รักชนก ศรีนอก
รักชนก ศรีนอก ชื่อเล่น ไอซ์ เป็นนักการเมืองชาวไทย สังกัดพรรคประชาชน[1] ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 28 ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 โดยเธอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครที่อายุน้อยเป็นอันดับที่สองรองจากนางสาวทิสรัตน์ เลาหพล ประวัติรักชนก เกิดเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2537 สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาสถิติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2] ในปี พ.ศ. 2559 รักชนกเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะจากการเป็นผู้ร่วมสนทนาในแอพพลิเคชัน Clubhouse ในประเด็นการเมืองร่วมสมัย[3] และเคยได้ร่วมฟังและถามคำถามในการสนทนาของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย[4] การทำงานรักชนกประกอบอาชีพขายสินค้าทั่วไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มทำตั้งแต่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยชั้ที่นปี 1 เธอได้กล่าวในการสัมภาษณ์ว่าการขายของออนไลน์ทำให้เธอได้ทักษาหลายอย่าง ต้องคิดเรื่องการตลาด เรียนรู้การใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ช้อปปี้ หรือว่า TikTok ในการที่นำเสนอสินค้าทำให้เธอได้ฝึกทักษะในการนำเสนอตัวเธอเองต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งในเวลาต่อมา[5] การเมืองรักชนก ศรีนอก เข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2565 โดยเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เธอลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ในนามของพรรคก้าวไกล โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ วัน อยู่บำรุง เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย เธอชนะการเลือกตั้งนี้ แต่มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่รับรองให้เธอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[6] รักชนกให้สัมภาษณ์หลังกระแสข่าวดังกล่าวว่าอาจเป็นเพราะมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเธอมายัง กกต. หลังการเลือกตั้ง และยืนยันจะลงพื้นที่พบประชาชนต่อไป[7] อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ครบทั้ง 500 คน ซึ่งรวมถึงตัวเธอเองด้วย[8] รักชนก ศรีนอก ยังดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คดีความในปี พ.ศ. 2564 ยุทธเลิศ สิปปภาค แจ้งความเธอในข้อหาทำร้ายร่างกาย เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในกิจกรรมของผู้จัดรายการทางสื่อออนไลน์[9][10] 21 กันยายน พ.ศ. 2566 รักชนกรับสารภาพในชั้นศาล ศาลจึงลดโทษให้เหลือเพียงปรับ 2,500 บาท และให้ขอโทษยุทธเลิศ ต่อมารักชนกได้ออกมาขอโทษผ่านบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตน[11] ในปี พ.ศ. 2565 รักชนกถูกดำเนินคดีในความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวิตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์[12] ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกรวม 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา[13] ต่อมาศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท[14][15][16] อ้างอิง
|