Share to:

 

ประวัติศาสตร์การทหารของประเทศลาว

ประวัติศาสตร์การทหารของลาวส่วนใหญ่จะเป็นการต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม ก่อนจะเข้าสู่ยุคอาณานิคมและสงครามการเมืองก่อนจะเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น

ลาวเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งทางการทหาร ลาวได้พัฒนาทักษะทางการทหารโดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ราชอาณาจักรล้านช้างเป็นรัฐเริ่มแรกในลาว ผู้ก่อตั้งคือพระเจ้าฟ้างุ้ม ในสมัยของพระองค์ กองทัพล้านช้างได้รบขยายดินแดนโดยขยายเขตแดนทางตะวันตกมาถึงที่ราบสูงโคราช ทางตะวันออกไปถึงเทือกเขาอันนัม ทางใต้ลงไปถึงเขตแดนของชาวจามและชาวเขมร ส่วนทางเหนือไปถึงเขคแดนของชนเผ่าต่างๆทางเหนือ.[1] หลังจากสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม ล้านช้างต้องต่อสู้กับสยามและพม่า จนในที่สุด รัฐล้านช้างต้องสลายตัวใน พ.ศ. 2321 ราชอาณาจักรเวียงจันทน์ถูกโจมตีและเผาทำลายโดยกองทัพสยาม ใน พ.ศ. 2363 เวียงจันทน์พยายามรื้อฟื้นกองกำลังทหารเพื่อต่อต้านสยามแต่สยามก็เป็นฝ่ายชนะเข้ายึดครองเวียงจันทน์ได้อีกใน พ.ศ. 2371[1]

ยุคอาณานิคม

พ.ศ. 2371 – 2443

หลังจากเวียงจันทน์ถูกทำลาย ลาวถูกสยามปกครอง แม้ว่าเวียดนามจะเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งพ.ศ. 2427 ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองอันนัมเป็นอาณานิคม สยามยังคงปกครองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสจึงเข้ามาบังคับให้สยามยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงโดยอาศัยคำกล่าวอ้างของอันนัมว่าลาวเป็นดินแดนภายใต้อำนาจของตน ในที่สุด ฝรั่งเศสได้ดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำโขงรวมทั้งเกาะในแม่น้ำโดยสนธิสัญญาใน พ.ศ. 2436 และ พ.ศ. 2450.[2] ในสมัยฝรั่งเศสปกครอง ได้นำทหารเวียดนามจำนวนมากเข้ามาในลาว แต่ฝรั่งเศสก็ฝึกตำรวจชาวลาวและกองทหารในท้องถิ่น จ่ายอาวุธสมัยใหม่ให้ หน่วยของชาวลาวจะได้รับเงินเดือนจากราชสำนักหลวงพระบาง

พ.ศ. 2444 – 2483

ระหว่าง พ.ศ. 2444 – 2450 กองทหารฝรั่งเศสได้ต่อสู้กับทหารกบฏของชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษากลุ่มมอญ-เขมร กองทหารจากยูนนานเข้ามาสู้รบกับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2457 – 2459 นอกจากนั้น ยังต่อสู้กับกองทัพม้งของปา ชายในแขวงหัวพันและเชียงขวาง โดยที่ชาวม้งเหล่านี้ต้องการจ ปลดปล่อยชาติลาว และ เป็นเอกราชจากฝรั่งเศส

พ.ศ. 2484 – 2489

กองทัพลาวจัดตั้งโดยฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2484 มีหน้าที่รักษาความสงบภายในจนกระทั่งญี่ปุ่นรุกรานเมื่อ 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ลาว กองทหารเหล่านี้ได้เคลื่อนย้ายไปสู่เขตภูเขา ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพฝรั่งเศสอิสระที่มีฐานที่มั่นในอินเดีย[2] ในขณะเดียวกันมีการจัดตั้งกองทัพลาวอิสระเพื่อเรียกร้องเอกราชและต่อต้านญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากเวียดนาม อาวุธนั้นขโมยมาจากทหารญี่ปุ่น ซื้อมาจากกองทัพจีนคณะชาติที่เข้ายึดครองภาคเหนือของลาว หรือได้มาจากทหารฝรั่งเศส เกิดยุทธการท่าแขกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งลาวอิสระได้สู้รบกับกองทหารฝรั่งเศส สมาชิกลาวอิสระบางส่วนลี้ภัยไปกรุงเทพฯระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2492[2]

พ.ศ. 2489 – 2497

ฝรั่งเศสได้เข้ามาฝึกและจัดตั้งกองทัพราชอาณาจักรลาวในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 โดยลาวมีทหาร 15,000 คน กองทัพลาวไม่สามารถต้านทานกองทัพเวียดมิญในการรุกรานลาวระหว่าง พ.ศ. 2496 – 2497 ได้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสหภาพฝรั่งเศสได้สั่งให้กองทหารไปตั้งมั่นที่เดียนเบียนฟูเพื่อไม่ให้เวียดมิญเข้าโจมตีลาว นักรบที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายฝรั่งเศสคือนักรบม้งจากเชียงขวาง ที่ฝรั่งเศสจัดตั้งเป็นหน่วยรบแบบกองโจร นำโดยวังเปา หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาใน พ.ศ. 2497 ทหารฝรั่งเศสและเวียดมิญได้ถอนตัวออกจากลาว ลาวได้รับความคุ้มครองไม่ให้มีกองทหารต่างชาติ และไม่ให้เข้าร่วมหรือรับความช่วยเหลือทางทหารจากประเทศใด และให้รวมกองทัพปะเทดลาวในหัวพันและพงสาลีเข้ากับกองทัพลาวเพื่อที่จะเข้าถึงชายแดนที่ติดต่อกับเวียดนามเหนือได้

กองทัพราชอาณาจักรลาว

พ.ศ. 2497 – 2504

หลังจากสิ้นสุดสงคราม ลาวได้ออกจากสหภาพฝรั่งเศสและได้เป็นประเทศเอกราช ลาวได้แบ่งเขตทหารออกเป็น 5 เขต การควบคุมกองทัพลาวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมที่เวียงจันทน์[3]

ในการต่อต้านกองทัพปะเทดลาวที่เหลืออยู่ กองทัพลาวพึ่งการฝึกอบรมจากกองทัพฝรั่งเศสขนาดเล็กที่ได้รับการยกเว้นตามข้อตกลงเจนีวา การจัดองค์กรทางทหารของลาวเป็นไปตามแบบฝรั่งเศส อาวุธส่วนใหญ่ได้มาจากสหรัฐ ซึ่งเป็นอาวุธที่สหรัฐส่งมาช่วยเหลือฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 มีเจ้าหน้าที่ทหารของสหรัฐจำนวนหนึ่งอยู่ในเวียงจันทน์ ต่อมา สหรัฐเข้ามามีบทบาทในการฝึกกองทัพลาวแทนที่ฝรั่งเศส มีการส่งทหารลาวมาฝึกในไทยและไปเรียนในโรงเรียนทหารของสหรัฐ

การที่ห้ามลาวเข้ารับความช่วยเหลือทางทหาร ทำให้ลาวไม่เข้าร่วมในซีโต แต่ซีโตก็จัดให้ลาวเป็นประเทศที่ต้องให้ความคุ้มครองเพราะเป็นเหยื่อของความก้าวร้าว นอกจากนั้น ความล้มเหลวในการรวมกองทัพปะเทดลาวเข้ากับกองทัพราชอาณาจักรลาว ทำให้เพิ่มโอกาสที่ลาวจะถูกเวียดนามเหนือโจมตี มีการสู้รบกับเวียดนามเหนือตามแนวชายแดน ใน พ.ศ. 2502 ทำให้สหรัฐเข้ามาช่วยเหลือลาว การรัฐประหารของนายพลกองแลเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ทำให้มีความแตกแยกภายในกองทัพระหว่างองค์กรปฏิวัติเพื่อความเป็นกลางของลาวของฝ่ายกองแลหรือฝ่ายเป็นกลาง กับฝ่ายของนายพลพูมี หน่อสะหวัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของลาว การสู้รบระหว่างฝ่ายของพูมีกับกองแลทำให้กองแลหนีไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายปะเทดลาว

พ.ศ. 2504 – 2511

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 สหรัฐได้เพิ่มความช่วยเหลือให้แก่กองทัพลาวแต่ต้องยกเลิกไปใน พ.ศ. 2505 เพราะขัดกับข้อตกลงเจนนีวา แต่เวียดนามเหนือไม่ยอมรับการยกเลิกนี้ สหรัฐยังคงช่วยเหลือกองทัพลาวต่อไป เพียงแต่ไม่มีทหารเข้ามา ซีไอเอได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการลับที่อุดรธานี นำทหารม้งเข้ามาฝึกการรบ และส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อช่วยเหลือฝ่ายม้ง ส่งกองทัพลับเข้าไปในลาว ในช่วงนี้ วังเปาได้เป็นนายพลในกองทัพราชอาณาจักรลาว และบังคับบัญชาเขตทหารที่ 2

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 สหรัฐได้ตอบโต้การรุกรานของเวียดนามเหนือและปะเทดลาวในบริเวณทุ่งไหหินโดยใช้ปฏิบัติการทางอากาศในการโจมตีที่ตั้งของปะเทดลาวและเวียดนามเหนือ จนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 ที่ภูกูด ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน กองทัพปะเทดลาวเป็นฝ่ายชนะ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2509 ฝ่ายปะเทดลาวรบชนะอีกในยุทธการที่หุบเขาน้ำบกทางเหนือของหลวงพระบาง ในขณะเดียวกัน ในลาวภาคใต้ กองทัพเวียดนามเหนือได้เดินทัพผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ลงไปเวียดนามใต้ ทำให้มีการโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้น การโจมตีทางอากาศควบคุมโดยสถานทูตสหรัฐในเวียงจันทน์ กองทหารสหรัฐในไซ่ง่อน กองทัพอากาศในไทยและผู้บัญชาการสูงสุดทางแปซิฟิกที่โฮโนลูลู และบางครั้งจากทำเนียบขาว

พ.ศ. 2512 – 2516

ในช่วงฤดูฝนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512 ทหารปะเทดลาวและเวียดนามเหนือได้ขับไล่ทหารของฝ่ายกองทัพราชอาณาจักรลาวและฝ่ายเป็นกลางออกจากเมืองซัว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน การสู้รบดำเนินไปตลอดฤดูมรสุม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 วังเปาได้นำทหารม้งปะทะกับทหารเวียดนามเหนือในสมรภูมิที่สำคัญในทุ่งไหหิน และฝ่ายเวียดนามยึดได้ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2513 นี้เป็นช่วงที่ขบวนการปะเทดลาวเติบโตมากที่สุด มีทหารถึง 48,000 คน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 การรุกครั้งใหญ่ของเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐ ได้เข้ายึดเซโปนในลาวเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของเวียดนามเหนือ แต่ขาดการส่งกำลังบำรุง ทำให้ต้องถอยทัพกลับ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 ฝ่ายปะเทดลาวเข้ายึดปากซองในที่ราบสูงโบละเวนได้และยึดท่าแขกและเวียงจันทน์ได้ใน พ.ศ. 2515 การเจรจาสงบศึกเกิดขึ้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 การทิ้งระเบิดของสหรัฐสิ้นสุดลงและการสู้รบในฤดูร้อนพ.ศ. 2518 กองทัพฝ่ายปะเทดลาวรบชนะกองทัพของฝ่ายวังเปาได้อย่างเด็ดขาด

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Auclair, Nicholas C. "Historical background". A country study: Laos (Andrea Matles Savada, editor). Library of Congress Federal Research Division (July 1994). บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
  2. 2.0 2.1 2.2 Auclair, Nicholas C. "Colonial era". A country study: Laos (Andrea Matles Savada, editor). Library of Congress Federal Research Division (July 1994). บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
  3. Auclair, Nicholas C. "Royal Lao Army". A country study: Laos (Andrea Matles Savada, editor). Library of Congress Federal Research Division (July 1994). บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
Kembali kehalaman sebelumnya