ธงชาติกัมพูชา
ธงชาติกัมพูชา (เขมร: ទង់ជាតិកម្ពុជា; ทง่ชาติกมฺพุชา; ต็วงเจียตกำปูเจีย) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" (เขมร: ជាតិ សាសនា ព្រះមហាក្សត្រ ชาติ สาสนา พฺระมหากฺสตฺร) โดยพื้นสีแดงมีความหมายถึงชาติ ปราสาทนครวัดสีขาวหมายถึงสันติภาพและศาสนา ซึ่งเดิมมีรากเหง้าจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ส่วนสีน้ำเงินนั้นหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ [1] ประวัตินับตั้งแต่สมัยที่กัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นต้นมา ธงชาติของกัมพูชาเกือบทุกแบบจะมีรูปปราสาทหินนครวัดอยู่ตรงกลางเสมอ ธงชาติกัมพูชาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2491 และใช้มาจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 เนื่องจากนายพลลอนนอลได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลสังคมราษฎร์นิยมของสมเด็จกรมพระนโรดมสีหนุ และได้ใช้ธงชาติแบบใหม่แทน ธงชาติกัมพูชาในระยะต่อมาเปลี่ยนแปลงลักษณะไปตามความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2536 องค์การสหประชาชาติซึ่งเข้ามาควบคุมการเปลี่ยนผ่านอำนาจในกัมพูชา ได้จัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อลงประชามติกำหนดทิศทางของประเทศ ผลปรากฏว่า พรรคฟุนซินเปคซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวนิยมเจ้าชนะการเลือกตั้ง ประเทศกัมพูชาจึงกลับมาใช้ชื่อว่าราชอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้ง และได้กำหนดให้ใช้ธงชาติช่วง พ.ศ. 2491 - 2512 เป็นธงชาติของกัมพูชาอีกครั้ง ตราบจนทุกวันนี้
ธงชาติกัมพูชาสมัยต่าง ๆ
ธงมหาราชประเทศกัมพูชาได้มีธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงมหาราช" เช่นเดียวกับในภาษาไทย ในสมัยราชอาณาจักรกัมพูชายุค พ.ศ. 2491 -2512 ธงนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยม พื้นนอกสีแดง พื้นในสีน้ำเงิน กลางเป็นรูปตราแผ่นดินของกัมพูชาอย่างย่อ ในแบบลายเส้นสีทอง[3] ต่อมาเมื่อมีการฟื้นฟูราชอาณาจักรอีกครั้งใน พ.ศ. 2536 จึงได้เปลี่ยนธงใหม่เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีน้ำเงิน กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน กลางเป็นรูปตราแผ่นดินของกัมพูชา ซึ่งใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้[4] ดูเพิ่มอ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ธงชาติกัมพูชา |