ทรูมูฟ เอช
บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (อังกฤษ: TrueMove H Universal Communication Co., Ltd) หรือในชื่อทางการตลาดว่า ทรูมูฟ เอช (อังกฤษ: TrueMove H) เดิมคือ ฮัทซ์ เป็นบริษัทในเครือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศตามจำนวนผู้ใช้งาน ประวัติในยุคเริ่มแรกจดทะเบียนก่อตั้งเป็น บริษัท ฮัทจิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนฮัทจิสัน วัมเปา (ปัจจุบันคือ ซีเค ฮัทจิสัน โฮลดิ้ง) กับ กสท. โทรคมนาคม เพื่อดำเนินการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอบนคลื่นความถี่ 800 MHz ของ กสท. โทรคมนาคม ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า ฮัทซ์ และ แคท ซีดีเอ็มเอ ต่อมาการดำเนินการเกิดขาดสภาพคล่อง กลุ่มทุนฮัทจิสันจึงเสนอขายกิจการให้ กสท. โทรคมนาคม เพื่อถอนทุนออกจากประเทศไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นการดำเนินการของ กสท. โทรคมนาคม ยังต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กสท. โทรคมนาคม จึงปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการ และเปิดทางให้เอกชนรายอื่นเข้ามาซื้อกิจการแทน และเป็นกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ชนะการประมูล และสามารถเข้าซื้อกิจการได้โดยผ่านความเห็นชอบจากกสท. โทรคมนาคม[1] โดยกลุ่มทรูมุ่งหวังในการเข้าถือครองสัมปทานคงเหลือของฮัทซ์ เพื่อนำคลื่นความถี่ 800 MHz มาดำเนินการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระยะที่ 3 หรือ 3 จี อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนทางกฎหมาย กลุ่มทรูไม่สามารถเข้าดำเนินการบนสัมปทานคงเหลือได้โดยตรง เนื่องจากหลายส่วนขัดต่อ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่เมื่อหมดหรือถูกเลิกสัมปทาน จะต้องนำส่งคืน กสทช. เพื่อดำเนินการเปิดประมูลเป็นรายได้แผ่นดิน กสท. โทรคมนาคม จึงนำคลื่นความถี่กลับคืนทั้งหมด และแต่งตั้ง บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ให้เป็นคู่สัญญาการร่วมลงทุนเครือข่าย รวมถึงเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการของ กสท. โทรคมนาคม ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งแทน ซึ่งเรียลมูฟ ได้นำความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งมาเปิดให้บริการ 3 จี ภายใต้ชื่อ ทรูมูฟ เอช เป็นระยะเวลา 14 ปี ต่อมา กลุ่มทรู คอร์ปอเรชัน ได้จัดตั้ง บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) เพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ 2100 MHz, 1800 MHz, 900 MHz, 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz กับ กสทช. ตามลำดับ เพื่อเสริม ขยายกิจการ และสะสมคลื่นความถี่สำหรับให้บริการได้อย่างคุ้มค่า โดยปัจจุบัน ทรูมูฟ เอช มีความถี่สะสมเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
คลื่นความถี่ที่ใช้งานปัจจุบัน ทรูมูฟ เอช ได้จัดสรรการให้บริการแต่ละคลื่นความถี่ภายใต้แบรนด์ให้บริการดังต่อไปนี้ ทรูมูฟ เอช
ดีแทค และ ฟินน์ โมบายล์
ข้อวิจารณ์วันที่ 13 เมษายน 2561 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) รายงานอ้างอิงนิอัลล์ เมอร์ริแกน (Niall Merrigan) นักวิจัยด้านความมั่นคงว่า ข้อมูลผู้ใช้บริการทรูมูฟ เอชรั่วไหล เนื่องจากเก็บข้อมูลในแอมะซอน เอส3 บักเก็ต (Amazon S3 bucket) ที่รักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอ โดยเป็นไฟล์สแกนสำเนาบัตรประชาชน ใบขับขี่และหนังสือเดินทางระหว่างปี 2559 ถึง 2561 จำนวนประมาณ 46,000 ไฟล์[2] ทั้งนี้ หากบุคคลภายนอกทราบยูอาร์แอลก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ทั้งหมด[3] ทางเมอร์ริแกนพยายามติดต่อบริษัทตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม โดยบริษัทยอมรับว่าไม่มีหน่วยงานด้านความปลอดภัยเฉพาะ[3] เพิ่งมาปิดความเป็นสาธารณะไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561[4] ต่อมา ทรูออกแถลงการณ์ยอมรับว่าถูกแฮกข้อมูลผ่านไอทรูมาร์ต (Itruemart) โดยผู้ได้รับผลกระทบได้แก่ผู้ซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมแพคเกจบริการทรูมูฟ เอช และลงทะเบียนซิมทางไอทรูมาร์ต ทีมงานจะมีการส่งแจ้งเตือนไปยังลูกค้ากลุ่มดังกล่าว[5] ด้านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) แนะนำให้ประชาชนไปลงบันทึกประจำวันแจ้งไว้เป็นหลักฐานป้องกันผู้ร้ายนำไปสวมรอยหรือปลอมแปลง[2] สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกให้ทรูมูฟ เอช เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 17 เมษายน 2561 ด้านเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า หากมีความผิดอาจถึงขั้นพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต[6] วันที่ 17 เมษายน 2561 ผู้บริหารบริษัทไอทรูมาร์ทและ ทรู คอร์เปอเรชั่นเข้าชี้แจงกับ กสทช. โดยให้ข้อมูลว่าข้อมูลที่เก็บไว้ในคลาวด์มีจำนวน 11,400 เลขหมาย จากจำนวนลูกค้า 1 ล้านรายที่ลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ และการเข้าถึงข้อมูลตามข่าวมาจากการเจาะข้อมูลด้วยเครื่องมือพิเศษ 3 ชั้นซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้าน กสทช. ยังไม่สรุปว่าทรูมีความผิดหรือไม่ แต่จะทำหนังสือเตือนผู้ให้บริการทุกเครือข่ายโทรทัศน์ให้ตรวจสอบการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และอาจใช้งบประมาณจากกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) จัดทำฐานจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เครือข่ายทุกค่ายแทนเอกชน[7] วันที่ 18 เมษายน 2561 กสทช. สั่งให้บริษัท เรียล มูฟ จำกัด เยียวยาความเสียหายต่อผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบภายใน 7 วัน โดยหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาทต่อวัน[8] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |