Share to:

 

โพสพ

โพสพ
เทพีแห่งข้าว
รูปปั้นโพสพในสยามสมาคม
เป็นที่บูชาในศาสนาผี, พราหมณ์ไทย
พาหนะปลา
เป็นที่นับถือในประเทศไทย

โพสพ บ้างเรียก โพสี[1] ภาษาถิ่นพายัพและอีสานว่า โคสก[2][3] หรือ เสื้อนา เสื้อไร่[4] ภาษาไทลื้อว่า ย่าขวัญข้าว[5] ภาษากะเหรี่ยงว่า ภี่บือโหย่[6] หรือ ผีบือโย[7] ภาษามลายูปัตตานีว่า มะฮียัง (Mak Hiang)[8] เป็นเทพเจ้าแห่งข้าวตามคติความเชื่อของไทย[9] โพสพตามความเชื่อแต่เดิมเป็นเทวสตรี แต่ภายหลังได้มีคติปรากฏเป็นบุรุษเพศคู่กัน มีปลาเป็นพาหนะ[1]

นอกจากนี้ยังปรากฏใน โคลงทวาทศมาส ออกนามว่า "พระไพศภ" "พระไพศพ" หรือ "พระไพสพ"[1] และปรากฏอยู่ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ ในกฎหมายตราสามดวง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าให้ชำระ[4]

ประวัติ

การทำนาเป็นอาชีพที่ชาวไทยทำสืบทอดกันมาช้านานจนถึงปัจจุบัน

โพสพ เป็นเทวดาตามความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท ตามคติการนับถือผีผู้หญิง ความเชื่อเรื่องขวัญ และเกิดจากรากฐานสังคมเกษตรกรรมที่มีมาช้านาน[10] มีพิธีกรรมบูชาแม่โพสพ โดยทำ เฉลว ในหน้านา ด้วยมีความเชื่อว่าแม่โพสพจะบันดาลให้วิถีชีวิตของพวกเขาพออยู่พอกิน[11] เป็นมิ่งขวัญของชาวนาในยุ้งฉาง[1] ข้าวออกรวงงามสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนหรือเฉาตายไปเสีย[12] อันเกิดจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมที่ชาวนาต้องเผชิญ พวกเขาต้องพึ่งพาฝนฟ้าอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก[13]

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า นางโพสพ มีชื่อดั้งเดิมว่า แม่ข้าว เป็นผีบรรพชนข้าวในศาสนาผี อันเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของคนไทย และการเปลี่ยนชื่อเกิดขึ้นจากการรับภาษาและศาสนาจากอินเดีย[14] แม้พระแม่โพสพจะมีมาเนิ่นนานก่อนการรับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในยุคหลังมีความเชื่อถือว่านางโพสพเป็นพระภาคหนึ่งของพระลักษมี บ้างก็ว่าเดิมเป็นชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ชื่อ พระสวเทวี (เพื่อโยงชื่อโพสพเข้ากับชื่อชายาพระอินทร์ นั่นคือให้ 'สพ' แผลงมาจาก 'สว' ส่วน โพอาจจะมาจากชื่อ ไพสพ ของเทวดารักษาทิศอีสาน)[1] บ้างก็ว่าคือท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ เทพเจ้าประจำทิศเหนือ ซึ่งเป็นคติที่รับมาจากอินเดีย โดยท้าวกุเวรนั้นเป็นบุรุษรูปร่างอ้วนท้วน พุงพลุ้ย ในพระหัตถ์ถือถุงเงิน ด้วยเป็นเทพเจ้าแห่งทรัพย์สิน แต่ไทยปรับเปลี่ยนมาเป็นเทวสตรี และกลายเป็นเทพเจ้าแห่งข้าว[4]

ครั้นเมื่อชาวไทยเลือกที่จะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักแล้ว แต่ยังไม่ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมไปด้วย ทำให้เกิดการผสานความเชื่อ ดังจะพบว่ามีการนำข้าวมาทำบุญถวายพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ใช้อุทิศแก่บรรพบุรุษ และใช้ไหว้เจ้าที่หรือนางโพสพเพื่อแสดงความกตัญญู ถือเป็นการนำแนวคิดแบบพุทธมาปรับใช้กับพิธีกรรมพื้นเมือง[15]

รูปลักษณ์ของนางโพสพยุคแรก ๆ เป็นรูปสตรียืนถือพันธุ์พืช ดังพบเจว็ดศิลาชิ้นหนึ่งเป็นรูปเทวสตรียืนถือช่อพันธุ์พฤกษา ศิลปะอยุธยา และเจว็ดดินเผาพบในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นรูปเทวสตรียืนอยู่บนเต่า ยกแขนข้างหนึ่งแต่ชำรุดไปเสียจึงไม่ทราบว่ายกอะไร คาดว่าน่าจะเป็นรูปเคารพของนางโพสพ ปัจจุบันเจว็ดทั้งสองจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม[16] ต่อมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีจิตรกรรมนางโพสพในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นภาพนางโพสพยืนถือรวงข้าวในมือ ปรากฏตัวพร้อมกับเทพองค์ต่าง ๆ สื่อถึงความเป็นสิริมงคลและความสมบูรณ์พูนสุขของแผ่นดิน[17] ทว่าในยุคหลังมานี้การสร้างรูปลักษณ์อิงจากนางกวักซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองเช่นกัน ทำให้โพสพมีลักษณะ "...เป็นหญิงสาวท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม ภาพของนางที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเป็นท่านั่งพับเพียบ มือขวาถือรวงข้าวมือซ้ายถือถุงข้าว แต่งกายนุ่งผ้าถุงห่มผ้าสไบเฉียงแบบหญิงในวังสมัยก่อน"[1] การสร้างรูปนางโพสพมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่งกายอย่างตัวละครในวรรณคดีไทย คือสวมสไบเฉียง สวมกรอบหน้า จอนหู สวมเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ต่าง ๆ นั่งพับเพียบอย่างนางกวัก บ้างก็เป็นรูปนางโพสพขี่ปลาก็มี[17]

โคลงทวาทศมาส ซึ่งเป็นวรรณกรรมของอาณาจักรอยุธยามีการกล่าวถึง "พระไพสพ" ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งข้าว นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว อธิบายว่า "ไพสพ" เป็นคำเดียวกับ "โพสพ" ที่พัฒนามาจาก "ไวศรวณะ" (สันสกฤต: वैश्रवण Vaiśravaṇa) คือพระไพศรพณ์ หมายถึงท้าวกุเวร หรือท้าวเวสวัณ เทพแห่งความมั่งคั่งและเจ้าแห่งทรัพย์ และเปลื้อง ณ นคร อธิบายเพิ่มเติมว่า "โพสพ" พัฒนามาจาก "ไพศรพณ์" เพราะสมัยนั้นถือว่าข้าวเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง[17] ในยุครัตนโกสินทร์ มีเอกสารทางศาสนาคือ ตำราภาพเทวรูป และ นารายณ์ยี่สิบปาง มีพระมหาไชไพรสภ เป็นเทพเจ้าแห่งข้าว แต่ต่างกับนางโพสพคือเพศสภาพตามคติชายเป็นใหญ่[18]

ในราชสำนักกัมพูชาก็รับความเชื่อเรื่องนางโพสพของไทยไปด้วย แต่นับถือในฐานะบุรุษเพศตามอย่างช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์คือนับถือพระไพสพ ในรัชกาลสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีจัดให้มีพระราชพิธีบูชาพระไพสพ ด้วยการบูชาภูเขาข้าวเปลือกตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา[19] ปัจจุบันการบูชาแม่โพสพได้สร่างซาลงไป โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมลายูที่เลิกการบูชาโพสพเพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม[20] ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงอุปถัมภ์พิธีกรรมโบราณนี้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551[21][22] บางหมู่บ้านก็มีสตรีแต่งกายเป็นพระแม่โพสพช่วงเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลองในท้องถิ่น[23]

คติชน

ใน โลกปฏิสนธิ และ ตำนานการสร้างโลก ฉบับนายชัย จันรอดภัย ซึ่งเป็นเอกสารทางศาสนาพื้นเมืองทางภาคใต้ของไทย มีเนื้อหากล่าวถึงนางโพสพ เรียกว่านางโพสาลี เดิมมีกายล่องหนไร้ตัวตนหรือเรียกว่าพับแพรว ล่องลอยเข้าไปสิงสถิตอยู่ต้นข้าว ต่อมาพระอินทร์ส่งโคนิลลงมาทำนาให้มนุษย์ โคนิลกินต้นข้าวที่นางโพสาลีสิงสถิตเข้าไปจึงถ่ายมูลออกมาเป็นต้นข้าวสาลี นางโพสาลีจึงสิงสถิตอยู่ในต้นข้าวและเป็นผู้ผลิตข้าวเรื่อยมา เมื่อมนุษย์ทราบว่าสามารถบริโภคข้าวได้ก็มีการกักตุนและแย่งชิง ครั้นเมื่อปัญหาการแย่งชิงจบสิ้นแล้ว ก็มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อโคทอง ซึ่งร่ำรวยเพราะนับถือพระธรรม นางโพสาลีจึงเข้ามาอยู่ด้วย โคทองจัดพิธีบูชานางโพสาลี นางโพสาลีจึงอำนวยให้โคทองร่ำรวยและเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ต่อมามีพระโพธิสัตว์นามว่าพระกุกุสุนโธ มาเทศนาโปรดมนุษย์ได้ถามผู้มาฟังเทศน์ว่าใครคือผู้มีบุญคุณกับมนุษย์มากที่สุด มนุษย์ทั้งหลายต่างพร้อมใจกันตอบว่า "พระโพธิสัตว์" เมื่อนางโพสาลีได้ยินเช่นนั้นก็เสียใจว่าตนเป็นอาหารของมนุษย์มาช้านานแต่กลับไม่มีคนนึกถึงบุญคุณ เมื่อคิดได้เช่นนี้นางจึงหนีไป หลังจากนั้นมนุษย์ก็เดือดร้อนมากเพราะไม่มีข้าวให้บริโภคจึงออกตามหานางโพสาลี ปรากฏว่ามีนกซังแซวและปลาประหลาดอาสาตามหานางโพสาลี ทั้งสองตามหานางจนเจอ ทว่านางโพสาลีไม่ยอมกลับแต่มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ็ดเมล็ดให้ เมื่อนกซังแซวและปลาประหลาดกลับถึงเมืองมนุษย์ ลูกสาวของโคทองตกปลาประหลาดก็นำไปผ่าท้องแล้วพบว่ามีขวัญข้าว จึงจัดพิธีทำขวัญข้าวขึ้นมาตั้งแต่นั้น[24]

ในจังหวัดพัทลุง มีวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง พระแม่โพสพ เนื้อหาระบุว่า มีเทพธิดาแห่งข้าวองค์หนึ่งอาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ ประสงค์จะให้มนุษย์ทั้งหลายมีข้าวกิน จึงจำแลงกายเป็นหญิงเฒ่าถือห่อผ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ ครั้นแม่เฒ่าเดินไปในหมู่บ้าน ก็กลับมีแต่คนรังเกียจเดียดฉันท์ กระทั่งหญิงชราเดินไปถึงกระท่อมเก่า ๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีผัวเมียยากจนเป็นเจ้าของ ผัวเมียคู่นี้ยินดีให้หญิงเฒ่ามาพักอาศัย หญิงเฒ่าซึ้งในน้ำใจคู่ผัวเมียคนยาก จึงมอบถุงผ้าที่ห่อเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วแนะว่าให้เอาเมล็ดนี้โปรยลงดิน ครั้นเมื่อเมล็ดข้าวได้รับน้ำก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถนำมาหุงบริโภคได้ หญิงเฒ่าจึงบอกให้ทั้งสองนำเมล็ดพันธุ์นี้แจกจ่ายชาวบ้านจะได้มีไว้กินในภายภาคหน้า หลังจากนั้นหญิงชราก็หายตัวไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อชาวบ้านจะไถนา ก็จะอัญเชิญนางโพสพมาช่วยดูแลข้าว และบูชานางโพสพที่ประทานข้าวแก่มนุษย์ไว้กินจนถึงปัจจุบัน[25]

พิธีกรรม

เฉลว

ในฤดูทำนาจะมีการทำขวัญข้าวหรือการทำขวัญแม่โพสพสองครั้ง ครั้งแรกคือในช่วงข้าวออกดอกหรือตั้งท้อง เปรียบนางโพสพเป็นหญิงตั้งครรภ์แพ้ท้องอยากอาหารต่าง ๆ และครั้งหลังคือทำหลังนวดข้าวและเก็บข้าวเข้ายุ้ง ถือเป็นการเรียกขวัญเพราะนางโพสพเป็นหญิงสาวอ่อนไหวตกใจง่าย[26] บางท้องที่ต้องกระทำตามฤกษ์ยามที่เหมาะสม มิเช่นนั้นจะถูกผีเสื้อข้าวกินผลผลิตจนสิ้น[12]

โดยการทำขวัญข้าวหรือทำขวัญแม่โพสพนั้นแต่ละท้องถิ่นจะมีพิธีกรรมหรือธรรมเนียมแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นในแถบจังหวัดปทุมธานี ต้องเตรียมเฉลว ธงสามสี มีแป้งหอม น้ำมันหอม หวี และกระจก จะให้ผู้หญิงนำอาหารและเครื่องเซ่นใส่ชะลอมไปไว้ที่หัวคันนาของแปลงนาที่ตั้งศาลไว้ โดยปักไม้ไว้ข้างศาลเพื่อแขวนชะลอมที่บรรจุอาหารเครื่องเซ่น และประดับธงสามสีไว้บนยอดเสา จุดธูปสามดอกแล้วสวดบูชาพระรัตนตรัย "นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธ ทัสสะ" สามจบ แล้วกล่าวคำบูชาพระ "พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา" จากนั้นจึงกล่าวคำเรียกขวัญนางโพสพว่า "แม่พระศรี แม่พระโพสพ แม่พระนพดารา ขอเชิญแม่มาสังเวย อาหารเปรี้ยวหวานมันเค็ม กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าลูกใหญ่ ส้มสูกลูกไม้ ขอเชิญมาแม่สังเวยอยู่กับลูกเลี้ยงลูกคน ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ขอเชิญแม่มา ณ บัดนี้" จากนั้นจึงเอาน้ำมันหอมทาใบข้าว เอาหวีมาสาง เอาแป้งมาพรมของสังเวย เสร็จแล้วให้ร้องกู่สามครั้งแล้วเดินออกไปห้ามเหลียวหลังมาดู เพราะนางโพสพจะอายไม่มารับของสังเวย[26]

จังหวัดพัทลุง เครื่องเซ่นที่ใช้นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีปลามีหัวมีหาง ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู 12 คำ แหวนหนึ่งวง เงินทอง ขันน้ำมนต์ สายสิญจน์ เขาวัว และบายศรีปากชาม จากนั้นจะมีการวงสายสิญจน์ สวดบูชาพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดา ไหว้สดุดีนางโพสพ จากนั้นจึงเปิดกรวยบายศรี จุดเทียนชัยแล้วแหล่ทำขวัญข้าว แล้วจบด้วยบทชยันโต คาถาปิดประตูปิดหน้าต่างเพื่อให้นางโพสพอยู่ในยุ้งฉางเป็นอันจบพิธี[12]

บ้านพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ในช่วงเก็บข้าวใหม่ในแต่ละปี ชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้มาใส่ใน "เรือนข้าว" หรือยุ้งฉาง โดยนำข้าวมาผูกและทำการไหว้ (คือทำขวัญข้าว) หลังจากนั้นจะนำ "เป็ด" หรือหม้อน้ำเรียกขวัญข้าว ซึ่งเป็นภาชนะทองเหลืองรูปร่างคล้ายเป็ดซึ่งใส่น้ำจนเต็ม นำมาตั้งบนข้าวที่เก็บมาไว้บนเรือนข้าว รอจนนำแห้งไปเอง และจะกระทำเช่นนี้เพียงปีละครั้ง[27]

โพสพในประเทศต่าง ๆ

นอกจากแม่โพสพที่เป็นเทพเจ้าแห่งข้าวตามคติความเชื่อของไทยแล้ว ยังมีเทพเจ้าแห่งข้าวที่ใกล้เคียงกับพระแม่โพสพคือ เทวีศรี ซึ่งเป็นเทพแห่งข้าวตามความเชื่อของชาวชวา, ซุนดา และบาหลี ในประเทศอินโดนีเซีย และ โปอีโนนอการ์ (Po Ino Nogar) เทพเจ้าแห่งข้าวตามคติของชาวจามซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศประเทศกัมพูชา และเวียดนาม[28]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 วรรณา นาวิกมูล. "แกะรอยแม่โพสพ". ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-07. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. มาลา คำจันทร์ (13 มีนาคม 2555). "เรียกขวัญข้าว (๒)". โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-08. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ผีตาแฮก". ประตูสู่อีสาน. 9 สิงหาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-06. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 หน้า 3, จากแม่โพสพ กับข้าวใหม่. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง, ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21891: วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 2 ปีระกา
  5. บุญยงค์ เกศเทศ. ร้อยขุนเขาเผ่าไทในเวียดนาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:หลักพิมพ์, 2548, หน้า 122
  6. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และอื่น ๆ (13 มีนาคม 2555). "ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ (1)". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. "ความเชื่อของชนเผ่ากะเหรี่ยง". nutkubphom16. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. เจนจิรา เบญจพงศ์ (9-15 มีนาคม 2555). "มะโย่ง การแสดงจากพิธีกรรมในวัฒนธรรมมุสลิม". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "Pairin Jotisakulratana, Mae Po sop: The Rice Mother of Thailand". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-26. สืบค้นเมื่อ 2007-05-26.
  10. วรรณา นาวิกมูล. "แกะรอยแม่โพสพ". ศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร (ศวทก.) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  11. "Rice Hoarding Affect Supplies in Thailand". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2014-01-27.
  12. 12.0 12.1 12.2 "พิธีบูชาแม่โพสพ". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. 19 กันยายน 2563. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-15. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. ทิพยประติมา, หน้า 212-213
  14. สุจิตต์ วงษ์เทศ (28 มิถุนายน 2563). "แม่โพสพ โดยรัฐนาฏกรรม ในพิธีเผาข้าว ตามลัทธิเทวราช". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ชาญณรงค์ คงฉิม. ตำนานการสร้างโลกภาคใต้ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์ ฉบับบัณฑิตศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. p. 81.
  16. ทิพยประติมา, หน้า 219-220
  17. 17.0 17.1 17.2 ทิพยประติมา, หน้า 220-221
  18. ทิพยประติมา, หน้า 223-225
  19. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 287
  20. "มองคนมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านแว่นวรรณกรรมฯ". มติชนออนไลน์. 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  21. Thailand revives worship of Rice Goddess - The China Post
  22. "พิธีอัญเชิญแม่โพสพคืนนา". สุพรรณอินชัวร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. Woman in Pho sop costume
  24. ชาญณรงค์ คงฉิม. ตำนานการสร้างโลกภาคใต้ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์ ฉบับบัณฑิตศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. p. 78.
  25. "สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุงร่วมกับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และกลุ่มชาวนาจังหวัดพัทลุงจัดพิธีกรรมบูชาแม่โพสพหรือพิธีกรรมทำขวัญข้าว เพื่อสืบสานพิธีกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม". สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง. 7 มิถุนายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-15. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. 26.0 26.1 ประคอง นิมมานเหมินท์และอื่น ๆ. "คติความเชื่อและศาสนา" (PDF). คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. "วิถีชาวนาโบราณ จ.ปัตตานี และหมู่บ้านขนมโบราณ จ.นราธิวาส : ซีรีส์วิถีคน". Thai PBS. 5 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. sabrina (28 กันยายน 2551). "Po Ino Nogar". Goddess a day. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-25. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยประติมา. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2560. 248 หน้า. ISBN 978-616-027673-13-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya