พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายไทย ประเภทพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ตราขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 และมีผลใช้บังคับในวันถัดมา การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เป็นการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีใจความสำคัญปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ควบคุมพรรคการเมืองหลายอย่าง ซึ่งโดยรวมแล้วทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ตั้งยากขึ้น ยุบง่ายขึ้น โดยมีความมุ่งหมายตามอ้างเพื่อพิทักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ป้องกันพรรคนอมินี และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น การร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีความสำคัญต่อวันการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ[5] วันที่ 9 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดแถลงงานเปิดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ โดยแถลงว่า กรธ. อยากให้เห็นมาตราว่าด้วยกิจกรรมของพรรคการเมือง 4 ข้อที่กำหนด ได้แก่ การมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง ทุนประเดิมพรรคการเมือง การมีสมาชิกถึงเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลาต่าง ๆ และกลไกการบริหารพรรคการเมืองตามที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนด[6] สำหรับความกังวลเรื่องพรรคการเมืองขนาดเล็ก อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. มองว่า การจะส่งผู้สมัครหรือนำแนวคิดทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีกำลังหรือองคาพยพที่ใหญ่พอสมควร กรธ. ต้องการให้พรรคเล็กทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดทางการเมืองชวนพรรคชวนพวกมาร่วมอุดมการณ์ทำงานด้วยความคิด ไม่ใช่รอให้คนเข้ามาร่วมเอง[6] พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มองพรรคการเมืองเป็นอาชญากร เพราะหากกระทำผิดจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย เช่น การจำกัดคนที่จะมาเป็นสมาชิกพรรค การก่อตั้งพรรคการเมืองที่ทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงสมาชิกพรรคจะต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองจะไปดูแลให้สมาชิกพรรคอยู่ในระเบียบวินัยได้ทั้งหมด ฝ่ายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิธีปฏิบัติที่ได้ระบุไว้ถือเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติและต้องใช้เวลา เช่น เรื่องการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วโดยขอเก็บค่าสมาชิก 20 บาทต่อคนต่อปี จากสมาชิกที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน แต่พรรคกลับได้รับค่าบำรุงจากสมาชิกพรรคไม่ถึง 10,000 คน[7] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมจ่ายทุนประเดิม และให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปีเพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง เพื่อป้องกันการเกิด "พรรคนอมินี" ซึ่งเป็นเหตุของคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 พรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันจะถูกยุบพรรค และพรรคการเมืองใดที่นำมวลชนไปชุมนุมข้างถนนอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองซึ่งมีโทษยุบพรรค นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่จะใช้ แหล่งทุน ความคุ้มค่า และความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามว่า "จะทำให้กกต. กลายเป็นผู้เห็นชอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่" นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทของ กกต. ให้สามารถขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดูเส้นทางการเงินของผู้ที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ และนำหลักฐานนั้นไปดำเนินคดีกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ รวมถึงสามารถขอความคุ้มครองพยานจากคดีการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่มีการบังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม 72 พรรคไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองคัดค้านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว เพราะมองว่าเป็น "แผนทำลายพรรค" คือ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ[5] เนื้อหามาตรา 92 หาก กกต. มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้อำนาจมานอกวิธีการตามรัฐธรรมนูญ หรือให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้[8] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ยังกำหนดให้มีระบบคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น คือ ให้สมาชิกพรรคการเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ลงคะแนนเลือกตัวแทนที่พรรคการเมืองสรรหาสำหรับแต่ละจังหวัดแล้วให้ผู้สมัครคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมือง โดยมีบทลงโทษจำคุกและปรับสำหรับผู้ที่กระทำผิดในเรื่องการจูงใจให้หรือไม่ให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัคร รับสินบน หรือให้คนนอกเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือลงคะแนน[9] โทษตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นไม่มีกำหนดชัดเจน จึงเข้าใจได้ว่า อาจตัดสิทธิทางการเมืองได้ถึงตลอดชีวิต การนำไปปฏิบัติปัจจุบันมีพรรคการเมืองสำคัญที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว 3 พรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562[10], พรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563[11] และพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567[12] การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง ดังนี้
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
|