รัฐบาลสหราชอาณาจักร
รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน (อังกฤษ: His Majesty's Government ย่อ: HM Government) เรียกโดยทั่วไปว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร หรือ รัฐบาลบริเตน เป็นรัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ[1][2] นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลซึ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีทุกคน สหราชอาณาจักรมีรัฐบาลนำโดยพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ ค.ศ. 2010 และมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมเรื่อยมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาวุโสอยู่รวมกันเป็นคณะบุคคลมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เรียกว่าคณะรัฐมนตรี[2] รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาที่รัฐมนตรีผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยการกล่าวถ้อยแถลงต่าง ๆ และการตอบคำถามจากสมาชิกสภานั้น ๆ โดยสำหรับรัฐมนตรีอาวุโสส่วนใหญ่นั้นหมายความถึงสภาสามัญชน ไม่ใช่สภาขุนนาง รัฐบาลนั้นต้องพึ่งพารัฐสภาในการออกกฎหมายแม่บท[3] และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปไม่เกินทุก ๆ 5 ปี เพื่อเลือกตั้งสภาสามัญชนชุดใหม่ ยกเว้นถ้านายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดินให้ยุบสภา ซึ่งจะทำให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น หลังจากที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง พระเจ้าแผ่นดินจะทรงแต่งตั้งหัวหน้าพรรคที่มีความเป็นไปได้ในการรับความไว้วางใจจากสภาสามัญชนมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่ดูจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง[4] ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของสหราชอาณาจักร พระเจ้าแผ่นดินทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในทางปฏิบัติอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินจะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำจากสภาองคมนตรีเท่านั้น[5] สมาชิกสภาองคมนตรีประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี สภาขุนนาง ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้บังคับบัญชาตำรวจและทหารระดับสูง และทำหน้าที่ในการถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในกรณีส่วนใหญ่นั้น คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารโดยตรงในฐานะผู้บริหารกระทรวงและทบวงต่าง ๆ ทั้งนี้ บางตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีถือว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องทำงาน เช่น สมุหดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ หรือ สมุหพระราชลัญจกร บางครั้งการพูดถึงรัฐบาลจะใช้นามนัยว่า เวสต์มินสเตอร์ หรือ ไวต์ฮอลล์ เพราะอาคารทำการหลายหน่วยงานของรัฐบาลอยู่ในย่านนั้น โดยนามนัยเหล่านี้มักใช้โดยสมาชิกรัฐบาลสกอต รัฐบาลเวลส์ หรือหน่วยงานบริหารไอร์แลนด์เหนือเพื่อไม่ให้สับสนระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ประวัติสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ใช้ระบอบปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ตัดสินพระราชหฤทัยในกิจการทางการเมืองอย่างเปิดเผยหรือชัดเจน และให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภา เนื่องจากจารีตทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ของการจำกัดและลดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่ดำเนินมายาวนาน โดยเริ่มจากการออกมหากฎบัตรใน ค.ศ. 1215 ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ใน ค.ศ. 1901 นั้น โดยธรรมเนียม นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกรัฐสภา (อังกฤษ: Member of Parliament; MP) จึงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาสามัญชน ทั้งนี้มีช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ อเล็ก ดักลัส-ฮิวม์ เป็นสมาชิกสภาขุนนาง และไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาใดเลย ซึ่งธรรมเนียมนี้ใช้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นกัน เนื่องจากในกาลปัจจุบันนั้นจะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ทางการเมืองหากรัฐมนตรีคลังต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในสภาขุนนาง ซึ่งจะทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถถามคำถามถึงรัฐมนตรีได้โดยตรง รัฐมนตรีคลังคนสุดท้ายที่เป็นสมาชิกสภาขุนนางคือลอร์ดเดนแมน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 เดือนใน ค.ศ. 1834 รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและพระเจ้าแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินสหราชอาณาจักร เป็นประมุขแห่งรัฐและองค์อธิปัตย์ แต่ไม่เป็นประมุขรัฐบาล พระเจ้าแผ่นดินมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินน้อยมาก และวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ อำนาจของรัฐซึ่งสถิตอยู่กับองค์อธิปัตย์ในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นบ่อเกิดอำนาจรัฐที่ใช้โดยรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน นอกเหนือจากอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย องค์รัฏฐาธิปัตย์ยังมีอำนาจในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเรียกโดยรวมว่าพระราชอำนาจ ซึ่งอำนาจเหล่านี้มีตั้งแต่อำนาจในการออกหรือเรียกคืนหนังสือเดินทาง ไปจนถึงอำนาจในการประกาศสงคราม โดยธรรมเนียมนั้น อำนาจเหล่านี้มอบให้รัฐมนตรีต่าง ๆ หรือเจ้าพนักงานในพระองค์ ซึ่งสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเพื่อถวายรายงานสถานการณ์ของประเทศเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยพระองค์จะ "มีสิทธิ์และหน้าที่ในการออกความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล ... การเข้าเฝ้า รวมถึงการสื่อสารทุกรูปแบบระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและรัฐบาลของพระองค์ จะต้องเป็นความลับเด็ดขาด สุดท้ายแล้วหลังจากที่ทรงออกความเห็น พระเจ้าแผ่นดินจะต้องรับฟังและทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีของพระองค์"[6] โดยพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระราชอำนาจ ซึ่งรวมแต่ไม่จำกัดถึงตัวอย่างเหล่านี้ เช่น อำนาจภายใน
อำนาจต่างประเทศ
ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ได้มีการประมวลกฎหมายรัฐธรรมนูญไว้ แต่รัฐบาลได้เผยแพร่รายการพระราชอำนาจข้างต้นเพื่อความโปร่งใสในเดือน ตุลาคม ค.ศ. 2003 เพื่อสร้างความกระจ่าง เพราะพระราชอำนาจบางอย่างเป็นการใช้โดยรัฐบาลในพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดิน[7] อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการรวบรวมอย่างสมบูรณ์ว่าพระราชอำนาจมีอะไรบ้าง เนื่องจากพระราชอำนาจหลายอย่างเริ่มมาจากขนบธรรมเนียมโบราณและช่วงที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือมีการปรับเปลี่ยนไปตามธรรมเนียมทางรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา รัฐมนตรีและกระทรวงใน ค.ศ. 2019 มีรัฐมนตรีประมาณ 120 คน[8] ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยข้าราชการ 560,000 คน[9] และเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ที่ปฏิบัติราชการในกระทรวง 25 แห่งและหน่วยงานบริหารที่อยู่ภายใต้กระทรวงเหล่านั้น และกระทรวงที่ไม่ได้บริหารโดยรัฐมนตรี 20 กระทรวง[10] ที่มีความรับผิดชอบอื่น ๆ โดยหลักการนั้น รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสภาใด ๆ ในรัฐสภา แต่โดยธรรมเนียมและการปฏิบัตินั้น รัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาขุนนางหรือสมาชิกสภาสามัญชน เพื่อให้รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อรัฐสภาได้ บางเวลานายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาใด ๆ แต่ในช่วงที้ผ่านมา รัฐมนตรีคนนอกจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาขุนนาง[11] รัฐบาลในรัฐสภารัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาสามัญชน ตามธรรมเนียมและเนื่องด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติ รัฐบาลต้องอาศัยการสนับสนุนของสภาสามัญชนเพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณได้ (โดยการผ่านงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน) และการออกกฎหมายแม่บท โดยธรรมเนียมนั้น ถ้ารัฐบาลเสียความไว้วางใจ รัฐบาลต้องลาออก หรือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากสภาขุนนาง ซึ่งถึงแม้ว่ามีประโยชน์ในการทำให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้เร็วขึ้น แต่การสนับสนุนนั้นไม่จำเป็นต่อการคงอยู่ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออกถึงแม้ว่าจะแพ้การลงมติในกฎหมายสำคัญ หรือเสียความไว้วางใจจากสภานั้น สภาสามัญชนสามารถตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีผ่านกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี (อังกฤษ: Prime Minister's Questions; PMQs) ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาจากทุกพรรคการเมืองสามารถถามคำถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องใดก็ได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีการตั้งกระทู้ถามถึงกระทรวงซึ่งจะมีรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น ๆ ทั้งนี้กระทู้ถามรัฐมนตรีต่างจากกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี คือรัฐมนตรีในกระทรวงใด ๆ สามารถมาตอบกระทู้ถามในนามรัฐบาลได้ ขึ้นอยู่กับหัวข้อของกระทู้ถาม ในระหว่างการอภิปรายร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล รัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในขอบเขตของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นผู้นำการอภิปรายให้ฝ่ายรัฐบาล และตอบข้อสงสัยจากสมาชิกรัฐสภาหรือขุนนาง คณะกรรมาธิการ[12]ทั้งสภาสามัญชนและสภาขุนนางทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาลโดยการตรวจสอบการทำงานและตรวจสอบรายละเอียดของร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนออย่างละเอียด โดยรัฐมนตรีจะต้องมาให้ข้อมูลหรือตอบข้อซักถามของกรรมาธิการ โดยธรรมเนียมและการบังคับของประมวลจริยธรรมรัฐมนตรี[13]นั้น เมื่อรัฐสภาอยู่ในสมัยประชุม รัฐมนตรีต้องกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ หรือปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติต่อรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาหรือขุนนางตั้งข้อซักถามต่อรัฐบาลเกี่ยวกับถ้อยแถลงได้ หากรัฐบาลเลือกที่จะกล่าวถ้อยแถลงนอกรัฐสภา รัฐบาลมักจะได้การวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสมาชิกรัฐสภาและประธานสภาสามัญชน[14] สถานที่นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการในเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งตั้งในเมืองเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน การประชุมคณะรัฐมนตรียังจัดขึ้นที่นี่ด้วย กระทรวงส่วนใหญ่มีที่ทำการย่านไวต์ฮอล์ ขีดจำกัดอำนาจรัฐบาลอำนาจของรัฐบาลนั้นรวมถึงอำนาจบริหารโดยทั่วไป อำนาจทางบทกฎหมาย อำนาจที่กฎหมายบัญญัติว่าให้รัฐบาลมีได้ และอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการอุปถัมภ์ แต่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทที่มีอำนาจมาก เช่น ผู้พิพากษา ราชการส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการการกุศล ได้รับสถานะทางกฎหมายที่ทำให้ถือได้ว่าอิสระจากการสั่งการและควบคุมของรัฐบาล และอำนาจรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในส่วนนั้นจะถูกจำกัดให้ใช้ได้แค่อำนาจที่พระเจ้าแผ่นดินสงวนไว้ หรืออำนาจที่รัฐสภามอบให้ ทั้งนี้ ข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีพิจารณาความสามารถบังคับใช้กับรัฐบาลได้ผ่านการพิจารณาทบทวนโดยศาล ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลแขวงและนายกเทศมนตรียังสามารถถูกจับกุมและนำไปขึ้นศาลด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ และรัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนท้องถิ่นได้ และออกคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติหากราชการส่วนท้องถิ่นหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางกฎหมายของตนเอง[15] เปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่เจ้าหน้าที่ของสหภาพไม่ต้องรับโทษทางอาญาหากการกระทำอยู่ในกรอบของภาระมอบหมายของเจ้าหน้าที่คนนั้น[16] และทูตต่างประเทศ (แต่ไม่รวมถึงพนักงานของทูต) กับสมาชิกสภายุโรปได้รับความคุ้มครองจากการดำเนินคดีอาญาแบบไร้เงื่อนไข เพราะเหตุนี้ หน่วยงานของสหภาพยุโรปและทูตจึงไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะไม่สามารถฟ้องร้องฐานหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ ตัวอย่างของเรื่องนี้คือเมื่อตอนที่สหราชอาณาจักรยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักรอ้างว่าตนไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเขตการจราจรหนาแน่น เพราะถือว่าเป็นภาษีและไม่ใช่ค่าธรรมเนียม (แม้ในชื่อจะระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมก็ตาม) จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระ ซึ่งสำนักบริหารมหานครลอนดอนได้โต้แย้งการอ้างของเอกอัครราชทูตในเรื่องนี้ ในลักษณะที่คล้ายกันนั้น พระเจ้าแผ่นดินยังได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องคดีอาญาทั้งปวง และสามารถฟ้องร้องพระองค์ได้ต่อเมื่อรับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น เรียกว่าความคุ้มกันองค์รัฏฐาธิปัตย์ ตามกฎหมายนั้น องค์รัฏฐาธิปัตย์ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2ทรงเลือกที่จะชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 จนพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 2022 รวมถึงเลือกที่ชำระภาษีท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ สถาบันพระเจ้าแผ่นดินได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเรียกว่าเงินปีส่วนพระเจ้าแผ่นดินและมรดกที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนียังได้รับการยกเว้นภาษีมรดกอีกด้วย นอกเหนือจากอำนาจทางกฎหมาย รัฐบาลในสมเด็จฯยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือส่วนราชการท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานที่สังกัดราชการท้องถิ่นด้วยผ่านการจัดสรรงบประมาณและมอบเงินอุดหนุน เนื่องจากมีผลผูกพันกับหน้าที่หลายอย่างของราชการท้องถิ่น เช่น สวัสดิการภาษีท้องถิ่น หรือสวัสดิการบ้านที่อยู่อาศัย ที่รัฐบาลกลางต้องจัดสรรงบประมาณให้เกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด ทั้งรัฐบาลกลางและส่วนราชการท้องถิ่นไม่สามารถฟ้องร้องผู้ใดในข้อหาหมิ่นประมาทได้ แต่นักการเมืองสามารถฟ้องร้องประชาชนเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่ใช้ทรัพยากรทางราชการ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการฟ้องร้องแบบนี้น้อยมาก ทั้งนี้การกล่าวถ้อยแถลงเท็จเกี่ยวกับผู้ลงสมัครเลือกตั้งระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วยเจตนาให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งรายนั้นได้รับคะแนนเสียงน้อยลงเป็นความผิดอาญา (การแสดงความเห็นถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข เช่นเดียวกับการพิจารณาความผิดหมิ่นประมาท) หมายเหตุอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|