Share to:

 

ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8

ยุทธการสุรศักดิ์มนตรี 8 (เล่าอู)
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองลาวและสงครามเวียดนาม
วันที่กันยายน 2514 – 22 มิถุนายน 2515
สถานที่
ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณใกล้เมืองเชียงหล่ม ประเทศลาว
ผล ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี: ไทยชนะอย่างหวุดหวิดเหนือปะเทดลาว
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8: การรุกของไทยถูกต่อต้านและผลักดันกลับ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี: กองทัพไทยยึดฐานทัพชั่วคราวบริเวณฝั่งใต้แม่น้ำโขง
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8: พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังคงควบคุมหมู่บ้านลาว 2 แห่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงลม
คู่สงคราม
 ไทย
 ลาว
สนับสนุนโดย
 สหรัฐอเมริกา
ลาว ปะเทดลาว
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย:
จีน สาธารณรัฐประชาชนจีน
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี
ไทย กองทัพบกไทย 3 กองพัน
ไทย ปืนใหญ่วิถีโค้ง 75 มม. 2 กระบอก
ไทย ทหารเสือพราน 1 กองพัน
ไทย การสนับสนุนทางอากาศของไทย
การสนับสนุนการขนส่งของแอร์อเมริกา
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8
กรมผสมที่ 7
ลาว ทหารเสือพรานไทย
หน่วยรบพิเศษสหรัฐ 70 นาย
การส่งกลับสายแพทย์แอร์อเมริกา
ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 22
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี
ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ลาว กองกำลังปะเทดลาว 500 นาย
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8
ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ 100 นาย
ความสูญเสีย
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี
เสียชีวิต 10 นาย
บาดเจ็บ 29 นาย
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8
เสียชีวิต 23 นาย
บาดเจ็บ 64 นาย
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี
เสียชีวิต 15 ราย
ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8
เสียชีวิตใกล้เคียงกับฝ่ายไทยจากปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศ

ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8[a] หรือ ยุทธการสุรศักดิ์มนตรี 8 (เล่าอู)[1][b] (อังกฤษ: Operation Sourisak Montry VIII[c]) (กันยายน พ.ศ. 2514 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515) เป็นปฏิบัติการทางทหารของไทยในการต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ที่รุกคืบเข้ามาทางเหนือของแม่น้ำโขง ปฏิบัติการผาลาดได้จัดตั้งฐานทัพที่เชียงลม ประเทศลาว บนฝั่งใต้ของแม่น้ำโขง และมีกองพันทหารรับจ้างของไทยสามกองพันประจำการอยู่ ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรีเป็นชุดการปะทะที่ยังไม่เด็ดขาดในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งหลังจากนั้น ไทยได้รับชัยชนะอย่างหวุดหวิดเหนือกองทัพปะเทดลาวในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515

ต่อมา ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8 ได้เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 ไทยได้พยายามยึดหมู่บ้านชายแดนลาวสองแห่งคืนจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ การโจมตีสิ้นสุดลงด้วยความสูญเสีย โดยนักบินพลเรือนของแอร์อเมริกาเสียชีวิต 1 นาย กองกำลังของไทย 80 นายถูกตรึงอยู่กับที่นานถึง 10 วันไม่สามารถรุกคืบต่อได้ และถูกผลักดันถอยร่นมาในที่สุด

ภาพรวม

เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรี ได้ทำข้อตกลงความช่วยเหลือต่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้คำมั่นที่จะสร้างถนนจากมณฑลยูนนานไปยังพระราชอาณาจักรลาว เมื่อรัฐบาลลาว (Royal Lao Government: RLG) พ่ายแพ้ในยุทธการน้ำบัค (Battle of Nam Bac) ที่มีความสำคัญยิ่งในช่วงสงครามกลางเมืองลาว ชาวจีนจึงเริ่มผลักดันการสร้างถนนลงใต้ไปตามหุบเขาปากแบงไปทางประเทศไทย เมื่อเส้นทางใหม่หมายเลข 46 เคลียร์พื้นที่หน้างานไปทางปากแบง ชาวจีนได้ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 400 กระบอกและทหาร 25,000 นายตามแนวเส้นทาง เมื่อเส้นทางใหม่มาถึงปากแบ่ง มีเพียงแม่น้ำโขงและดินแดนลาวบางส่วนบนฝั่งใต้เท่านั้นที่แยกปลายถนนออกจากดินแดนของไทย ส่งผลให้รัฐบาลไทยเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนจะส่งเสบียงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือแม้แต่การรุกรานประเทศไทยจากจีน[2][3][4]

ความเป็นมา

ความไม่สบายใจของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับถนนที่จีนสร้าง (The Chinese Road) ทำให้พวกเขาสนับสนุนปฏิบัติการกวาดล้างชายแดนที่เรียกว่าปฏิบัติการผาลาด (แปลว่า เนินภูเขาลาดลงมา) ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2514 ส่งผลให้กองทัพบกไทยจัดตั้งเขตตั้งรับส่วนหน้า (forward defensive zone) ขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงลม ประเทศลาว กองพันทั้งสามของทหารเสือพรานซึ่งประจำการอยู่ที่นั่นในเดือนสิงหาคมเรียกว่า หน่วยรบเฉพาะกิจราทิกุล[1] (ฉก.ราทิกุล; Task Force Rattikone) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงไม่สบายใจเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนของประเทศ[5]

ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี

จากนั้นไทยจึงวางแผนโจมตีตามอดีตผู้บัญชาการกรมทหารบก คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 กองพัน 3 กองพันของกองทัพบกสามารถยึดตำแหน่งคืนได้หลายแห่งบนฝั่งใต้ของแม่น้ำโขงตรงข้ามปากแบ่ง แม้ว่าฐานที่มั่นเหล่านี้จะตั้งอยู่ในดินแดนของลาวมากกว่าของไทย แต่การยึดครองของฐานที่มั่นเหล่านี้ได้เพิ่มช่องว่างทางภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงระหว่างลาวและไทย[6]

พื้นที่ดังกล่าวนี้อยู่ในสงบเป็นเวลาหลายเดือน จากนั้นในฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ. 2515 ไทยได้ตั้งจุดยุทธศาสตร์ใหม่สองจุดบนฝั่งใต้ของแม่น้ำโขง และได้ติดตั้งปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 75 มม. จำนวน 2 กระบอก กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้ข้ามแม่น้ำและโจมตีฐานยิงแห่งใหม่เป็นระยะเวลา 6 วัน 7 คืนโดยใช้ทุ่นระเบิดพลาสติกชนิดใหม่ที่ไม่สามารถตรวจจับได้ เมื่อแอร์อเมริกาพยายามส่งกลับสายแพทย์ทหารไทยที่บาดเจ็บออกไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 เครื่องบิน เอช-34 ลำหนึ่งของพวกเขาถูกยิงตกที่ห่างจากจุดที่ถูกปิดล้อมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 12 กิโลเมตร[7]

วันรุ่งขึ้น กองพันทหารเสือพรานได้ถูกส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อเข้าไปยังจุดตกของเฮลิคอปเตอร์แอร์อเมริกา จากจุดลงจอดนั้น พวกเขาเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและขุดสนามเพลาะล้อมรอบไว้สองแห่ง กองพันที่ถูกส่งเข้าไปประจำการอยู่จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม เมื่อกองพันทหารเสือพรานรับจ้างชุดใหม่ถูกส่งเข้ามาสับเปลี่ยนกำลัง[8]

ไม่นานนัก กองพันที่เข้ามาสับเปลี่ยนกำลังถูกโจมตีโดยกองกำลังปะเทดลาวประมาณ 500 นาย จนกระทั่งผ่านไป 7 วัน ได้มีการใช้การโจมตีทางอากาศเชิงยุทธวิธีโจมตีกองกำลังของคอมมิวนิสต์ ประกอบไปด้วย เครื่องบินเอซี-47 และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ยูเอช-1เอ็ม ของไทย รวมถึงเครื่องบิน เอ-1 สกายไรเดอร์ และเครื่องบิน ที-28 โทรจาน ก็ทิ้งระเบิดและยิงจรวดใส่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในที่สุดกองกำลังปะเทดลาวก็ถอยทัพแนวรบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ฝ่ายไทยก็ได้ถอนทัพเช่นกันเพราะคิดว่าไม่สามารถที่จะรักษาตำแหน่งไว้ได้[8]

ความสูญเสียในปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี ฝ่ายไทยเสียชีวิต 10 นาย บาดเจ็บ 29 นาย และพบศพของข้าศึกจำนวน 15 ราย รวมถึงสามารถยึดอาวุธได้อีกจำนวนมาก[1]

ปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประมาณ 100 นายได้บุกเข้าไปในลาวและยึดหมู่บ้านชายแดนลาว 2 แห่ง[8] คือบ้านเล่าอู และบ้านกิมสตาง[1]ซึ่งอยู่ห่างจากเชียงลมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 45 กิโลเมตร มีการวางแผนตอบโต้ร่วมกันระหว่างไทยและลาว ไทยได้ส่งกรมผสมที่ 7 (7th Regimental Combat Team: 7th RCT) ไปร่วมปฏิบัติการ ขณะที่ลาวมอบหมายให้ทหารเสือพรานไทยบางส่วนจัดตั้งหน่วยจู่โจม 2 ชุด อย่างไรก็ตาม การตีกระหนาบสองข้างอย่างก้ามปูได้ล้มเหลวลงเมื่อไทยต้องโจมตีท่ามกลางสภาพอากาศที่มีสายฝนที่เทลงมาอย่างหนักเป็นเวลานาน หลังจากความสูญเสียของฝ่ายไทยผ่านไปหลายวัน กรมผสมที่ 7 ได้ล่าถอยไปอย่างไม่เป็นกระบวน ทำให้หลังจากนั้นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงหันเป้าหมายไปยังทหารรับจ้างของไทยอีกฝั่งโดยระดมยิงปืนไร้แรงสะท้อนและปืนครกเข้าใส่[8]

กำลังทหารเสือพรานรับจ้างชาวไทยชุดแรกได้ถอนกำลังออกไป ทำให้กำลังของคอมมิวนิสต์ไทยสามารถปิดล้อมกำลังทหารเสือพรานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกำลังพล 80 นายได้สำเร็จ หน่วยรบพิเศษกุ้ภัยจำนวน 70 นายถูกแทรกซึมมาจากแม่น้ำโขงด้วยปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 75 มม. และปืนครกขนาด 4.2 นิ้ว ด้วยการสนับสนุนการยิงจากปืนใหญ่วิถีโค้งและปืนครก จึงได้มีการทดลองปฏิบัติการส่งกลับสายแพทย์ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ส่งผลให้นักบินผู้ช่วยที่เป็นพลเรือนของแอร์อเมริกาถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิต ส่งผลให้ต้องยุติการส่งกลับสายแพทย์[8]

ทหารเสือพรานรับจ้างชาวไทยถูกปิดล้อมไว้เป็นเวลา 10 วันก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเข้าช่วยเหลือและนำพวกเขากลับไปที่ฐานยิงชั่วคราว ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ถอนตัวเช่นกัน ทั้งแอร์อเมริกาและกองทัพอากาศสหรัฐต่างไม่กล้าแทรกซึมออกเนื่องจากอาจเกิดการยิงภาคพื้นดินได้ ในขณะนั้น ผู้บัญชาการทหารไทยที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้กระโดดร่มลงมาที่ฐานยิงเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีการโจมตีภาคพื้นดินเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 22 ได้ลำเลียงกำลังพลและปืนออกจากพื้นที่เพื่อสิ้นสุดปฏิบัติการ[8]

ความสูญเสียของปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8 ฝ่ายไทยเสียชีวิต 23 นาย บาดเจ็บ 64 นาย ขณะที่ฝ่ายข้าศึกเสียหายจากการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ใกล้เคียงกัน[1]

ผลลัพธ์

การมาถึงของกองทหารจีนทั้งกองที่เมืองไซ บนเส้นทางหมายเลข 46 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2514 ถือเป็นสิ่งที่น่าหนักใจของไทย เช่นเดียวกับเหตุการณ์หลายครั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 และมกราคม พ.ศ. 2515 เมื่อเครื่องบินที่บินใกล้เส้นทางหมายเลข 46 ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามกับจีนคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะปกป้องพรมแดนไทยโดยเปิดฉากปฏิบัติการผาลาดและและปฏิบัติการสุรศักดิ์มนตรี 8[7]

หมายเหตุ

  1. ชื่อตามการแปลภภาษาอังกฤษของ Operation ในวิกิพีเดียไทย จึงใช้ไปในทางเดียวกัน ขณะที่ยุทธการจะใช้กับคำว่า Battle
  2. ชื่อตามการเรียกและการรับรู้โดยทั่วไปของไทย เช่น การพูดถึงในเฟซบุ๊ก และในเอกสารของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[1]
  3. ในบันทึกภาษาอังกฤษและในหน้าวิกิภาษาอังกฤษสะกดเป็น สุริศักดิ์มนตรี (Sourisak Montry) แทนที่จะเป็นสุรศักดิ์มนตรี (Surasakmontri) จึงขอยึดเอาตามหลักฐานของฝั่งไทยคือหนังสือของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[1]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 E-Book วิชาประวัติศาสตร์การสงครามไทย Thai War History MS 3003 นนร.ชั้นปีที่ 3 (PDF). กองวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม ส่วนวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 2562.[ลิงก์เสีย]
  2. Conboy, Morrison, pp. 315-318.
  3. Anthony, Sexton, pp. 238-239.
  4. Stuart-Fox, p. 56.
  5. Conboy, Morrison, pp. 318-319.
  6. Conboy, Morrison, p. 319.
  7. 7.0 7.1 Conboy, Morrison, pp. 319-320.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Conboy, Morrison, p. 320.

บรรณานุกรม

  • Anthony, Victor B. and Richard R. Sexton (1993). The War in Northern Laos. Command for Air Force History. OCLC 232549943.
  • Conboy, Kenneth and James Morrison (1995). Shadow War: The CIA's Secret War in Laos. Paladin Press. ISBN 978-1-58160-535-8.
  • Stuart-Fox, Martin (2008) Historical Dictionary of Laos. Scarecrow Press. ISBNs 0810864118, 978-0-81086-411-5.
Kembali kehalaman sebelumnya