Share to:

 

ธงชาติสาธารณรัฐจีน

ธงชาติสาธารณรัฐจีน
ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม (จีนตัวย่อ: 青天、白日、满地红; จีนตัวเต็ม: 青天、白日、滿地、紅旗; พินอิน: qīngtiān, báirì, mǎndì hóngqí, ชิงเทียน ไป๋รื่อ หม่านตี้หง, อังกฤษ: Blue Sky, White Sun, and a Wholly Red Earth)
การใช้ สาธารณรัฐจีน (สมัยแผ่นดินใหญ่)
สัดส่วนธง2:3
ประกาศใช้พ.ศ. 2471 (96 ปี)
ลักษณะธงพื้นสีแดง ที่มุมธงบนด้านคันธงมีรูปดวงอาทิตย์เปล่งรัศมี 12 แฉกในสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน
ออกแบบโดยลู่ เฮาตงและ ดร. ซุนยัดเซ็น

ธงชาติสาธารณรัฐจีน (จีนตัวย่อ: 中华民国国旗; จีนตัวเต็ม: 中華民國國旗; พินอิน: Zhōnghuá Mínguó guóqí) หรือธงชาติไต้หวันในปัจจุบันและเคยเป็นสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐจีนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยที่สาธารณรัฐจีนยังอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่ กระทั่งภายหลังได้ตั้งมั่นอยู่ที่เกาะไต้หวันนับแต่ พ.ศ. 2492

พรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มใช้ธงดังกล่าวเป็นครั้งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2460 และใช้เป็นธงชาติสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ พ.ศ. 2471 กระทั่งสิ้นสุดการใช้ธงในปี พ.ศ. 2492 ภายหลังพรรคก๊กมินตั๋งได้พ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามกลางเมืองจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ลี้ภัยหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะไต้หวัน ธงดังกล่าวได้กลายมาเป็นธงชาติของไต้หวันในปัจจุบัน

ธงนี้มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ชิงเทียน ไป๋รื่อ หม่านตี้หง (จีนตัวย่อ: 青天、白日、满地红; จีนตัวเต็ม: 青天、白日、滿地、紅旗; พินอิน: qīngtiān, báirì, mǎndì hóngqí) แปลว่า ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม และมีชื่อที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษว่า "Blue Sky, White Sun, and a Wholly Red Earth"

ประวัติ

ธง "ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง" (The "Blue Sky with a White Sun" flag) ออกแบบโดยลู่ เฮาตง เมื่อ ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ปัจจุบันนี้ใช้เป็นธงของพรรคก๊กมินตั๋ง

ส่วนมุมธงบนด้านคันธงรูปดวงอาทิตย์สีขาวในพื้นสีน้ำเงินมีที่มาจากธง "ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง" (จีน: 青天白日旗; พินอิน: qīngtiānbáirìqí, ชิงเทียนไป๋รื่อฉี, อังกฤษ: the Blue Sky with a White Sun flag) ซึ่งออกแบบโดยลู่ เฮาตง (ต่อมาเสียชีวิตในการปฏิวัติซินไฮ่เมื่อ พ.ศ. 2454) โดยเขาได้เสนอแบบธงนี้แก่กองทัพปฏิวัติในพิธีเปิดสมาคมเพื่อการฟื้นฟูจีน (จีน: 興中會; พินอิน: Xīngzhōnghuì) ซึ่งเป็นสมาคมต่อต้านราชวงศ์ชิงในฮ่องกง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) แบบธงดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นธงประจำพรรคก๊กมินตั๋งและตราแผ่นดินของสาธารณรัฐจีนในเวลาต่อมา ส่วนพื้นสีแดงนั้นได้เพิ่มเติมในภายหลังโดย ดร. ซุนยัดเซ็น ในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) ทำให้ธงนี้มีลักษณะดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ระหว่างการจลาจลอู่จางในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐจีน กองทัพปฏิวัติในที่ต่างๆ ได้ใช้ธงเป็นเครื่องหมายของตนเองอย่างหลากหลาย โดยธง "ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง" ของลู่เฮาตุงนั้นใช้อยู่ในพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว ส่วนธงมีรูปดาวสีเหลือง 18 ดวงมีการใช้เป็นธงกองทัพเพื่อแทนมณฑลการปกครองทั้ง 18 มณฑลในเวลานั้น ในพื้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้และภาคเหนือของจีนได้ใช้ "ธงห้าสี" (五色旗, wǔ sè qí) (The "Five Races Under One Union" flag, ธง "ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ") เป็นเครื่องหมาย โดยใช้แถบห้าสีแนวนอนแทนสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 5 กลุ่มของจีน อันได้แก่ ชาวฮั่น (สีแดง) ชาวแมนจู (สีเหลือง) ชาวมองโกล (สีฟ้า) ชาวหุย (สีชาว) และชาวทิเบต (สีดำ)

ธง "ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ" (Five Races Under One Union) เป็นธงชาติของสาธารณรัฐจีนนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) จนกระทั่งถูกเลิกล้มโดยรัฐบาลยุคขุนศึกในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471)

เมื่อได้มีการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ก็ได้มีการเลือกใช้ "ธงห้าสี" เป็นธงชาติจีนโดยวุฒิสภาเฉพาะกาลของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ส่วน"ธง 18 ดาว" ได้จัดให้เป็นธงประจำกองทัพ[1] และ "ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม" ใช้เป็นธงนาวี[1] (ธงชาติประจำกองทัพเรือ) อย่างไรก็ตาม ดร. ซุนยัตเซ้นเห็นว่าการเลือกเอาธงห้าสีเป็นธงชาตินั้นไม่เหมาะสม เพราะลำดับของการเรียงแถบสีในธงห้าสีนั้นมีนัยยะถึงการจัดลำดับชนชั้นทางสังคมของชนชาติต่างๆ ในจีนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังประธานาธิบดีหยวน ซื่อไข่ก้าวเข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการด้วยการยุบสภาแห่งชาติและประกาศให้พรรคก๊กมินตั๋งเป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมายในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) ดร. ซุนยันเซ็นได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และใช้ "ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม" เป็นธงชาติของรัฐบาลพลัดถิ่น และยังคงใช้ต่อมาเมื่อพรรคก๊กมินตั๋งได้จัดตั้งรัฐบาลที่มณฑลกวางโจวแข่งกับรัฐบาลเป่ยหยางใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) หลังจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งทำการรุกขึ้นไปทางภาคเหนือของประเทศและสามารถขับไล่รัฐบาลเป่ยหยางได้สำเร็จ ธงดังกล่าวนี้ต่อมาได้รับการรับรองเป็นธงชาติสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) แม้ว่าจะยังคงมีความนิยมใช้ธงห้าสีในหมู่ชาวจีนภาคเหนืออยู่ก็ตาม เนื่องจากชาวจีนภาคเหนือยังคงนิยมในธงห้าสี และความรู้สึกภูมิภาคนิยมที่ต่อต้านชาวจีนภาคใต้อย่างเช่น ดร. ซุนยัดเซ็น ซึ่งเป็นจีนแคะ

ธงของรัฐบาลหวังจิงเว่ย มีการเพิ่มธงแถบสามเหลี่ยมบรรจุข้อความ "สันติภาพ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ สร้างชาติ" (和平反共建國) ไว้เหนือธงชาติสาธารณรัฐจีน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลหุ่นเชิดแต่ละแห่งก็มีธงใช้ที่แตกต่างกันออกไป "รัฐบาลปฏิรูป" ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่เมืองนานกิงเมื่อ ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) เพื่อรวบรวมรัฐบาลหุ่นเชิดต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันโดยใช้ธงห้าสีเป็นสัญลักษณ์ ต่อมาเมื่อหวังจิงเว่ย (Wang Jingwei) ได้ขึ้นปกครองรัฐบาลปฏิรูปที่นานกิงใน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) เขาจึงได้ร้องให้เปลี่ยนธงของรัฐบาลปฏิรูปเป็นธงแบบเดียวกับของสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็คที่เมืองฉงชิ่ง เพื่อท้าทายต่อรัฐบาลดังกล่าวโดยตรงและอ้างสิทธิว่าตนเป็นเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองโดยชอบธรรมของ ดร. ซุนยัดเซ็น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นกลับพอใจในธงห้าสีมากกว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการประนีประนองกับหวังจิงเว่ย ฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้แนะนำให้รัฐบาลปฏิรูปเพิ่มธงแถบสามเหลี่ยมเหนือธงชาติสาธารณรัฐจีนมีคำขวัญว่า "สันติภาพ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ สร้างชาติ" (和平反共建國, Hépíng fǎn'gòng jiàn guó) แต่ฝ่ายหวังจิงเว่ยได้ปฏิเสธไป ในที่สุด หวังจิงเว่ยและฝ่ายญี่ปุ่นจึงตกลงกันได้ว่าธงชาติสาธารณรัฐจีนมีแถบธงสามเหลี่ยมสีเหลืองดังกล่าวจะใช้ภายนอกอาคารสถานที่เท่านั้น ถึงปี ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) แถบสีเหลืองดังกล่าวได้ถูกยกเลิก ทั้งรัฐบาลหวังจิงเว่ยและรัฐบาลเจียงไคเช็คต่างก็ใช้ "ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม" เป็นเครื่องหมายตนเองเหมือนกัน เพื่ออ้างสิทธิในความเป็นรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ถูกต้องตามกฎหมาย[2]

"ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม" ได้มีการกำหนดฐานะเป็นธงชาติสาธารณรัฐจีนไว้ในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีน เมื่อ ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490)[3]

หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีนในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งนำโดยเหมาเจ๋อตุงได้รับชัยชนะ จึงจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นบนแผ่นดินใหญ่และประกาศใช้ธงชาติใหม่ของตนเองเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1949 ส่วนรัฐบาลของจอมพลเจียงไคเช็คได้อพยพไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะไต้หวันและฟื้นฟูการปกครองของสาธารณรัฐจีนขึ้นใหม่ สัญลักษณ์ประจำชาติของสาธารณรัฐจีนซึ่งใช้มาตั้งแต่ครั้งตั้งมั่นบนแผ่นดินใหญ่ยังคงใช้สืบมา ภายหลังรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐจีนได้ตรารัฐบัญญัติว่าด้วยตราแผ่นดินและธงชาติสาธารณรัฐจีน (จีน: 中華民國國徽國旗法; พินอิน: Zhōnghuá Mínguó guóhuī guóqífǎ) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เพื่อกำหนดลักษณะ ขนาด สัดส่วน การจัดสร้าง และการใช้ธงชาติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยทั่วไป[4]

การออกแบบ

แบบการสร้างธงชาติสาธารณรัฐจีน

ความหมาย

ในธง "ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง" ของลู่ เฮาตง รัศมีทั้ง 12 แฉกของดวงอาทิตย์สีขาวหมายถึงเดือนทั้ง 12 เดือนและระบบการแบ่งเวลาเป็น 12 ชั่วโมงแบบจีน (時辰, shíchén) ซึ่ง 1 ชั่วโมงจีนเท่ากับ 2 ชั่วโมงสากล ดังนั้น 12 ชั่วโมงจีนจึงเท่ากับ 24 ชั่วโมงสากล หรือเวลาใน 1 วัน ต่อมาซุน ยัตเซ็นได้เพิ่ม "แผ่นดินอุดมสีแดง" หรือพื้นสีแดง เพื่อหมายถึงเลือดของนักปฏิวัติผู้เสียสละตนเองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลราชวงศ์ชิงและสถาปนาสาธารณรัฐจีน นอกจากนั้นธงนี้ยังได้สื่อความหมายของลัทธิไตรราษฎร์ไว้ดังนี้

  • สีน้ำเงิน หมายถึง เสรีภาพ (自由) และหลักชาติพันธุ์นิยม (民族主義)
  • สีขาว หมายถึง ความเสมอภาค (平等) และหลักสิทธิมนุษยชนนิยม (民權主義)
  • สีแดง หมายถึง ภราดรภาพ (博愛) หลักสาธารณนิยม (民生主義)

จะเห็นได้ว่าความหมายของสีทั้งสามในธงชาติสาธารณรัฐจีนมีแนวคิดเดียวกับหลักการ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"(Liberté, égalité, fraternité) ของประเทศฝรั่งเศส แล้วธงก็มีลักษณะคล้ายคลึงธงชาติสหรัฐอเมริกาคือ สีแดงตรงผืนใหญ่ และข้างบนซ้ายจะมีนำเงิน ดวงอาทิตย์ขาวซึ่งคล้ายกันมากแต่ก็ต่างกันมากเช่นกัน

ธงอื่นๆ ของสาธารณรัฐจีน

ธงราชการ

ธงสมาคมกีฬา

ธงที่คล้ายคลึงกัน

ธงชาติสาธารณรัฐจีนมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ:

ส่วนดวงอาทิตย์ในธงมีลักษณะคล้ายกับดวงอาทิตย์ใน ธงชาตินามิเบีย

ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ชมกีฬาชาวไต้หวันได้ใช้ธงชาติพม่าเชียร์ทีมกีฬาเบสบอลจีนไทเป เนื่องจากประเทศจีนมีกฎหมายห้ามการแสดงธงชาติสาธารณรัฐจีน[5]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Yu-liang, Tai (1954-10-23). "中國歷代陸軍旗幟" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  2. Cheung, Andrew (1995). "Slogans, Symbols, and Legitimacy: The Case of Wang Jingwei's Nanjing Regime". Working paper. East Asian Working Paper Series on Language and Politics in Modern China. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-23. สืบค้นเมื่อ 24 July 2008. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. Yu-liang, Tai (2006-05-19). "中華民國" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2008-09-19.
  4. "中華民國國徽國旗法" (ภาษาจีน). 1954-10-23. สืบค้นเมื่อ 2008-09-19.
  5. 為中華棒球隊加油 球迷持緬甸國旗入場 (Traditional Chinese)[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya