Share to:

 

พระยาชัยสุนทร (เก ณ กาฬสินธุ์)

พระยาชัยสุนทร
(เก ณ กาฬสินธุ์)
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
ก่อนหน้าพระยาชัยสุนทร (พั้ว)
ถัดไปพระยาชัยสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดปี พ.ศ. 2399
กาฬสินธุ์
เสียชีวิตวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ 2459
โฮงใต้ เมืองกาฬสินธุ์
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระยาชัยสุนทร (เก ณ กาฬสินธ์) นามเดิมท้าวเก เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ลำดับที่ ๑๑ (สุดท้าย) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๓-๓๗[1] ก่อนปฏิรูปการปกครองภาคอีสานเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นผู้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ณ กาฬสินธุ์ จากรัชกาลที่ ๖ นับเป็นต้นตระกูล ณ กาฬสินธุ์ แห่งจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน[2]

ชาติกำเนิด

พระยาชัยสุนทร (เก) เป็นบุตรของราชบุตร (งวด) เมืองกาฬสินธุ์ เป็นหลานปู่ของพระยาไชยสุนทร (หนูม้าว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ลำดับที่ ๘ เป็นเหลนทวดของพระไชยสุนทร (หมาสุ่ย) อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์บุตรในพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) ผู้สร้างเมืองกาฬสินธุ์และเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ลำดับที่ ๑ โอรสในเจ้าองค์ลองกับพระมารดาซึ่งเป็นธิดาเจ้าผ้าขาวในราชวงศ์เวียงจันทน์ผู้ก่อตั้งเมืองผ้าขาวและเมืองพันนา เจ้าองค์ลองเป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ หรือพระไชยองค์เว้กษัตริย์ล้านช้างองค์ที่ ๓๖ หลังย้ายราชธานีมายังนครเวียงจันทน์ในรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราช

ประวัติ

ครั้นท้าวเกเจริญวัยได้บวชเรียนอักขระตามประเพณีนิยมพอรู้หนังสือระดับหนึ่งแล้ว ขณะอยู่ในสมณเพศได้เข้าศึกษาวิชาการปกครองบ้านเมือง ณ สำนักวัดในกรุงเทพมหานครแล้วลงมารับราชการในกรมการเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน มีพระบัญชาแต่งตั้งท้าวเกให้เลื่อนเป็นที่พระสินธุประชาธรรมผู้รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ถัดนั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นที่พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ หลังมีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ โดยยกเลิกการปกครองในระบบอาญาเมืองและให้เรียกเจ้าเมืองว่าผู้ว่าราชการเมือง พระยาไชยสุนทร (เก) จึงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์คนแรก รับเงินเดือน ๘ อัฐต่อปี ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ไร่ พระราชทานยศข้าราชการพลเรือนเป็นที่อำมาตย์ตรี ทำราชการขึ้นบริเวณเมืองร้อยเอ็ดซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลร้อยเอ็ดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐-๕๔ ครั้นผลัดแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบรมราชโองการประกาศยกเลิกการจัดการปกครองแบบหัวเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด พระยาไชยสุนทร (เก) จึงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์คนแรก ไม่นานจึงลาออกจากราชการแล้วโปรดฯ ให้ดำรงตำแหน่งกรมการเมืองพิเศษมณฑลร้อยเอ็ดแทนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔-๕๖

เหตุการณ์สำคัญ

พ.ศ. ๒๔๓๓ พระยาไชยสุนทร (พั้ว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ล้มป่วยจากอาการบาดเจ็บเมื่อครั้งรบพุ่งศึกฮ่อนครเวียงจันทน์ขณะติดตามไปช่วยราชการศึกที่เมืองหนองคาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงโปรดฯ ให้ยกไพร่พลกาฬสินธุ์กลับคืนบ้านเมืองเดิม ก่อนนี้ราชบุตร (งวด) ผู้รักษาราชการเมืองได้ถึงแก่อนิจกรรมลงและเป็นเหตุให้กรมการเมืองว่างอยู่หลายตำแหน่ง ไม่นานหลังจากพระยาไชยสุนทร (พั้ว) ถึงแก่อนิจกรรมกรมการเมืองกาฬสินธุ์ก็ว่างลงเพิ่มหลายตำแหน่ง มีเพียงพระสินธุประชาธรรม (เก) บุตรราชบุตร (งวด) ทำหน้าที่รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาได้พร้อมกับกรมการเมืองมีใบบอกขอให้ท้าวทองคำขึ้นเป็นที่พระประทุมวิเศษเจ้าเมืองกันทรวิไชย ราชวงศ์เป็นอุปฮาด ท้าวแฮดเป็นราชวงศ์ ท้าวสีทะเป็นราชบุตร ท้าวทองคำนำใบบอกลงไปเฝ้า ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งกรมการเมืองกันทรวิไชยพร้อมมีตราพระราชสีห์แต่งตั้งให้ตามที่ขอ

เมืองกาฬสินธุ์สมัยปฏิรูปการปกครอง

ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ โดยยกเลิกระบบปกครองแบบเก่า ต่อมากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานเสด็จตรวจราชการถึงเมืองกาฬสินธุ์ พบว่าเจ้าเมืองว่างอยู่จึงกราบทูลขอตั้งพระสินธุ์ประชาธรรม (เก) ให้เป็นที่พระยาชัยสุนทรเจ้าเมือง ให้เมืองกมลาไสยมาขึ้นเมืองกาฬสินธุ์เช่นเดิม[3] ไม่นานจึงโปรดฯ ให้ตามที่ทูลขอ ครั้นสยามยุบตำแหน่งเจ้าเมืองหรือระบบการปกครองแบบคณะอาญาเมืองลงจึงโปรดฯ ให้พระยาชัยสุนทร (เก) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์คนแรก[4] ระหว่างปกครองเมืองใน พ.ศ. ๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้แบ่งการปกครองหัวเมืองลาวตะวันออกเป็น ๔ กอง ให้นายสุดจินดา (เลื่อน) เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไสย และภูแล่นช้าง โดยสังกัดหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ[5] โปรดฯ ให้หัวเมืองกาฬสินธุ์ขึ้นกับบริเวณร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๓๗ เปลี่ยนชื่อหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลลาวกาวและมณฑลอีสานตามลำดับ จากนั้นราว พ.ศ. ๒๔๓๗-๔๔ โปรดฯ ให้พระยาชัยสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางสุ)[6] ปกครองเมืองกาฬสินธุ์ต่อจากพระยาชัยสุนทร (เก)

หลังรัฐบาลสยามจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเจ้าเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มาเป็นการปกครองแบบมีภาค จังหวัด อำเภอ และมีพระบรมราชโองการโปรดฯ ให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ จึงให้ยุบเป็นอำเภอ เมืองกาฬสินธุ์ถูกยุบเป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ กระทั่ง ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงโปรดฯ ยกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นเป็นมณฑลและยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นตรงต่อมณฑลร้อยเอ็ด มีอำนาจปกครองอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ สหัสขันธ์ กุฉินารายณ์ กมลาไสย และยางตลาด ให้พระภิรมย์บุรีรักษ์เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์และขุนชัยศรีทรงยศ (ศรี ฆารสินธุ์) เป็นนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์[7] ถือเป็นอันสิ้นสุดระบบอาญาเมืองที่เคยปกครองกาฬสินธุ์มายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี และยุติบทบาทเจ้านายราชวงศ์เวียงจันทน์ที่ทรงปกครองเมืองกาฬสินธุ์มากถึง ๑๑ คน[8]

นามฉายา

คราวรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง พระยาชัยสุนทร (เก) นำบุตรภริยาเข้าเฝ้าดื่มน้ำพระพิพัฒสัตยาเพื่อส่งเสด็จ ทรงโปรดฯ พระยาชัยสุนทร (เก) มากถึงกับตรัสชมว่าเป็นเจ้าเมืองรูปงาม ผิวขาว ร่างบอบบาง และโปรดฯ เรียก อ้ายพระยาน้อย ซึ่งเป็นนามที่ทำให้พระยาชัยสุนทร (เก) ปลาบปลื้มจนบอกเล่าให้บรรดาทายาทบุตรหลานฟังเสมอ และมักอบรมสั่งสอนบุตรหลานทุกคนให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หากบุตรหลานมีโอกาสรับราชการขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ อย่าฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอันขาด และขอให้ทุกคนถือว่า คนกาฬสินธุ์คือญาติพี่น้องของเราทุกคน

การพระศาสนา

อัญเชิญหลวงพ่อองค์ดำจากเมืองภูแล่นช้าง

สมัยรัชกาลที่ ๕[9] พระยาชัยสุนทร (เก) เดินทางไปตรวจราชการที่เมืองภูแล่นช้างจึงพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งหล่อด้วยทองสำริดมีพุทธลักษณะงดงามศิลปะสกุลช่างเวียงจันทน์ ประดิษฐานที่วัดนาขาม บ้านนาขาม เมืองภูแล่นช้าง ซึ่งเป็นวัดร้างแต่โบราณ ชาวบ้านไม่เอาใจใส่และปล่อยให้สิม (อุโบสถ) ผุพังไปตามสภาพกาล ทั้งมีดินถมพระพุทธรูปจมมิดฐานแอวขัน (บัลลังก์) พระยาชัยสุนทร (เก) จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองกาฬสินธุ์ ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

ตามประวัติระบุว่าเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑ ในเวลาต่อมา) ได้กวาดต้อนประชาชนชาวผู้ไทมาจากอาณาจักรล้านช้างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งมีบ่อคำแดงอยู่มากในบริเวณเมืองสุวรรณเขต ชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองภูแล่นช้าง ปัจจุบันคือตำบลนาขาม อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาอาชญาคูกิวพระเถระที่ได้รับการนับถือและเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนมา ได้นำทองแดงและทองคำที่ได้จากเมืองสุวรรณเขตมาด้วย ต่อมาอาชญาคูกิวจึงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ โดยมีช่างจากทางล้านนาโบราณที่เชี่ยวชาญมาเป็นผู้หล่อขึ้น แต่ว่าทองแดงมีจำนวนไม่มากพออาชญาคูกิวจึงเดินทางกลับไปนำทองแดงมาเพิ่มอีกครั้ง ภายหลังเมื่อหล่อพระพุทธรูปสำเร็จแล้ว ปรากฏว่าองค์พระพุทธรูปทำปฏิกิริยาออกซิ-เดชั่นกับออกซิเจนในอากาศเกิดเป็นสนิมสีดำเกาะทั่วองค์พระพุทธรูป เมื่อขัดสนิมออกแล้วจึงเห็นสีทองแดง เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็กลับเกิดเป็นสีดำเช่นเดิม ชาวบ้านจึงขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อองค์ดำ ต่อมาชาวบ้านได้นำไปประดิษฐานที่วัดนาขาม บ้านนาขาม หลวงพ่อองค์ดำมีพุทธลักษณะเป็นปางซำนะมาร (ปางมารวิชัย) ขัดสมาธิราบ วัสดุทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 41 เซนติเมตร ฐานสูง 37 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเมาลี 75 เซนติเมตร ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรมลาว (โตธัมม์) สมัยหลวงพระบางความว่า ...สังกราชราซาได้ฮ้อย ๗๒ ตัว ปีกดสะง้า เดือน ๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๕ มื้อ ฮ่วงเหม้า นักขัตตะฤกษ์อีกหน่วยซื่อว่าปุสสยะ สังเฆ สะมะดี มีเจ้าครูนาขาม (กิว) เป็นเค้าเป็นเจ้าอธกศรัทธา ทายกอุปสกอุปาสิกาพ่ำพร้อมน้อมนำมายังตัมพะโลหาเป็นเอกศรัทธา สร้างพระพุทธฮูปองค์นี้ไว้ให้ได้เป็นที่ไหว้และบูซาแก่คนและเทวดา ตาบต่อเท่า ๕,๐๐๐ วัสสา นิพพาน ปัจจโย โหติ นิจจัง ธุวัง ธุวัง...[10]

ถวายหลวงพ่อองค์ดำแก่วัดกลาง

พระยาชัยสุนทร(เก)มาตรวจราชการกับกรมการเมืองกาฬสินธุ์ที่เมืองภูแล่นช้าง ได้พบพระพุทธรูปหลวงพ่อองค์ดำที่สิมร้างเมืองภูแล่นช้างขณะนั้นท้าวทองสุก ผู้เป็นว่าที่”พระพิไชยอุดมเดช”เป็นผู้รักษาราชการเมือง เนื่องจากชาวบ้านในละแวกนั้นไม่เอาใจใส่ดูแลเปล่อยให้พระพุทธรูปจมดินอยู่ปิดฐานพระและมีความเคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อองค์ดำมาแต่โบราณ พระยาชัยสุนทร (เก) จึงสั่งให้ชาวบ้านขุดแต่งสิมและพระพุทธรูปขึ้นมาแล้วได้นำช้าง 5 เชือก มาอัญเชิญพระพุทธรูปใส่หลังช้างแห่ไปยังเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้ชาวบ้านยอมถวายหลวงพ่อองค์ดำแก่พระยาชัยสุนทร (เก) จึงได้อัญเชิญไปถวายไว้เพื่อสืบทอดพระวรพุทธศาสนาและประดิษฐานที่วัดกลางพระอารามหลวง ในสมัยพระครูกาฬสินธุ์ทิวาจารย์สังฆปาโมกข์(อ้ม)ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ได้ไปจำพรรษาที่วัดเหนือและต่อมาได้จำพรรษาที่วัดกลาง จนถึงสมัยของพระครูสุขุมวาทวรคุณ (สุข สุขโณ) จึงได้นำหลวงพ่อองค์ดำประดิษฐานไว้ที่กุฎิเพื่อป้องกันการสูญหาย แต่ทว่าด้วยชื่อเสียงของหลวงพ่อองค์ดำทำให้ชาวบ้านต้องมาสักการะบูชา พระครูสุขุมวาทวรคุณ (สุข สุขโณ) จึงนำหลวงพ่อองค์ดำไปแห่รอบเมืองเพื่อขอฝนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวเมืองกาฬสินธุ์ เป็นเหตุให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลทำให้ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อองค์ดำอีกนามหนึ่งว่า หลวงพ่อซุ่มเย็น ต่อมา ชาวเมืองกาฬสินธุ์เรียกขานนามว่า พระพุทธสัมฤทธิ์นิรโรคันตราย[11]

ถึงแก่อนิจกรรม

พระศรีธงไชย (คำตา วงศ์กาฬสินธุ์) แจ้งมายังพระกาฬสินธุ์ธานีศรีอุตระนิคม (ปุย อินทรตุล) ข้าหลวงประจำบริเวณเมืองกาฬสินธุ์ว่า “...เจ้าคุณพระยาไชยสุนทร (เก ณ กาฬสินธุ์) ผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์ได้ล้มป่วยจากอาการเป็นลมอุบัติเหตุตกจากหลังช้าง บุตรและภรรยาได้อภิบาลดูแลอย่างดีเต็มความสามารถ แม้ให้หมอฝรั่งมิชชั่นนารีมาทำการรักษาก็หาได้ดีขึ้นไม่ สุดท้ายอาการได้ทรุดลงตามลำดับจนได้ถึงแก่กรรมลงที่จวนเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันคือโฮงใต้ บริเวณวัดใต้โพธิ์ค้ำ) เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ สิริอายุคำนวณได้ ๖๐ ปีเศษ...” พระยาชัยสุนทร (เก) ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นเวลา ๒๖ ปี รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯ ให้กระทรวงมหาดไทยอัญเชิญหีบศิลาเพลิงพร้อมด้วยนำเงินพระราชทาน ๒,๐๐๐ สตางค์ และผ้าขาว ๔ พับมาพระราชทานเพลิงศพที่วัดชัยสุนทร อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เสร็จเรียบร้อยแล้วบุตรภรรยาได้นำอัฐิมาบรรจุไว้ ณ วัดชัยสุนทรจนถึงปัจจุบัน

พระราชทานนามสกุล ณ กาฬสินธุ์

ณ กาฬสินธุ์ เป็น ๑ใน ๒๑ นามสกุล ณ พระราชทานครั้งแรกของสยาม ลำดับที่ ๑๑๙๐ รัชกาลที่ ๖ พระราชทานแก่พระยาไชยสุนทร (เก) กรมการพิเศษเมืองกาฬสินธุ์ กระทรวงมหาดไท มณฑลร้อยเอ็จ อดีตเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ลำดับสุดท้าย เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทวดชื่อพระไชยสุนทร (หมาสุ่ย) อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ ปู่ชื่อพระยาไชยสุนทร (หนูม้าว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ลำดับที่ ๘ บิดาชื่อราชบุตร (งวด) บุตรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า na Kalasindhu ตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๑๕ เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๖๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร รับพระบรมราชโองการ[12]

ทายาท

พระยาชัยสุนทร (เก) สมรสกับคุณหญิงมั่น มีบุตรธิดา ๑๑ ได้แก่

๑. นางโคมแก้ว สมรสกับ ท้าวพรหมทัศน์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

๒. นายคำเคน ถึงแก่กรรมเมื่อวัยหนุ่ม

๓. นายสัมฤทธิ์ สมรสกับ นางสมมุติ(บุตรีท้าวสุริวงศ์กับนางปุ้ง)

๔. นางโสมนัส

๕. นางทองคำ

๖. นายเกษม สมรสกับ นางทองมาก

๗. นายสินทร สมรสกับ นางทูล

๘. นางรัศมี สมรสกับ นายคูณ บุพชัย

๙. นายทองดี สส.คนแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ (เกิดแต่หม่อมอุ้ย)

๑๐. นางทับทิม ถึงแก่กรรมในวัยสาว (เกิดแต่หม่อมทุม)

๑๑. ด.ช.ภูสินธ์ ถึงแก่กรรมเมื่อเยาว์วัย (เกิดแต่หม่อมทองนาค)

สายตระกูล

อ้างอิง

  1. http://www.kalasinpit.ac.th/elearning/kroosert/data/kalasin.htm[ลิงก์เสีย]
  2. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๕ (ลำดับที่ ๑๑๘๓ ถึงลำดับที่ ๑๒๒๑ และแก้ไขนามสกุล ลำดับที่ ๑๐๘๘)
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-30.
  4. http://watsamranniwet.siam2web.com/?cid=405876&f_action=forum_viewtopic&forum_id=38833&topic_id=120736&quote=topic[ลิงก์เสีย]
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-10. สืบค้นเมื่อ 2016-05-29.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-23. สืบค้นเมื่อ 2016-05-29.
  7. http://www.oknation.net/blog/guidepong/2010/05/11/entry-12
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-10. สืบค้นเมื่อ 2021-08-18.
  9. http://webcache.googleusercontent.com/search เก็บถาวร 2012-11-30 ที่ archive.today?
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-29.
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-29.
  12. http://my.diary.in.th/archives/110
ก่อนหน้า พระยาชัยสุนทร (เก ณ กาฬสินธุ์) ถัดไป
พระยาชัยสุนทร (พั้ว)
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์,
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

(พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2437)
พระยาชัยสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)
Kembali kehalaman sebelumnya