Share to:

 

ปางขอฝน

ปางขอฝน ประทับนั่ง: พระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ปางของฝน ประทับยืน: พระพุทธมหาเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์

ปางขอฝน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แบพระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระชานุ (เข่า) บางแบบวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) ทรงผ้าวัสสิกสาฎก

สำหรับพระอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แสดงอาการขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน ซึ่งแตกต่างจากปางประทานพรซึ่งพระหัตถ์อีกข้างของพระองค์จะมิได้อยู่ในลักษณะหงายรองรับน้ำฝน แต่จะอยู่ในลักษณะปล่อยข้างกาย

ประวัติ

ในสมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สระโบกขรณี (สระบัว) ภายในพระเชตวันมหาวิหารก็แห้งขอดติดก้นสระ พระพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกัน ในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์

ความเชื่อและคตินิยม

  • เป็นพระพุทธรูปประจำเดือนห้า
  • เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

อ้างอิง

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล
Kembali kehalaman sebelumnya