พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ นามเดิม สว่าง เวทมาหะ ฉายา จนฺทวํโส (13 เมษายน พ.ศ. 2514 – 18 มกราคม พ.ศ. 2562) เป็นเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก), เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส[5] ที่มรณภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[6] มรณกรรมของท่าน นำมาซึ่งความโศกเศร้าของชาวพุทธและมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้[7] โดยทางฮิวแมนไรตส์วอตช์ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มก่อความไม่สงบ[6][8] รวมถึงมีประชาชน ผู้นำศาสนา และอาสาสมัครกว่า 55,500 คนร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรง[9] ประวัติ
ท่านเป็นชาวพุทธ ที่เติบโตในหมู่บ้านอิสลาม โดยมีเพื่อนและครูเป็นชาวมุสลิม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบ้านเจ๊ะเด็ง[11] แล้วตัดสินใจบวชเป็นพระเมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดรัตนานุภาพ โดยได้ทำการพัฒนาวัดที่ท่านบวชและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในบ้านเกิด ตลอดจนเป็นพระธรรมทูตอาสา 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการยกย่องเป็นพระนักพัฒนา แม้ท่านจะทราบถึงความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย แต่ก็ไม่ยอมทิ้งวัด เนื่องด้วยเป็นแผ่นดินเกิด[1] พ.ศ. 2560 ได้มีพิธีฉลองสัญญาบัตรพัดยศของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ โดยมีผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเป็นประธาน[12] สมณศักดิ์
มรณภาพช่วงเวลา 2 ทุ่ม ของวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุกลุ่มคนร้ายขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในวัด แล้วยิงใส่กุฏิหลายสิบนัดก่อนหลบหนี ส่งผลให้พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ กับพระลูกวัด 1 รูปมรณภาพในที่เกิดเหตุ รวมถึงมีพระได้รับบาดเจ็บอีก 2 รูป ที่ได้รับการส่งรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก[14][15] สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยสถิติจำนวนพระที่มรณภาพจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย จนถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ นับรวมได้ 21 รูป[16] (ส่วนฮิวแมนไรตส์วอตช์ ระบุว่ามีพระภิกษุมรณภาพรวม 23 รูป และบาดเจ็บกว่า 20 รูป)[6][8] จากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้รับการศพพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ รวมถึงพระภิกษุทุกรูปที่มรณภาพไว้ในพระสังฆราชานุเคราะห์[17] วันที่ 19 มกราคม มีผู้เข้าร่วมพิธีสรงน้ำศพพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จำนวน 4,000 คน รวมถึงพระสงฆ์ในภาคใต้และประเทศมาเลเซียกว่า 300 รูปเดินทางมาสรงน้ำเพื่อไว้อาลัย ที่ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ[18] วันที่ 20 มกราคม ได้มีตัวแทนจุฬาราชมนตรี เดินทางมาร่วมงานพิธีบำเพ็ญกุศลพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตัวแทนจุฬาราชมนตรีได้เดินทางเข้าเยี่ยมอาการของพระที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ โดยไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดและความแตกแยกระหว่างศาสนา[19] นอกจากนี้ ในแต่ละวันได้มีชาวมุสลิมเดินทางมาเพื่อให้กำลังใจและแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก ทางวัดจึงจัดให้มีครัวมุสลิมต้อนรับทุกวันจนเสร็จพิธี[20] ส่วนบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความเสียใจต่อกรณีคนร้ายยิงพระที่วัดรัตนานุภาพ และอนุมัติเงินสินไหมแก่พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จำนวนกว่า 450,000 บาท[21] ผลที่ตามมาจากมรณกรรมของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ไล่ล่าคนร้ายมาลงโทษ[22] เช่นเดียวกับสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ละเมิดต่อคำสอนของทุกศาสนา และขอให้รัฐบาลจับกุมผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมาย[23] ขณะที่พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางมาค้างแรมที่วัด[24] และขอให้พระพิจารณางดบิณฑบาตทั่วพื้นที่ชายแดนใต้ โดยให้ชาวพุทธจัดภัตตาหารไปถวายพระที่วัดแทน[14] รวมทั้งพลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ที่เดินทางมาตรวจสอบจุดเกิดเหตุ[24] กระทั่งมีการทราบถึงเบาะแสผู้ก่อเหตุ และได้ให้ตำรวจพร้อมหน่วยงานความมั่นคง เร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี[25][26] ต่อมา สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหาและเยียวยาพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ[27] และพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เชิญชวนให้ทหารที่สมัครใจ เข้าร่วมอุปสมบทในวัดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงสร้างความมั่นใจแก่พระสงฆ์และประชาชน[28] ส่วนหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโล กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไม่ยอมรับการใช้แนวทางความรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรละเว้นการก่อเหตุกับเด็ก สตรี คนชรา และผู้นำศาสนา[9] การไว้อาลัยวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเชิญพวงมาลาพระราชทานและพวงมาลาประทาน ไปวางที่หน้าหีบศพ[29] และวันที่ 20 มกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านและพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งได้พูดคุยกับบิดาของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ และมอบสิ่งของพระราชทาน[30] พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ได้รับการยกย่องจากไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ในฐานะตัวอย่างของพระภิกษุที่เสียสละอุทิศตนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา[5] นอกจากนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้โพสต์ข้อความธรรมเพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปผ่านทางเฟซบุ๊ก[31] สิ่งสืบทอดพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เป็นผู้สร้างวัดรัตนานุภาพ ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ด้วยตนเอง โดยสร้างศาลาหลังแรก เป็นศาลาการเปรียญ ที่ให้ชื่อ "ธรรมานุภาพ" จากนั้น ท่านได้สร้างศาลาโรงฉัน ที่ให้ชื่อ "สังฆานุภาพ" และพระอุโบสถ ที่ให้ชื่อ "พุทธานุภาพ"[32][33][34] ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นฟังเสียงบทความนี้ (info/dl)
ไฟล์เสียงนี้ถูกสร้างขึ้นจากรุ่นของบทความ "พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)" เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 และอาจไม่ใช่การแก้ไขล่าสุด (วิธีใช้เสียง)
|