Share to:

 

พระวิหารของซาโลมอน

พระวิหารของซาโลมอน
พระวิหารแรก
בֵּית-הַמִּקְדָּשׁ הָרִאשׁוֹן
ภาพวาดศิลปะสมัยใหมของวิหารของซาโลมอนที่พิพิธภัณฑ์อิสราเอล
ศาสนา
ศาสนาศาสนายาห์เวห์
เทพพระยาห์เวห์
หน่วยงานกำกับดูแลมหาปุโรหิตแห่งอิสราเอล
ที่ตั้ง
ที่ตั้งเนินพระวิหาร เมืองเยรูซาเล็ม
ประเทศราชอาณาจักรยูดาห์ (ณ ช่วงเวลาที่ถูกทำลาย)
พระวิหารของซาโลมอนตั้งอยู่ในเยรูซาเลม
พระวิหารของซาโลมอน
พระวิหารของซาโลมอนตั้งอยู่ในเยรูซาเลม
พระวิหารของซาโลมอน
ที่ตั้งในเยรูซาเลม (เขตเทศบาลปัจจุบัน)
พระวิหารของซาโลมอนตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล
พระวิหารของซาโลมอน
ที่ตั้งในรัฐอิสราเอล
พิกัดภูมิศาสตร์31°46′41″N 35°14′07″E / 31.778013°N 35.235367°E / 31.778013; 35.235367
สถาปัตยกรรม
ผู้ก่อตั้งไม่ทราบ ในคัมภีร์ฮีบรูถือว่าซาโลมอนเป็นผู้ก่อตั้ง
เสร็จสมบูรณ์ป. ศตวรรษที่ 10–8 ก่อนคริสตกาล
ทำลาย587 ปีก่อนคริสตกาล

พระวิหารของซาโลมอน (อังกฤษ: Solomon's Temple) หรือ พระวิหารแรก (อังกฤษ: First Temple; ฮีบรู: בֵּית-הַמִּקְדָּשׁ הָרִאשׁוֹן, Bēṯ hamMīqdāš hāRīʾšōn, แปลว่า 'พระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์แห่งแรก') เป็นพระวิหารในเยรูซาเล็มในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเชื่อว่าคงอยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 6 ก่อนคริสตกาล คำบรรยายส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระวิหารอิงตามเรื่องเล่าในคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ซาโลมอน ก่อนจะถูกทำลายระหว่างการล้อมเยรูซาเล็มโดยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่เมื่อ 587 ปีก่อนคริสตกาล[1] แม้ว่าไม่เคยค้นพบซากของพระวิหารเลย แต่นักวิชาการสมัยใหม่เห็นพ้องกันว่าพระวิหารแรกเคยมีอยู่จริงบนเนินพระวิหารในเยรูซาเล็มในช่วงเวลาที่ถูกปิดล้อมโดยชาวบาบิโลน แม้ว่ายังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับที่วันที่สร้างและตัวตนของผู้สร้างก็ตาม

ในคัมภีร์ฮีบรูโดยเฉพาะในหนังสือพงศ์กษัตริย์มีคำบรรยายโดยละเอียดเกี่ยวกับพระบัญชาในการก่อสร้างพระวิหารโดยซาโลมอน กษัตริย์ลำดับก่อนสุดท้ายของสหราชอาณาจักรอิสราเอล นอกจากนี้ยังระบุว่าซาโลมอนเป็นผู้วางหีบแห่งพันธสัญญาในอภิสุทธิสถานซึ่งเป็นห้องศักดิ์สิทธิ์ด้านในพระวิหารที่ไร้หน้าต่าง[2] การเข้าสู่อภิสุทธิสถานถูกจำกัดอย่างเข้มงวด มหาปุโรหิตแห่งอิสราเอลเป็นผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตศักดิ์สิทธิ์ และทำได้เฉพาะวันลบมลทิน โดยนำเลือดของลูกแกะที่เป็นสัตวบูชาเข้าไปและเผาเครื่องหอมถวาย[2] พระวิหารนอกจากจะทำหน้าที่เป็นอาคารทางศาสนาสำหรับการสักการะแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ชุมนุมชนของชาวอิสราเอลด้วย[3] การทำลายพระวิหารแรกและการไปเป็นเชลยในบาบิโลนที่เกิดขึ้นในลำดับถัดมาล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นการทำให้พระวจนะในคัมภีร์ไบเบิลกลายเป็นความจริงและส่งผลต่อความเชื่อของศาสนายูดาห์ ทำให้ชาวอิสราเอลเปลี่ยนจากพหุเทวนิยมหรือ monolatrism (มีพระเจ้าหลายองค์แต่บูชาพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว) ตามที่ปรากฏในศาสนายาห์เวห์ มาเป็นเอกเทวนิยมในศาสนายูดาห์อย่างมั่นคง[3]

ก่อนหน้านี้ นักวิชาการหลายคนยอมรับเรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการก่อสร้างพระวิหารแรกโดยซาโลมอนว่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 1980 ความกังขาต่อความในคัมภีร์ไบเบิลรวมถึงบันทึกทางโบราณคดีทำให้นักวิชาการบางคนสงสัยว่ามีพระวิหารในเยรูซาเล็มใด ๆ ที่ก่อสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อยหรือไม่[4] นักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่าโครงสร้างดั้งเดิมที่สร้างโดยซาโลมอนนั่นค่อนข้างเรียบง่าย และภายหลังเมื่อสร้างขึ้นใหม่จึงทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น[5] ไม่มีการค้นพบหลักฐานโดยตรงของการมีอยู่ของพระวิหารของซาโลมอน[6][7] แม้ว่ายังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีบนเนินพระวิหารเนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมีความอ่อนไหวทางศาสนาและการเมืองอย่างมาก การขุดค้นบริเวณโดยรอบเนินพระวิหารเมื่อศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ระบุว่าไม่มี "แม้แต่ร่องรอย" ของอาคาร[8]

สถานที่ตั้ง

ในคัมภีร์ไบเบิล พระวิหารของซาโลมอนสร้างขึ้นบนภูเขาโมริยาห์ในเยรูซาเล็ม ที่ซึ่งทูตสวรรค์ของพระเจ้าปรากฏแก่ดาวิด (2 พงศาวดาร 3:1) เดิมสถานที่นี้เป็นลานนวดข้าวที่ดาวิดซื้อมาจากอาราวนาห์ชาวเยบุส (2 ซามูเอล 24:18–25; 2 พงศาวดาร 3:1)

Schmid และ Rupprecht มีความเห็นว่าที่ตั้งของพระวิหารเคยเป็นปูชนียสถานของชาวเยบุสที่ซาโลมอนเลือก หวังจะรวบรวมชาวเยบุสและชาวอิสราเอลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน[9]

ไม่ทราบตำแหน่งที่แน่นอนของพระวิหาร เชื่อว่าตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งกลายเป็นที่ตั้งของพระวิหารที่สองและปัจจุบันคือเนินพระวิหารซึ่งเป็นที่ตั้งของโดมแห่งศิลา[10]

เรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิล

การก่อสร้าง

เยรูซาเล็มในรัชสมัยของซาโลมอน (ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล) ที่จำลองขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน จากอุทยานแห่งชาติกำแพงเยรูซาเล็ม พระวิหารตั้งอยู่บนภูขาโมริยาห์
แบบจำลองของพระวิหารแรก อยู่ในคู่มือคัมภีร์ไบเบิลสำหรับอาจารย์ (ค.ศ. 1922)

ตามที่ระบุในหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 การวางรากฐานของพระวิหารเริ่มในเดือนศิฟ เดือนที่ 2 ของปีที่ 4 ในรัชสมัยของซาโลมอน และการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนบูล เดือน 8 ของปีที่ 11 ในรัชสมัยของซาโลมอน ดังนั้นจึงใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 7 ปี[11]

คัมภีร์ฮีบรูบันทึกว่าชาวไทระมีบทบาทนำในการก่อสร้างพระวิหาร หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 2 เล่าถึงเรื่องที่ดาวิดและฮีรามเป็นพันธมิตรกัน[12] มิตรภาพนี้ดำเนินต่อไปหลังซาโลมอนได้สืบราชบัลลังก์ถัดจากดาวิด ทั้งสองพระองค์ต่างทรงเรียกกันและกันว่าเป็นพี่น้องกัน เรื่องราวทางวรรณกรรมที่ฮีรามช่วยซาโลมอนในการก่อสร้างพระวิหารปรากฏใน 1 พงศ์กษัตริย์ (บทที่ 5–9) และ 2 พงศาวดาร (บทที่ 2–7)[13] ฮีรามตอบรับคำขอของซาโลมอนที่ให้ฮีรามจัดหาไม้สนสีดาร์และไม้สนสามใบสำหรับก่อสร้างพระวิหาร[14] ฮีรามตรัสกับซาโลมอนว่าพระองค์จะส่งไม้มาทางทะเล "ข้าพเจ้าจะผูกแพล่องมาตามทะเลถึงที่ที่ท่านจะกำหนดให้ และข้าพเจ้าจะให้พวกเขาแก้แพที่นั่น ขอท่านมารับเอา"[14] ซาโลมอนทรงส่งข้าวสาลีและน้ำมันให้ฮีรามเพื่อตอบแทนเรื่องไม้ที่ส่งมา[12] ซาโลมอนยังนำช่างฝีมือผู้ชำนาญจากไทระ ซึ่งก็มีชื่อว่าฮีราม (หรือฮูรามอับบี[15]) เข้ามากำกับดูแลการก่อสร้างพระวิหาร[12] ช่างหินจากเกบาล (บิบลอส) ทำหน้าที่ตัดหินสำหรับสร้างพระวิหาร[16]

หลังพระวิหารและพระราชวัง (ใช้เวลาสร้างเพิ่มเติม 13 ปี) สร้างเสร็จสมบูรณ์ ซาโลมอนประทานเมืองมากกว่า 20 เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของกาลิลีใกล้กับไทระเป็นการตอบแทนแก่ฮีราม[17] ฮีรามไม่พอพระทัยกับของประทานนี้ แต่ก็ตรัสถามว่า "น้องเอ๋ย เมืองที่ท่านให้เรานั้นเป็นเมืองอะไรอย่างนี้?" จากนั้นฮีรามจึงเรียกเมืองเหล่านั้นว่า "แผ่นดินคาบูล" และผู้เขียนของ 1 พงศ์กษัตริย์ 9 บอกว่าเมืองเหล่านั้นถูกเรียกด้วยชื่อนี้ "จนทุกวันนี้"[17] อย่างไรก็ตามฮีรามยังคงเป็นมิตรกับซาโลมอน[18]

หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 2 เพิ่มเติมบางรายละเอียดของการก่อสร้างที่ไม่ได้บรรยายไว้ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 โดยระบุว่าต้นไม้ที่ถูกส่งมาในรูปแพนั้นถูกส่งไปยังเมืองยัฟฟาบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[14] และโซโลมอนยังทรงส่งเหล้าองุ่นไปให้ฮีรามตอบแทนไม้ที่ส่งมา นอกเหนือไปจากแป้งสาลีและน้ำมันที่พระองค์ส่งให้ฮีรามเช่นกัน[19]

การย้ายหีบแห่งพันธสัญญา

1 พงศ์กษัตริย์ 8:1–9 และ 2 พงศาวดาร 5:2-10 บันทึกว่าในเดือน 7 ของปี ที่งานเลี้ยงแห่งพลับพลา[20] ปุโรหิตและชาวเลวีนำหีบแห่งพันธสัญญาจากนครดาวิดมาตั้งอยู่ภายในอภิสุทธิสถานของพระวิหาร

การถวาย

1 พงศ์กษัตริย์ 8:10-66 และ 2 พงศาวดาร 6:1–42 เล่าถึงเหตุการณ์การถวายพระวิหาร เมื่อเหล่าปุโรหิตออกจากวิสุทธิสถานหลังการวางหีบแห่งพันธสัญญาไว้ที่นั่น พระวิหารก็เต็มไปด้วยเมฆอันเปี่ยมพระเกียรติสิริซึ่งทำให้พิธีการถวายหยุดชะงัก[21] "จนพวกปุโรหิตไม่อาจยืนปรนนิบัติอยู่ได้เพราะเมฆนั้น เพราะพระสิริของพระยาห์เวห์เต็มพระนิเวศของพระยาห์เวห์" (1 พงศ์กษัตริย์ 8:10–11; 2 พงศาวดาร 5:13, 14) ซาโลมอนตีความว่าเมฆเป็น "[หลักฐาน]ว่างานแห่งศรัทธาของพระองค์ได้รับการทรงยอมรับ":[21]

"พระยาห์เวห์ตรัสว่า พระองค์จะประทับในความมืดทึบ แท้จริง ข้าพระองค์ได้สร้างพระนิเวศที่โอ่อ่าตระการตาสำหรับพระองค์ เป็นสถานที่เพื่อพระองค์จะสถิตอยู่เป็นนิตย์"

— 1 พงศ์กษัตริย์ 8:12–13

สะท้อนถึงเรื่องราวในเลวีนิติ 16:2 [22]

พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า "เจ้าจงบอกอาโรนพี่ชายว่า อย่าเข้าไปในอภิสุทธิสถานตามใจชอบ คือเข้าไปในม่านหน้าพระที่นั่งกรุณาซึ่งอยู่บนหลังหีบ เพื่อเขาจะไม่ตาย เพราะว่าเราจะปรากฏในเมฆเหนือพระที่นั่งกรุณา

หนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิล The Pulpit Commentary ระบุว่า "ซาโลมอนทรงมีหมายทุกอย่างที่จะเชื่อมโยงการสำแดงพระองค์ของพระเจ้าเข้ากับเมฆดำหนาทึบ"[21]

กษัตริย์ซาโลมอนถวายพระวิหารที่เยรูซาเล็ม ภาพจิตรกรรมโดย James Tissot หรือลูกศิษย์ (ราว ค.ศ. 1896–1902)

จากนั้นซาโลมอนทรงนำชุมนุมชนอิสราเอลทั้งปวงในการอธิษฐาน กล่าวว่าการก่อสร้างพระวิหารเป็นการแสดงถึงว่าพระสัญญาของพระเจ้าต่อดาวิดได้ปรากฏเป็นความจริง โดยถวายพระวิหารให้เป็นสถานที่แห่งการอธิษฐานและการกลับใจสำหรับประชาชนอิสราเอลและคนต่างด้าวที่อาศัยในอิสราเอล เน้นย้ำถึงปฏิทรรศน์ที่แท้จริงแล้วพระเจ้าผู้ทรงสถิตบนฟ้าสวรรค์ไม่อาจประทับภายในอาคารหลังเดียว การถวายพระวิหารปิดท้ายด้วยการเฉลิมฉลองด้วยดนตรีและการถวายเครื่องบูชา ตามความที่กล่าวว่าประกอบด้วย "วัว 22,000 ตัว และแกะ 120,000 ตัว"[23] การถวายเครื่องบูชาเหล่านี้กระทำภายนอกพระวิหารใน "ส่วนกลางของลาน ซึ่งอยู่หน้าพระนิเวศของพระยาห์เวห์" เพราะแท่นบูชาที่อยู่ในพระวิหารแม้จะมีขนาดใหญ่[24] แต่ก็ไม่ใหญ่พอสำหรับเครื่องบูชาทั้งหมดที่ถวายในวันนั้น[25][26] การเฉลิมฉลองดำเนินไปเป็นเวลา 8 วันและเข้าร่วมโดย "ชุมนุมชนยิ่งใหญ่มาก ตั้งแต่ทางเข้าเมืองฮามัทจนถึงลำธารแห่งอียิปต์"[27] งานเลี้ยงพลับพลาที่เกิดขึ้นในลำดับถัดมาขยายเวลาเฉลิมฉลองเป็น 14 วัน[28] ก่อนที่จะให้ประชาชน "กลับบ้านของตน"[29]

ภายหลังการถวายพระวิหาร ซาโลมอนได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าในพระสุบิน พระเจ้าตรัสว่าพระองค์ได้ทรงฟังคำอธิษฐานของซาโลมอนแล้วและจะทรงฟังคำอธิษฐานของประชาชนแห่งอิสราเอลต่อไปตราบที่พวกเขารับนำสี่วิถีทางมาใช้เพื่อให้พระเจ้าทรงตอบรับคำอธิษฐาน ได้แก่ การถ่อมใจ การอธิษฐาน การแสวงหาพระองค์ และการหันออกจากทางชั่ว[30] ในทางกลับกัน หากพวกเขาหันเหและละทิ้งพระบัญญัติของพระเจ้าไปนับถือพระอื่น พระเจ้าจะละทิ้งพระวิหาร: "เราจะเหวี่ยงนิเวศซึ่งเราทำให้บริสุทธิ์เพื่อนามของเราไปจากสายตาของเรา"[31]

การถูกริบทรัพย์สิน

ตามเรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิล พระวิหารของซาโลมอนถูกริบทรัพย์สินหลายครั้ง ในปีที่ 5 ของรัชสมัยเรโหโบอัม (โดยทั่วไปเชื่อว่าอยู่ในช่วง 926 ปีก่อนคริสตกาล) ชิชักฟาโรห์แห่งอียิปต์ (ซึ่งระบุได้ว่าเป็นพระองค์เดียวกับฟาโรห์โชเชงค์ที่ 1) ทรงนำทรัพย์สินในพระวิหารและในพระราชวังของกษัตริย์ รวมถึงโล่ทองคำที่ซาโลมอนทรงสร้างไว้ไปด้วย เรโหโบอัมนำโล่ทองสัมฤทธิ์ไปไว้แทนที่โล่ทองคำ (1 พงศ์กษัตริย์ 14:25; 2 พงศาวดาร 12:1–12) อีกหนึ่งศตวรรษต่อมา เยโฮอาชกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิสราเอลเหนือยกทัพบุกเยรูซาเล็ม พังกำแพงส่วนหนึ่งลง และริบเอาทรัพย์สินของพระวิหารและพระราชวัง (2 พงศ์กษัตริย์ 14:13-14) ภายหลังเมื่ออาหัสแห่งยูดาห์ทรงถูกคุกคามโดยเรซีนแห่งอารัม-ดามัสกัสและเปคาห์แห่งอิสราเอล พระองค์จึงทรงขอความช่วยเหลือจากทิกลัทปิเลเสอร์ที่ 4 กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย และเพื่อจะโน้มน้าวทิกลัทปิเลเสอร์ อาหัสจึง "ทรงนำเงินและทองคำซึ่งพบในพระนิเวศแห่งพระยาห์เวห์ และในคลังสำนักพระราชวัง และส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการแก่พระราชาแห่งอัสซีเรีย" (2 พงศ์กษัตริย์ 16:8) ในอีกหนึ่งวิกฤติการณ์สำคัญ เฮเซคียาห์ทรงลอกทองคำจากประตูและเสาประตูของพระวิหารซึ่งพระองค์เองทรงบุไว้ และทรงมอบให้แก่เซนนาเคอริบกษัตริย์แห่งอัสซีเรีย (2 พงศ์กษัตริย์ 18:15–16)

การบูรณะโดยโยอาช

2 พงศ์กษัตริย์ 12:1-17 และ 2 พงศาวดาร 24:1-14 เล่าเรื่องที่กษัตริย์โยอาชและปุโรหิตแห่งพระวิหารดำเนินแผนงานบูรณะพระวิหารโดยการระดมทุนจากเงินบริจาคของประชาชน พระวิหารได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพดังเดิมและได้รับการเสริมให้แข็งแรงขึ้น[32]

การถูกทำลายโดยชาวบาบิโลน

ชาวเคลเดียทำลายอ่างสาคร ภาพจิตรกรรมโดย James Tissot (ราว ค.ศ. 1900)

ตามคัมภีร์ไบเบิล พระวิหารถูกริบทรัพย์สินโดยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่ เมื่อทัพบาบิโลนโจมตีเยรูซาเล็มในช่วงรัชสมัยสั้น ๆ ของเยโฮยาคีนเมื่อราว 598 ปีก่อนคริสตกาล (2 พงศ์กษัตริย์ 24:13)

หนึ่งทศวรรษถัดมา เนบูคัดเนสซาร์เข้าปิดล้อมเยรูซาเล็มอีกครั้ง และหลังจากนั้น 30 เดือน ในที่สุดก็ตีเมืองแตกเมื่อ 587/6 ปีก่อนคริสตกาล เมืองตกเป็นของทัพเนบูคัดเนสซาร์ในเดือนกรฏาคม 586/5 ปีก่อนคริสตกาล หนึ่งเดือนถัดมา เนบูซาระดานผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ของเนบูคัดเนสซาร์ถูกส่งไปเผาและทำลายเมือง ในคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า "ท่านได้เผาพระนิเวศของพระยาห์เวห์ พระราชวัง และบ้านเรือนทั้งหมดของเยรูซาเล็ม ท่านเผาบ้านใหญ่ทุกหลังลงหมดด้วยไฟ" (2 พงศ์กษัตริย์ 25:9) จากนั้นทุกสิ่งที่มีค่าก็ถูกริบนำไปบาบิโลน (2 พงศ์กษัตริย์ 25:13–17)

ตามความเชื่อของศาสนายูดาห์ถือว่าพระวิหารถูกทำลายในวัน Tisha B'Av คือวันที่ 9 ของเดือนอาฟ (ปฏิทินฮีบรู)[33] วันเดียวกันกับการถูกทำลายของพระวิหารที่สอง วรรณกรรมรับบีระบุว่าพระวิหารแรกคงอยู่เป็นเวลา 410 ปี และหากอิงตามอิงตาม Seder Olam Rabbah งานเขียนในศตวรรษที่ 2 พระวิหารก่อสร้างเมื่อ 832 ปีก่อนคริสตกาลและถูกทำลายเมื่อ 422 ปีก่อนคริสตกาล (3338 AM) ซึ่งช้ากว่าการประมาณการทางโลก 165 ปี[34][35] โยเซพุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวกล่าวว่า "พระวิหารถูกเผาเมื่อสีร้อยเจ็ดสิบปี หกเดือน และสิบวันหลังถูกสร้าง"[36]

ต่อมาพระวิหารของซาโลมอนถูกแทนที่ด้วยพระวิหารที่สองเมื่อ 516 ปีก่อนคริสตกาล

อ้างอิง

  1. Temple of Jerusalem: totally destroyed the building in 587/586
  2. 2.0 2.1 Britannica: Holy of Holies.
  3. 3.0 3.1 Temple of Jerusalem.
  4. Garfinkel & Mumcuoglu 2019.
  5. David Ussishkin In: A.G. Vaughn and A.E. Killebrew (eds.), Solomon's Jerusalem: The Text and the Facts on the Ground. Jerusalem in Bible and Archaeology; The First Temple Period, Atlanta, 2003, pp. 103–115
  6. Finkelstein & Silberman 2002, p. 128: Moreover, for all their reported wealth and power, neither David nor Solomon is mentioned in a single known Egyptian or Mesopotamian text. And the archaeological evidence in Jerusalem for the famous building projects of Solomon is nonexistent.
  7. Lundquist 2008, p. 45: The single most important fact regarding the Temple of Solomon is that there are no physical remains of the structure. There is not a single object or artifact that can be indubitably connected with the Temple of Solomon
  8. Finkelstein & Silberman 2002, p. 128
  9. Clifford Mark McCormick (2002). Palace and Temple: A Study of Architectural and Verbal Icons. Walter de Gruyter. pp. 31–. ISBN 978-3-11-017277-5.
  10. Israel Finkelstein Jerusalem in Biblical Times...1350–100 B.C.E. – Israel Finkelstein ที่ยูทูบ Institute for Advanced Study, Princeton, New Jersey
  11. Tetley 2005, p. 105.
  12. 12.0 12.1 12.2 Mendels 1987, p. 131.
  13. Dever 2005, p. 97; Mendels 1987, p. 131; Brand & Mitchell 2015, p. 1538
  14. 14.0 14.1 14.2 Kalimi 2018, p. 285.
  15. Brand & Mitchell 2015, p. 1538.
  16. Brand & Mitchell 2015, p. 622.
  17. 17.0 17.1 1 พงศ์กษัตริย์ 9:13
  18. Alter 2018, p. 1087.
  19. Kalimi 2018, p. 286.
  20. Barnes, W. E. (1899), Cambridge Bible for Schools and Colleges on 2 Chronicles 5, accessed 17 April 2020
  21. 21.0 21.1 21.2 Pulpit Commentary on 1 Kings 8, accessed 2 October 2017
  22. Lumby, J. R. (1886), Cambridge Bible for Schools and Colleges on 1 Kings 8, accessed 18 April 2020, although the reference quoted here is Leviticus 16:3
  23. 1 พงศ์กษัตริย์ 8:63; 2 พงศาวดาร7:5
  24. 2 พงศาวดาร 7:7: ขนาดของแท่นบูชาไม่ได้กล่าวถึงใน 1 พงศ์กษัตริย์
  25. 1 พงศ์กษัตริย์ 8:64; 2 พงศาวดาร 7:7
  26. Pulpit Commentary on 2 Chronicles 4, accessed 19 April 2020
  27. 1 พงศ์กษัตริย์ 8:65; 2 พงศาวดาร 7:8
  28. Barnes, A., Barnes' Notes on 2 Chronicles 7, accessed 19 April 2020
  29. 2 พงศาวดาร 7:8
  30. Mathys, H. P., 1 and 2 Chronicles in Barton, J. and Muddiman, J. (2001), The Oxford Bible Commentary เก็บถาวร 22 พฤศจิกายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p. 287
  31. 1 พงศ์กษัตริย์ 9:7; 2 พงศาวดาร 7:20
  32. 2 พงศาวดาร 24:13
  33. Singer, Isidore; et al., eds. (1901–1906). "Ab, Ninth Day of". The Jewish Encyclopedia. New York: Funk & Wagnalls. Retrieved 15 July 2013.
  34. "Temple In Rabbinical Literature". JewishEncyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ 20 May 2015.
  35. Yeisen, Yosef (2004), Miraculous journey: a complete history of the Jewish people from creation to the present, Targum Press, p. 56, ISBN 978-1-56871-323-6
  36. Josephus, Jew. Ant. 10.8.5

บรรณานุกรม

หนังสือ

บทความวรสาร

อื่น ๆ

อ่านเพิ่มเติม

21st century resources

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya