป็นถ้ำตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในถ้ำมีพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ซึ่งเป็นพลับพลาแบบจตุรมุขสร้างในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] พระที่นั่งเป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์[2]

ประวัติ

ถ้ำพระยานครตั้งอยู่บนไหล่เขาลูกหนึ่งในทิวเขาสามร้อยยอด อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด สาเหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่าถ้ำพระยานคร เนื่องจากพระยานครผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้พบ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นพระยานครคนใด ที่พอจะเข้าเค้าว่าเป็นผู้มาพบถ้ำนี้มี 2 คนซึ่งมีชีวิตอยู่ในสองสมัย คือ สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199–2231) พระยานครสั่งประหาร ศรีปราชญ์ซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต ในระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าได้หลบคลื่นลมและพระราชอาญาไปอยู่ที่ถ้ำนี้แต่ท้ายที่สุดก็ถูกประหารชีวิตที่ถ้ำนี้

ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325–2352) ไทยมีการสงครามกับพม่า (ตรงกับสมัยพระเจ้าปดุง) พระยานครถูกพม่าหลอกว่าเมืองหลวงแตกจึงหนีต่อมาสอบสวนความจริงได้แล้ว โปรดฯ ให้กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิมระหว่างเดินทางเจอคลื่นลมจัด จึงได้หลบไป และพบถ้ำนี้เข้า โดยระหว่างทางไปถ้ำมีบ่อน้ำกรุด้วยอิฐดินเผารูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าง 1 เมตร ลึก 4 เมตร เรียกว่า "บ่อพระยานคร" สันนิษฐานว่าพระยานครเป็นผู้สร้างขึ้น[3]

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังถ้ำนี้ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีหลักฐานเสด็จพระราชดำเนินเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปที่ถ้ำนี้หลายครั้ง ได้แก่ พ.ศ. 2406, 2429, 2431, 2432 และ 2433[4] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมา

ลักษณะ

ถ้ำพระยานครเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยเป็นเชิงชั้นเหมือนม่าน บางส่วนก็หยดย้อยลงมาเป็นรูปร่างต่าง ๆ โดยสองคูหามีปล่องด้านบน ส่วนด้านล่างในถ้าเป็นป่าต้นไม้ค่อนข้างสูงชะลูด[5] ภายด้านในถ้ำจะพบประติมากรรมธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากหินปูน เช่น สะพานหินธรรมชาติ หินรูปร่างคล้ายหัวจระเข้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกัดกร่อนโดยน้ำตามธรรมชาติ[6]

อ้างอิง

  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (อักษร น-ม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : เดอะ เบสท์ เพรส แอนด์ ครีเอชั่น, ๒๕๖๐. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
  2. "มหัศจรรย์เขาสามร้อยยอด ถ้ำพระยานคร ประจวบคีรีขันธ์". มติชนสุดสัปดาห์.
  3. "ถ้ำพระยานคร". สนุก.คอม.
  4. กรมศิลปากร. "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  5. "ถ้ำพระยานคร - อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด". ฝ่ายสารสนเทศ ศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ.
  6. "ถ้ำพระยานคร". สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
Kembali kehalaman sebelumnya