พระธาตุกู่จาน
พระธาตุกู่จาน ตั้งอยู่ที่วัดกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือพร้อมกับพระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปทรงบัวเหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม ก่อด้วยอิฐมีความกว้าง 5.10 เมตร ความสูง 15 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมองค์พระธาตุ 2 ชั้น ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุกู่จาน เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดยโสธร และภาคอีสานของประเทศไทย ประวัติเมื่อพุทธศักราช 7 หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลา 7 ปี พระมหากัสสปะได้นำพระบรมสารีริกธาตุลงแจกจ่ายในดินแดนแถบนี้ กลุ่มที่ได้มาคือพระยาคำแดงซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ ด้านกลุ่มพระยาพุทธซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางฝ่ายใต้ไม่ได้รับพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้เดินทางไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดง พระยาคำแดงไม่อยากให้ ทำเป็นพูดจาบ่ายเบี่ยง โดยท้าแข่งก่อสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุว่าใครจะเสร็จก่อน หากใครแพ้ต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของกันและกัน แต่มีข้อแม้อยู่ว่าในการก่อสร้างเจดีย์ครั้งนี้ต้องใช้คนอย่างมากไม่เกิน 6 คน เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้ว พระยาพุทธก็เดินทางกลับมาประชุมเจ้าเมืองฝ่ายใต้เพื่อทำการก่อสร้างพระธาตุกู่จานและได้คัดเลือกเอาแต่คนสนิทที่มีฝีมือ ได้แก่ พระยาพุทธ พระยาเขียว พระยาธรรม พระยาคำ พระยาแดง และพระยาคำใบ กลุ่มของพระยาพุทธทำการก่อสร้างพระเจดีย์ไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วแต่เกรงว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วพระยาคำแดงจะไม่ยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ตามที่ได้ตกลงกันไว้และกลัวจะแพ้พระยาคำแดง จึงได้ยกกองกำลังขึ้นไปแย่งชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ก่อนแล้วค่อยสร้างต่อไปจนเสร็จ แต่พระยาคำแดงได้วางมาตรการคุ้มกันอย่างเข้มแข็ง ทั้ง 6 คนบุกเข้ารบอย่างดุเดือดแต่ก็ไม่สามารถโจมตีเข้าไปถึงที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุได้ เนื่องจากมีกำลังน้อยกว่าและพระยาคำได้เสียชีวิต เป็นอันว่าผู้สร้างพระธาตุกู่จานเหลือเพียง 5 คน เมื่อเห็นว่ามีกำลังน้อยกว่าคงสู้ต่อไปไม่ได้จึงยกทัพกลับ เมื่อกลับมาถึงก็ได้ทำการคัดเลือกผู้ที่มีฝีมืออยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้าฟันไม่เข้า รวบรวมได้หนึ่งหมื่นคนก็ยกกำลังไปที่หัวเมืองฝ่ายเหนืออีกเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดงเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ฝ่ายของพระยาพุทธก็ได้รับความผิดหวัง ทหารที่เกณฑ์ไปเสียชีวิตทั้งหมดเหลือรอดกลับมามีแต่เจ้าเมืองทั้งห้าเท่านั้น เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จก็กลับมายังเมืองของตน เพื่อทำการคัดเลือกทหารและวางแผนการใหม่โดยแบ่งกำลังออกเป็น 5 ส่วนเท่ากัน ในส่วนของพระยาพุทธนั้นยังไม่เข้าโจมตีรอให้ทั้ง 4 ฝ่ายเข้าโจมตีก่อน แล้วจึงเข้าโจมตีด้านหลัง ทหารของพระยาคำแดงหลงกลที่เห็นพระยาทั้ง 4 เข้าตีด้านหน้าก็พากันออกมารับโดยไม่ระวังด้านหลัง พระยาพุทธซึ่งคอยทีอยู่แล้วจึงได้พังประตูด้านหลังเข้าไปยังที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุอันได้บรรจุไว้ในผอบทองคำเขียนอักษรติดเอาไว้ซึ่งพระยาพุทธได้มาทั้งสิ้น 6 ผอบ คือ 1.พระบรมสารีริกธาตุ พระเศียร 2.พระบรมสารีริกธาตุ พระอุระ 3.พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ขวา 4.พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ซ้าย 5.พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทขวา และ 6.พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทซ้าย ในแต่ละชิ้นของพระบรมสารีริกธาตุมีขนาดเท่าเมล็ดงา พระยาทั้ง 5 เมื่อทำการสำเร็จแล้วจึงนำทหารถอยกลับยังเมืองฝ่ายตน หลังจากนั้นจึงทำการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์จนกระทั่งสำเร็จและได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 6 ผอบไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์เป็นที่เรียบร้อย แต่ในการสร้างพระเจดีย์ครั้งนี้เป็นที่คับแค้นของเหล่าประชาราษฎร์ยิ่งนักเนื่องจากไม่ได้ร่วมก่อสร้างด้วย ดังนั้นพระยาทั้งห้าจึงได้ปรึกษากันว่าพวกเราต้องสร้างใหม่อีกแห่งหนึ่งเพื่อที่จะให้ราษฎรในแต่ละหัวเมืองได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง แต่ในครั้งนี้ต้องสร้างเป็นวิหารเพื่อเป็นที่เก็บสิ่งของและจารึกประวัติพระธาตุไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เมื่อประชาชนในเมืองต่างๆ ทราบข่าว ต่างมีความยินดีที่จะได้ร่วมสร้างวิหารซึ่งวิหารนั้นจะต้องทำด้วยหินและหินนั้นต้องเป็นหินทะเลเมื่อตกลงกันแล้วพระยาทั้งห้าต่างก็แยกย้ายไปบอกข่าวแก่ประชาชนของตนให้ไปนำหินจากทะเลมาก่อสร้างพระวิหารโดยจัดแบ่งเป็นกลุ่มๆ กันไป ฝ่ายพระยาคำแดง หัวเมืองฝ่ายเหนือโกรธแค้นมากและทราบว่าผู้ที่มาแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุเป็นผู้ใด จึงได้ยกกำลังกองทัพลงมายังหัวเมืองฝ่ายใต้เพื่อพิจารณาขอร่วมสร้างด้วยเพราะรู้ว่าพระยาทั้ง 5 ได้ไปแย่งชิงเอาพระสารีริกธาตุจากตนมาแล้ว แต่พระยาทั้งห้าไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากฝ่ายพระยาพุทธไม่ได้เตรียมกองกำลังป้องกันไว้จึงเสียเปรียบ ผลปรากฏว่าพระยาทั้งหมดเสียชีวิตคือพระยาคำแดงถูกพระยาพุทธฟันด้วยทวนคอขาด ส่วนพระยาฝ่ายใต้ก็เสียชีวิตทั้งหมดเช่นกัน ศพทั้งหมดได้ถูกเผาและนำมาฝังไว้ห่างจากพระธาตุกู่จานประมาณ 200 -300 เมตร ทั้ง 4 ทิศ สนามรบครั้งนั้นก็คือดอนกู่ในปัจจุบันซึ่งมีหินเรียงกันเป็นชั้นๆ อยู่ทางทิศเหนือของบ้านกู่จาน ห่างจากองค์พระธาตุกู่จานไปไม่มากนักส่วนศพของพระยาคำแดงชาวเมืองได้ช่วยกันเผาแล้วปั้นเป็นเทวรูปคอขาด ซึ่งปัจจุบันนี้พระพุทธรูปคอขาดได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดสมบูรณ์พัฒนา ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นวัดที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ส่วนข้าวของเงินทองของพระยาคำแดง ซึ่งนำลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือและของพระยาทั้งห้าของหัวเมืองฝ่ายใต้ ได้ถูกสาปให้จมธรณีเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดทำลายและนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว ส่วนชาวเมืองหัวเมืองฝ่ายใต้ที่พากันไปขนหินทะเลนั้น บางกลุ่มก็ยังไปไม่ถึง บางกลุ่มก็ไปถึง บางกลุ่มก็กลับมาถึงครึ่งทาง บางกลุ่มก็มาถึงแล้วแต่กลุ่มที่เดินทางไปก่อนหลังเมื่อทราบข่าวว่าเจ้าเมืองของตนตายก็พากันทิ้งหินไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเห็นอยู่หลายแห่ง เมื่อดอนกู่ได้เกิดศึกใหญ่มีคนตายมากมาย ชาวเมืองที่เหลืออยู่เสียขวัญจึงพากันอพยพถิ่นฐานไปหาที่สร้างเมืองใหม่ปล่อยให้พระธาตุกู่จานถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่บัดนั้น จนกลายเป็นป่าทึบตามธรรมชาติเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดหลายต่อหลายชั่วอายุคนที่ไม่อาจนับได้ จนกระทั่งบรรพบุรุษที่เดินทางมาจากบ้านปรี่เชียงหมีมาพบเข้าได้เห็นดีที่จะตั้งหมู่บ้านเพราะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ดินอุดมสมบูรณ์จึงตั้งหมู่บ้านขึ้น และถางป่ามาพบพระธาตุแต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของพระธาตุ จนมาถึงปี พ.ศ. 2521 จึงปรากฏว่ามีสามเณรถาวร อินกาย และเกิดอภินิหารขึ้นจนกลายเป็นเรื่องเล่าของประวัติพระธาตุกู่จาน[1] สถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมมีรูปทรงแบบธาตุอีสานทั่วไปโดยสร้างตามแบบพระธาตุพนมแต่มีขนาดเล็กกว่า ฐานล่างเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายเตี้ยๆรองรับฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมเรียบๆต่อด้วยองค์เรือนธาตุทรงบัวเหลี่ยมประดับลวดลายและยอดธาตุทรงบัวเหลี่ยมรองรับฉัตรซึ่งเป็นยอดบนสุด พระธาตุกู่จานคงสร้างขึ้นตามคตินิยมแบบเดียวกับการสร้างพระธาตุทั่วไป คือ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากรูปแบบของพระธาตุซึ่งได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากพระธาตุพนม สันนิฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12[2] โบราณวัตถุจากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังเหลือให้พบเห็นจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
การเดินทางเดินทางจากตัวจังหวัดยโสธรโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มายังอำเภอคำเขื่อนแก้ว ระยะทาง 23 กิโลเมตร ผ่านตัวอำเภอคำเขื่อนแก้วประมาณ 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายบริเวณสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร ใช้ทางหลวงชนบทสายบ้านแหล่งแป้น-บ้านกู่จาน ระยะทาง 7.4 กิโลเมตร ก็ถึงวัดกู่จาน[4] อ้างอิง
|