พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)
มหาอำมาตย์ตรี[1]พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (20 มิถุนายน พ.ศ. 2422 - 20 กันยายน พ.ศ. 2487) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เป็นต้นสกุล "ณ ป้อมเพชร์" ประวัติพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา มีนามเดิมว่า "ขำ" เป็นบุตรของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) อดีตผู้รักษากรุงเก่า กับหม่อมราชวงศ์ลำเจียก (สกุลเดิม: ภุมรินทร์) เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เกาะบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่บิดารับราชการอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน นายขำได้ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สอบไล่ได้ประโยค 2 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดตามหลักสูตรวิชาสามัญในขณะนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ. ศ. 2438 และได้ไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) จากนั้นก็สมัครเข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และรับราชการเป็นเสมียนสามัญในกระทรวงมหาดไทย เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงมหาดไทย (ภายหลังโรงเรียนแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนข้าราชการพลเรือน และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ใน พ.ศ. 2443 ก็เริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2445 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอปากพนัง เมืองนครศรีธรรมราช ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับที่อำเภอปากพนังเมื่อ พ.ศ. 2447 ทอดพระเนตรเห็นการปฏิบัติงานของนายอำเภอเป็นที่พอพระราชหฤทัย โดยเฉพาะในส่วนการเรือนจำ ทรงชมเชยการทำอิฐของเรือนจำอำเภอปากพนัง ว่าเป็นอิฐที่ทนทาน แข็งแรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งอิฐไปร่วมพระราชกุศลในการสร้างวัดเบญจมบพิตร ก่อนเสด็จกลับได้พระราชทานซองบุหรี่เงินลงยา มีพระปรมาภิไธยสยามินทร์ แก่นายขำ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนายขำก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงวิชิตสรไกร" ถือศักดินา ๘๐๐ [2] จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงวิชิตสรไกร พ้นจากตำแหน่งนายอำเภอปากพนัง และมารับตำแหน่งปลัดกรมพลัมภังแทนตำแหน่งที่ว่าง[3] ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงมหาดไทย มณฑลราชบุรี[4] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสพระแท่นดงรัง หลวงวิชิตสรไกร (ขำ) ได้มีหน้าที่จัดการรับเสด็จ จัดการปรุงแต่งทางที่จะเสด็จไปสู่พระแท่น และจัดสร้างพลับพลาที่ประทับจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ก่อนเสด็จกลับได้พระราชทานซองบุหรี่เงินรูปหีบไฟ มีพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. แกะเป็นรัศมีล้อม ต่อมาหลวงวิชิตสรไกรได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดมณฑลอิสาน ประจำจังหวัดสุรินทร์ แทนพระกรุงศรีบริรักษ์ที่ขอลาออกจากหน้าที่ราชการเนื่องจากมีอาการป่วยเรื้อรัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 [5] พ.ศ. 2454 หลวงวิชิตสรไกรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ[6] และได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์เอก "พระสมุทบุรานุรักษ์" ถือศักดินา 3,000[7] จังหวัดสมุทรปราการในเวลานั้น มีปัญหาอาชญากรรม โจรผู้ร้ายชุกชุม พระสมุทบุรานุรักษ์ได้จัดการปราบปรามและป้องกันให้การอาชญากรรมลดน้อยลง ในส่วนที่เกี่ยวกับการบำรุงก่อสร้าง เวลานั้นงบประมาณแผ่นดินมีไม่มากพอ ท่านจึงได้ใช้แรงงานนักโทษจัดสร้างและปรับปรุงถนนในจังหวัดสมุทรปราการหลายสาย ทั้งได้เริ่มทำถนนเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ โดยสร้างถนนต่อจากถนนในเมืองขนานกับทางรถไฟสายปากน้ำ เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่พักตากอากาศชายทะเลที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสถานที่ที่ใกล้ที่สุด ท่านเจ้าเมืองได้จัดการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่นิยมของชาวกรุงเทพฯ และผู้ที่ประสงค์จะเที่ยวพักผ่อน พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในได้เสด็จไปเป็นจำนวนมาก บางพระองค์ประทับเป็นแรมเดือน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จมาประทับใน พ.ศ. 2456 พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ในการปฏิบัติราชการครั้งนี้ถือเป็นความชอบพิเศษจึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอสิริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ ข้ามลำดับชั้นจากจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อ พ. ศ. 2454 ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรมที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ได้พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เป็นอันดับที่ 150 ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[8] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรม ณ เมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2457 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ให้เป็น "พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ" ถือศักดินา 3,000[9] ซึ่งการพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษเพราะไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบบรรดาศักดิ์มาแต่เดิม (บรรดาศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสมุทรปราการจะมีปรากฏว่า "พระสมุทบุรานุรักษ์") เนื่องจากได้ทรงพระราชดำริให้สมกับเหตุการณ์ที่ประจักษ์แก่พระองค์ โดยขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พลับพลาที่ประทับ ได้เกิดพายุพัดแรงจัดและฝนตกหนักผิดปกติ ทำให้เครื่องกันฝนที่พลับพลาชำรุด พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ได้อำนวยการซ่อมแซมเครื่องกันฝนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป้องกันมิให้พายุฝนทำความเสียหายแก่พลับพลาที่ประทับ วันรุ่งขึ้นได้มีพระบรมราชโองการให้เข้าไปเฝ้าที่พลับพลาและพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ ซึ่งหมายความว่า "มีอำนาจเหนือฝน" อันเป็นศิริแก่จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2458 ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรี "พระยาเพชร์ชฎา"[10] อันเป็นนามบรรดาศักดิ์ที่พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) ผู้เป็นบิดาเคยได้รับพระราชทานเมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำมหันตโทษ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์” ขึ้น[11] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ มหาอำมาตย์ตรี พระยาเพชร์ชฎา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก[12] เมื่อเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ท่านได้จัดวางรูปแบบราชการให้มีความเป็นระบบระเบียบ เช่น ได้จัดรวบรวมพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อบังคับ คำสั่ง เข้าเป็นเล่มเดียวกันทำนองประมวลการราชทัณฑ์ นอกจากนี้ได้วางระเบียบเรื่องการใช้แรงงานนักโทษ การโบยนักโทษ โดยกำหนดอำนาจผู้สั่งโบยและให้มีแพทย์ตรวจก่อนโบย ในส่วนการคลังนั้น ได้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง โดยขอข้าราชการกระทรวงการคลังมาเป็นหัวหน้ากองคลัง โดยข้าราชการผู้นั้นยังอยู่ในกระทรวงการคลัง การประสานงานวิธีนี้เป็นมาโดยเรียบร้อย นอกจากการจัดระบบงานดังได้กล่าวมาแล้ว พระยาเพชร์ชฎาได้จัดอบรมนักโทษเช่นเดียวกับการฝึกวิชาชีพ และการใช้แรงงานนักโทษทำงานสาธารณะ หารายได้นำส่งกระทรวงการคลัง จัดการก่อสร้างเรือนจำถาวรและชั่วคราวขึ้นหลายแห่ง 25 สิงหาคม พ. ศ. 2467 พระยาเพชร์ชฎาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมดา"[13] และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ใน พ.ศ. 2468 ใน พ.ศ. 2468 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้ยุบเลิกกรมราชทัณฑ์[14] โดยมีความปรากฏตามประกาศยุบเลิกกรมราชทัณฑ์ ว่า
ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกบรรดาศักดิ์ใน พ. ศ. 2485 พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมดาจึงได้กลับไปใช้นามและนามสกุลเดิม คือ ขำ ณ ป้อมเพชร์ และได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 รวมอายุได้ 65 ปี ชีวิตครอบครัวพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ได้สมรสกับคุณหญิงเพ็ง ณ ป้อมเพชร์ (สกุลเดิม: สุวรรณศร) บุตรีของหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กับนางนิล สุวรรณศร (สกุลเดิม: สุขุม) มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 12 คน ดังนี้
ยศยศเสือป่า
ตำแหน่ง
ลำดับสาแหรก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|