Share to:

 

ราชอาณาจักรเลออน

ราชอาณาจักรเลออน

Reino de León/ Reinu de Llïón
910–1230
ธงชาติเลออน
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของเลออน
ตราแผ่นดิน
ราชอาณาจักรเลออนใน ค.ศ. 1095
ราชอาณาจักรเลออนใน ค.ศ. 1095
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงLeón
ภาษาทั่วไปละติน, เลออน สเปน, Galician and maybe Mozarabic.
ศาสนา
Christianity (โรมันคาทอลิก), อิสลาม, และ ยูดาย
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระมหากษัตริย์ 
• 910–914
การ์ซิอาที่ 1 (องค์แรก)
• 1188–1230
อัลฟอนโซที่ 9 (องค์สุดท้าย)
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
10 ธันวาคม 910
• ล่มสลาย
23 กันยายน 1230
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรอัสตูเรียส
ราชบัลลังก์กัสติยา
ราชอาณาจักรโปรตุเกส

ราชอาณาจักรเลออน (สเปน: Reino de León) หรือ ราชอาณาจักรยิออง (เลออน: Reinu de Llïón) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรีย สถาปนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 910 โดย เจ้าชายคริสเตียนแห่งอัสตูเรียส ที่ล่มสลายลงไปก่อนหน้านี้ โดยเลออนเป็นหนึ่งในแกนนำที่ช่วยขับไล่ชาวมุสลิมออกไปจากสเปน และภายหลังได้รวมเป็นส่วนหนึ่งกับราชบัลลังก์กัสติยาในปี ค.ศ. 1230

ประวัติศาสตร์

หลังการพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียของกองกำลังอาหรับในปี ค.ศ. 711 ศูนย์กลางการต่อต้านได้ถือกำเนิดขึ้นในแคว้นกันตาเบรียโดยขุนนางวิซิกอธนามว่าเป-ลาโย จากที่หลบภัยในเทือกเขาเอาเซบา เป-ลาโยได้นำกองทัพเข้าโจมตีกองทหารอาหรับ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านของชาวคริสต์ ทว่าผู้ที่พยายามสร้างอาณาเขตและก่อตั้งการปกครองระบอบกษัตริย์ซึ่งขยายตัวจนเกิดเป็นราชอาณาจักรอัสตูเรียสขึ้นในบริเวณเทือกเขากันตาเบรียคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 ผู้เป็นบุตรเขยของเป-ลาโย ในยุคของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 ได้มีการสถาปนาโอบิเอโดขึ้นเป็นเมืองหลวงและได้มีการค้นพบพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 856 พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 1 ได้มีการตั้งรกรากใหม่และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เลออนและออสโตร์กา ขณะที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ได้ขยายอาณาเขตไปไกลถึงแม่น้ำดูเอโรและย้ายไปตั้งรกรากใหม่ที่ซาโมรา พระองค์ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์อัสตูร์

ราชอาณาจักรใหม่เลออน (สีส้ม) ในปี ค.ศ. 910

รัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 910 เมื่อพระองค์ถูกปลดออกจากบัลลังก์โดยการ์ซีอา ผู้เป็นพระราชโอรส แม้จะยังคงถูกชาวมัวร์รุกรานอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ชาวคริสต์ในตอนนี้แข็งแกร่งพอที่จะย้ายออกมาจากฐานที่มั่นในเทือกเขา พระเจ้าการ์ซีอาที่ 1 จึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงมาอยู่ใกล้ชายแดนมากขึ้น ทรงก่อตั้งราชสำนักขึ้นมาบนพื้นที่ของอดีตค่ายถาวรเลจิโอที่ 7 เจมินาของชาวโรมัน ซึ่งตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงโอบิเอโด ไม่นานอิทธิพลของราชสำนักก็แผ่ขยายจนกำเนิดเป็นราชอาณาจักรใหม่นามว่าราชอาณาจักรเลออนซึ่งขึ้นมาแทนที่ราชอาณาจักรอัสตูเรียส


พระเจ้าการ์ซีอาได้พิชิตดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำดูเอโรและตั้งรกรากใหม่ขึ้นในเมืองกอร์มัซ, เบร์ลังกาเดดูเอโร และซานเอสเตบันเดกอร์มัซ หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 พระอนุชาซึ่งเป็นผู้นำในการสู้รบที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับชาวมุสลิม หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 คือพระเจ้าฟรูเอลาที่ 2 ซึ่งครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปีก็สิ้นพระชนม์ ทิ้งให้ราชอาณาจักรตกอยู่ในไฟสงครามระหว่างพระโอรสของพระองค์กับพระโอรสของพระเจ้าออร์ดอญโญ


ในปี ค.ศ. 931 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ขึ้นครองบัลลังก์และกลายเป็นผู้ปกครองที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของราชอาณาจักรเลออน ด้วยความนิยมสงครามพระเจ้ารามิโรที่ 2 ได้ตอบรับคำร้องขอความช่วยเหลือของเฟร์นัน กอนซาเลซ เคานต์แห่งกัสติยา และประสบความสำเร็จในการดับไฟสงครามในพรมแดนตะวันออกตามแนวแม่น้ำดูเอโร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 นี้ ราชอาณาจักรเลออนถูกรุกรานหลายครั้งจากอับดุรเราะห์มานที่ 3 เคาะลีฟะห์แห่งอันดาลูเซียผู้ทรงอำนาจ และอัลมานซอร์ ขุนนางมุสลิมซึ่งมีอำนาจพอๆ กัน แต่แม้การรุกรานเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความกลัว ทว่าชาวมัวร์กลับไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้น เมื่ออับดุรเราะห์มันที่ 3 โจมตีกัสติยาในปี ค.ศ. 934 เข้าทำลายเมืองบูร์โกสกับการปกครองระบอบกษัตริย์ของการ์เดญญาจนราบคาบ พระเจ้ารามิโรได้กลับเข้าสู่สงครามอีกครั้งและปราบกองกำลังอาหรับได้ เอมีร์แห่งซาราโกซาได้ยอมจำนนต่อพระองค์ ในปี ค.ศ. 939 กองทัพร่วมเลออนและนาวาร์ปราบกองทัพของอับดุรเราะห์มานได้ที่ซีมันกัส ในปี ค.ศ. 942 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ได้ตั้งรกรากใหม่ขึ้นมาในซาลามังกา, เซเลสมา, ริเบรา, อาบาเดงกา และพื้นที่สำคัญอื่นๆ ตามแนวแม่น้ำโตร์เมส ในส่วนของการเมืองภายใน พระองค์ได้ปราบกบฏเคาน์ตีกัสติยา


การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ารามิโรที่ 3 เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความวุ่นวายครั้งใหม่ อันนำไปสู่การสลายตัวของราชอาณาจักร ความวุ่นวายภายใน, สงครามกลางเมือง, การโจมตีของชาวนอร์มัน, การกัดกร่อนของอัลมันซอร์ และการยุยงจากพระมหากษัตริย์นาวาร์ล้วนกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งบ่อนทำลายราชอาณาจักรเลออน

คาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 1030 ประกอบด้วยราชอาณาจักรคริสเตียนสองแห่ง คือ ราชอาณาจักรเลออน (กรอบสีส้ม) และราชอาณาจักรปัมโปลนาหรือนาวาร์ (กรอบสีเหลือง)

สันติสุขค่อยๆ กลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรอีกครั้งในการขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 และการถึงแก่กรรมของอัลมันซอร์ในปี ค.ศ. 1002 ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 ได้มีการออกกฎหมายแห่งเลออนในปี ค.ศ. 1017 ซึ่งเป็นกฎระเบียบในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเลออน พระเจ้าเบร์มูโดที่ 3 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ประกาศตัวต่อต้านความต้องการที่จะขยายอาณาเขของกษัตริย์นาวาร์ซึ่งกำลังอยู่บนจุดสูงสุดทางอำนาจ เป็นผลให้สูญเสียเคาน์ตีกัสติยาและทำให้กษัตริย์สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิตามาโรนในปี ค.ศ.1037 ระหว่างกำลังพยายามกอบกู้อาณาเขตดังกล่าวกลับคืนมา การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเบร์มูโดเป็นจุดจบของราชวงศ์อัสตูร์ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน, การก่อกบฏ, การแย่งชิงอำนาจ และการครองความเป็นใหญ่เหนือรัฐคริสเตียนอื่นๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย

แผนที่คาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 1210

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งราชวงศ์นาวาร์และพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์พยายามสร้างความมั่นคงทางอาณาเขตให้แก่ราชอาณาจักร ชายแดนถูกขยายจากแม่น้ำดูเอโรไปยังแม่น้ำตาโฆเมื่อโตเลโด หนึ่งในเมืองป้อมปราการของชาวมุสลิมแตกในปี ค.ศ. 1085 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 พระราชนัดดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้ประกาศตนเป็นจักรพรรดิแห่งดินแดนสเปนทั้งหมด โดยมีกลุ่มอาร์ชบิชอป, กลุ่มขุนนาง, เคานต์แห่งบาร์เซโลนา, เคานต์แห่งโตโลซา, เคานต์แห่งกัสกอญ รวมถึงเคานต์และคาธาร์คนอื่นๆ เข้าร่วมพิธีราชาภิเษก การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ในปี ค.ศ. 1157 เป็นจุดจบของการอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งจักรพรรดิและอาณาเขตได้ถูกแบ่งออกเป็นราชอาณาจักรเลออนและราชอาณาจักรกัสติยาอีกครั้ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1230 เลออนและกัสติยาได้กลับมารวมกันอีกครั้งเมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้สืบทอดบัลลังก์เลออนต่อจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนผู้เป็นพระราชบิดา และบัลลังก์กัสติยาต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเบเรงเกลาแห่งกัสติยาผู้เป็นพระราชมารดา อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชบัลลังก์กัสติยา

การสืบราชบัลลังก์

ราชวงศ์อัสตูเรียส-เลออน

  • พระเจ้าการ์ซิอาที่ 1 พระโอรสคนที่สองของพระเจ้าอัลฟอนโซมหาราช กษัตริย์แห่งอัสตูเรียส ทรงอภิเษกสมรสกับหญิงนามว่ามูเนียโดนา แต่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน
  • พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเชษฐา โดยที่ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกาลิเซียอยู่แล้ว ทรงอภิเษกสมรสสามครั้ง ครั้งแรกกับเอลบิรา เมเนนเดซ บุตรสาวของขุนนางกาลิเซียที่สิ้นพระชนม์โดยมีพระโอรสธิดาห้าคน ต่อมาพระเจ้าออร์ดอญโญอภิเษกสมรสกับอาราโกนธา กอนซาเลซซึ่งถูกเขี่ยทิ้งไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้พระองค์ได้อภิเษกสมรสใหม่กับซันชา ซันเชสแห่งปัมโปลนา พระเจ้าออร์ดอนโญที่ 2 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 924 พระโอรสของพระองค์ยังเด็กมาก ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์จึงเป็น
  • พระเจ้าฟรูเอลาที่ 2 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระอนุชา โดยที่ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอัสตูเรียสอยู่แล้ว เนื่องจากในตอนที่พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 สิ้นพระชนม์ พระราชโอรสของพระองค์ยังเด็กมาก ราชอาณาจักรเลออนและกาลิเซียจึงตกเป็นของพระเจ้าฟรูเอลา พระปิตุลาผู้เป็นกษัตริย์แห่งอัสตูเรียส อันเป็นการรวมราชอาณาจักรทั้งสาม (เลออน กาลิเซีย และอัสตูเรียส) เข้าด้วยกันอีกครั้ง พระองค์อภิเษกสมรสกับอูร์รากา บินต์ อับดุลละห์
  • พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 4 แห่งเลออน สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา พระองค์อภิเษกสมรสกับโอเนกา ซานเชซแห่งปัมโปลนา ต่อมาทรงสละราชอาณาจักร
  • พระเจ้ารามิโรที่ 2 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเชษฐา พระมเหสีคนแรกของพระเจ้ารามิโรคืออาโดซินดา กูติเอร์เรซ และพระมเหสีคนที่สองคืออูร์รากา ซานเชซแห่งปัมโปลนา
  • พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 3 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 3 อภิเษกสมรสกับอูร์รากา เฟร์นันเดซ ซึ่งอาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าเบร์มุนโดที่ 2 แห่งเลออน แต่ก็เป็นไปได้ที่พระองค์อาจเป็นพระโอรสที่เกิดจากอนุภรรยา
  • พระเจ้าซันโชที่ 1 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระอนุชาต่างมารดา แต่เพียงสองปีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง
  • พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 4 แห่งเลออน พระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 4 ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งต่อจากลูกพี่ลูกน้องของตน ทรงอภิเษกสมรสกับอูร์รากา เฟร์นันเดซ
  • พระเจ้าซันโชที่ 1 กลับมาปกครองอีกครั้ง พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเตเรซา อันซูเรซ
  • พระเจ้ารามิโรที่ 3 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา พระราชมารดาของพระองค์ถูกส่งตัวเข้าคอนแวนต์ อำนาจในการสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้ารามิโรน้อยจึงตกเป็นของเอลบิรา พระปิตุจฉา ก่อนจะตกเป็นของพระราชมารดาในเวลาต่อมา พระองค์อภิเษกสมรสกับซันชา โกเมซ
  • พระเจ้าเบร์มุนโดที่ 2 แห่งเลออน พระราชโอรสของพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 3 ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งต่อจากลูกพี่ลูกน้องของตน โดยในตอนนั้นทรงเป็นกษัตริย์แห่งกาลิเซียอยู่แล้ว พระมเหสีคนแรกของพระองค์คือเบลัสกีตา รามิเรซ และพระมเหสีคนที่สองคือเอลบิรา การ์ซิอา
  • พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์น้อยอยู่ภายใต้การสำเร็จราชการแผ่นดินของพระราชมารดา พระองค์อภิเษกสมรสกับเอลบิรา เมเนนเดซซึ่งสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา กษัตริย์จึงอภิเษกสมรสใหม่กับอูร์รากา การ์เซส
  • พระเจ้าเบร์มูโดที่ 3 แห่งเลออน สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา พระองค์อภิเษกสมรสกับฆิเมนา ซานเชซ ทั้งคู่ไม่มีทายาทสายตรง


ราชวงศ์ฆิเมเนซ

  • พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งกัสติยาและเลออน พระสวามีของซันชา พระขนิษฐาของพระเจ้าเบร์มูโด ชื่อเดิมคือเฟร์นันโด เคานต์แห่งกัสติยา พระองค์ปราบกองทหารเลออนได้ที่สมรภูมิตามาโรนอันเป็นที่สิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเบร์มุนโดที่ 3 และขึ้นครองบัลลังก์แห่งเลออนตามสิทธิ์ของภรรยา หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ราชอาณาจักรถูกแบ่งอีกครั้งให้แก่เหล่าพระโอรสของพระองค์
  • พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 สืบทอดราชอาณาจักรเลออนต่อจากพระราชบิดา ต่อมาพระองค์บุกกาลิเซียและได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกาลิเซีย จากนั้นเมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออนที่กลับมารวมกันอีกครั้ง พระเจ้าอัลฟอนโซมีพระมเหสีและอนุภรรยาหลายคน พระมเหสีคนแรกของพระองค์คืออาแญ็สแห่งอากีแตนที่สิ้นพระชนม์โดยไร้พระโอรสธิดา จากนั้นทรงอภิเษกสมรสกับกงส์ต็องส์แห่งบูร์กอญ ลูกพี่ลูกน้องของอาแญ็ส ในเวลาเดียวกันทรงมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับฆิเมนา มุญโญซ
  • สมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งเลออน สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา ในวัยเด็กพระองค์ได้สมรสกับแรมงแห่งบูร์กอญซึ่งถึงแก่กรรมก่อนที่อูร์รากาจะขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้อภิเษกสมรสใหม่กับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอนด้วยความไม่เต็มใจ ไม่นานทั้งคู่ก็หมางเมินกัน อูร์รากามีบุตรนอกสมรสกับคนรักชื่อเปโดร กอนซาเลซ เด ลารา


ราชวงศ์บูร์กอญ

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya