Share to:

 

พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ ณ วิเชียร)

มหาอำมาตย์โท พระยาประเสริฐสงคราม มีนามเดิมว่า ใจ เป็นเจ้าเมืองวิเชียรบุรีคนสุดท้ายก่อนปฏิรูปการปกครอง เคยดำรงตำแหน่งอดีตผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรบุรี และรับราชการประจำกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งจางวางกำกับราชการอำเภอวิเชียร ปัจจุบันคืออำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ในภาคกลางของประเทศไทย บิดานามว่า พระยาประเสริฐภักดี (จุ้ย ณ วิเชียร) เจ้าเมืองวิเชียรบุรี ปู่นามว่า พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ (บุญ ณ วิเชียร) เจ้าเมืองวิเชียรบุรี ทั้งบิดาและปู่ของพระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) สืบเชื้อสายจากตระกูลเจ้านายผู้ปกครองเมืองท่าโรงหรือเมืองศรีเทพในอดีต มาตั้งแต่ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) เป็นต้นสกุล ณ วิเชียร แห่งอำเภอวิเชียรบุรี [1]

ประวัติเจ้าเมืองวิเชียรบุรี

เมืองวิเชียรบุรี หรือเมืองวิเชียร เดิมมีนามเมืองว่า เมืองท่าโรง หรือ เมืองท่าลง หมายถึงเมืองอันเป็นท่าลงสู่แม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันคือตำบลท่าโรง ในอำเภอวิเชียรบุรี เดิมเมืองท่าโรงมีชื่อว่า เมืองศรีเทพ หรือ เมืองศรีถมอรัตน์ เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ และก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยก่อนขอมเรืองอำนาจ อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับอาณาจักรศรีโคตรบูรของลาว-อีสานและอาณาจักรทวารวดีของไทย เมืองศรีเทพมีศูนย์กลางการปกครองเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ชื่อว่า เมืองอภัยสาลี ปัจจุบันเป็นเมืองร้างในจังหวัดเพชรบูรณ์ หลังสมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปลี่ยนนามเมืองท่าโรงมาเป็นเมืองวิเชียรบุรี คำว่า วิเชียรบุรี แปลว่า เมืองแห่งเพ็ชรหรือเมืองแห่งแก้ววิเชียร โดยตั้งนามเมืองตามนิมิตมงคลของเมืองคือ นามของภูเขาแก้วหรือเขาถมอรัตน์ และนามบรรดาศักดิ์เดิมของเจ้าเมืองคือ พระศรีถมอรัตน์ หรืออาจตั้งให้พ้องกันกับนามเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับวิเชียรบุรี สันนิษฐานว่า ตระกูลเจ้าผู้ปกครองเมืองท่าโรงหรือเมืองศรีเทพนั้นน่าจะมีเชื้อสายเป็นชาวลาวโบราณหรือชาวขอมโบราณ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์มาก่อนที่ชาวสยามหรือชาวไทยจะเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ โดยมีลำดับดังต่อไปนี้

พระยาศรีไสยณรงค์

พระยาศรีไสยณรงค์ (ไม่ปรากฏนามเดิม) เชื่อว่ามีเชื้อสายเป็นลาวหรือขอมผู้สร้างเมืองศรีเทพ บรรดาศักดิ์เดิมเป็นที่ พระศรีถมอรัตน์ เจ้าเมืองศรีเทพหรือเมืองท่าโรง (ราว พ.ศ. 2136) บ้างออกนามว่า ขุนพระศรี ต่อมามีความชอบเนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพหลวงช่วยงานราชการปราบพม่าในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเลื่อนเป็นที่ ออกญาศรีไสยณรงค์ สำเร็จราชการรั้งเมืองตะนาวศรี หัวเมืองชายพระราชอาณาเขตชิดแดนพม่า เคยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงเดิมและถูกบังคับให้เป็นแม่ทัพเอกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2133 – 2148) คู่กันกับเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (ดวง) เจ้าเมืองพิษณุโลก บรรดาศักดิ์เดิมที่ ออกพระชัยบุรี หรือพระยาชัยบูรณ์ เจ้าเมืองไชยบาดาล พระยาศรีไสยณรงค์เติบโตเป็นสหายสนิทร่วมกันมากับพระชัยบุรี และมีบทบาททางการเมืองการปกครองต่อกรุงศรีอยุธยามาก ต่อมาได้มีความขัดแย้งกับเจ้าเมืองกุยบุรี ทางกุยบุรีมีหนังสือเพ็ดทูลไปทางฝั่งอยุทธยา หาว่าพระยาศรีไสยณรงค์คิดการกบฏ ฝ่ายอยุธยาจึงกล่าวหาว่าเป็นกบฏแข็งเมือง ส่งสมเด็พระเอกาทศรถยกทัพไปที่เมืองตะนาวศรี เป็นเหตุให้พระยาศรีไสยณรงค์ถูกทหารและชาวเมืองซึ่งเกรงกลัวกองทัพองค์อุปราช ร่วมกันจับตัวพระยาศรีไสยณรงค์มอบให้กองทัพ แล้วถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต พระยาศรีไสยณรงค์ได้มีทายาทสืบต่อมาและได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองศรีเทพนามว่า พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ (บุญ)

พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ (บุญ)

พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ มีนามเดิมว่า บุญ เป็นบุตรในพระยาศรีไสยณรงค์ และเป็นปู่ของพระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) มีประวัติปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยของพระบรมราชาที่ 3 หรือพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2275 - 2295) ว่า มีทหารนายกองท่านหนึ่งนามเดิมว่า “บุญ” เป็นทายาทของเจ้าเมืองศรีเทพคนเก่า (พระยาศรีไสยณรงค์) ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นที่ “พระศรีถมอรัตน์” เจ้าเมืองศรีเทพคนใหม่แทน ในระยะนั้นมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้ง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอยุธยาคือ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกรวมกันเป็นก๊กต่าง ๆ ได้ 6 ก๊ก แต่เจ้าเมืองศรีเทพขณะนั้นมีความเคารพนับถือคุ้นเคยกับพระยาวชิรปราการ (หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) และพระยายมราช (หรือเจ้าพระยาจักรี รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี) มาก่อน จึงเข้าร่วมก๊กด้วยและช่วยเหลือจัดส่งเสบียงสนับสนุนและเกณฑ์ชาวบ้านที่เป็นชายมาฝึกอาวุธแล้วส่งไปเป็นทหารช่วยพระองค์ทำศึกสงครามกับพม่าจนได้ชัยชนะ พระองค์ทรงสามารถกอบกู้เอกราชได้ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2311 และต่อจากนั้นก็ทรงทำการปราบปรามชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ จากคุณงานความดีและความจงรักภักดีของท่านที่มีถวายต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชดังกล่าว เป็นผลทำให้ท่านมีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นชั้น “พระยา” มีพระราชทินนามว่า “พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์” หรือชาวบ้านมักเรียกกันเพี้ยน ๆ ว่า “ พระยาสมบูรณ์” โดยยังคงให้เป็นเจ้าเมืองศรีเทพเช่นนั้น เนื่องจากท่านชราภาพหรือสุขภาพไม่สู้แข็งแรงก็อาจเป็นได้ จนลุล่วงมาถึงต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านจึงถึงแก่อนิจกรรมลง ซึ่งท่านพระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ผู้นี้ มีศักดิ์เป็นปู่ของพระยาประเสริฐสงคราม อดีตเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองศรีเทพหรือวิเชียรบุรี

พระยาประเสริฐภักดี (จุ้ย)

พระยาประเสริฐภักดี (จุ้ย) บิดา ของพระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) ปรากฏประวัติในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ทรงเห็นว่าตำแหน่งเจ้าเมืองศรีเทพได้ว่างลง บุตรชายของพระยาประเสริฐสวามิภักดิ์เจ้าเมืองคนเก่าที่นามเดิมว่า “จุ้ย” ซึ่งรับราชการเป็นทหารช่วยบ้านเมืองมานาน ผู้เป็นบิดาก็ทรงรู้จักมักคุ้นอยู่ อีกทั้งเป็นคนพื้นบ้านนี้อยู่แล้ว รู้จักการบ้านการเมือง สภาพบ้านเมืองและคุ้นเคยกับชาวบ้านอย่างดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ “พระศรีถมอรัตน์” ตำแหน่งเจ้าเมืองศรีเทพสืบแทน ต่อมา ในสมัยท่านได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของพม่าและข้าศึกต่างๆ อาทิ จัดให้มีการเกณฑ์ราษฎรมาฝึกเป็นทหาร สะสมเสบียงส่งไปช่วยเหลือกองทัพไทย ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่คอยดักปล้นสะดมราษฎร ช่วยทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยการนำชาวบ้านก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัด เข้าวัดทำบุญฟังธรรมอยู่เนือง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นผู้เสนอให้สมุหนายกที่กำกับกรมวัง (ขณะนั้นเมืองศรีเทพอยู่ในการปกครองขึ้นตรงต่อพระนครโดยตรง) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกิจการพระศาสนา พิจารณาประกาศจัดตั้งเป็นวัดให้ถูกต้อง 1 แห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2340 ได้แก่ วัดป่าเรไรทอง (ตั้งอยู่ในเขตตัวอำเภอวิเชียรบุรีในปัจจุบันนี้) เพื่อให้เป็นวัดประจำเมือง และกำกับดูแลในกิจการราชการต่างพระเนตรพระกรรณ จนราษฎรมีความเป็นอยู่สงบสุขเรียบร้อยดี ในความดีความชอบที่ท่านกระทำจึงได้โปรดเกล้าเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็น “พระยาประเสริฐภักดี” จนกระทั่งช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระยาประเสริฐภักดีมีอายุมากแล้ว ก็ต้องพ้นเกษียณราชการและต่อมาในช่วงราชกาลที่ 3 ท่านจึงถึงแก่อนิจกรรมลง

อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ ณ วิเชียร)

พ.ศ. 2352 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นเถลิงพระราชย์สมบัติ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายทหารหนุ่มใบหน้าเข้มน่าเกรงขามท่านหนึ่งที่รับราชการอยู่ในกองทัพ มีนามเดิมว่า “ใจ” เป็นบุตรของพระยาประเสริฐภักดี เจ้าเมืองศรีเทพคนเก่าที่ต้องพ้นเกษียณราชการ เป็นเจ้าเมืองศรีเทพมีนามตำแหน่งว่า “พระศรีถมอรัตน์” ปกครองดูแลราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณสืบแทนผู้เป็นบิดารั้งเมือง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จวบจนถึงช่วงก่อนปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์และเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระราชโอรส (ขณะนั้นมีฐานะเป็นประเทศราชของไทย) คิดก่อสงครามและปราบปรามเจ้าเมืองนครราชสีมา ด้วยเจ้าเมืองนครราชสีมารุกล้ำเขตแดนลาวหลายครั้ง เจ้าอนุวงศ์จึงได้ออกอุบายทำทีบอกหัวเมืองต่างๆ ว่าจะยกทัพเข้ามาช่วยไทยรบกับพม่า เจ้าเมืองเหล่านั้นไม่รู้ข้อเท็จจริง จึงยอมให้ผ่านโดยสะดวกจนลุถึงเมืองสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าว โปรดให้จัดกองทัพแบ่งเป็น 3 ทัพ ขึ้นไปตีเมืองนครเวียงจันทน์ และเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ล่วงรู้ข่าวจึงสั่งให้ถอยทัพกลับ พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนและเสบียงตามรายทางเดินทัพกลับไปด้วย เมื่อถึงเมืองนครราชสีมา (โคราช) เจ้าเมืองแอบหนีออกจากเมือง จึงรุกรานเข้าเมืองได้โดยง่าย กวาดต้อนกลุ่มผู้หญิงซึ่งมีคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ภรรยาเจ้าเมืองนี้กับราษฎรไปด้วย คุณหญิงโมจึงให้ไพร่พลเล็ดลอดออกไปส่งข่าว เพื่อให้ทางเมืองหลวงทราบหาทางช่วยเหลือ แล้วแสร้งทำอุบายให้กองทัพอนุวงศ์เดินอย่างช้าๆ ถ่วงเวลารอให้ทัพจากเมืองหลวงมาช่วย เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบ จึงสั่งให้ยกกองทัพไปช่วยเหลือทันที ขณะเดียวกันก็รีบมีใบบอกสั่งให้พระศรีถมอรัตน์ (ใจ ณ วิเชียร) เจ้าเมืองศรีเทพ ระดมไพร่พลไปทางช่องเขาดงพระยาไฟกลางสมทบกับกองทัพเมืองหลวง ไปทันกองทัพเจ้าอนุวงศ์บางส่วนที่ยั้งอยู่ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา แล้วเข้าโจมตีจนแตกพ่ายไป ในการ่วมรบได้ชัยชนะครั้งนี้ เจ้าเมืองศรีเทพมีความชอบมากได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นยศเป็น “พระยา” มีพระราชทินนามว่า “พระยาประเสริฐสงคราม” และโปรดให้เปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น “เมืองวิเชียร” มีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี โดยคงให้พระยาประเสริฐสงครามเป็นเจ้าเมืองนี้ตามเดิม แต่มีหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่เขตการปกครองกว้างขวางไปจนถึงเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุม รั้งเมืองไปกระทั่งถึงปี 2442 เมื่อมีการประกาศยุบเมืองวิเชียรบุรีเป็น “อำเภอ” จึงพ้นเกษียณราชการ นับเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย

ลำดับสมาชิกวงศ์ตระกูล

  • พระยาศรีไสยณรงค์ (พ.ศ. 2133 – 2148) เจ้าเมืองวิเชียรบุรี
  • พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ (บุญ) (พ.ศ. 2275 – 2295) เจ้าเมืองวิเชียรบุรี
  • พระยาประเสริฐภักดี (จุ้ย) (พ.ศ. 2325 – 2367) เจ้าเมืองวิเชียรบุรี
  • อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ ณ วิเชียร) (พ.ศ. 2352 – 2442) จางวางกำกับราชการ อำเภอวิเชียร

หมายเหตุ: “พระศรีถมอรัตน์” นั้นเป็นราชทินนานามสำหรับผู้ครองเจ้าเมืองวิเชียรบุรี (เจ้าเมืองท่าโรง) ซึ่งสมาชิกวงศ์ตระกูล ที่ได้ครองเมืองวิเชียรบุรีจะได้รับพระราชทานราชทินนานามดังกล่าวและภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยา

สกุล ณ วิเชียร

ณ วิเชียร เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับนามสกุลที่ 2803[2] สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองวิเชียรบุรี (เมืองศรีเทพ) พระราชทานแก่อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) จางวางกำกับราชการอำเภอวิเชียร กระทรวงมหาดไท เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2458 ซึ่งปู่และบิดาเป็นเจ้าเมืองวิเชียรบุรี เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “na Vijira” ตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 43 เล่มที่ 32 หน้าที่ 2546 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร รับพระบรมราชโองการ

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 43 พุทธศักราช 2458, เล่ม 32 16 มกราคม พ.ศ. 2458 , หน้า 2546
  2. ประกาศกระทรวงมุรธาธร ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๔๓
Kembali kehalaman sebelumnya