พญามังราย
พญามังราย[1] (ไทยถิ่นเหนือ: ᨻᩕ᩠ᨿᩣᨾᩢ᩠ᨦᩁᩣ᩠ᨿ; พ.ศ. 1782–1854[1]) เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว เสด็จขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 1802[1] พระองค์ทรงสร้างเมืองหลายแห่ง เป็นต้นว่า เมืองเชียงราย (ในจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน), เวียงกุมกาม, และเมืองเชียงใหม่ (ในจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน) ซึ่งภายหลังเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา จึงถือกันว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาด้วย[1] พระนาม"มังราย" เป็นพระนามที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นทุกชนิด ทั้งจารึก ใบลาน พงศาวดาร บทกฎหมาย บทกวี และอื่น ๆ[2][3][4] ซึ่งรวมถึงจารึกวัดพระยืน (พ.ศ. 1912) จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร (พ.ศ. 1954) ตำนานมูลศาสนา (พ.ศ. 1965) ชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. 2059) โคลงนิราศหริภุญไชย (พ.ศ. 2060) จารึกวัดเชียงมั่น (พ.ศ. 2124) และมังรายศาสตร์ (ไม่ปรากฏศักราช)[2][5] โดยจารึกวัดพระยืน จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร ตำนานมูลศาสนา จารึกวัดเชียงมั่น และมังรายศาสตร์ ระบุคำนำพระนามว่า "พญา" (เขียนแบบเก่าว่า "พรญา" หรือ "พรยา")[2][5] ราชวงศ์ปกรณ์ (พ.ศ. 2461) บันทึกตำนานเกี่ยวกับพระนาม "มังราย" ว่า ฤๅษีชื่อปัทมังกรเป็นผู้ตั้งถวาย โดยเอาชื่อของฤๅษีเอง พระนามของพระบิดา (ลาวเมง) และพระนามของพระมารดา (เทพคำข่าย) ผสมกันเป็น "มังราย"[6] มีแต่พงศาวดารโยนก ที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงสยาม และเอกสารสมัยหลังซึ่งอ้างอิงพงศาวดารโยก ที่ออกพระนามว่า "เม็งราย"[2][3][7] โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่พระยาประชากิจกรจักร์แก้พระนาม "มังราย" เป็น "เม็งราย" แต่อย่างใด[7] ปัจจุบันมีสถานที่หลายแห่งใช้ชื่อว่า "เม็งราย" เช่น ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และค่ายเม็งรายมหาราช ในจังหวัดเชียงราย ตลอดจนวัดพระเจ้าเม็งราย ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนการเปลี่ยนคำนำพระนาม "พญา" เป็น "พ่อขุน" นั้น เป็นผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากร[7] ปรากฏครั้งแรกในบทขับร้องชื่อ "เพลงดนตรีประวัติศาสตร์" (พ.ศ. 2481) ของหลวงวิจิตรฯ ที่มีเนื้อเพลงว่า "พ่อขุนเมงราย"[8] ทั้งนี้ คำว่า "พ่อขุน" เป็นคำนำพระนามพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยสมัยหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏการใช้งานในทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคล้านนา[4][5] เพ็ญสุภา สุขคตะ นักโบราณคดี ตั้งข้อสังเกตว่า การประดิษฐ์พระนามของพญามังรายขึ้นใหม่ เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2442–2443 ซึ่งอังกฤษเข้ายึดครองดินแดนพม่าได้แล้ว และพยายามอ้างสิทธิ์รวมดินแดนล้านนา ซึ่งในเวลานั้นเป็นของสยาม เข้ากับอาณานิคมพม่า โดยอ้างว่า พญามังราย "ทรงมีเชื้อสายเป็นชาวพม่า เหตุเพราะที่มีพระนามว่า 'มังราย' ฉะนี้แล้วอาณาจักรล้านนาย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพม่าโดยไม่มีข้อแม้" ชนชั้นนำสยามในเวลานั้นจึงน่าจะประดิษฐ์พระนามขึ้นใหม่ให้ใช้โดยแพร่หลายแทน[5] ต้นพระชนม์พญามังรายเป็นพระราชโอรสของลาวเมง พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 24 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว กับนางเทพคำข่าย พระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย พระมหากษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา[1] การขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระราชบิดาสวรรคตใน พ.ศ. 1802 พญามังรายทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาวต่อ และมีพระราชประสงค์จะทรงรวบรวมหัวเมืองอิสระต่าง ๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยทรงเริ่มจากทางเหนือก่อน แล้วขยายไปฝ่ายใต้[1] การสร้างเชียงรายหลังจากทรงขึ้นครองราชย์ ณ หิรัญนครเงินยางเชียงลาวได้ราว 3 ปี พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นศูนย์อำนาจใหม่ใน พ.ศ. 1805[1] และทรงสร้างเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. 1816, ทรงสร้างเมืองชะแวทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูนเมื่อ พ.ศ. 1826, และทรงสร้างเวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ. 1829[1] เมื่อสร้างเมืองใหม่แต่ละครั้ง พญามังรายจะประทับอยู่ที่เมืองนั้น ๆ เสมอ ซึ่งตามความเห็นของประเสริฐ ณ นคร แล้ว "คงมีพระประสงค์ที่จะสร้างชุมชนขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งเป็นเมืองใหม่ขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ทรงแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงถาวรของพระองค์ต่อไป"[9] นอกจากนี้ ยังทรงตีได้เมืองมอบ, เมืองไร, และเมืองเชียงคำ จึงมีหัวเมืองหลายแห่งมาขออ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เช่น เมืองร้าง ต่อมาจึงเสด็จไปเอาเมืองเชียงของได้ใน พ.ศ. 1812 และเมืองเซริงใน พ.ศ. 1818[9] ระหว่างประทับที่เวียงกุมกาม พญามังรายทรงให้ช่างก่อเจดีย์กู่คำ ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม[10] พญามังรายยังโปรดให้นายช่างชื่อ กานโถม สร้างวัดแห่งหนึ่งที่มีพระพุทธปฏิมากร 5 พระองค์สูงใหญ่เท่าพระวรกายของพระองค์ ตลอดจนมหาวิหารและเจดีย์อื่นอีกเป็นอันมาก[11] นายช่างกานโถมปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เขาไปครองเมืองรอย (ต่อมาสถาปนาเป็นเมืองเชียงแสน)[11] และพระราชทานนามวัดนั้นว่า วัดกานโถม[11] การตีหริภุญไชยพญามังรายมีพระราชประสงค์จะได้เมืองหริภุญไชย (ในจังหวัดลำพูนปัจจุบัน) เพราะเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีทางน้ำติดต่อถึงเมืองละโว้และเมืองอโยธยาด้วย[9] ทรงวางแผนให้ข้าหลวงคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย[9] ขณะนั้น พญาญี่บาครองเมืองหริภุญไชย[9] อ้ายฟ้าทำให้ชาวหริภุญไชยไม่พอใจพญาญี่บา โดยเกณฑ์ไปขุดเหมืองในฤดูร้อนเพื่อถ่ายแม่น้ำปิงมาสู่แม่น้ำกวงเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร[9] ปัจจุบัน เหมืองดังกล่าวยังมีอยู่และยังใช้การได้[9] นอกจากนี้ อ้ายฟ้ายังให้ตัดไม้ซุงลากผ่านที่นาของชาวบ้านในฤดูทำนา ทำให้ข้าวเสียหาย โดยอ้ายฟ้าแจ้งว่า พญาญี่บาจะทรงสร้างพระราชวังใหม่[9] อ้ายฟ้าบ่อนทำลายเมืองหริภุญไชยอยู่นานเกือบ 7 ปี[9] เป็นเหตุให้ชาวหริภุญไชยเอาใจออกหากพญาญี่บา เมื่อพญามังรายทรงนำกองทัพมาล้อม จึงทรงได้เมืองไปโดยง่ายใน พ.ศ. 1824[9] แต่ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าเป็น พ.ศ. 1835[9] การสร้างเชียงใหม่เมื่อพญามังรายทรงได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ขุนคราม พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 ของพญามังราย ก็ตีนครเขลางค์ (ในจังหวัดลำปางปัจจุบัน) ได้ใน พ.ศ. 1839[12] ในปีนั้นเอง พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น พระราชทานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"[1] อาณาเขตของพญามังรายนั้น ปรากฏว่า ทางเหนือถึงเชียงรุ่งและเชียงตุง ทางตะวันออกถึงแม่น้ำโขง แต่ไม่รวมเมืองพะเยา, เมืองน่าน, และเมืองแพร่ ทางใต้ถึงนครเขลางค์ และทางตะวันตกถึงอาณาจักรพุกาม (พม่าและมอญ)[13] การตีพุกามพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ว่า ใน พ.ศ. 1833 อาณาจักรพุกามขอเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ พญามังรายจึงเสด็จไปเยือนพุกาม และเมื่อนิวัติ ก็ทรงนำช่างฆ้อง ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างฝีมืออื่น ๆ กลับมาด้วย แล้วก็โปรดให้ช่างทองไปประจำที่เมืองเชียงตุง[12] แต่เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์[12] และประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า ถ้าเกิดขึ้นจริง ควรเป็น พ.ศ. 1843 มากกว่า พ.ศ. 1833 เพราะมอญอยู่ในอาณัติของพ่อขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 มอญจะแยกตัวไปขึ้นเมืองใหม่ได้ก็ควรหลัง พ.ศ. 1841[12] นอกจากนี้ บันทึกของจีนและไทลื้อระบุว่า พญามังรายทรงเคยยกรี้พลไปตีเมืองเชียงรุ่งและอาณาจักรพุกามบางส่วนใน พ.ศ. 1840 และสิบสองพันนาใน พ.ศ. 1844 ทั้งกล่าวว่า จีนเคยยกลงมาตีอาณาจักรล้านนาแต่พ่ายแพ้กลับไปด้วย[14] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศความสัมพันธ์กับพะเยาและสุโขทัยพญามังรายทรงมีสัมพันธไมตรีกับพญางำเมือง พระมหากษัตริย์แห่งเมืองพะเยา (ในจังหวัดพะเยาปัจจุบัน) และพ่อขุนรามคำแหง พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ทั้ง 3 พระองค์เป็นศิษย์สำนักเดียวกันที่เมืองละโว้[15] และเป็นพระสหายร่วมสาบานกันด้วย[15] อนึ่ง เมื่อพญามังรายจะทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงปรึกษากับพระสหายทั้ง 2 พ่อขุนรามคำแหงทรงแนะนำว่า ควรลดขนาดเมืองลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่วางผังให้ยาวด้านละ 2,000 วา เพราะเมื่อเกิดศึกสงครามในอนาคต ผู้คนที่ไม่มากพอจะไม่อาจรักษาบ้านเมืองที่กว้างใหญ่เกินไปได้ ซึ่งพญามังรายทรงเห็นชอบด้วย[15] พระราชไมตรีระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ ทำให้แต่ละพระองค์ทรงสามารถขยายดินแดนไปได้อย่างไม่ต้องทรงพะวงหน้าพะวงหลัง[15] ความสัมพันธ์กับเชียงตุงเอกสารจากรัฐฉานชื่อ พับหนังสือพืนเมืองและจารีตราชประเพณีเขมรัฐตุงคบุรี ซึ่งพระยากางหลวงเขียนขึ้นใน จ.ศ. 1205 (พ.ศ. 2386) เป็นภาษาไทเขิน ระบุถึงบทบาทของพญามังรายต่อเมืองเชียงตุงว่า ใน จ.ศ. 591 (พ.ศ. 1772) พญามังรายทรงไล่ล่ากวางทองตัวหนึ่งมาจนถึงเมืองเชียงตุงซึ่งมีพวกลวะอยู่อาศัย ในปีถัดมาจึงทรงส่งขุนคงกับขุนลังมาตีเมืองแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าใน จ.ศ. 605 (พ.ศ. 1786) พญามังรายทรงสามารถส่งขุนนางชื่อมังคุ่มมาปกครองเมืองเชียงตุงได้ มังคุ่มปกครองได้ 4 ปีก็ถึงแก่กรรม จึงทรงให้มังเคียนขึ้นปกครองแทนใน จ.ศ. 609 (พ.ศ. 1790) มังเคียนปกครองได้ 6 ปีก็ถึงแก่กรรม จากนั้นใน จ.ศ. 615 (พ.ศ. 1796) พญามังรายทรงให้ราชโอรสนามว่าเจ้าน้ำท่วมมาปกครองเมืองเชียงตุง เจ้าน้ำท่วมปกครองได้ 11 ปีก็ถึงแก่กรรม เมืองเชียงตุงมีผู้ขึ้นปกครองแทนต่อ ๆ มาจนใน จ.ศ. 704 (พ.ศ. 1885) เจ้าใสน่านขึ้นปกครอง ผ่านไป 18 ปี เจ้าใสน่านก็ถึงแก่กรรม และเมืองเชียงตุงก็ร้างไปยาวนาน เพราะ "เมืองถูกเสนียดจัญไร"[16] เอกสารอื่นจากเมืองเชียงตุงระบุศักราชและเนื้อหาที่ต่างออกไปว่า ปีที่พญามังรายทรงไล่ล่ากวางทอง คือ จ.ศ. 791 และเมื่อขุนคงกับขุนลังที่ทรงส่งมาตีเมืองทำการไม่สำเร็จแล้ว พญามังรายทรงให้มังคุมกับมังเคียน ชาวลัวะที่อาศัยอยู่กับพระองค์ มาตีเมืองเชียงตุง สองคนนี้ทำการสำเร็จ จึงทรงให้ทั้งสองปกครองเมืองเชียงตุง มังคุมปกครองได้ 17 ปีก็ถึงแก่กรรม มังคุมปกครองต่ออีก 7 ปีก็ถึงแก่กรรม จากนั้นพญามังรายทรงให้ราชโอรสนามว่าเจ้าน้ำท่วมมาปกครองต่อ เมืองเชียงตุงจึงกลายเป็น "ลูกช้างหางเมือง" (เมืองลูกหลวง) ของอาณาจักรล้านนา[17] กฎหมายมังรายศาสตร์ (บ้างเรียก วินิจฉัยมังราย) เป็นเอกสารที่ประมวลคำวินิจฉัยทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงพญามังราย[15] ในรัชกาลพญามังราย มังรายศาสตร์มีเพียง 22 มาตรา ว่าด้วยการหนีศึก, ความชอบในสงคราม, หน้าที่ของไพร่ในการเข้าเวรทำงานหลวง 10 วัน กลับบ้านไปกสิกรรม 10 วัน สลับกันไป, และเรื่องที่ดิน[15] ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนยาวขึ้นอีก 10 เท่า[15] มังรายศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลือในปัจจุบันมีเพียงฉบับเดียว คือ ฉบับที่พบ ณ วัดเสาไห้ คัดลอกเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2342 และต่อมา ราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2514[15] พระราชวงศ์พญามังรายมีพระราชบุตรเท่าใดไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏว่า พระราชบุตรพระองค์แรกมีพระนามว่า ขุนเครื่อง ทรงให้ไปครองเมืองเชียงราย แต่ภายหลังคิดขบถ จึงทรงให้คนไปลอบสังหาร[11] พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 คือ ขุนคราม มีผลงานเป็นการตีนครเขลางค์ได้สำเร็จ[11] จึงได้เฉลิมพระนามเป็น พญาไชยสงคราม ภายหลังได้สืบราชสมบัติต่อจากพญามังรายเป็นรัชกาลที่ 2 แห่งอาณาจักรล้านนา พระราชบุตรพระองค์ที่ 3 คือ ขุนเครือ โปรดให้กินเมืองพร้าว แต่ต่อมาถูกพระองค์เนรเทศไปเมืองกองใต้ ชาวไทใหญ่จึงสร้างเมืองใหม่ให้ขุนเครือปกครองแทน[11] สวรรคตพญามังรายสวรรคตเพราะทรงถูกฟ้าผ่ากลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1854 รวมพระชนม์ 72 พรรษา[11] พญาไชยสงคราม พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 เสวยราชย์สืบต่อมา พ้นรัชกาลพญามังรายแล้ว ราชวงศ์มังรายครอบครองอาณาจักรล้านนาเป็นเอกราชอยู่ระยะหนึ่ง โดยเคยขยายอาณาบริเวณมาครอบคลุมเมืองพะเยา, น่าน, ตาก, แพร่, สวรรคโลก, และสุโขทัยด้วย กระทั่ง พ.ศ. 2101 ถูกพม่าตีแตก แล้วก็กลายเป็นเมืองขึ้นพม่าบ้าง เป็นอิสระบ้าง และเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง สลับกันไปดังนี้เป็นเวลากว่า 200 ปี จนยอมเป็นเมืองขึ้นกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกกลืนเข้าเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน[11] ในวัฒนธรรมประชานิยมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2012 มีผู้ตัดต่อภาพอนุสาวรีย์พญามังราย โดยนำสัญลักษณ์ "ชอบ" หรือ "ไลก์" (like) ของเฟซบุ๊กไปติดกับพระหัตถ์ แล้วลงเผยแพร่ทางเพจ "ไลค์ดะ" ในเฟซบุ๊ก โดยเรียกภาพนั้นว่า "พ่อขุนเม็งไลค์"[18] มีบุคคลจำนวนหนึ่งไม่พอใจและพากันเข้าไปต่อว่า[18] ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2012 มงคล สิทธิหล่อ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย แถลงว่า จะดำเนินคดีแก่เจ้าของเพจไลค์ดะ และในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2012 ชาวเชียงรายบางกลุ่มเดินขบวนแสดงความไม่พอใจต่อเพจไลก์ดะที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พญามังรายในอำเภอเมืองเชียงราย ส่วนเพจไลค์ดะได้ปิดตัวลงก่อนหน้านั้นแล้ว[19] อนึ่ง ในช่วงการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (2nd Asia–Pacific Water Summit) หรือการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่แต่งกายเป็นพญามังรายด้วย "ชุดกษัตริย์ล้านนาโบราณ เปลือยท่อนบน โชว์พุงหลาม นุ่งผ้านุ่ง มีทับทรวงและมงกุฎ กำลังชี้นิ้วขึ้นฟ้าไปท้ารบเทวดาบนฟ้า"[20] สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม
ราชตระกูล
อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
Information related to พญามังราย |