พะล็อก
พะล็อก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่ที่บ้านเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏในงานวิจัยของ Gebhard Flatz (พ.ศ. 2513) ระบุว่ามีชาติพันธุ์เรียกตนเองว่า พะล็อก (Phalok) อาศัยอยู่ที่บ้านปางไฮ บ้านคา และบ้านลัก แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีงานวิจัยกล่าวถึงชาติพันธุ์นี้อีก และในเวลาต่อมา ลูกหลานของพวกเขาละทิ้งภาษาของตน อาหารประจำกลุ่ม การสร้างบ้านแบบดั้งเดิม และเรียกแทนตนเองว่า ลัวะ ไปพร้อม ๆ กับการสมรสข้ามกลุ่มกับชาวยวน ขมุ หรือลัวะ ปัจจุบันชาวพะล็อกอาศัยอยู่ที่บ้านเมืองก๊ะ มีเพียงผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่มีอายุราว 50–80 ปี ที่ทราบว่าตนเองเป็นชาวพะล็อก ส่วนชาวบ้านที่อายุน้อยกว่านี้จะคิดว่าตนเองเป็นลัวะ[1][2] ครั้น พ.ศ. 2562 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้ข้อมูลว่าการระบุตัวตนว่าเป็น พะล็อก นั้นเป็นการเข้าใจผิด โดยคำดังกล่าวมีไว้ใช้เรียกเด็กน้อย ไม่ได้ใช้เรียกตนเองแต่อย่างใด[4] ชาวพะล็อกนับถือศาสนาพุทธปะปนกับการนับถือผี พวกเขาเคยนับถือผีปู่แสะย่าแสะ นับถือผีบรรพบุรุษเรียกว่า จ๊ะพะล็อก นับถือผีเสื้อบ้านเรียกว่า ผีเจ้านาย และเคารพขุนหลวงวิลังคะ เช่นเดียวกับชาวลัวะ แต่หลังการอพยพเข้ามาของชาวยวนและการสร้างวัดในชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2502 ทำให้ชาวพะล็อกนับถือศาสนาพุทธอย่างชัดเจนขึ้นกว่าเก่าก่อน ส่วนความเชื่อเรื่องผีก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป[1] ปัจจุบันไม่มีชาวพะล็อกคนใดพูดภาษาพะล็อกเป็นประโยคได้อีกต่อไป จำได้เฉพาะคำบางคำเท่านั้น ใน พ.ศ. 2556 มีชาวพะล็อกเพียงสองคนที่พูดเป็นประโยคได้ คือศรี ดอยคำ (87 ปี) กับนวล ดอยคำ (86 ปี) คนแรกความจำเสื่อม และทั้งสองสุขภาพไม่ดีแล้ว[1] ใน พ.ศ. 2562 ยูเนสโกได้จัดให้ภาษาพะล็อกเป็นภาษาสูญแล้ว (Extinct) คือเป็นภาษาที่ไม่มีคนพูดได้อีกแล้ว[2] อ้างอิง
|