Share to:

 

ปางทรงตัดเมาลี

งานแกะสลักงาช้างแสดงพุทธประวัติตอนทรงตัดเมาลี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นิวเดลี

ปางทรงตัดเมาลี เป็นรูปพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนพระแท่นพระหัตถ์ซ้ายทรงรวบพระเมาลีไว้ พระหัตถ์ขวาทรงพระขันค์ทำอาการทรงตัดพระเมาลี มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะอยู่ด้านหลัง

ประวัติ

เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าพระเมาลีไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต (การตัดผมในสมัยพุทธกาลถือว่าเป็นกาลกิณี เมื่อตัดแล้วจะไม่มีผู้ติดตามพระองค์อีก) จึงทรงตัดออกด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นพระเกศาก็ปรากฏยาวประมาณ ๒ องคุลี ม้วนกลมเป็นทักขิณาวัฏ (เวียนขวา) ทุกๆเส้น และคงอยู่อย่างนั้นตราบถึงดับขันธปรินิพพาน แล้วทรงจับพระเมาลีขว้างขึ้นไปบนอากาศ อธิษฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้ ก็ให้พระเมาลี จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา แม้นมิได้ตรัสรู้สมความประสงค์ ขอให้พระเมาลีตกลงสู่พื้นพสุธา" พระเมาลีนั้นได้ประดิษฐานลอยอยู่บนอากาศสูงประมาณ ๑ โยชน์ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) อัญเชิญพระเมาลีไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ในสวรรคชั้นดาวดึงส์ ฆฏิการพรหมได้นำเครื่องอัฐบริขาร คือสิ่งจำเป็นสำหรับบรรพชิตมาน้อมถวาย แล้วอัญเชิญพระภูษาเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ไปบรรจุไว้ ณ ทุสเจดีย์ในพรหมโลก

อ้างอิง

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล
Kembali kehalaman sebelumnya