Share to:

 

ประจำเดือน

รูปแสดงอันดับของรอบประจำเดือนและฮอร์โมนต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วม

ประจำเดือน (อังกฤษ: Menstruation) หรือมักนิยมเรียกกันว่า เมนส์ หรือ ระดู และ รอบเดือน เป็นเลือดที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก มีฮอร์โมนสองชนิดคือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ควบคุมการสร้างและหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งระดับฮอร์โมนทั้งสองจะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่จากรังไข่ โดยแต่ละรอบเดือนจะมีช่วงเวลาประมาณ 26-30 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทำให้ประจำเดือน เกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีรายงานว่า 80 เปอเซนต์ของผู้หญิงมีอาการแสดงก่อนจะมีประจำเดือน[1] มีอาการดังนี้ เจ็บบริเวณหน้าอก, ตัวบวม, เหนื่อยง่าย, ขี้หงุดหงิด และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย[2]

ระดับของฮอร์โมนที่สัมพันธ์กัน

จะเป็นดังนี้คือ

  • ในช่วงวันที่ 1-14 ของเดือนจะมีการสร้างและการเจริญของไข่จนสุกเต็มที่ช่วงนี้เรียกว่า Follicular phaseโดยจะมี ฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) กระตุ้นรังไข่ให้สร้าง estrogen เพื่อควบคุมการสร้างไข่และการเจริญของไข่ในช่วงนี้ระดับ ฮอร์โมน estrogen จึงมีปริมาณสูงขึ้น
  • ในช่วงวันที่ 14-28 ของเดือนจะมีการสร้างฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมน progesterone และระดับ ฮอร์โมน LH จะมีปริมาณสูงขึ้นก่อนวันที่มีการตกไข่เพราะฮอร์โมน LH จะกระตุ้นให้ไข่ตก ส่วน ฮอร์โมน progesterone จะควบคุมการหนาตัวของเยื่อบุมดลูกเพื่อรองรับไข่ที่ถูกผสม ดังนั้นในช่วงนี้ระดับ progesterone จะสูงถ้าไข่ไม่ได้ถูกผสมระดับ progesterone จึงจะลดระดับต่ำลง เยื่อบุมดลูกที่หนาตัวนี้ก็จะสลายตัวไปเป็นประจำเดือน

กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (premenstrual syndrome)

เป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นประจำก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงหลังไข่ตก อาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดเมื่อยหลัง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น มีการคั่งของน้ำในร่างกายมากขึ้น เต้านมโตขึ้น รู้สึกตึง เจ็บ ความรู้สึกอยากกินอาหารเพิ่มขึ้น ท้องอืด ถ่ายเหลว มีสิว และมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม จิต อารมณ์ เช่น หงุดหงิด โกรธง่าย อารมณ์ตึงเครียด วิตกกังวล หลงลืม ขาดความสนใจไม่มีสมาธิ รู้สึกโศกเศร้า นอนไม่หลับ โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะลดลง และหายไปหลังมีประจำเดือนวันที่ 1-4 สาเหตุที่แน่ชัดยังอธิบายได้ยาก แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง และความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ในรอบประจำเดือน โดยเฉพาะโปรเจสเตอโรน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังไข่ตก จากการศึกษาพบว่าสตรีที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงกว่าสตรีที่ไม่มีอาการก่อนมีประจำเดือน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับไทรอยด์ฮอร์โมน prostaglandin norepinephrine estradiol gonadotropin และ serotonin สารเคมีในสมอง ความเครียด รวมถึงการได้รับสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามินบางอย่างไม่เพียงพอ เช่น กรดไขมัน ลิโนลิอิก วิตามินอี วิตามินบี แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส สตรีวัยเจริญพันธ์ประมาณร้อยละ 75-80 มีอาการก่อนมี ประจำเดือนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน ความรุนแรงอาจเป็นเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง จนมีผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประจำวันได้ เช่น ปวดท้องรุนแรงเป็นประจำ ปวดศีรษะปวดเมื่อยหลัง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ต้องหยุดงาน

อาการปวดประจำเดือน

เป็นอาการปวดท้องน้อยในระหว่างเริ่มมีประจำเดือนถึง 8-48 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายมีการหลั่งสาร prostaglandin ออกมา ทำให้มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกมีการหดเกร็งร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยหลัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดศีรษะ ง่วงนอน คล้ายจะเป็นลมความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง บางรายงานการศึกษาเชื่อว่า สตรีวัยรุ่นจะไม่สุขสบาย ทุกข์ทรมานกับอาการ ปวดประจำเดือนมากกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่สตรีวัยผู้ใหญ่ หรือวัยใกล้หมดประจำเดือนจะไม่สุขสบาย ทุกข์ทรมานกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนมากกว่าวัยรุ่นสตรีที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน หรือปวดประจำเดือนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของสตรีวัยเจริญพันธุ์ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาสุขภาพของสตรี และไม่แสวงหาการตรวจรักษาเพียงแต่ใช้วิธีในการบรรเทาอาการไปในแต่ละเดือน เช่น การนอนพักผ่อน การกินยาแก้ปวด การประคบร้อน มักจะปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี หรือมากกว่าจึงไปรับการตรวจรักษาซึ่งปัจจุบันมีแนวทางในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน โดยการใช้ยาต่างๆ และสารอาหารที่มีแคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี

วิธีการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

การปฏิบัติในการบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน และ อาการปวดประจำเดือน สตรีส่วนใหญ่ ใช้ยาในการบรรเทาอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน หรือระหว่างมีประจำเดือนซึ่งเป็นการใช้ยาเอง ยาที่ใช้ได้แก่paracetamol,Diclofenac ,ibuprofen ,metfenamic acid, buscopan ซึ่งการศึกษาในต่างประเทศก็พบว่า สตรีวัยรุ่นร้อยละ 90 ใช้ยาในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนเอง โดยยาที่ใช้คือ ibuprofen ร้อยละ 54 paracetamol ร้อยละ 41 midol ร้อยละ 28 และ naprosyn (Naproxen) ร้อยละ 17 ยาเหล่านี้เป็นยาในกลุ่มยาระงับปวด หรือกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลในการบรรเทาอาการปวด เนื่องจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้โดยยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด ์จะไปยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin การปฏิบัติในการบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน และวิธีการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยใช้วิธีอื่นๆ ได้แก่ การประคบกระเป๋าน้ำร้อน การดื่มน้ำอุ่น การนวดด้วยตนเอง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค โยคะ หรือ นอนพัก ซึ่งเป็นวิธีที่สตรีส่วนใหญ่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยสตรีร้อยละ 84 ใช้วิธีนอนพักหรือนอนหลับ ร้อยละ 75 อาบน้ำอุ่น ร้อยละ 50 ประคบร้อน ร้อยละ 47 ดูโทรทัศน์ และร้อยละ 30 ออกกำลังกาย

ตัวอย่างขนาดยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

  • Diclofenac 25,50 มิลลิกรัม วันละ3 ครั้ง เมื่อมีอาการ
  • Mefanamic acid 500 มิลลิกรัมกินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
  • Ibuprofen 400 มิลลิกรัม กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
  • Paracetamol 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด เมื่อมีอาการ ไม่เกิน 8 เม็ดต่อ 1 วัน

ปริมาณของประจำเดือน

ประจำเดือนมามาก (menorrhagia)
ประจำเดือน คือน้ำเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูก ซึ่งประกอบด้วยเลือดและเศษเนื้อเยื่อที่ไหลออกเป็นรอบๆ ตามสรีรภาวะ มีระยะห่างแต่ละรอบ (interval) 14 วัน และมีระยะเวลาช่วงที่มีระดู ไม่เกิน 7 วัน ดังนั้นภาวะที่มีเลือดออกเป็นรอบปกติแต่ออกนานเกิน 7 วัน ทางการแพทย์เรียกว่า menorrhagia ซึ่งมาสาเหตุหลายประการ มักเกิดจากความผิดปกติที่ตัวมดลูกหรือระบบเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ เนื้องอกมดลูก (myoma uteri) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยแทรกเข้าไปเจริญอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก (adenomyosis) ภาวะเลือดออกผิดปกติจากมดลูกที่เกิดจากความผิดปกติในระบบฮอร์โมน (dysfunctional uterine bleeding ; DUB) นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ภาวะที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ติ่งเนื้อเยื่อบุมดลูก (endometrial polyp) มะเร็งเยื่อบุมดลูก (endometrial carcinoma) เนื้องอกรังไข่ที่สร้างฮอร์โมน การติดเชื้อ การใส่ห่วงคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ โรคของต่อมธัยรอยด์ โรคถุงน้ำหลายอันในรังไข่ (polycystic ovarian disease)
ประจำเดือนมาน้อย
เกิดจากภาวะที่มีระดับฮอร์โมน progestogen มากเกินไปหรือมีฮอร์โมน estrogen น้อย ทำให้ประจำเดือนมาน้อย

ยาเลื่อนประจำเดือน

ประจำเดือนเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเองทางธรรมชาติ แต่หลายๆ ครั้งก็ทำความยุ่งยากให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะในการเดินทาง ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆ จึงมีการใช้ Norethisterone ซึ่งเป็น ฮอร์โมน progesterone และมีการนำฮอร์โมนชนิดนี้มาใช้กำหนดวันมีประจำเดือน ซึ่งมีหลายบริษัทได้ผลิตยาชนิดนี้ออกมาเช่น Primolut-n®,steron®,sunolut® เพื่อช่วยในการเลื่อนประจำเดือนออกไป จากวันที่ประจำเดือนควรจะมา โดยกลไกการออกฤทธิ์ คือ norethisterone เป็นอนุพันธ์ของ progesterone ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการหนาตัวของเยื่อบุมดลูกระหว่าง luteal phase ของรอบเดือน เพื่อรองรับไข่ที่ถูกผสม ระดับฮอร์โมน progesterone จะสูงใน luteal phase แต่ถ้าไข่ไม่ถูกผสม ระดับ progesterone จึงลดต่ำลง เยื่อบุมดลูกที่หนาตัวจะสลายไปเป็นประจำเดือน

ดังนั้นการกินยาเลื่อนประจำเดือนจึงส่งผลให้ ระดับ progesterone สูง ในขณะที่กินยาจึงทำให้ไม่มีรอบเดือนและทำให้มดลูกหนาตัวขึ้น เมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม และหยุดกินยาเลื่อนประเดือนจำเดือนให้ progesterone ลดต่ำลง เป็นผลให้เยื่อบุมดลูกที่หนาตัวหลุดลอกสลายไปเป็นประจำเดือน เข้าสู่ภาวะของรอบเดือน แต่การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ ไม่สามารถนับรอบเดือนตามปรกติได้แน่นอน จึงไม่ควรใช้วิธีนับวันสำหรับเดือนต่อไป

วิธีกินยาเลื่อนประจำเดือน

วิธีการกินยาเลื่อนประจำเดือนที่ถูกต้องคือ กิน 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ตามน้ำหนักตัว

  • หากน้ำหนักตัวต่ำกว่า 60 กิโลกรัม จะกิน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
  • หากน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม จะกิน 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

ในขณะที่ใช้ยาเลื่อนประจำเดือนชนิด ฮอร์โมน norethisterone เลื่อนประจำเดือน โดยเริ่มกินอย่างน้อย 3 วัน ก่อนกำหนดวันมีประจำเดือน ไม่ควรกินนานเกิน 10-14 วัน เนื่องจากจะทำให้รอบเดือนมาผิดปกติ,เลือดออกกระปิดกระปรอย,เจ็บคัดเต้านม,ซึมเศร้า,ปวดศีรษะได้ เป็นต้น เมื่อหยุดยา 2-3 ประจำเดือนจะมาตามปกติ ในกรณีที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนมากกว่า 14 วัน หรือนานกว่านั้น ควรใช้ ยาคุมกำเนิด ที่มีฮอร์โมน 2 ชนิด (combined pills) แบบ 21 เม็ดจะเหมาะสมกว่า โดยฮอร์โมนสูตรผสม ซึ่งมีทั้ง Estrogen และ progesterone จะสามารถเลื่อนประจำเดือนโดยมีหลักการคือ ฮอร์โมนทั้ง 2 จะไปรักษาระดับฮอร์โมนในร่างกายให้คล้ายกับระดับฮอร์โมนในร่างกายก่อนมีประจำเดือน จนกระทั่งเมื่อหยุดทานยา ระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลงทำให้เข้าสู่ภาวะรอบเดือน โดยวิธีการใช้ยาคุมสูตรผสมในการเลื่อนประจำเดือน คือ ให้ทานก่อนประจำเดือนมา 7 วัน โดยทานวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน หรือถ้าใกล้ถึงวันที่ประจำเดือนมา ให้ทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด โดยทานในช่วงเช้า และเย็น หลังอาหาร

สำหรับในผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมอยู่แล้วต้องการเลื่อนประจำเดือน จะแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี

  • กรณีที่ 1 ทานยาคุมกำเนิดแบบแผงละ 21 เม็ด เมื่อทานยาคุมจนหมดแผงสามารถทานแผงต่อไปได้เลยไม่ต้องหยุดยาจะทำให้สามารถเลื่อนประจำเดือนได้
  • กรณีที่ 2 ทานยาคุมกำเนิดแบบแผงละ 28 เม็ด เมื่อทานยาคุมไป 21 เม็ดแล้ว จะเหลือยาอยู่ 7 เม็ด ให้เริ่มทานยาคุมกำเนิดแผงใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องกิน 7 เม็ดที่เหลือในแผงเดิม เนื่องจากยา 7 เม็ดที่เหลือไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน และในผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้วและใช้ยังทานยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ และเมื่อหยุดกินยาปะจำเดือนจะมาตามปกติในอีกประมาณ 2-3 วัน

การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนในกรณีต่างๆ

  • การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน ในหญิงตั้งครรภ์ มีผลทารกในครรภ์มีโคโมโซมที่ผิดปกติอเป็นผลให้ทารกในครรภ์พิการได้ หรือ จะทำให้เกิดการแท้งได้
  • การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนในหญิงให้นมบุตร เมื่อใช้นานเกิดไป จะทำให้เกิดอาการเจ็บคัดเต้านม,เต้านมโต
  • การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อป้องกันการต้องครรภ์ โดย norethisterone จะออกฤทธิ์ ทำให้เมือกบริเวณช่องคลอดเหนียวข้น ทำให้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ อสุจิเคลื่อนที่ไปผสมกับไข่ได้ยาก และทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การทานยาเลื่อนประจำเดือนเป็นการทานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ดีเท่าการใช้ยาคุมกำเนิดโดยตรง ดังนั้นหากต้องการเลื่อนประจำเดือนและหวังผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย ควรจะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมแทน นอกจากนี้บางครั้งมีผู้นำยาเลื่อนประจำเดือนมาใช้ในการเลื่อนประจำเดือนออกไป ซึ่งจะให้ผลไม่แน่นอนและยังอาจมีผลเสียเนื่องจาก ทำให้รอบประเดือนผิดปกติ และเกิดเลือดออกกระปริดกระปรอย และยังเกิดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่ม

อ้างอิง

  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ AFP2011
  2. "Premenstrual syndrome (PMS) fact sheet". Office on Women's Health. December 23, 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-28. สืบค้นเมื่อ 23 June 2015.
Kembali kehalaman sebelumnya