Share to:

 

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา
พระมหากษัตริย์ลาว
ครองราชย์29 ตุลาคม ค.ศ. 1959 – 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์
ถัดไปสิ้นสุดระบอบกษัตริย์
เจ้าสุภานุวงศ์ (ในฐานะประธานประเทศ)
นายกรัฐมนตรี
ประมุขราชวงศ์ล้านช้างร่มขาว
ดำรงพระยศ29 ตุลาคม ค.ศ. 1959 – 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1978
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์
ถัดไปเจ้าสุริวงศ์ สว่าง
นายกรัฐมนตรีลาว คนที่ 6
ดำรงตำแหน่ง
15 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1951
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์
ก่อนหน้าพระยาหัวโขง
ถัดไปเจ้าสุวรรณภูมา
พระราชสมภพ13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907(1907-11-13)
หอคำ หลวงพระบาง อาณาจักรหลวงพระบาง อินโดจีนของฝรั่งเศส
สวรรคต13 พฤษภาคม ค.ศ. 1978(1978-05-13) (70 ปี)
ศูนย์สัมมนาเมืองซำเหนือ ซำเหนือ แขวงหัวพัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พระอัครมเหสีพระนางคำผูย (สมรส 1930)
พระราชบุตรเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง มกุฎราชกุมาร
เจ้าฟ้าชายศรีสว่าง
เจ้าฟ้าชายโสริยาวงศ์
เจ้าฟ้าหญิงสะหวีวัน
เจ้าฟ้าหญิงธารา
พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา
ราชวงศ์ล้านช้างร่มขาว
ราชสกุลสว่าง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์
พระราชมารดาพระนางคำอุ่น
ศาสนาพุทธเถรวาท
อาชีพนักการเมือง
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา มีพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา (ลาว: ພຣະບາດສົມເດັດພຣະເຈົ້າເຊດຖາຂັດຕິຍະວົງສາ ພຣະມະຫາສີສະຫວ່າງວັດທະນາ) หรือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา (ลาว: ເຈົ້າມະຫາຊີວິດສີສະຫວ່າງວັດທະນາ)[note 1] เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว ก่อนที่จะถูกฝ่ายพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (คอมมิวนิสต์ลาว) ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวใน พ.ศ. 2518

พระราชประวัติตอนต้น

สมเด็จพระเจ้าสว่างวัฒนา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กับพระอัครมเหสีคำอุ่น[1] มีพระราชอนุชาและพระราชขนิษฐาคือ เจ้าฟ้าหญิงสัมมาธิ, เจ้าฟ้าชัยศักดิ์, เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และมีพระเชษฐภคินีคือ เจ้าฟ้าหญิงคำแพง และยังถือเป็นพระญาติกับเจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระราชชนนีก็ทรงสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการประชวร เมื่อพระองค์พระชนมายุได้ 10 พรรษา ได้ทรงศึกษาเรียนต่อ ณ มหาวิทยาในเมืองมงเปอลีเย และทรงจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางการเมืองปารีส ซึ่งนักการทูตฝรั่งเศสได้ฝึกสอนพระองค์ไว้ หลังจากจบการศึกษาแล้ว พระองค์ยังทรงได้ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อไป หลังจากนั้น พระองค์ได้ตัดสินใจกลับมายังประเทศลาว แต่พระองค์ตรัสเป็นภาษาลาวไม่ได้และต้องได้รับการถวายคำแนะนำจากข้าราชบริพารนานเป็นปี พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางคำผุยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2473 มีพระราชโอรสธิดารวม 5 พระองค์ คือ

  • เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารวงศ์สว่าง (Crown Prince Vong Savang, 27 กันยายน พ.ศ. 2474 – มกราคม พ.ศ. 2523)
  • เจ้าฟ้าชายศรีสว่าง (Prince Sisavang Savang, ธันวาคม พ.ศ. 2478 – พ.ศ. 2521)
  • เจ้าฟ้าชายโสรยะวงศ์ (Prince Sauryavong Savang, 22 มกราคม พ.ศ. 2480)
  • เจ้าฟ้าหญิงสะหวีวัน (ฉวีวรรณ - Princess Savivanh Savang, พ.ศ. 2476 – 4 มกราคม พ.ศ. 2550)
  • เจ้าฟ้าหญิงธารา (Princess Thala Savang, 10 มกราคม พ.ศ. 2478 – 14 เมษายน พ.ศ. 2549)

เช่นเดียวกับพระราชวงศ์ในทวีปเอเชียพระราชวงศ์อื่นๆ พระองค์กับพระราชโอรสธิดา โปรดการทรงเทนนิสมาก และมักจะลงแข่งอยู่เสมอ ๆ พระองค์ยังเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีพระราชประสงค์เป็นผู้ค้ำจุนพระศาสนาอย่างจริงจัง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระราชชนกของพระองค์ได้มอบหมายให้พระองค์เป็นผู้แทนไปยังศูนย์บัญชาการของญี่ปุ่นที่ไซง่อนเพื่อที่จะแสดงการประท้วงที่ญี่ปุ่นได้รุกล้ำลาวและบังคับให้ลาวประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส

เสวยราชย์

นายพลเซรอยด์กับเจ้าฟ้าสว่างวัฒนา ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496

ใน พ.ศ. 2494 พระองค์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระราชชนกทรงพระประชวร ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2502 จนกระทั่งเมื่อพระราชชนกสวรรคตในวันที่ 29 ตุลาคม พระองค์ก็ได้รับราชสมบัติสืบต่อจากพระราชชนก แต่พระองค์ไม่ได้ผ่านพิธีราชาภิเษกเลย เพราะพระองค์ได้ทรงชะลอพิธีราชาภิเษกไปเนื่องจากสงครามกลางเมืองลาวในเวลานั้น ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีไปหลาย ๆ ประเทศ ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2506 พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและได้พบกับประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อทำความตกลงตาม การประชุมเจนีวา ที่รับประกัน "ความเป็นกลาง" ของลาว โดยจุดเริ่มที่พระองค์เสด็จเยือนคือ สหภาพโซเวียต โดยพระองค์ได้เสด็จเยือนร่วมกับ เจ้าสุวรรณภูมา

พระองค์มีบทบาทในทางการเมืองลาวเป็นอย่างมากและมีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของลาวไว้หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองลาวอันสืบเนื่องมาจากการประชุมเจนีวา ใน พ.ศ. 2497 ซึ่งได้รับรองความเป็นเอกราชของลาวอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าผู้ใดจะได้ปกครองลาว โดยมี "3 ฝ่ายเจ้า" นั้นคือ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้ซึ่งประทับในกรุงเวียงจันทน์ ที่ประกาศพระองค์เป็นกลางและได้รับการสนับสนุนโดย สหภาพโซเวียต, เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจในลาวใต้และเป็นฝ่ายขวาหนุนสหรัฐอเมริกา และ เจ้าสุภานุวงศ์ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์และอยู่ในเขตลาวเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไปมากกว่านี้ ทั้งเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าบุญอุ้มนี้ ได้ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี "ที่ถูกต้อง" และทั้งสองฝ่ายได้จัดการเรื่องนี้ผ่านทางพระเจ้ามหาชีวิต

ใน พ.ศ. 2504 เสียงส่วนใหญ่ของสภาแห่งชาติ ได้เลือกเจ้าบุญอุ้มขึ้นครองอำนาจ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงเสด็จมาจากหลวงพระบางมายังกรุงเวียงจันทน์เพื่อทรงอวยพรให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ แต่พระองค์ยังต้องการให้เจ้า 3 องค์ ได้เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลผสมซึ่งได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2505 แต่ก็มีอันล่มไปในเวลาต่อมา

การสละราชสมบัติและการเสด็จสวรรคต

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กองกำลังขบวนการปะเทดลาวได้เข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ นับเป็นเมืองสุดท้ายที่ได้ยึดครอง และส่งผลให้รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาได้กลายเป็นรัฐบาลที่ไร้อำนาจและเสถียรภาพ ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 มติสภาชั่วคราวได้ลงความเห็นให้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของลาวและสถาปนา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขึ้นมาแทนที่ ส่งผลให้พระองค์ต้องสละราชบัลลังก์และพระราชอำนาจไปยังสภาชั่วคราว ทางสภาได้มีมติแต่งตั้งพระองค์ให้เป็น "ที่ปรึกษาสูงสุดของประธานประเทศ" พระองค์ได้ปฏิเสธการหลบหนีอพยพออกจากประเทศด้วยเหตุผลว่า "พวกเราเป็นคนลาวเหมือนกันก็ต้องคุยกันได้" พระองค์ยังประทับอยู่ในพระราชวังหลวงพระบางต่อไปจนกระทั่ง พ.ศ. 2519 พูมี วงวิจิด ได้สั่งการให้พระราชวังหลวงพระบางและทรัพย์สินในพระราชวังเป็นสมบัติของประเทศ และมีผลให้พระองค์กับพระญาติวงศ์ออกจากวังไปในทันที

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 ด้วยความที่รัฐบาลลาวหวั่นเกรงพระองค์ที่ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์อันเนื่องมาจากการที่มีทหารม้งและมีชาวลาวนอกต่อต้านรัฐบาล สปป.ลาว บวกกับการหวั่นเกรงที่พระราชวงศ์จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศและเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด​แบบที่เหมาเจ๋อตงแห่งประเทศจีน​อภัยโทษจักรพรรดิ​ผู่อี๋​อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้าย​แห่งจักรวรรดิ​ต้าชิง​ได้ ทหาร สปป.ลาว ได้นำพระองค์, พระมเหสี, เจ้าฟ้าชายมกุฏราชกุมาร, เจ้าฟ้าศรีสว่าง, และพระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และ เจ้าฟ้าทองสุก ไปอยู่ที่เมือง เวียงไซ พระองค์ได้ทรงประทับในค่ายกักกันในเวียงไซที่ชื่อว่า "ค่ายเลข 1" ที่นักโทษทางการเมืองหลาย ๆ คนได้อยู่ ระหว่างที่อยู่ในค่าย พระราชวงศ์ได้รับอนุญาตให้ได้ออกมาอยู่บริเวณรอบ ๆ ค่ายได้ ซึ่งบางครั้งแล้ว สมาชิกพรรคและเจ้าสุภานุวงศ์เองก็เคยเดินทางมาเยี่ยมพระเจ้ามหาชีวิตอยู่บ้าง พระองค์ถือว่าเป็นนักโทษที่ทรงชราภาพที่สุดในคุกนั้น โดยก่อนหน้านั้นแล้วในคุกนั้นจะมีนักโทษอายุประมาณ 55 ปีที่เคยแก่ที่สุด

ใน พ.ศ. 2521 มีรายงานว่า พระองค์, พระมเหสี และพระราชโอรส สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคมาลาเรีย และต่อมาได้มีการยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าของพระราชวงศ์ล้านช้างที่อยู่ต่างประเทศในเวลานั้น โดยเจ้าฟ้าสูรยะวงศ์สว่างได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในราชวงศ์จนกระทั่งเจ้าสุริวงศ์ สว่าง ทรงเติบใหญ่จึงได้ให้ตำแหน่งนี้ให้พระองค์ อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากคำพูดของไกสอน พมวิหานแล้ว พระองค์ได้เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2527 ขณะที่มีพระชนมายุ 77 พรรษา และพระบรมศพของทั้ง 3 พระองค์ยังฝังไว้อยู่ที่แขวงหัวพันจนถึงทุกวันนี้ [2]

การสวรรคตของทั้ง 3 พระองค์ถือเป็นประเด็นที่ลึกลับพอสมควร เนื่องจากว่าไม่มีการบ่งบอกเรื่องราวสวรรคตทั้งสาเหตุการสวรรคตและเวลาสวรรคต โดยถือกันว่าพระองค์ทั้ง 3 อาจจะสิ้นพระชนม์จากการถูกทรมานทางกายและใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ไม่เคยกล่าวออกมาเป็นทางการและมีท่าทีที่ปกปิดเรื่องราวนี้อยู่พอสมควรและถือว่าเป็นความลับ [3]

เกี่ยวกับพระบรมศพ

จากเอกสารเรื่อง บดเรียนแสนแสบ ซึ่งเป็นเอกสารรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์สัมมนาทั่วประเทศ ของท่านวิลเลียม พระไชยวงศ์ อดีตรองอธิบดีสำนักงานวางแผน กระทรวงเศรษฐกิจและวางแผนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเหตุแห่งการสวรรคตและสถานที่ฝังพระบรมศพไว้อย่างน่าสนใจว่า

...สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตลาว พร้อมครอบครัวและพระญาติวงศ์ อันประกอบด้วย : 1. สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา 2. องค์พระมเหสีคำผุย 3. องค์มงกุฎราชกุมาร วงศ์สว่าง 4. เจ้าฟ้าชายสว่างวัฒนา (เจ้าเกอ) โอรสองค์ที่ 4 ของกษัตริย์ลาว, วิศวกรการเกษตรจากฝรั่งเศส 5. เสด็จเจ้าบวรวัฒนา พระอนุชาของเจ้าชีวิต 6. เสด็จเจ้าสุพันธบัลลังก์ พระอนุชา และพระราชเลขาประจำพระราชวัง 7. เสด็จเจ้าทองสุกวัฒนา พระอนุชา ราชเลขาส่วนพระองค์ 8. เจ้ามณีวงศ์ คำม้าว โอรสองค์ที่สองของเสด็จเจ้าคำม้าว, ปริญญาเศรษฐกิจจากฝรั่งเศส, ได้ถูกส่งไปซำเหนือ ในวันที่ 11 มีนา 1977 เวลาประมาณ 10 โมงเช้า. จากนั้นก็ถูกส่งตัว ต่อไปยังคุกบ้านนาก่าเหนือ หรือคุกสบฮ่าว (อีกชื่อหนึ่งว่า คุกบั้งไม้ทก), คุกดังกล่าวตั้งอยู่ริมขวาของแม่น้ำม้า ห่างจากตัวเมืองซำเหนือ 72 กิโลเมตร และห่างจากบ้านเซียงค้อ 3 กิโลเมตร มีทางหลวง เลขที่ 6 ผ่าน. องค์มงกุฎราชกุมาร สวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤษภา 1978 เนื่องจากขาดอาหาร เพราะได้หักอัตราของพระองค์ให้พระราชบิดา. หลุมฝังศพอยู่ทางใต้โพรงต้นก้านเหลือง ห่างจากคุก 01 ไปทางเหนือประมาณ 180 เมตร และใกล้กันกับที่ฝังศพ ของนายพลบุญปอน มากเทพารักษ์. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ถึงแก่พิราลัย เพราะโรคขาดอาหาร และทนต่อความทุกข์ทรมานไม่ได้ในวันที่ 13 พฤษภา 1978, หลุมฝังพระศพอยู่ทางทิศเหนือโพรงต้นก้านเหลือง. พระมเหสีคำผุย ถูกย้ายจากคุก 07 ไป 03 เพราะผิดพระทัยกับผู้คุมที่ขโมยเอาแมวของพระองค์ไปฆ่ากิน. พระองค์ทรงดูดบุหรี่ และเคี้ยวหมากหนักขึ้น. คุก 03 ไม่ได้ถูกควบคุมเคร่งครัดเท่าใดเพราะมีแต่นักโทษหญิง และไกลบ้านประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากที่สหายผู้คุมห้ามบรรดานักโทษที่อยู่ร่วมกับพระองค์หา หมาก-พลู มาให้เคี้ยวแล้ว พระองคก็ล้มป่วยลง และสวรรคตในวันที่ 12 ธันวา 1981 หลุมฝังพระศพอยู่ระหว่างต้นแปกสองต้น ห่างจากบริเวณคุกประมาณ 300 เมตร...[4]

เราเป็นคนลาวด้วยกันก็ต้องคุยกันได้

— พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ไทย

ต่างประเทศ

พงศาวลี

เชิงอรรถ

  1. สะกดด้วยอักขรวิธีเก่าว่า ພຣະບາທສົມເດັຈພຣະເຈົ້າເຊສຖາຂັຕິຍວົງສາ ພຣະມຫາສຣີສວ່າງວັທນາ ปริวรรต: พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชสถาขัติยวงสา พระมหาสรีสว่างวัทนา และ ເຈົ້າມຫາຊີວິຕສຣີສວ່າງວັທນາ ปริวรรต: เจ้ามหาชีวิตสรีสว่างวัทนา ตามลำดับ (ສົມຈິຕ ພັນລັກ. (2012) ພາສາລາວລ້ານຊ້າງ ກ່ອນປີ ພ.ສ 2478; ຄ.ສ 1935 ສະບັບຄົ້ນຄວ້າ. ສົມມະນາ ການພິມ ສປປ ລາວ.)

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ถัดไป
ท้าวผุย ชนะนิกร
นายกรัฐมนตรีลาว
(15 ตุลาคม พ.ศ. 2494 – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494)
เจ้าสุวรรณภูมา รัตนวงศา
พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาว
(29 ตุลาคม พ.ศ. 2502 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518)
สิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์
สถาปนาสปป. ลาว
โดยรัฐบาลพรรคประชาชนปฏิวัติลาว
พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
ในฐานะพระมหากษัตริย์
ประมุขแห่งรัฐลาว
ในฐานะพระมหากษัตริย์

(29 ตุลาคม พ.ศ. 2502 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518)
เจ้าสุภานุวงศ์
ในฐานะประธานประเทศ
ไม่มี
ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์
พระมหากษัตริย์ลาว

(2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2521)
เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารวงศ์สว่าง


Kembali kehalaman sebelumnya