พระยาโพธิสาลราช
พระยาโพธิสาลราช[1] (ลาว: ພະເຈົ້າໂພທິສະລາດ) หรือ พระโพธิสาราชาธิบดีทัศวรคุณ[1] เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าวิชุลราช ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2049 ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อ พ.ศ. 2063 ในรัชกาลนี้มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมาก ให้ยกเลิกพิธีบูชาหอผีหลวงที่สบดงแล้วสร้างวัดสังคโลกขึ้นแทน ค้นพบพระตำนานอุรังคธาตุจึงให้คัดลอกไว้ ท่านได้เข้าไปมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองล้านนาทุกหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองแต่ละหัวเมืองได้ยอมอ่อนน้อมและอยู่ภายใต้อำนาจ จึงกล่าวได้ว่า ล้านนาเป็นรัฐในอารักขาของล้านช้างในยุคพระเจ้าโพธิสารราช ในรัชกาลนี้ ในกรุงศรีอยุธยาเกิดความวุ่นวายขึ้น เจ้าไชยราชาธิราชได้ลี้ภัยมาเวียงจันทน์หลังจากที่เกิดขัดแย้งกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ได้ยกทัพขึ้นมาตามจับตัวใน พ.ศ. 2076 พระเจ้าโพธิศาลราชตีทัพกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไปได้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 เสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีดาษในปีเดียวกันนั้น เจ้าไชยราชาธิราชจึงกลับไปเมืองสองแควและยกทัพลงไปยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และได้ครองราชย์สมบัติต่อมา ใน พ.ศ. 2085 เมืองเชียงใหม่เกิดกบฏจนเกิดความวุ่นวาย สมเด็จพระไชยราชาธิราชจากกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าโพธิศาลราชจากหลวงพระบางได้ยกทัพไปช่วยปราบกบฏ แต่เมื่อไปถึง ฝ่ายเชียงใหม่ปราบกบฏได้แล้ว โดยมีพระนางจิรประภาเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ยังหากษัตริย์ไม่ได้ พระเจ้าโพธิศาละราชได้เสนอให้พระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวังโสซึ่งมีเจ้านางยอดคำทิพเชื้อพระวงศ์เชียงใหม่เป็นพระมารดาขึ้นเป็นกษัตริย์ ทางเชียงใหม่ตอบตกลง เจ้าเชษฐวังโสจึงไปครองเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2090 จึงกล่าวได้ว่าล้านช้างเข้ามามีอิทธิพลต่อล้านนาเป็นอย่างมากในยุคนี้ ซึ่งพระเจ้าโพธิศาลราชเป็นจักรพรรดิที่อยู่เบื้องหลังของการรวมล้านนาเข้าไว้กับล้านช้างโดยให้บุตรชายได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ส่วนตนครองเมืองหลวงพระบางต่อไป ซึ่งเมืองหลวงพระบางในช่วงนี้มีอำนาจเหนือแคว้นล้านนาทุกหัวเมือง พระเจ้าโพธิศาละราชครองราชย์สมบัติมาจนถึง พ.ศ. 2093 ก็เสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุในการคล้องช้าง หลังจากพระองค์สวรรคต พระโอรสของพระองค์คือเจ้าล้านช้างหรือเจ้าท่าเรือบุตรคนรองและเจ้าวรวังโสบุตรคนสุดท้องเกิดแต่พระนางยอดคำทิพ[2][3] อีกทั้งยังเป็นพระอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งได้ชิงราชสมบัติกัน ในที่สุดจึงต้องไปทูลเชิญเจ้าเชษฐวังโสกลับมาครองราชย์สมบัติที่หลวงพระบาง พงศาวลี
อ้างอิง
|